Tag: การบริหารความรวย

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,052 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์