Tag: กรรม

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

July 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,884 views 0

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

คำพิพากษา : เมื่อวันที่ชีวิตได้เผชิญหน้ากับผลของกรรม

เราต่างล้วนถูกพิพากษาให้เกิดมาในโลกนี้ ให้เป็นคนแบบนี้ ให้ต้องเจอเรื่องราวแบบนี้ และนี่คือการพิพากษาของศาลที่เที่ยงตรงที่สุดในโลกชื่อว่ากรรม

ในชีวิตของเราอาจจะเคยเจอคำสั่ง คำตัดสิน บีบบังคับ ยัดเยียด บทลงโทษ คราวเคราะห์ โชคดี หรือเหตุการณ์อะไรก็ตามแต่ ล้วนแต่เป็นคำพิพากษาของกรรม หรือที่เรียกกันว่า ผลของกรรม

เราไม่มีทางได้รับกรรมที่เราไม่ได้ทำมา เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เราได้รับจะต้องเป็นสิ่งที่เราทำมาแน่นอน เราถูกพิพากษาให้ได้รับทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายในชีวิตโดยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือเรียกร้องใดๆได้ เพราะคำพิพากษาของกรรมนั้นเป็นที่สุดของการตัดสินว่าเราจะต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้ายนั้น

แต่หลังจากได้รับการพิพากษามาแล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็จะเป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ยกตัวอย่างเช่น เราถูกพิพากษาให้ถูกทำร้าย แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปโกรธหรือทำร้ายเขาตอบ หรือเราถูกพิพากษาให้ได้รับลาภก้อนโต แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทั้งหมด เราสามารถแบ่งปันแจกจ่ายไปในที่ที่สมควรแก่การได้รับประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้เช่นกัน

การพิพากษาของกรรมนั้นจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยจนเราหลงลืมไปว่าแต่ละสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั้นเกิดจากผลของกรรมที่เราทำมา ซึ่งเมื่อหลงลืมก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอประมาทในเรื่องของกรรมไปได้ เช่นไปทำกรรมชั่วโดยที่ไม่ได้ระลึกถึงภัยของสิ่งนั้น

ความถี่และความรุนแรงของผลการพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคุณธรรมในตัวคน ถ้าเราเป็นคนดี มีความละอายต่อบาป โทษทัณฑ์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เราเลิกทำชั่วได้แล้ว แต่ถ้าเราเป็นคนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีความละอายต่อบาป การพิพากษาก็มักจะถูกเลื่อนไปจนกระทั่งสะสมพลังงานให้มากพอที่จะสร้างความทุกข์ให้กับเราได้

คนดีได้รับทุกข์เพียงเล็กน้อยก็สำนึกผิด รีบทบทวนตัวเองเพื่อละเว้นสิ่งชั่ว ส่วนคนที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็จะมองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นเมื่อได้รับทุกข์ก็มักจะมองข้ามการปรับปรุงตนเอง มองข้ามโทษภัยของการทำกรรมชั่ว จึงประมาททำชั่วสะสมกรรมชั่วเหล่านั้นไว้ จนได้รับคำพิพากษาโทษที่หนัก ทำให้ทุกข์ทรมานมาก จึงจะเรียนรู้ผลของกรรมที่ทำมา

คำพิพากษานั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราทำกรรมอะไรมา เราจึงต้องโดนพิพากษาให้รับผลของกรรมเหล่านั้น เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเราเคยทำชั่วมามาก ก็ควรจะละเว้นชั่ว ทำแต่ดี เพื่อที่เราจะไม่ต้องมาสร้างทุกข์เพื่อวนเวียนรับทุกข์ให้เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

22.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กรรมเป็นของตน

July 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,911 views 0

กรรมเป็นของตน

กรรมเป็นของตน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน

เราสามารถเลือกที่จะหยุดกรรมชั่วได้ด้วยตัวเราเอง เจตนาของเราเป็นตัวกำหนดกรรมของเรา ไม่ใช่คนอื่นมากำหนดกรรมของเรา

มีแต่เราเท่านั้นที่จะพาให้ตัวเราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงได้

การฆ่าที่มีเจตนาทำเพื่อเงิน ไม่ใช่กรรมดีแน่นอน การกินโดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่สนใจว่าใครเขาจะฆ่ามา ย่อมไม่ใช่กรรมดีเช่นกัน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการดับทุกข์ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเหตุแล้วปล่อยวางโดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญา ไตร่ตรองถึงเหตุหรือที่มาของสิ่งต่างๆ

คนที่ฆ่า เห็นแก่เงินจนยอมทำลายชีวิตผู้อื่นแลกเงิน
คนที่กิน เห็นแก่กินจนยอมเอาเงินไปซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแลกเงิน

ดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น” ก็คงจะเป็นประโยคสรุปบทความนี้ได้ดี

คู่ครองกับกรรมเก่า

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,587 views 0

คู่ครองกับกรรมเก่า

เจอคู่ครองไม่ดี อย่ามัวโทษแต่กรรมเก่า

กิเลสตัวต้นเหตุ มันซ่อนอยู่ในกรรมนั้น

………….

เมื่อเราได้รับทุกข์จากคนที่คบหากัน แล้วมีทีท่าว่าจะจับมือใครดมไม่ได้ว่าต้นเหตุมันมาจากใคร สุดท้ายก็โยนความผิดทั้งก้อนไปให้กรรมเก่าของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยทำกรรมมาก็เลยต้องมารับผลกรรม

การยอมรับกรรมที่ตนเองทำมานั้นก็เป็นเรื่องดีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังดีไม่สุดถ้ายังไม่สืบสาวไปถึงต้นเหตุว่าเราทำกรรมอะไรมา เช่นการที่เราต้องมาทุกข์เพราะเรื่องคู่ นั้นก็เพราะเราเอาเขาเข้ามาในชีวิตเอง เราอยากได้อยากเสพเขาเอง ไม่ใช่กรรมเก่าแต่ปางก่อนที่ไหน กรรมในชาตินี้ของเราเองที่ตามใจกิเลสจนให้เขาเข้ามามีบทบาทในชีวิตจิตใจ เพราะเราหลงยึดเขาไว้เอง

เราไม่สามารถโทษกรรมเก่าได้เลยหากเราไม่โดนบังคับให้คบ ไม่โดนคลุมถุงชน หรือโดนเอาปืนกรอกปากบังคับให้แต่งงาน แต่เราโดนกิเลสมันหลอกให้หลงไปคบหา ไปแต่งงาน เพราะหวังจะได้เสพสุข

ผู้ร้ายตัวจริงมันคือกิเลสนี่เอง ถ้าเราเอาแต่โทษกรรมและยอมรับกรรมให้มันจบไป แน่นอนว่าผลของกรรมนั้นจะหมดไปในวันใดวันหนึ่ง แต่กิเลสตัวบงการมันไม่ได้หายไปกับผลของกรรมนั้นๆ มันอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ยังรอคอยโอกาสล่อลวงเราด้วยสุขหลอกๆ และทำให้เราเป็นทุกข์อยู่เสมอ

ดังนั้นถ้าโยนปัญหาทุกอย่างให้กรรมแล้วรู้ไม่ทันว่ากิเลสอยู่เบื้องหลัง ก็เหมือนกับการจับผู้ร้ายผิดตัว สุดท้ายกิเลสก็ลอยนวล และเราก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ไม่เห็นเหตุ รู้ได้แต่ผลของกรรมทำให้ทุกข์ รู้ได้แค่ทำไม่ดีกับคนนั้นคนนี้มาเลยต้องมารับกรรม แต่ไม่รู้ว่าเหตุอะไรที่ผลักดันให้ทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น นั่นหมายถึงไม่รู้กิเลส ไม่รู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ สุดท้ายก็ไม่รู้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความหมายของบุญ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,055 views 0

บุญ

บุญ

บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม

บุญ…คือการสละออก

ชำระกิเลสออกจากใจ

……………………………….

คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง

แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด

เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์

บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ

ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)