Tag: กฎแห่งกรรม

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,092 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญหวังผล

September 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,589 views 0

ทำบุญหวังผล

ทำบุญหวังผล

ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ และในสังคมทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากที่ใดใกล้วัดก็จะได้พบเห็นการทำบุญตักบาตรเกื้อกูลพระสงฆ์ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้เป็นประจำในทุกเช้า เป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีให้เห็นได้อยู่ในสังคมไทย

แต่การทำบุญนั้น ใครเล่าจะรู้ว่าจะได้อานิสงส์เท่าไหร่อย่างไร สิ่งใดเล่าเป็นตัววัด จะรับรู้ได้อย่างไรว่าบุญนั้นจะเกิดผล ผู้ที่ทำบุญส่วนมากกลับมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือทำบุญแล้วมักจะหวังผล หวังให้เกิดสิ่งที่ดีกับตน หวังให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้สมใจ ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอสวรรค์วิมาน ขอเทวดาคุ้มครอง ขอนิพพาน ขออะไรก็ขอกันไป โดยมีสิ่งของเครื่องบรรณาการไปแลกหรือติดสินบน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้คาดหวังว่าจะมี เทวดา ฟ้า สวรรค์ หรืออะไรมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีในชีวิตตน

เป็นการเอาโลกียะทรัพย์ คือวัตถุ สิ่งของ ไปแลกโดยหวังสิ่งที่มากกว่า เช่นทำบุญไป 100 บาท หวังว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือคนอีกพวกก็มักจะทำบุญด้วย วัตถุ สิ่งของ เพื่อหวังไปแลกอริยทรัพย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณีอยู่แล้วที่จะเอาของไร้ค่าไปแลกกับของมีค่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก

ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม การที่เราทำสิ่งใดนั้น เราย่อมได้รับผลของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไร ต้องทำเอาเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ วิมาน นิพพาน ฯลฯ ถ้าอยากจะได้ ต้องทำเอาเอง ต้องปฏิบัติเอาเอง ไม่ใช่การเฝ้าร้องขอ วิงวอน บนบาน ขอพร กับใครหรืออะไรทั้งสิ้น

อ่านไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าโหดร้าย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ เราจะได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรมา เราก็ไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ความยุติธรรมเช่นนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?

ผู้ที่มัวเฝ้าหวัง เฝ้าขออะไรก็ตาม แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ถ่องแท้ ไม่กระจ่างแจ้งเรื่องกรรม เขาเหล่านั้นจึงงมงายในสิ่งลี้ลับ สิ่งมหัศจรรย์ เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชาต่างๆ

การขอหรือการหวังใดๆนั้นอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่การเกิดสิ่งที่หวังนั้นไม่ได้เกิดจากการร้องขอของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยทำสิ่งดีมาก่อนก็ไม่มีวันได้สิ่งดี เหมือนกับการหยอดกระปุกสะสมเงิน ถ้าเราไม่เคยหยอดกระปุกเลย ถึงเราจะพยายามแงะแกะเขย่าเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่เงินจะร่วงลงมา

ดังนั้นการที่เราขอแล้วได้นั้น ไม่ได้หมายความเทพเทวดาหรืออะไรในสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะตัวของเรามีกุศลเก่าที่เก็บไว้ ความคาดหวังอย่างตั้งมั่นในการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ทำให้เราได้เบิกทุนกุศลเก่าที่เก็บไว้ในคลังกุศลของเรามาใช้อย่างไม่รู้ตัว จะสังเกตได้ว่าเวลามีคนบนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญขอนั่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีทั้งคนสมหวังและไม่สมหวัง นั่นก็เพราะคนที่สมหวังเขาทำกุศลสะสมมามากเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไปเห็นคนที่เขาได้ ก็เข้าใจไปว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความโลภ ก็เลยหวังให้ตนขอได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร…เพราะตนไม่เคยทำกุศลกรรมนั้นมา เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลของกรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

แล้วต้องทำบุญแบบไหน?…

เราหลงไปกับการทำบุญที่เป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเป็นทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเข้าใจผิดก็จะห่างไกลกับความสุขแท้ไปเรื่อยๆ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกที่ควรเสียก่อน คือ มีความเข้าใจที่พาพ้นทุกข์ พาลดกิเลสเสียก่อน จึงเรียกได้ว่าสัมมาทิฏฐิ การให้เพื่อเป็นไปสู่การสั่งสมกิเลส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควรเลย

ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว มีผล ( อัตถิ ทินนัง)“ มีผลอะไร? คือมีผลไปลดกิเลส ลดความละโมบ ลดการสะสม ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดการเอาแต่ได้ ลดความเอาแต่ใจ ลดความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกที่ควร หรือสัมมาทิฏฐิ

ดังนั้น เมื่อเราทำทาน เราจึงต้องเข้าใจว่า ทานนี้เราให้ไปเพื่อลดกิเลสของเรา ลดความอยากได้อยากมีของเรา จึงจะเป็นบุญที่แท้จริง สร้างกุศลอย่างเต็มที่ ไม่มีบาปหรืออกุศลใดมาหักล้างให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ

เมื่อเราได้เข้าใจว่าทำการทำทานของเราได้เกิดผลลดกิเลสแล้ว นั่นก็คือทานนั้นสำเร็จถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ เป็นความสมบูรณ์ของทานนั้นๆแล้ว ส่วนกุศลหรืออานิสงส์จากการทำบุญที่จะเกิดตามมานั้น จะเป็นอย่างไรให้เป็นเรื่องของเขา จะเกิดสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ เพราะเราเมื่อเราทำทาน เราก็ได้รับสิ่งประเสริฐที่สุดคือการลดกิเลส เป็นสมบัติของเราแล้ว

ถ้าอย่างนั้นให้ทานแล้วต้องไม่หวังผล?..

จะตอบในแง่เดียวมันก็ไม่ใช่.. การให้ทานนั้น เราควรจะรับรู้ว่าผลจะเกิดอะไร เช่นเราให้สิ่งของกับคนๆหนึ่งไป แล้วรู้ผลว่าเขาจะไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อันนี้ก็คือเราหวังผล คือให้เกิดผลดีกับเขา แต่เราไม่หวังผลเพื่อให้เกิดกิเลสใดๆในใจเราเพิ่ม

หรือถ้าเราไปทำทานแล้ว รู้ผลว่าเขาจะไปทำชั่ว เอาไปทำสิ่งไม่ดี เราก็รู้ผลนั้นๆ จึงระงับการให้ทาน เพราะทานนั้นจะเป็นไปเพื่ออกุศล แต่ใจเราไม่ได้ติดยึดเรื่องการให้แล้ว เรายินดีที่จะให้ แต่ถ้าให้ไปแล้วมันเกิดอกุศลมากกว่ากุศลเราก็ไม่ให้ จิตตรงนี้ก็เป็นทานแล้ว คือไม่ให้ เพื่อจะไม่ส่งเสริมโอกาสที่เขาไปสร้างบาปสร้างอกุศลเพิ่ม เป็นการไม่ให้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อหวังไปชะลอหรือขัดกิเลสเขา ไม่ให้เขามีกิเลสเพิ่ม

การทำทานนั้น ควรทำอย่างมีปัญญา คือควรรู้ว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ได้กุศลหรืออกุศล เป็นไปเพื่อบุญหรือบาป เป็นการลดกิเลสหรือสั่งสมกิเลส จะเกิดสิ่งที่ดีหรือให้ผลที่ร้าย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงทำทานเพื่อลดกิเลสของเราและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พาตนเองและสังคมเจริญไปด้วยกัน เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายชนะทุกสิ่ง

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,717 views 0

ความตายชนะทุกสิ่ง

ความตายชนะทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือต่ำต้อยเพียงใด ชีวิตก็ต้องดำเนินมาถึงความตาย แม้ชีวิตจะมีแต่ความสุข ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ คนรัก ญาติมิตร บริวาร หรือกระทั่งความทุกข์ โรค ภัย ไข้เจ็บ ความเหงา เศร้า ทรมาน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย ทุกสิ่งช่างไร้ค่า…เมื่อต้องเผชิญกับความตาย

เมื่อความตายมาถึง สิ่งที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะผ่านไปได้ก็เฉพาะจิตวิญญาณเท่านั้น ส่วนทางที่ไปนั้น ก็เป็นไปตามกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมา คงจะมีหลายคนในโลกที่ไม่เชื่อและยังไม่เข้าใจเรื่องตายแล้วไปไหน?

ความตายไม่ได้นำไปสู่การดับสูญ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนจากคนที่นอนป่วยกลายเป็นสิ่งอื่น ตามกรรมที่เขาได้ทำมา ทำชั่วก็ไปชั่ว ทำดีก็ไปดี ทำชั่วดีปนกัน กรรมเขาก็คำนวณให้ออกไปอย่างเหมาะสม นั่นก็เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเราที่นั่งอ่านบทความอยู่ตรงนี้ก็เป็นผลจากกรรมในอดีต เราเกิดมาพร้อมกับกรรมดีกรรมชั่วที่เราทำมาแต่ชาติปางก่อน

การที่เราเกิดมามีกินมีใช้เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยสี่ โดยทั่วไปก็มักมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ เป็นเรื่องของโชค แต่ในทางพุทธไม่มีคำว่าบังเอิญหรือโชคดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงที่ว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งดีสิ่งชั่วเหล่านั้นที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น

ความตายที่ผ่านเข้ามาก็เป็นเพียงการชำระล้างของกรรม เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่สะสมโลกียะทรัพย์ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขลวงๆ ก็จะต้องพลอยสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดทุนไปตามๆกัน คงจะมีแต่ผู้ที่สะสมอริยทรัพย์ คือบุญและกุศลเท่านั้นที่พอจะสามารถกอบโกยทุนบางส่วน ไปลงทุนในละครบทต่อไปได้

ความตาย และการเกิดของกิเลส…

แต่ความตายก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าการเกิด การเกิดนั้นย่อมเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะความเกิดเป็นเหตุแห่งความตาย ตายแล้วก็เกิดวนกันไปอยู่อย่างนี้ ดังที่กิเลสเกิดในแต่ละวัน เช่น เราอยากกินของที่ชอบ กิเลสก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่ว่าจะได้กินหรือไม่ได้กิน มันก็จะดับไปของมันเอง แต่แล้ววันต่อมามันก็เกิดอีก แล้วก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่นานไปก็ดับไปอีก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ไม่มีวันจบสิ้น

แม้ว่าความตายนั้นจะชนะทุกสิ่งได้ แต่ความตายของกิเลสนี้ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นเอง กิเลสคือศัตรูร้ายที่ฝังตัวแอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเรา เป็นตัวบงการให้มีการเกิด แต่ตัวมันเองจะไม่ยอมตาย ถ้ามัวแต่เลี้ยงมันไว้ คนที่ตายก็เป็นตัวเราเองนี่แหละ แล้วมันก็จะสั่งให้เราเกิด เพื่อหาอาหารให้มัน ให้เสพสมใจมัน ใช้งานเราจนร่างกายที่ได้รับมาทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เฒ่า แล้วก็ตายจนต้องทิ้งร่างนี้ไป เบิกทุนบุญกุศลในชาติก่อนเพื่อเกิดมาตายไปชาติหนึ่งเปล่าๆ โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ คือการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์ เพราะมัวแต่ทำตามคำสั่งกิเลสให้ไปสะสมโลกียะทรัพย์

การจะเอาชนะกิเลสนั้น จึงจะเป็นต้องสวนกระแส ต้องคอยต้าน คอยฝืน ไม่ทำตามกิเลส พิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของกิเลสนั้นๆ ค้นหาว่าจริงๆแล้วเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร และเข้าไปค่อยๆพิจารณาตามจริงถึงสาระแท้ของสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าจริง หรือแค่กิเลสต้องการ เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างตั้งมั่น จนเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์หรือสาระใดๆเลย กิเลสก็จะยอมถอย ยอมตายไปจากใจของเราเอง เป็นการชนะศึกจากการรบกับกิเลสโดยใช้ปัญญา

เป็นการมอบความตายให้กับกิเลส โดยที่มันเองก็ยินดีที่จะตาย และตายไปตลอดนิรันดร์กาล เป็นความตายที่เอาชนะได้แม้แต่กิเลส เป็นความตายที่ไม่ต้องมีการกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมีการตายอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์