ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด
ข้าคือเหตุผลที่นางต้องทรมานและเจ็บปวด
ประโยคหนึ่งจากละครซีรี่พระพุทธเจ้า ตอนที่ 40 เป็นประโยคสั้นๆที่สรุปรวมความทรมานและเจ็บปวดที่ยาวนานมากกว่า 4 อสงไขย . . .
ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ที่พระนางยโสธราได้ผูกพันกับพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นการผูกกันด้วยความดีงาม ความเสียสละอย่างที่สุด แต่ก็ยังเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ ทรมานและเจ็บปวดอยู่
นับประสาอะไรกับคนทั่วไปที่ผูกกันด้วยกิเลส พันกันด้วยตัณหา เหนี่ยวรั้งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีความทุกข์ เป็นไปไม่ได้เลย
ทางที่ทุกข์น้อยที่สุดก็คือไม่ต้องผูกพันกันด้วยความเป็นคู่รัก อย่าพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นนั่นแหละคือข้ออ้างของกิเลส
คู่ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่คู่รัก แต่เป็นคู่ที่จะเข้ามาเพื่อให้เรียนรู้ ทุกเหลี่ยมทุกมุมของทุกข์ ทุกอย่างในจักรวาลนี้ โดนทิ้งโดนพรากไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เป็นเหตุให้อีกคนต้องเสื่อมและตายไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
ไม่ใช่คู่ที่พากันเสพสุขอย่างที่หลายคนเข้าใจ คนที่จะมาบำเพ็ญบารมีคู่กับพระพุทธเจ้าต้องยอมทรมานและเจ็บปวดอย่างที่สุด ไม่มีธรรมใดงอกงามบนความสุข มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่จะทำให้ธรรมะบังเกิด
Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง
Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง
คำว่า “Happy ending” มักจะเป็นคำที่เราได้เห็นในหนังในละครมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องราวหลายเรื่องมักจะจบด้วยความสมหวังด้วยการครองคู่ เราได้จดจำสิ่งเหล่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้
การแต่งงานกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการมีชีวิต เป็นคุณค่า เป็นความสมบูรณ์ ตามที่โลกได้ปั้นแต่งเรื่องราวเอาไว้ และสื่อที่มีอิทธิพลมากกว่านิยาย ละคร ภาพยนตร์ เพลงรัก ก็คือผู้ที่หลงใหลมัวเมาในความสุขลวงเหล่านั้น
คนที่หลงเสพหลงสุขจะเติมพลังความอยากให้แก่กันและกัน ว่าการแต่งงานมีชีวิตคู่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ สุขอย่างนั้นสุขแบบนี้ จะได้เสพรสแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นถูกมอมเมาด้วยความหลงผิด เพิ่มความอยากได้ อยากลอง อยากเสพ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่เขาว่าดีว่าเลิศทั้งหลาย
แม้กระทั่งการแต่งงานครั้งหนึ่งก็ต้องมีการป่าวประกาศ แห่ขันหมากตีกลองโห่ร้อง จัดงานแต่งงานประดับประดาให้เป็นที่น่าสนใจ เชิญคนมากมายมาร่วมรับรู้เรื่องส่วนตัว ปั้นแต่งภาพให้สวยงามประดุจเจ้าชายเจ้าหญิง เป็นที่น่าจับตามอง เป็นที่น่าหลงใหล เป็นการกระตุ้นกิเลสให้คนอื่นอยากได้อยากมีตามไปด้วย แม้กระทั่งการดึงนักบวชเข้ามายุ่งเรื่องทางโลก ก็กลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้
เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้น
หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ชีวิตได้เป็นฝั่งเป็นฝา ได้ไปถึงจุดหนึ่งที่ใครเขาบอกต่อๆกันมา ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต เหมือนจะเป็นตอนจบของละครบทหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของละครบทใหม่
เรื่องราวในละครต่อจากที่ตอนพระเอกนางเอกได้ครองคู่กันแล้วมักจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ละครลวงโลกมักจะจบ happy ending กันตรงที่ได้รักกัน ได้แต่งงานกัน แล้วเหมือนทุกอย่างจะเป็นสุขตลอดกาล เหมือนว่าได้เสพสิ่งเหล่านั้นคือที่สุดของชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่หลุดจากสภาพทุกข์แบบหนึ่งไปสู่ทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น
ผู้คนมากมายทนทุกข์จากความเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า อยากมีใครสักคนเป็นที่พึ่ง คอยดูแลเกื้อกูล คอยพูดคุยเอาใจ ให้ความรัก ให้ความสำคัญ เมื่อไม่มีใครคนนั้นก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกของคนโสดที่โหยหาความรักความเอาใจใส่ ไม่สามารถดำรงอยู่ผู้เดียวได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นโสดอย่างแท้จริงได้
เมื่อมีใครสักคนที่ถูกใจเข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกับการปล่อยทิ้งปมทุกข์ที่เคยแบกรับไว้ ไม่ต้องเหงา ไม่ต้องเดียวดาย ไม่ต้องหาวิธีแก้ความเหงา ไม่ต้องคิดหาวิธีพึ่งตนเองอีกต่อไป ทิ้งเงื่อนปมแห่งทุกข์อันเก่าไว้ แล้วหันมาผูกปมใหม่ที่เรียกว่าคู่รัก
ในตอนแรกรักนั้นก็มักจะมีความสุขกับการผูกปมความรัก ยิ่งได้รัก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งรู้จักรู้ใจ ดูแลเอาใจใส เป็นคนสนิทกันมากเท่าไหร่ ปมแห่งความสัมพันธ์ก็จะยิ่งพันแน่นและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งคบหาดูใจ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีก เหมือนปมเงื่อนที่ทบกันไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จนถึงวันที่แต่งงาน เป็นวันที่ปมเหล่านั้นได้ถูกทาเคลือบไว้ด้วยยางเหนียว ย้ำลงไปอีกว่าจะไม่คลายความสัมพันธ์นี้ พัฒนาต่อไปจนมีลูกมีหลาน เหมือนกับมีโซ่เหล็กมาคล้อง ล็อกความสัมพันธ์นั้นให้ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ในความเป็นจริง นรกได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ความอยากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว มันมาในภาพของความสุข เพื่อที่จะหลอกให้เราได้หลงเสพหลงสุขและวนเวียนอยู่ในโลกแห่งตัณหานี้ตลอดไป
ความเหงาเปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ แต่ความทุกข์นั้นไม่ได้หมดไป มันแค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ เหมือนกับการทิ้งปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ในตอนแรกเราก็จะเห็นเหมือนกับว่าเราหนีทุกข์ไปหาสุข แต่ความจริงแล้วเราหนีจากทุกข์น้อยไปหาทุกข์มาก
กิเลสนั้นย่อมล่อลวงเราให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นเรื่องน่าใคร่น่าเสพ เห็นสิ่งลวงเป็นของที่ควรมีควรได้เห็นความทุกข์เป็นความสุข มันกลับหัวกลับหางกับความจริงทุกประการ
คนโดยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่มีใครยอมรับว่ากิเลสนั้นเป็นผู้ร้าย ไม่เห็นความอยากได้อยากเสพเป็นศัตรู เขามักจะมองเห็นว่าการได้เสพเป็นสุข การไม่ได้เสพเป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่หามาเสพคือผู้ที่ทรมานตน ผู้ที่หามาเสพคือผู้ที่ทำชีวิตตนให้เป็นสุข จะมีความเห็นความเข้าใจในลักษณะที่กอดคอเดินไปกับกิเลส เห็นดีกับกิเลส เห็นต่างจากธรรมะ
แล้วทีนี้ความสุขที่ได้รับจากกิเลสนี่มันเป็นความสุขลวงทั้งหมด ที่ดูเหมือนสุขมันเกิดเพราะมีกิเลสมาก ถ้าไม่ได้เสพตามใจกิเลส มันก็จะตีให้เป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ให้กับเรา พอได้เสพมันก็ไม่ทุกข์จากกิเลส มันก็เลยเป็นสภาพสุขดังที่เห็น และสุขนั้นก็เป็นสุขลวงอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ตามใจกิเลส มันก็จะไม่เกิดสุข ต้องให้อาหารกิเลสไปเรื่อยๆเพื่อจะเสพสุข ซึ่งสุขนั้นไม่เที่ยง มันเสื่อมสลาย และแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง
ถ้าสามารถล้างกิเลสได้จริงจะค้นพบเลยว่ารสสุขในการมีคู่นั้นไม่มีเลย การดูแลเอาใจใส่ มีคนเกื้อกูล หยอกล้อรักใคร่หรือกิจกรรมของความเป็นคู่รักทั้งหลายมันไม่มีสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ที่มันเกิดสุขเหล่านั้นเพราะพลังของกิเลสมันลวง มันพาให้หลงว่าการได้เสพแล้วความทุกข์ลดลงนั้นเป็นความสุข ให้หลงเข้าใจว่านั่นคือสุขแท้ในชีวิต ให้คนไขว่คว้าหาสุขลวงเหล่านั้น
ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ “Happy ending” อย่างแน่นอน เพราะเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่กลางทะเล ทิ้งห่วงยางเพื่อที่จะไปเกาะเรือแห่งความหวัง โดยที่หารู้ไม่ว่า เรือลำนั้นเป็นของลวง เป็นสิ่งไม่จริง ไม่ยั่งยืน รอวันที่จะผุพังและจมหายไป และมีทิศทางพาให้ลอยห่างฝั่งออกไปอีก หันหัวเรือไปทางโลก หันหลังให้ทางธรรม ยิ่งพึ่งพาเรือไปไกลเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น
เรื่องราวของชีวิตนั้นไม่เหมือนในละคร มันไม่ได้ถูกตัดจบทันทีที่สมหวัง แต่มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การไม่ทุกข์ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทุกข์ในวันหน้า วันใดวันหนึ่งที่กุศลกรรมหมดรอบ ก็จะเป็นวันที่วิบากบาปได้ซัดเข้ามาในชีวิตเหมือนพายุที่ก่อตัวรออยู่ข้างหน้า
เรือลำน้อยที่เกาะไว้ค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นแห่งอกุศลกรรมจะซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่ลดละ แรงเท่าที่เราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นไว้ กรรมที่เคยไปหลอกลวงใครว่าการมีคู่เป็นสุข การแต่งงานเป็นสุข การผูกพัน ผูกภพผูกชาติเป็นสุข ผลกรรมแห่งการมอมเมาผู้อื่นด้วยความหลงผิดจนกระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นอยากได้อยากเสพ จะกลับมาเล่นงานให้เราได้เรียนรู้ทุกข์จนสาสมใจในวันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
20.7.2558
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์
แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา
การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้
เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น
กินอย่างวัวควาย
การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว”
ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน
แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง
ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์
ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง
การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?
การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน
กินอย่างมนุษย์
การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย
เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร
ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ
แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย
กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส
ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล
ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส
จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
– – – – – – – – – – – – – – –
19.7.2558
กรรมเป็นของตน
กรรมเป็นของตน
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ุ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน
เราสามารถเลือกที่จะหยุดกรรมชั่วได้ด้วยตัวเราเอง เจตนาของเราเป็นตัวกำหนดกรรมของเรา ไม่ใช่คนอื่นมากำหนดกรรมของเรา
มีแต่เราเท่านั้นที่จะพาให้ตัวเราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงได้
การฆ่าที่มีเจตนาทำเพื่อเงิน ไม่ใช่กรรมดีแน่นอน การกินโดยที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่สนใจว่าใครเขาจะฆ่ามา ย่อมไม่ใช่กรรมดีเช่นกัน
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการดับทุกข์ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นเหตุแล้วปล่อยวางโดยที่ไม่ได้ใช้ปัญญา ไตร่ตรองถึงเหตุหรือที่มาของสิ่งต่างๆ
คนที่ฆ่า เห็นแก่เงินจนยอมทำลายชีวิตผู้อื่นแลกเงิน
คนที่กิน เห็นแก่กินจนยอมเอาเงินไปซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแลกเงิน
ดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น” ก็คงจะเป็นประโยคสรุปบทความนี้ได้ดี