เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

April 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,121 views 0

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ...โสด

เพราะรักมากกว่า จึงยินดีที่จะ…โสด

เมื่อความรักเจริญถึงขีดสุด จะสามารถก้าวข้ามสามัญสำนึกทั่วไปได้ เป็นรักที่ไม่ไหลไปตามกระแสโลก กลายเป็นรักที่อยู่เหนือโลก เพราะอยู่เหนืออิทธิพลของกิเลส

รักนั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป มันจะไม่เหมือนอย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ความรักที่คนทั่วไปเข้าใจนั้น ต้องเสพสุข ต้องครอบครอง ต้องผูกพัน ฯลฯ แต่เมื่อความรักนั้นได้พัฒนาขึ้นนั้น การเสพสุข การครอบครอง การผูกพันใดๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความอยากนั้น กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไปในทันที

เพราะการยึดมั่นถือมั่นในการมีกันและกันนั่นเอง คือเหตุแห่งทุกข์ คือความรักที่คับแคบ เป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะตนต้องการเสพ ตนจึงยึดไว้ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอยาก ไม่อยากพราก ไม่ปล่อยให้เขาได้ไปทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อรักนั้นพัฒนาขึ้น รักมากขึ้น รักตนเองและผู้อื่นมากกว่ารักกิเลส ความเบียดเบียน ความหลงติดหลงยึด ความเห็นแก่ตัวใดๆ ย่อมไม่มีในบุคคลนั้นเลย คงเหลือไว้แต่ความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรักเท่านั้น

และเมื่อรักนั้นไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีคนที่จะต้องยึดไว้เพื่อรัก แต่จะเป็นใครก็ได้ที่ยินดี เหมาะสม ควรแก่กาลที่จะได้รับความเมตตาเกื้อกูล ได้ประโยชน์เหล่านั้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเมื่อรักได้เจริญถึงขีดสุดแล้ว คนผู้ที่มีความเห็นดังนั้นจึงเลือกที่จะเป็นโสด เพราะความเป็นโสดนั้น คือสถานะที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะไม่ผูกตัวเองไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นอิสระทั้งจากภาระทางโลก และภาระทางใจ เพื่อที่จะนำเวลา ทุนทรัพย์ และแรงงานที่เหลืออยู่มาสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

April 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,411 views 0

สาย8 ในความทรงจำ...ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในทีนี้ก็คือรถเมล์ สาย 8 ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตอยู่ ณ จุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้บริการของรถเมล์สาย 8 เป็นประจำ

ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนโต สาย 8 ในความทรงจำของผมคือ “ความหวาดเสียว” เพราะด้วยลีลาการขับรถชองพวกเขานั้นมักจะทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวมีสติอยู่เสมอ และในบางครั้งที่ผมได้นั่งหลังคนขับ ก็มีบางคราวที่คนขับรถเมล์สาย 8 ไม่พอใจกับรถเมล์สายอื่นแล้วขับปาดกันไปกันมา ถึงกับช่วยให้ผมได้เจริญมรณสติกันเลยทีเดียว

สรุปว่าสาย 8 ในความทรงจำของผมมันก็ไปในทางลบนั่นแหละ แต่ก็ต้องใช้บริการกันไปด้วยความจำเป็น ถ้าไม่รีบก็จะไม่เลือก ซึ่งเรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ก็คือเรื่องในวันก่อนที่แม้ไม่รีบ แต่ก็ยังเลือก

…..ผมรอรถเมล์อยู่ตั้งแต่เช้า คิดว่าจะนั่งสาย 145 หรือ 96 ไปยังจุดหมายเพราะเดินต่อไม่ไกล แต่รอไปก็ไม่มีมาสักคัน สาย 8 ก็ผ่านมาแล้วคันสองคัน จนมาถึงสาย 8 คันที่ 3 คันนี้ไม่มีคนโบกหรอก คนลงก็ไม่มี แต่ก็มาจอดหน้าผม เขาก็ไม่ได้เรียกหรอกนะ แต่เห็นเขาจอดเราก็รู้สึก เออ…ขึ้นก็ได้ เพราะจริงๆ สาย 8 ก็ไปได้เหมือนกัน แค่เดินต่อไกลกว่าสายอื่นๆ นิดหน่อย

ขึ้นไปก็ไปนั่งเบาะเดี่ยวใกล้ๆ หลังรถ ในรถคนไม่เยอะมาก พนักงานเก็บเงินก็เดินมาเก็บเงินตามปกติ พอผมยื่นเงินออกไปเขาก็ยกมือไหว้ ซึ่งผมก็ตะลึงนิดๆ คิดว่า โอ้โห! สาย 8 พัฒนาบริการแบบใหม่หรือนี่ เราอาจจะเคยเห็นในห้างหรือที่ไหนๆจนชิน แต่ในสาย 8 นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ชินจริงๆ แต่พอดูไปดูมา เขาก็ไม่ได้ไหว้คนอื่นนี่ อาจจะเพราะเราแต่งตัวเหมือนหรือไปคล้ายๆ กับคนที่เขาเคารพก็ได้นะ เรื่องนี้ก็ยกไว้ เพราะไม่รู้เหตุ

นั่งต่อไปก็มีหญิงแก่คนหนึ่งขึ้นรถมา พนักงานเก็บเงินก็เข้าไปช่วยประคองขึ้นรถอย่างนุ่มนวลประดุจบริการญาติผู้ใหญ่ เป็นภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในขณะที่นั่งรถเมล์ สาย 8 เช่นกัน ต่อมาก็มีจังหวะที่คนขับรถ เข้าจอดป้ายแล้วเบรกแรง ทำให้เบาะยาวหลังรถที่ไม่มีคนนั่งพับลงมา ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่เห็น แต่เห็นเพราะพนักงานเก็บเงินนั้นเดินมาไหว้ผมอีกรอบ แล้วเดินเลยไปยกเบาะขึ้นแล้วก็เดินกลับไปหน้ารถพร้อมยกมือไหว้เชิงขอโทษผู้โดยสารแบบรวมๆ

ผมก็เห็นว่า พนักงานหนุ่มคนนี้แม้ดูภายนอกจะออกไปทางเกเรนิดๆ อาจจะด้วยภาพของสาย 8 ที่ผมเคยยึดไว้หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นนุ่มนวลกว่าที่เห็นภายนอกมากนัก ผมเริ่มทบทวนอคติลำเอียงที่ผมมีต่อสาย 8 ว่าผมเหมาเกินไปไหม ผมรีบตัดสินไปไหม ทั้งดีและไม่ดีนั้นจะอยู่ยั่งยืนอย่างนั้นจริงหรือ…

สักพักหนึ่งรถเมล์ก็เข้าโค้งอย่างแรง ซึ่งถ้าตามค่ามาตรฐานของสาย 8 การเค้าโค้งอย่างที่ผมว่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของเขา แต่ผมก็ยังนึกอยู่ในใจว่า เข้าโค้งแบบนี้มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยนะ แต่พอเขาขับไปอีกนิดหนึ่งในจังหวะที่รถจะต้องแทรกเข้าไปในทางหลัก แทนที่เขาจะขับพรวดพราดออกไป เขากลับรอที่จะออกช้าๆ ทั้งที่ผมก็มองแล้วว่ารถที่ขับมาทางหลักก็ไม่ได้เยอะมากมาย

ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนความเข้าใจของตนเองว่าผมกำลังเอาแต่ใจเกินไปรึเปล่า อยากให้มันดีอย่างใจ ให้มันปลอดภัยตามมาตรฐานของเรารึเปล่า เพราะจริงๆ เขาก็ขับอย่างปลอดภัยในมุมที่เขาคิดว่าปลอดภัย ซึ่งมันก็ปลอดภัยจริงๆ คือภัยมันยังไม่เกิด พอไม่เกิดเขาก็อาจจะยังไม่ได้เรียนรู้การปรับบางอย่างให้ละมุนละไมในบางมุม ซึ่งในวันหนึ่งเขาก็จะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ว่าอย่างไหนปลอดภัย อย่างไหนไม่ปลอดภัย เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากใช้ชีวิตบนความไม่ปลอดภัยหรอก ก็คงมีแต่เรานั่นแหละ ที่อยากให้ทุกอย่าง “ดี” ตามที่ใจเราหมาย อยากให้บางจังหวะมันปลอดภัยอย่างใจเรา และอยากให้บางจังหวะมันไวอย่างใจเรา มันก็อยากไปเรื่อยตามความเห็นที่เรายึดว่าดีเหมือนกัน

เมื่อถึงป้ายที่ต้องลง ผมลงรถพร้อมรอยยิ้มส่งจากพนักงานเก็บเงิน ซึ่งในขณะที่ผมเดินต่อไปยังที่หมาย ก็ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนตนเองซ้ำอีกทีว่า เราจะยึดติดกับภาพใหม่นี้รึเปล่า ภาพของวันนี้มันก็เป็นเพียงแค่ในวันนี้ มันก็ดีเท่านี้ ดีกว่านี้ยังไม่เกิด แย่กว่านี้ก็ยังไม่เกิด ดีเก่าก็ผ่านพ้นไป อะไรที่มันไม่ดีก็ผ่านพ้นไป

ผมกำลังต่อสู้กับ “ความยึดมั่นถือมั่น” ในความทรงจำหรือสัญญาที่ผมมี ในลำดับแรกนั้นต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นเดิมก่อน ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตามที่เรายึดไว้ คือ เราจะไม่เอนเอียงไปทางอคติจนมองข้ามความจริงตามความเป็นจริงว่าครั้งนี้เขาก็ดีตามที่เขาเป็นจริงๆ และหลังจากนั้นคือไม่สร้างความยึดใหม่ขึ้นมา คือ เราจะไม่ลำเอียง เพราะเห็นว่าครั้งนี้เขาดีอย่างใจเรา แล้วมันจะดีไปตลอด เพราะความเป็นจริงก็คือ เขาดีดังใจเราแค่ครั้งนี้เท่านั้น ครั้งหน้าอาจจะไม่มีก็ได้ ถ้าเราเกิดความลำเอียง ฝังไว้ในใจว่ามันต้องดีอย่างนี้ทุกครั้ง เราก็จะต้องทุกข์จากความผิดหวัง เพราะวางความคาดหวังให้เกิดดีแล้วไม่ดีดังใจหมายไม่ได้

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้เก็บเกี่ยวและสังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการศึกษาธรรมะ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

April 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,339 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องของจิตใจ

ความเจริญของจิตใจนั้นสามารถชี้วัดได้จากสิ่งหนึ่ง คือการลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลที่เจริญขึ้นจากการทำความเห็นให้ถูกต้องโดยลำดับ

การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรง เพราะการจะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเราจะต้องหักห้ามใจ บังคับใจ ไม่ให้ใจนั้นหลงไปกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ จะไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสัตว์ทั้งปวง ก็เป็นจิตที่เมตตาจนถึงรอบที่จะลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดเมตตาแต่ปากยังเป็นเหตุให้เบียดเบียนอยู่ หรือว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ การหักห้ามใจไม่กินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้ไม่เบียดเบียนตนเอง ถ้ากินแล้วตนเองก็เป็นทุกข์ เป็นโรค ก็ต้องฝืนใจเลิก นั่นเพราะใจที่ทุกข์จากเหตุแห่งสุขภาพนั้นมีน้ำหนักกว่าสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์ หรือจะเหตุผลอื่นใดก็ตาม การลด ละ เลิกสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นย่อมเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น

แต่การจะเลิกกินนั้นไม่ง่าย หากเราตั้งใจละเลิกกินเนื้อสัตว์สักอย่างที่เราเคยติด เช่นเนื้อวัว การจะออกจากเนื้อวัวได้ต้องหักห้ามใจไม่ไปกินเป็นเบื้องต้น จนพิจารณาเห็นโทษภัยของการกินเนื้อวัวจนความอยากนั้นจางคลาย จึงค่อยๆ ขยับไปเลิกหมู ไก่ ปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อยอื่นๆ จนถึง นม ไข่ น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งหลายคนก็สามารถตัดทุกอย่างทั้งชีวิตได้ในทันที แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ การเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นต้องมีกำลังใจที่หนักแน่นและสำคัญที่สุดคือกำลังของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในโทษชั่วของการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในขณะที่เรากำลังพยายามลด ละ เลิก ก็จะมีเสียงสะท้อนกับสังคม คำชื่นชมจากคนเห็นดีกับไม่กินเนื้อสัตว์ ไปจนถึงคำประชดประชันจากคนที่มีอคติต่อการไม่กินเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ ถ้าเราเลิกแค่เนื้อวัวเราก็จะเจอการกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลิกหมู ไก่ ปลา ไปอีกก็จะเจอแรงกระทบอีกระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าไม่กิน นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ด้วยแล้วยิ่งจะเจอมากเข้าไปอีก ชมก็ชมมาแรง นินทาก็นินทามาแรง และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราเป็นผู้นำเสนอข้อดีของการไม่กิน ชักชวนผู้อื่นให้ละเว้นเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตที่ยินดีแบ่งปันสิ่งดีให้กับคนอื่นเช่นนั้น ถึงจะสื่อสารอย่างถูกกาลเทศะอย่างไรก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหนีสรรเสริญนินทาพ้น

สรรเสริญก็ทำให้อัตตาโต ยิ่งมีคนชื่นชมมากๆ ก็สามารถทำให้หลงติดดีได้ นินทาก็เช่นกัน มันจะมาในทุกรูปแบบ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งสุภาพและหยาบ ซึ่งจะคอยแซะให้เราตบะแตกแสดงความโกรธ นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกจิตใจ อดทนข่มใจไม่ลอยไปตามคำชม ไม่ขุ่นมัวไปตามคำนินทา

สรุปแล้ว ตลอดเส้นทางแห่งการละเว้นเนื้อสัตว์ ย่อมจะเจอโจทย์ที่หลากหลายเข้ามาฝึกใจ ทั้งจากข้างในและข้างนอก ความอยากกินเขาเราเองก็ว่าหนักแล้ว เสียงจากสังคมก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก คนที่จิตใจไม่ตั้งมั่นในการทำความดี ไม่มีกำลังใจ ไม่มีปัญญา ก็จะหวั่นไหวได้ง่าย เจอโลกเขาลากกลับไปกินเนื้อสัตว์ ก็กลับไปกินตามเขา เพราะใจง่ายนั่นเอง การไม่กินเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องฝึกฝนเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

15.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,706 views 0

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นต้องมีลำดับขั้นตอน มีความเจริญในมรรคผลสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อหวังบรรลุธรรมในทันที แบบไม่มีขั้นตอน ไม่มีลำดับ

เหมือนกับการจะได้ผลไม้สักหนึ่งลูก ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ถางวัชพืช ก็มีมรรคคือการถางวัชพืชและผลคือวัชพืชหายไป จนกระทั่งผสมดินเพื่อเตรียมปลูกก็จะมีมรรคผลเป็นลำดับ จนกระทั่งเพาะเมล็ด เลี้ยงดู ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็จะมีมรรคผลเกิดขึ้นโดยลำดับ มีความเจริญโดยลำดับ มีความสำเร็จโดยลำดับ จนกระทั่งสุดท้ายได้ผลไม้นั้นมากินเป็นผลสูงสุดที่คาดหวังไว้ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการปฏิบัติโดยลำดับ

หากเราต้องการแค่ผลไม้ จะใช้เงินซื้อมาหรือหาเก็บเอาก็ได้ แต่ผลทางโลกุตระนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ ความเจริญทางจิตวิญญาณนั้นต้องทำเอาเอง ต้องมีการถากถางกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน ปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจตนเองเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกิเลสในใจตนเองออกไปเรื่อยๆ โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่เรื่องเดียวทั้งปีทั้งชาติจะบรรลุผล เหมือนกับการปลูกผลไม้ จะถางหญ้าอยู่อย่างเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ให้หญ้าขึ้นเลยนั้นก็ได้ผลเพียงแค่หญ้าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีวันได้ผลไม้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่ผิด หลงเอาความสงบของจิตใจโดยการกดข่ม ฝืนทน กำหนดจิต เพ่งจิต รวมจิต ฯลฯ มาเป็นผล ก็คงจะได้ผลเพียงแค่วัชพืชไม่ขึ้น แต่จะให้ได้ผลไม้มากินก็คงไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการหวังให้ได้ความสงบในจิตใจชั่วครู่ก็คงหวังได้ แต่จะให้จิตนั้นหลุดพ้นจากกิเลสก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น จำเป็นต้องรู้จักเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย รู้ว่าอะไรหยาบ อะไรละเอียด ปฏิบัติจากหยาบไปก่อนแล้วค่อยไปละเอียด กิเลสหยาบๆ เอาออกให้ได้ก่อน สิ่งที่เบียดเบียนมาก เป็นภัยมาก อาการทางร่างกาย ทางวาจา หยุดให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปดับกิเลสในใจที่หลงผิด ไม่ใช่จะไปละเอียดได้โดยไม่ผ่านหยาบ ปฏิบัติลัดชั้นตอน ปฏิบัติไม่มีลำดับ ก็เรียกได้ว่าหลงทาง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)