ความปรารถนาดีที่เขาไม่ต้องการ
ภาพนี้ถ่ายไว้นานแล้ว ไม่มีเวลาได้เล่าเป็นเรื่องกันสักที มาวันนี้ก็เหมาะควร
เป็นภาพของหมาตัวหนึ่งที่นอนอยู่บนเกาะกลางถนนกับไส้กรอกหนึ่งชิ้นที่ก่อนหน้านี้มีคนคนหนึ่งหยิบยื่นมาให้
ผมเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะยืนรอรถเมล์อยู่แถวนั้นนานมาก หลังจากที่มีคนหยิบยื่นไส้กรอกให้ หมามันก็ทำท่าดม ๆ แล้วมันก็นอนต่อ ไม่นานนักมันก็ลุกเดินออกไป และไม่กลับมาเหลียวมองแม้ผ่านไปหลายนาทีก็ตาม
ผมเห็นดังนั้นก็ตระหนักเลยว่า เราไม่ควรยัดเยียดในสิ่งที่คนอื่น สัตว์อื่น ที่เขาไม่ต้องการ เพราะนอกจากสิ่งที่เราทำลงไปแล้วจะไม่เกิดผลดีอะไรกับเขา เรายังจะต้องเสียพลังงานและทรัพยากรไปอย่างสูญเปล่าด้วย
การพยายามผลักดันไปช่วยใครต่อใครไม่ใช่วิถีทางพ้นทุกข์ แต่การช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นต่างหากจึงจะเป็นน้ำหนักที่จะนำมาประมาณการกระทำที่เหมาะที่ควรได้
แม้เราจะมองว่าเรามีดี เราเลิศ เราเยี่ยม เราเก่งแค่ไหนก็ตาม ต่อให้เราดีเราเก่งจริง ๆ เลยก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่ต้องการมันก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีค่าอะไรสำหรับเขา ดีไม่ดีเขาตีทิ้ง ดูหมิ่นกลับอีกต่างหาก
ดังนั้นเหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ผมนำมาน้อมใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงติดกับดักของความยึดดี ถือดี ที่จะพุ่งเข้าไปทำดีโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ทำดีโดยไม่ประมาณตน ทำดีโดยไม่ประมาณผู้รับ อันนี้มันก็จะเสียมากกว่าได้ คือกุศลน่ะได้ แต่กิเลสหรือบาปมันงอก มันก็เสียประโยชน์ตนนั่นแหละ ส่วนประโยชน์ผู้อื่นก็ไม่ได้อะไร เพราะให้แล้วเขาก็ไม่เหลียวแล ดีไม่ดีหยิบไปเททิ้ง
ทักทาย ๒๕๖๒ : 2019
ปี 2018 ที่ผ่านมา มีผลงานบทความในเพจ ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ค่อนข้างน้อย แต่งานวิจารณ์ และข้อคิดเห็นต่าง ๆ ใน บัญชี ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ค่อนข้างเยอะ สำหรับผู้ที่ติดตามในเว็บไซต์แห่งนี้ อาจจะได้รับการตอบรับช้าหน่อยในปีที่ผ่านมา เพราะเว็บไซต์มีปัญหาทางเทคนิคตั้งแต่กลางปี ทำให้ผมเข้ามาจัดการระบบภายในไม่ได้ และไม่มีเวลาที่จะแก้ไขจนหาย จึงปล่อยเรื่อยมา เพราะหน้าเว็บทั่วไปยังสามารถเข้ามาอ่านได้อยู่
ในปี 2019 นี้คิดว่าน่าจะมีเวลาสำหรับบทความมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การพิมพ์บทความนี่ต้องใช้เวลาและพลังในการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงมากกว่า ส่วนงานวิจารณ์แสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ นั้น เป็นงานที่ใช้เวลากลั่นกรองไม่มาก สรุปไม่ยาก เป็นเรื่อง ๆ เป็นประเด็น ๆ ไป
มหาอำนาจผู้เบียดเบียน
มหาอำนาจผู้เบียดเบียน
หลายวันก่อนระหว่างไปทำธุระในเมือง ผมเห็นรถขนหมูจอดอยู่ข้างทางใกล้ ๆ กับที่ที่ต้องแวะ จึงเดินไปดู เห็นสภาพของหมูแล้วก็รู้สึกเห็นใจ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมก็ทำได้แค่มองมัน มันก็ทำได้แค่มองผม …จนถึงป่านนี้หมูเหล่านั้นก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
คนเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ สร้างอำนาจ บ้าอำนาจ พยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามที่คนคิด แม้แต่การสร้างกฎ สร้างค่านิยม หรือสร้างอธรรมมาหลอกลวงตนเองและผู้อื่นว่าเป็นธรรม จนหลงแบบมืดบอดสนิท ว่าสิ่งที่เบียดเบียนที่เห็นกันอยู่ชัด ๆ คือสิ่งที่ไม่เบียดเบียน
คนแต่ละคนก็มีอำนาจเป็นของตัวเอง อย่างน้อยก็มีอำนาจในการทำลายชีวิตสัตว์ เงินคือตัวแทนของอำนาจนั้น เมื่อคุณมีเงิน ก็หมายถึงคุณมีอำนาจที่จะส่งเสริมการทำลายชีวิตสัตว์ได้ เพื่อแลกมาซึ่งการบำเรอสุขตนหรือสนองค่านิยมของตน บางคนหลงว่าเนื้อสัตว์นี่เป็นของดีของเลิศ คนจนไม่มีเนื้อดี ๆ กิน ต้องรวยถึงจะซื้อเนื้อแพง ๆ มากินได้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งแสดงความบ้าอำนาจของคนในทางหนึ่ง ดังที่เห็นเขาอวดกันว่าไปกินเนื้อนั้นเนื้อนี่ราคาหลักพัน หลักหมื่น หลัก…
อำนาจลักษณะนี้แม้มี แม้เด่นดังเพียงไร ก็ยังเป็นอำนาจที่ยังหลงยุค ยังไม่พ้นยุคค้าทาสบำเรอกามบำเรออัตตาตน ยังใช้อำนาจใด ๆ ที่ตนมีเพื่อเป็นไปในทางส่งเสริมให้ข่มเหงรังแกสัตว์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตน ยังเป็นผู้มีอำนาจที่ยังเบียดเบียนอยู่
อำนาจที่ยังล้าสมัย ป่าเถื่อน เบียดเบียนเช่นนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ใด ๆ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม แต่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ตกต่ำ เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นในท้ายที่สุด
ผู้มีอำนาจที่แท้จริง คือผู้ที่สามารถหยุดความบ้าอำนาจในตนได้ สามารถหยุดอำนาจชั่วที่กำลังจะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ จริงอยู่ที่ว่าเราไม่มีอำนาจจะไปช่วยสัตว์ทั้งหมดได้ แต่เราสามารถสร้างอำนาจเพื่อช่วยจิตที่ยังหลงทางของเราได้ ให้ออกจากความมัวเมาลุ่มหลงว่าค่านิยมการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ซึ่งมันก็ใช่ ที่เขาว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังยินดีในการฆ่าสัตว์ เพราะเมื่อเขาใช้เงินซื้อเนื้อสัตว์มา ก็ย่อมยินดีให้สัตว์นั้นตาย ย่อมยินดีให้โรงฆ่าสัตว์คงอยู่ ย่อมยินดีให้มีการล่าล้างทำลายสัตว์ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะให้เขาได้มีเนื้อสัตว์กิน ไม่ขาดแคลน ความยินดีในสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดจากสภาพจิตที่หลงทาง หลงว่าการเบียดเบียนที่รับรู้และเห็นอยู่ตรงหน้านั้นไม่มีผลร้าย ไม่มีผลเสียต่อตนและผู้อื่น ไม่มีภัยแก่ตน แม้ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม
ผู้ที่ยังยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ก็คือผู้ที่ยังยินดีให้เขาฆ่าสัตว์ หมายถึงจิตยังเสมอกันกับผู้ฆ่า แต่ผู้ที่มีอำนาจในตน มีอำนาจหยุดการเบียดเบียน จะไม่ยินดีในการฆ่า ไม่ส่งเสริมให้ฆ่า และยินดีในธรรมที่ไม่เบียดเบียนที่ผู้คนได้แสดงอยู่ เหล่านี้เป็นเพียงอำนาจเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชนในฐานศีล ๕ ในทุกวันนี้ศาสนาพุทธได้ตกต่ำถึงขนาดดึงมาตรฐานศีล ๕ ตกต่ำตามไปด้วย ดังนั้นถ้ายึดเอาตามหลักทั่วไปตอนนี้ก็เรียกได้ว่าตกต่ำจนน่ากลัว เพราะผู้มีอำนาจที่ยินดีในการเบียดเบียนย่อมฉุดดึงธรรมลงต่ำเป็นธรรมดา
ดังนั้นเราควรจะตระหนัก และตรวจจิตตนว่า เรายังยินดีในการฆ่าหรือไม่ เรายังยินดีที่ได้รับของที่เขาฆ่ามาหรือไม่ เรายังยินดีในการส่งเสริมผู้คนหรือกิจกรรมที่ฆ่าสัตว์หรือไม่ ถ้าเรายังยินดีอยู่ ยังอยากให้เขาคงอยู่ ยังต้องพึ่งการมีอยู่ของเขา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์เรารู้สึกเป็นทุกข์ ทรมาน โหยหวน โหยหา คร่ำครวญถึงเมนูเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่นหมายถึงเรายังโดนอำนาจของกิเลสครอบงำ ยังเป็นมหาอำนาจที่เป็นทาสของกิเลส เพราะกิเลสจะพาให้ยินดีในการเบียดเบียน ไม่ยินดีในการไม่เบียดเบียน สุดท้ายก็ยังคงต้องเป็นทาสของเหล่าผู้คนที่มีจิตต่ำกว่าศีล ๕ เป็นหุ้นส่วนของคนพาล เพียงเพื่อจะได้เนื้อสัตว์มาบำเรอตน
10.10.61
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ศาสนาพุทธ ในปัจจุบัน
ศาสนาพุทธ ในปัจจุบัน
ระหว่างที่กำลังทำสวนในเย็นวันหนึ่ง ผมมองขึ้นไปบนฟ้า เห็นเส้นสีขาวที่คดไปมา มองต่อไปก็เห็นเครื่องบินกำลังบินอยู่ เครื่องบินก็ดูเหมือนจะบินตรงไปตามทิศทางของมัน แต่เมฆหรือไอน้ำที่เกิดขึ้นกลับเปลี่ยนไปตามลมอย่างไร้ทิศทาง
ในช่วงหนึ่งที่เห็นภาพเหล่านั้น ผมคิดไปถึงความเป็นไปของศาสนาพุทธในปัจจุบัน ซึ่งเหมือนกับภาพของเครื่องบินและไอน้ำที่เกิดตามหลังมา คือพระพุทธเจ้า ท่านก็สอนถูกตรงที่สุดแล้ว แต่พอเวลาผ่านไป ความผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวก็เกิดขึ้น เหมือนเป็นเรื่องธรรมดายังไงอย่างนั้น
ความผิดเพี้ยนไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสมัยนี้เท่านั้น แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต้องมีสงฆ์คอยชำระแก้ไขความผิดเพี้ยนเหล่านั้นเรื่อยมา แต่ยิ่งนานวันผ่านไป อริยสงฆ์เหล่านั้นก็ค่อย ๆ จากไป เส้นทางที่ชัดเจนได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็ล้วนบิดเบี้ยวไปตามวิบากของแต่ละคน มีเพียงฝุ่นปลายเล็บเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติถูกต้องอยู่ได้ ส่วนดินทั้งแผ่นดินที่เห็นคือผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว
เรื่องพุทธแท้พุทธเทียม คงจะเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่มีวันจบสิ้น เพราะต่างคนก็ต่างถือว่าตนเอง อาจารย์ของตน ลัทธิของตนนั้นถูกเสมอ ซึ่งมันก็มีทั้งคนถูกทั้งคนผิด แต่คนถูกมีนิดเดียว คนผิดแทบทั้งโลก
สมัยศึกษาธรรมะใหม่ ๆ ผมเองก็ยังแสวงหาหนทางเหมือนกับคนทั่วไป พอเจออาจารย์ที่ปฏิบัติตามแล้วได้ผลจริง คือลดความอยากลงได้จริง มีหลักฐานปรากฏตามจริง สามารถรู้ร่วมกันได้ เช่น การเลิกหลงในการกินเนื้อสัตว์, การประพฤติตนให้อยู่เป็นโสด ฯลฯ และมั่นใจว่าจิตใจข้างในก็เป็นจริงตามนั้น
หลังจากตนเองพอจะมีหลักให้ยึด จึงเริ่มศึกษาผู้อื่น กลุ่มอื่น ลัทธิอื่น ความเชื่ออื่น ก็ศึกษาไปอย่างนั้นแหละ ไม่ได้คิดจะไปรบกับใคร ไม่ได้คิดจะไปปรับเปลี่ยนอะไรเขา เพียงแค่อยากรู้ว่าเขาปฏิบัติเหมือนเราไหม เขาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างเราไหม หรือเขาปฏิบัติแล้วได้ผลอย่างไร ช่วงแรก ๆ มันก็ยังมีไฟ ยังตั้งใจอยู่ แต่พอศึกษาไปนานวันเข้า มันก็ท้อเหมือนกัน
อาการท้อ นี่คือรู้สึกหมดหวัง รู้สึกประมาณว่าไม่รู้เหมือนกันว่าเขาจะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร สร้างสำนัก สร้างลัทธิมาหลง ทำไปทำไม แน่นอนว่าเราไปช่วยเขาไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ใช่เป้าหมายแต่แรก แต่ลึก ๆ มันยังมีความรู้สึกเป็นห่วง เพราะเห็นว่าปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ต้องการไปสู่ความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่กลับไปกันคนละทิศละทางอย่างจนดูเหมือนจะไม่มีวันที่จะมาบรรจบกันได้
สุดท้ายหลังจากที่ได้พูดคุย, แลกเปลี่ยน, ปะทะ, ฯลฯ กับคนที่เห็นไม่ตรงกันในการปฏิบัติ จากประเด็นต่าง ๆ ในบทความที่เคยได้พิมพ์ออกไป ก็รู้สึกว่า “พอดีกว่า” หลายครั้งหลายที มันก็ไปไม่ได้ มันทำความเข้าใจกันยาก ยิ่งไม่มีศรัทธาต่อกันยิ่งไปกันใหญ่ มันจะกลายเป็นแค่การแข่งดีเอาชนะกัน ซึ่งมันเสียเวลาเอามาก ๆ สรุปคือนอกจากจะช่วยเขาไม่ได้แล้วยังผลักเขาลงเหวไปอีก
ยิ่งในลัทธิที่แตกต่างนี่ผมยิ่งไม่อยากแตะ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีกำลังพอจะไปบอกอะไรเขาได้ มันก็ต้องปล่อยเขาไป ฐานะเราก็เท่านี้ เราก็มีแค่นี้ เราก็เจียมตัวอยู่แบบของเราไป ส่วนใครเขาจะบรรลุธรรมแบบไหน จะเร็วจะช้า จะพิสดารแบบไหนก็เรื่องของเขา มันก็เป็นไปตามวิบากของเขา เป็นไปตามวิบากของโลก เหมือนกับเมฆที่โดนลมพัด เปลี่ยนรูปไปหมด เอาแน่เอานอนไม่ได้
เรื่องเขานี่มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ รู้ก็ไม่ชัดเท่าตัวเรา สู้เราเอาเวลามาปฏิบัติของเราดีกว่า ว่าพุทธในปัจจุบันของเรานี่มันเต็มความเป็นพุทธหรือยัง ถ้าเราทำได้ดีแล้วโลกจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ เพราะมันพร่องเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เราก็ช่วยไปตามกำลัง ตามบารมีของเรา มีมากก็ช่วยได้มาก มีน้อยก็ช่วยไปตามบารมีที่มี ไม่ต้องทุกข์อะไร
เท่าที่ผมเห็น ดูเหมือนคนส่วนมากจะเอาเวลาไปทุ่มกับเรื่องนอกตัวเสียหมด ปฏิบัติธรรมก็ไปทำนอกตัว ไปอยู่กับอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะมากมาย ไม่แก้ปัญหาที่จิต ไม่แก้ที่กิเลสในจิต แต่ก็คงจะเป็นเรื่องธรรมดา ก็ทางปฏิบัติมันหายไปเกือบหมดแล้ว ก็ปฏิบัติกันแบบหลงป่ากันไป ป่าใครป่ามัน คนอยู่ในป่าก็มองจากป่า ก็เหมือนเห็นคนอื่นอยู่อีกป่า แม้คนไม่อยู่ในป่าเขาก็มองว่าว่าอยู่ในป่า เพราะเขามองผ่านป่าของเขา ก็เป็นแบบนี้แหละนะ พุทธในปัจจุบัน
31.1.2561
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์