การช่วยเหลือคนพาล

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 779 views 0

วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?

จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน

1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก

2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น

3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง

การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น

ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย

พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ

แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา

ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา

สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ

แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ

ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย

Related Posts

  • การติติงคนพาล การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย […]
  • ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล? พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง […]
  • คนพาลที่ไม่รู้จักคนพาล ยิ่งได้ศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะยิ่งได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านได้แจกแจงความเป็นคนพาล ในระดับต่าง ๆ ไว้ เช่นระดับที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ หรือแย่น้อยลงมาคือควรวางเฉย คือไม่ควรไปยุ่งนั่นแหละ ก็ไม่ควรคบ […]
  • ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ […]
  • พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล ตอบ เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply