มังสวิรัติ การกินมื้อเดียว
ภาพจริงของนรก
ภาพจริงของนรก และกระทะทองแดงยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้รูปจะเป็นหมู แต่จิตวิญญาณนั้นยังคงมีความทุกข์ มีเวทนาเหมือนกับคน นั่นหมายถึง จิตวิญญาณนั้นแค่ดำรงอยู่ในร่างหมูเพื่อรับกรรมที่ตนทำมา
การกำเนิดเดรัจฉาน หรือไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นง่ายยิ่งกว่าง่าย แค่ไม่มีศีล ๕ เบียดเบียนสัตว์อื่นมาก ๆ ใช้ชีวิตตามใจอยาก กิน สูบ ดื่ม เสพ ก็จะได้รับสิทธิ์นั้นรอคอยอยู่ในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน
ถ้าถามว่าผมจะเห็นใจใคร ระหว่างคนที่ยังหลงทำชั่ว หรือหมูตัวที่โดนหย่อนลงหม้อน้ำเดือด ภาพรวมก็เห็นใจทั้งคู่นั่นแหละ แต่หมูนั้นกำลังรับกรรมชั่วของตนอยู่ ชดใช้ไป ผลกรรมชั่วก็หมดไป ส่วนคนที่หลงผิด หลงทำชั่วอยู่นั้น เขากำลังสะสมกรรมชั่วของตน กำลังดำเนินไปในทางเสื่อม ก็รอคิวไปเป็นหมูตัวต่อไป ใครน่าสงสารกว่ากัน?
ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกัน
ระหว่างเดินทางวันนี้ ก็ได้มองไปรถที่กำลังขับผ่านไปอย่างช้า ๆ เป็นรถขนหมู
หมูในรถโต ๆ กันแล้ว ก็รู้ ๆ กันว่าปลายทางจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไปเข้าปากเข้าท้องคนที่เขาอยากกินนั่นแหละ แต่กระบวนการมันก็โหดร้ายเหลือเกิน คือมันต้องถูกฆ่า ไม่งั้นคนก็ไม่ยอมซื้อกิน ถ้าฆ่ามาขายคนจ่ายเงิน ถ้าไม่ฆ่าไปขายไม่ได้เงิน
สรุปว่าหมูวัยรุ่นเหล่านั้นกำลังจะเดินทางไปสู่ความตายอย่างแน่นอน นั่นหมายถึง นี่เป็นการได้พบกันครั้งแรกของผมกับหมูกลุ่มนั้น และก็เป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ทั้งหมดผ่านไปในไม่กี่วินาที ผมก็ต้องเดินทางของผมต่อไป หมูก็ต้องเดินไปตามกรรมที่ทำมาต่อไป แน่นอนว่าเราไปคนละทางกัน
การทำบาป ทำชั่ว ทำผิดศีล ย่อมก่อกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเดรัจฉาน ก็เป็นการวนเวียนกันไประหว่างคนฆ่าและคนกิน เป็นการรักษาสมดุลของกรรม คือทำแล้วต้องรับ ทำแล้วต้องใช้ ไม่มีวันหมดไปจนกว่าจะใช้หนี้กรรมหมด
มีทางหนีทางเดียวคือทำตนให้หมดกิเลสแล้วปรินิพพานหนีซะ นอกนั้นไม่มีทางพ้นกรรม ถ้ายังเกิดอยู่ก็ยังต้องทนทุกข์ แล้วถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เหล่านี้ก็ยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่
ก็เห็นใจทั้งหมู เห็นใจทั้งคนฆ่า เห็นใจทั้งคนกิน ก็กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ก้อนเดียวกัน กงเกวียนกงกรรม เกี่ยวเนื่องกันด้วยบาป หมุนไปด้วยกัน ทุกข์ไปด้วยกัน เพียงแค่สลับตำแหน่งกัน ล้อหมุนไป จุดหนึ่งอยู่บน จุดหนึ่งอยู่ล่าง หมุนไปอีก จุดหนึ่งอยู่ล่าง จุดหนึ่งอยู่บน สลับกันไปไม่จบไม่สิ้นด้วยเหตุแห่งความเกี่ยวเนื่องอาศัยกันและกัน
ความประหยัดเรียบง่ายของชีวิตมังสวิรัติ
วันก่อนไปซื้อมะเขือเปราะมาทำแกง กิโลกรัมละ 20 บาท กก. นึงแบ่งกินได้ประมาณ 2 วันกว่า ๆ
มาคิดถึงเนื้อสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ในยุคปัจจุบันโดยเฉลี่ยน่าจะไม่เคยลงไปแตะถึง 20 บาท/กก. นี่เรากินผืชกินผัก เราก็ประหยัดได้มากกว่า เรียบง่ายกว่าด้วย เพราะผักนี่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นก็อยู่ได้ ส่วนเนื้อสัตว์นี่ถ้าไม่มีตู้เย็น แล้วไม่เอาไปแตกแดด ก็เน่ากันเลยล่ะ
ในเชิงบริหารชีวิต การกินผักมีประสิทธิภาพกว่าอย่างชัดเจน ทั้งประหยัด เรียบง่าย และแข็งแรง ผมไปตรวจเลือดเมื่อต้นปี หลังจากไม่กินเนื้อสัตว์มา 7 ปีกว่า ผลเป็นที่น่าพอใจมาก หมอที่แจ้งผลแปลกใจว่ามันดีผิดจากทั่ว ๆ ไปในคนรุ่นนี้
ในเชิงกิเลส ผักนั้นมีกามน้อยกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งสัมผัส และกลิ่น ส่วนรสเขาก็ปรุงจากพืชจากเกลือนั่นแหละ เนื้อสัตว์นี่จืดมาก ไม่เหมือนผักหลายชนิดที่เอามาลวกแล้วหวานขึ้นอย่างชัดเจน
คนส่วนมากเขาก็ปรุงเนื้อสัตว์โดยอาศัยพืชผัก เกลือนี่แหละ มันเลยกินได้ขึ้นมา เป็นรสอร่อยขึ้นมา คนไม่กินเนื้อสัตว์ ขาดเนื้อสัตว์ได้ ไม่ตาย แต่คนขาดพืชผักนี่น่าจะอายุไม่ยืน ไม่เจริญอาหาร อาจจะขาดใจตายได้
แต่ก็มีส่วนกลับของโลก ที่คนกลับไปปรุงพืชผักให้เป็นเนื้อสัตว์ นี่คือมายาของกิเลส ที่จะปั้นปรุงแต่งให้เป็นรสรูปสัมผสที่คนหลงพอใจ ผลออกมาคือ ได้เนื้อเทียมที่ราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วพืชผักส่วนใหญ่ราคาไม่แพง แต่พอเอาไปปรุงปั้นแต่งเป็นเนื้อเทียม ราคากลับแพงจนน่าตกใจ
การหากินกับกิเลสคนนั้นบาปมาก ทั้งที่เราสามารถสร้างการรับรู้ในการไม่กินเนื้อสัตว์ให้ประหยัดเรียบง่ายได้ แต่ด้วยอำนาจของกิเลส และแนวคิดในเชิงทุนนิยม เขาก็จะทำตรงกันข้าม คือผลิตมาให้คนอยากเสพ แล้วเอาเงินมาก ๆ เยอะ ๆ ขายแพง ๆ วางตำแหน่งให้ดูสูง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันก็คือซากพืชที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม ไร้ความสด ลดคุณค่า เพิ่มตัณหา พายากจน
การกินผักท้องถิ่นตามฤดูกาลกลับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พบเห็นเท่าไรนักในกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการเลิกกินเนื้อสัตว์ เพราะมันธรรมดาเกินไป ไม่สมใจกิเลส เขาต้องเอาเมนูโก้ ๆ หรู ๆ มาโชว์กัน ให้เกิดความอยาก
จริง ๆ คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญานี่เขาไม่ต้องเอาของกินอร่อย ๆ หน้าตาดี ๆ มาล่อหรอก ก็กินพืชผัก ต้มผัดแกงทอดไปเป็นธรรมดานี่แหละ ความธรรมดาคือความเรียบง่าย เป็นสากล ชาวบ้านก็ทำตามได้ จะรวยจะจนก็ทำตามได้หมด แต่ถ้าไปกินแพง ๆ ชาวบ้านเขาตามไม่ได้ มันก็ไม่ใช่วิถีชีวิตปกติ จึงเป็นได้แค่วิถีชีวิตของกลุ่มคนมีอันจะกินกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง
ทางสายกลาง (มังสวิรัติ)
ทางสายกลางคือการปฏิบัติสู่ความเป็นกลางของจิต ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่าย คือไม่ชอบ และไม่ชัง ถ้าลงรายละเอียดในภาษา ก็คือไม่หลงในกาม และไม่ยึดมั่นในอัตตา
ความชอบความชัง หรือกามและอัตตานั้น เหมือนกับลูกตุ้มเหล็กที่เหวี่ยงไปแล้วแกว่งไปทางด้านหนึ่ง และแกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีแรงหลงเหลืออยู่
แรงที่แกว่งให้เกิดความชอบความชังเหล่านี้คือกิเลส ตราบใดที่กิเลสยังเหลือ ลูกตุ้มแห่งกามและอัตตาก็ยังแกว่งไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น
ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตสู่ทางสายกลาง คือต้องลดกิเลส หรือทำความชอบความชังให้เบาลง ในกรณีมังสวิรัติคือการทำความชอบในเนื้อสัตว์ให้เบาบางลง และทำความชังในเนื้อสัตว์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เบาบางลงเช่นกัน
ความชอบหรือกามในเนื้อสัตว์ คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีในเนื้อสัตว์นั้น ๆ เป็นเหตุให้คนเข้าไปเสพ แม้จะไม่ได้เข้าไปเสพเนื้อโดยตรง แต่ยังยินดีในการเสพเนื้อเสมือน เนื้อเทียม เนื้อปลอม ก็ยังเป็นลักษณะที่ยังบ่งบอกถึงความจัดในกามที่ยังคิดติดตรึงใจอยู่ การลดกามในเนื้อสัตว์นั้นก็ต้องลดทั้งกามคุณทั้ง ๕ อย่างนั้นลง ไม่ให้จัดจ้าน ไม่ให้เหลือรูปภายนอก สุดท้ายคือกำจัดรูปรอยของความอยากในใจให้ได้
ความชังหรืออัตตาที่มีต่อเนื้อสัตว์และผู้คนที่เห็นต่าง คือทางโต่งอีกด้านของลูกตุ้มกิเลส ที่แกว่งกลับมาด้านอัตตา จิตของคนที่อัตตาแรง แม้จะแรงแค่ไหนแต่จะมีสภาพที่จะยึดเป็นอย่าง ๆ ถ้าไปติดกามก็ติดแรง วนมาอัตตาก็จะชังแรง เป็นสภาพผลักดูดที่แรงเป็นของคู่กัน
ความชังนั้นจะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตนเองก็เศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ส่วนผู้อื่นก็จะรู้สึกกดดันบีบคัน อึดอัด ไม่สบายใจ เป็นลักษณะของความโต่งในการทรมานตนเองด้วยอัตตา แม้จะไม่ได้ไปนั่งบนเตียงตะปู ไม่ได้เดินเหยียบไฟ แต่การหลงในอัตตานั้นทรมานลึกร้ายกว่านั้น เพราะเป็นความทรมานในใจ ไม่มีรูปข้างนอก แต่มีความไม่สบายใจอยู่ข้างใน
อัตตา นั้นเกิดมาจากการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่นสำคัญตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นแล้วไปยกตนข่มเขา ดูถูกดูหมิ่น ดูแคลนเขา ดูเขาว่าด้อย แสดงความเหยียดเขา เป็นต้น
ในกรณีของผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีอัตตาตัวนี้แรง เพราะการจะออกจากกาม มันก็ต้องใช้อัตตา คือใช้ความยึดดีหรือยึดความดีเป็นกำลัง แต่ที่นี้มันจะมีจุดที่ยึดไปแล้วเลยเถิด คือมันเหมือนจะดี แต่มันทุกข์ทรมาน ลำบาก กดดัน บีบคั้น แสดงว่ามันโต่งไปแล้ว
จุดพอดี จุดโต่งในระหว่างการปฏิบัตินั้นไม่เที่ยง จะแปรเปลี่ยนไปตามอินทรีย์พละหรือความเจริญของจิต ในสมัยปฏิบัติแรก ๆ ความพอดีอาจจะเป็นไม่กินเนื้อสัตว์ จันทร์-ศุกร์ มากกว่านี้จะทรมานใจมาก ปฏิบัติต่อมาจิตเจริญขึ้น ความพอดีที่จะทำความเจริญอาจจะเปลี่ยนไปเป็นไม่กินเนื้อตลอดชีวิต แต่ยังอด นม เนย ไข่ น้ำผึ้งนาน ๆ ไม่ไหว จิตมันอยากจนดิ้นรนแสวงหา มันทนไม่ได้
ซึ่งความกลางในที่นี้ไม่ใช่ความกลางเป๊ะ ๆ แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง คือค่อย ๆ ลดกำลังของกิเลสที่คอยแกว่งลูกตุ้มแห่งกามและอัตตา ผลคือมันจะเบาแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรง มันจะแรงทั้งสองฝั่ง เวลาติดกามก็ติดแรง เวลาติดอัตตาก็ขมอย่างแรง แต่พอเวียนกลับไปกามก็จะติดกามที่แรงเหมือนเดิม กิเลสคือเครื่องพาวน วนเวียนไปในสองสภาพคือชอบและชัง
ความเป็นกลางนั้นมีจุดจบสมบูรณ์อยู่ที่ความหมดกามและอัตตาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกมาอธิบายแล้วเข้าใจกันเพียงแค่ภาษา เพราะคนที่แกว่งอยู่อย่างรุนแรงในการหมกมุ่นในกามและอัตตา ย่อมไม่เข้าใจความหยุดนิ่ง ดังนั้นคำว่าทางสายกลางแท้จริงแล้วคือทางปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง
จุดจบของทางสายกลางคือความไม่เป็นทุกข์แม้จะไม่ได้เสพ และไม่เป็นทุกข์แม้ทั้งโลกจะไม่ยินดีในธรรมที่เรามีเลย ความไม่ทุกข์คือสภาพสูงสุดที่คนจะเจริญไปได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนดี ทำดี ยึดดี อันนั้นเป็นวิถีโลกีย์ทั่วไปซึ่งยังปฏฺิบัติเพียงแค่ดีกับไม่ดี ซึ่งในทางของพุทธนั้นจะมีเพิ่มเติมจากทั่วไปคือกำจัดทุกข์ในดีและไม่ดีเหล่านั้นด้วย เป็นส่วนเสริมที่เหนือจากวิสัยของโลก หรือโลกุตระ แปลง่าย ๆ ว่าเหนือโลก
ดังนั้นการจะเอาทางสายกลางมาอธิบายกันในเชิงวัตถุย่อมจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะความเป็นกลางของพุทธคือกลางในใจที่ไม่แกว่งไปทั้งชอบและชัง คือกลางในความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สำคัญที่สุดคือไม่เป็นทุกข์ใจ