พระไตรปิฏก

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,297 views 1

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

ถ้าการไม่คบคนพาลคือมงคล และการคบคนเลวทำให้เลวลง การะช่วยเหลือคนเหล่านี้ จะทำได้หรือไม่? และจะทำอย่างไร?

หลังจากที่นำ “ชิคุจฉสูตร” เกี่ยวกับการคบคนมาพิมพ์อธิบายเนื้อหา จะพบว่าคนที่เขาผิดศีล เน่าใน และพวกคนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจนั้น เป็นบุคคลที่ไม่น่าคบหา ไม่ควรแม้แต่การเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ เพราะจะทำให้เกิดภัยในชีวิต ก็ได้มีคำถามเข้ามาว่า แล้วอย่างนี้เราจะช่วยคนอื่นได้ไหม คนที่เขามีศีลธรรมต่ำกว่า แต่เขาเดือดร้อน เรายังจะพอช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้หรือไม่?อย่างไร?

ถ้าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตและความเดือดร้อนอื่น ๆ อันนี้เราก็ควรจะต้องช่วยเหลือกันให้ผ่อนและคลายจากสถานการณ์หนัก ๆ กันไปก่อน ส่วนที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการช่วยแบบทั่วไป ไม่รีบเร่ง ไม่อันตราย มีเวลาที่พอจะใช้สติปัญญาพิจารณาความควรหรือไม่ควรพอเหมาะ

ใน “เสวิสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 465) พระพุทธเจ้าได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน แต่ในพระสูตรนี้แบ่งด้วยหมวดของศีล สมาธิ ปัญญา ท่านกล่าวถึงคนที่มีศีลสมาธิปัญญาที่เสมอกันหรือสูงกว่านั้น ควรคบหา ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อความไม่เสื่อมในเบื้องต้นและความเจริญในธรรมที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นกำไร

ส่วนผู้ที่ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้นั้น ท่านหมายถึงคนที่ “เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา”  มีศีลเลว คือ มีหลักปฏิบัติที่พาทุกข์พาหลง มีสมาธิเลว คือ วนอยู่กับเรื่องพาทุกข์ ไม่พ้นทุกข์จริง มีปัญญาเลวคือ พาแต่ให้ตัวเองและผู้อื่นเป็นทุกข์ เป็นคนมีความเห็นผิดในการปฏิบัติ คือมีการศึกษาศีลสมาธิปัญญาที่ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ละหน่ายคลายจากกิเลส  ความเห็นและการปฏิบัติเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการหมดสิ้นซึ่งกิเลส แล้วท่านก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน

ท่านก็เตือนเราไว้ว่าอย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยเขาไป แม้เขาจะรู้ผิด ๆ ปฏิบัติผิด ๆ แม้ศึกษาศีลสมาธิปัญญาแต่ก็ยังทำเลวอยู่ ก็ให้ห่างไว้ อย่าไปคบ แต่ก็มีข้อยกเว้นนะ

ท่านก็บอกว่า นอกเสียจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน คือแม้เขาจะเป็นคนไม่ดีเป็นคนหลงผิดอย่างนั้นก็ตาม เราก็ยังพอช่วยเขาได้เป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งจะมีจุดสังเกตในพระสูตรนี้เช่นกัน ในส่วนของการเข้าหาผู้ที่เจริญกว่า จะมีประโยคที่ว่า “บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ” หมายความว่าอย่างไร?

การที่เราทำความเคารพสักการะผู้ที่เจริญกว่า เป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ให้เกียรติกัน ยกให้เหนือกว่า ยอมให้ทำหน้าที่สอน เป็นการบ่งบอกว่าพร้อมที่จะฟัง (แต่จะทำตามรึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง) เราก็ใช้หลักการนี้แหละ มาตรวจความพร้อมของคนที่เราจะช่วยเหลือ ว่าเขาพร้อมให้เราช่วยหรือไม่ ใช่หน้าที่เราหรือไม่ เราไม่ควรทำเกินหน้าที่ ไม่ควรทำสิ่งที่เขาไม่ยินดีให้ทำ ไม่ใช่ว่าเราไปทึกทักเอาเองนะว่าเขาอยากให้ช่วย เราทำเพื่อช่วยเขา แต่พอไปถามเขา เขาก็ไม่ยินดี จะไม่ไปยุ่งกับเขา เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ได้ขอ จะกลายเป็นเบียดเบียนเขาเสียอีก

ในศีลข้อ ๒ อย่างละเอียด จะมีประโยคที่ว่า “รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้” โอกาสในการช่วยเหลือก็เช่นกัน มันจะต้องเกิดเพราะเขาให้เรามา ไม่ใช่เราไปขยันสร้าง แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลนั้น จะเริ่มต้นต่อเมื่อเขาส่งสัญญาณนั้นมาเท่านั้น คือเขาบอกเรานั่นแหละ ว่าให้เราช่วยเขาหน่อย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำได้ ไม่ผิดศีล ไม่บาป

ก็จะครบองค์ประกอบของเสวิสูตร คือคนต่ำว่าก็เคารพคนสูงกว่า คนสูงกว่าก็เอ็นดู อนุเคราะห์คนที่ต่ำกว่า ทำแบบนี้ก็ไม่ขัดในธรรม แต่ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้มีศีลสมาธิปัญญาที่เลิศกว่า เราก็อย่าไปทำเกินความจริงของเขาเลย เพราะจริงของเขาคือเราไม่ได้สูง ดีไม่ดีเขาเห็นเราต่ำกว่าเขาอีก ก็เขาเห็นแบบนั้น มันก็จริงของเขาแบบนั้น เราอย่าไปทำเก๊กท่าหรือทำทีว่าสูงกว่าเขา ก็เป็นแบบที่เราเป็นนั่นแหละ ถ้าเขาไม่ศรัทธา ก็ปล่อยเขาเป็นไปตามกรรมของเขาไป เว้นเสียแต่จะมีประโยชน์อื่น ๆ

ทางฝั่งเขาเราก็ต้องประมาณให้ดี ให้เขาบอก ให้เขาแจ้ง อย่าพยายามเดาเอา มันมักจะผิด บางทีมันจะเดาผิดเพราะเกิดจากตัณหาของเรา เกิดจากความยึดดีของเรา ความสำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถของเรา เราเลยไปทำเกินหน้าที่ กลายเป็นบาป เป็นผิดศีล แม้ผลจะสำเร็จ แต่ก็ขาดทุน เพราะตนผิดศีล แถมผลนั้นก็อยู่ไม่ได้นานหรอก เพราะเกิดจากความดื้อที่จะยัดเยียดสิ่งที่ดีให้เขา แต่เขาไม่ได้ยินดีจากใจเขา บางทีเขาก็รับเป็นมารยาท เพราะเกรงใจเรา เพราะสงสารเรา เพราะอยากตัดรำคาญจากเราก็มี

รู้เรา…

ทีนี้ถ้าฝั่งเขายื่นมือมาเต็มที่แล้ว ก็ต้องพิจารณาฝั่งเรา รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งแม้จะไม่ชนะทุกครั้ง แต่ไม่พลาดไปทำบาป ไม่ทำเกินตัว ก็เรียกว่าไม่ขาดทุนกำไร

การพิจารณาความพร้อมของฝั่งเราก็เหมือนกับ Supply & demand มีความต้องการ มีสินค้า ลูกค้าก็ไม่รอเก้อ ทางฝั่งเราที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นก็ต้องตรวจดูว่าเรามีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ มันพอมือเราหรือมันตึงมือ ก็ต้องหัดเรียนรู้ตัวเองว่าตนเองนั้นมีความจริง มีธรรมะอยู่ระดับไหน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการช่วยเขาได้นั้นคือเรามีสิ่งนั้นจริง ๆ  เช่น เขาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เรามีเงิน เราก็ให้เขายืมได้ หรือถ้าเขากำลังเจ็บป่วยหนัก เรามีความรู้จริง จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเขาได้ (ถ้ารู้ไม่จริง แก้ผิด มันจะไปทิศตรงข้ามกับความสบาย) ธรรมะก็เช่นกัน เราก็ต้องมีของจริงในจิตตัวเอง ถ้าเราไม่มี เราก็ไม่ควรโกหก ทำวางท่าว่ามี มันจะเป็นบาปซ้อนไป ถ้าเราไม่มี เราก็บอกว่าไม่มี แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ว่ามา พระพุทธเจ้าว่ามา ก็ลองพิจารณาดู เป็นการยืมพลังคนอื่นมาช่วย อันนี้ไม่ผิด เพราะเราไม่ได้โกหก และช่วยเหลือตามที่เป็นจริง

รบกันอีกสักครั้ง…

การลงมือไปช่วยเหลือคือของจริง ซึ่งผลอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มีศีลธรรมต่ำกว่านั้น จะต้องวางใจไว้ในเบื้องต้นเลยว่า เขาจะไม่สามารถเข้าใจที่เราสื่อสารได้ทั้งหมด เพราะเขามีความรู้น้อยกว่าเรา ดังนั้นศรัทธาที่เขามีให้เราตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จะช่วยเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรง ความศรัทธากันจะลดการเพ่งโทษถือสา แม้จะช่วยเหลือกันไม่สำเร็จ แต่ก็จะไม่ผิดใจกัน ตรงนี้เราจะต้องประมาณ ต้องสังเกตว่าเขาศรัทธาเราพอที่จะช่วยเหลือเขาไหม บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้กำลังศรัทธามาก เชื่อถือ เชื่อฟัง เชื่อมั่นกันมาก จึงจะสำเร็จ

พอไปช่วยเข้าจริง อะไรจะเกิดก็ได้ จะดีจะร้ายก็ได้ ถ้ามันดีก็คงจะไม่มีอะไร แต่ถ้ามันร้าย หรือมีร้ายในดี เขาก็อาจจะแสดงอาการไม่พอใจออกมา ตรงนี้แหละที่เราจะต้องประเมินไว้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าเรารับความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จและจะควบคุมอาการตนเองไม่ให้โกรธเมื่อเขาทำไม่ดีกับเราได้ไหม เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย

ทีนี้บุคคลที่เขาเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาเนี่ย เขามีพิษทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ว่าจะพิษแรงเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณกิเลสของเขา แล้วที่นี้เราจะไปช่วยคนที่เขามีพิษ แล้วตัวเราเป็นแผล ไม่กันพิษ เราจะรอดไหมล่ะ? ก็เหมือนกับคนที่ยังควบคุมกายวาจาใจไม่ได้ ทะลึ่งไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ เขาก็หันมาโทษเรา แล้วเราดันไปโกรธเขาอีก หาว่าเขาไม่เห็นบุญคุณ อุตส่าห์มาช่วย ฯ อะไรทำนองนี้ ถ้าคิดว่าตนเองไม่ไหว มีโอกาสที่จะออกอาการทุจริตทำนองนี้ อย่ารีบไปช่วยใครเลย รีบช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ดีกว่า เพราะไปช่วยคนอื่นแล้วจะกลายเป็นกอดคอพากันลงนรกเปล่า ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก

คำตรัสนี้เอาไว้ป้องกันความเห็นผิดของเรา เอาไว้กันการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดของเรา เราควรจะจัดความสำคัญให้กับการทำใจตนเองให้ผาสุก ให้พ้นทุกข์ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น แม้ประโยชน์คนอื่นจะมากแค่ไหนก็ตามที กิเลสจะหลอกให้เราไปทำนาคนอื่น ไม่ทำนาตัวเอง ไปทำเรื่องที่ไม่พ้นทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องช่วยคนที่ต่ำกว่านี่เป็นเรื่องที่พาลำบากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง…

ก็มีคนที่เขาสงสัยเหมือนกันว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงยอมให้พระเทวทัตเข้ามาบวชปนอยู่ในหมู่กลุ่ม ทำไมไม่คัดออก ไม่เอาออกไปให้ห่างไกล  ความจริงเรื่องเหล่านี้คืออจินไตย เป็นเรื่องที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ไม่ควรคิดเพราะเป็นพุทธวิสัย คือเกินปัญญาของคนที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะเข้าใจได้

แต่ถ้าเราลองเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลาย ๆ สูตรมาศึกษาก็จะพอเห็นภาพได้ว่า มือท่านไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย คือคนที่หมดกิเลสแล้วเนี่ย ท่านจะมีพลังในการช่วยเหลือคน 100% ชีวิตเป็นไปเพื่อผู้อื่น 100% อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พบว่าตนเองรู้อยู่คนเดียวในโลก คนอื่นไม่รู้ นั่นหมายความว่าทุกคนในโลกล้วนเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาสำหรับพระพุทธเจ้าหมด ตอนแรกท่านก็ว่าจะไม่สอน แต่ด้วยจิตเมตตาของท่านและเห็นว่ายังมีคนที่กิเลสน้อย (มีธุลีในดวงตาน้อย) คือสอนให้เห็นจริงได้ไม่ยาก สอนให้พ้นทุกข์ได้ไม่ยาก

จะเห็นได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนทุกคน ไม่ได้ช่วยทุกคนได้นะ ท่านก็สอนแต่ผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อยกับผู้ที่ศรัทธาท่าน เคารพและยินดีจะฟังท่านเท่านั้นแหละ พระเทวทัตที่แม้แต่ชั่วที่สุด เน่าในที่สุด ก็ยังรู้จักปฏิบัติไปตามธรรม คือสร้างภาพลักษณ์ที่พอจะเกาะมาตรฐานไว้ได้ แล้วยังรู้มารยาที่จะเคารพพระพุทธเจ้า และที่สำคัญ พระเทวทัตไม่เป็นภัยต่อพระพุทธเจ้าเลย เพราะแม้พระเทวทัตจะพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์เท่าไหร่ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีความโกรธ โลภ หรือหลงใด ๆ เกิดขึ้น นี่คือสภาพที่มือไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย คือถ้าเรารักษาใจให้ไม่พลาดได้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะเอื้อคนได้หลายฐานะมากขึ้น ทั้งคนดี คนบ้า คนมุ่งร้าย ก็จะสามารถให้เขาอยู่ร่วมกันไปได้ เกาะกลุ่มกันทำดีตามฐานะไปได้

แล้วหมู่สงฆ์จะคัดกรองคนออกไปเอง มันเป็นธรรมชาติที่คนชั่วจะปะปนเข้าไปในหมู่คนดี แต่กระนั้นภาพรวมก็เป็นหมู่ที่มีศีล เป็นพระอริยะ พระเทวทัตจึงทำอะไรศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย คือได้แต่ทำ แต่ไม่มีผลเสียกับส่วนรวม เสียแต่กับตัวเองและหมู่คนพาลที่ตนคบเท่านั้น

สรุปว่าคนที่หมดกิจตนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านก็เหลือแต่งานช่วยคนอื่นนั่นแหละ ส่วนจะช่วยใครยังไง เพราะไรนั้น บางทีมันก็เกินจะเข้าใจ เพราะบางเรื่องเป็นเหตุที่สะสมมาหลายต่อหลายชาติ ใช่ว่าจะศึกษากันให้รู้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นท่านจึงสรุปว่าพุทธวิสัยนั้นเป็นอจินไตย อย่าไปอยากรู้มันเลย รู้แค่มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย ก็พอแล้ว

ไม่รู้จริงแล้วฝืนรบ…

ถ้าเรารู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง ประมาณธรรมให้เหมาะ ช่วยคนให้เหมาะกับฐานะ จะไม่ผิด จะไม่เดือดร้อนมาก ถ้าเราไม่มีความสามารถจริง หลงไปช่วยแล้วบังเอิญผลออกมาดี แล้วเขาชมเรา เห็นว่าเราช่วยเขาสำเร็จ เราก็ขาดทุน เพราะจริง ๆ ความสำเร็จนั้นไม่เกิดจากความสามารถของเราจริง ๆ หรอก ยิ่งถ้าเราไม่มีความสามารถ ไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ จะพาลให้เพ่งโทษถือสา จองเวรจองกรรมกันไปอีก

แม้เราจะมีความสามารถจริง แต่ใจเขาไม่ได้ศรัทธา เขาไม่ได้ยินดีให้เราช่วย เราไปยัดเยียดดี ช่วยเขา แม้จะเหมือนว่าสำเร็จ แต่จริง ๆ จะไม่สำเร็จ เพราะความจริง หรือความศรัทธาของเขานั้นยังไม่เต็มรอบ เราไปเติมฝั่งเขาด้วยอัตตามานะของเรา ผลที่ได้มันก็จะเป็นภาพลวงเราไปแบบนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เราเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน” เราก็ทำหน้าที่เดียวคือบอกทางเมื่อเขามาถาม ไม่ใช่ว่าไปชี้ ไปพาเขาเดิน เป็นผู้บีบคั้นหักคอให้เห็นทางและจ้ำจี้จ้ำไชให้เดินไปตามทางนี้ซะทีเดี๋ยวนี้ ทำทั้งที่เขาไม่ต้องการนะ เอาภาระแบบนั้น บำเพ็ญแบบนั้น ทำความดีแบบนั้น มันไม่พาพ้นทุกข์ทั้งเขาและเรานั่นแหละ

สรุปตอนท้ายไว้ว่า จะช่วยคนต่ำกว่าก็ช่วยได้ เพียงแต่ควรจะประมาณตนดี ๆ เอาตนเป็นหลักเลย ให้ตนไม่พ้นทุกข์ ไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียน ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อันนี้ถือว่าได้สำเร็จผลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเรามีใจที่บริสุทธิ์ จากความโลภ โกรธ หลง การช่วยเขาจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ดังประโยคทองของสมณะโพธิรักษ์ว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลก ในที่สุด” ดังนั้น มุ่งทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสไว้ก่อน แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าเราก็จะช่วยเขาได้สำเร็จแน่นอน

29.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

February 27, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,987 views 1

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการเลือกคบคนไว้หลายหลักหลายประเด็น ในชิคุจฉสูตรนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466) จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ 2. คนที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรคบ 3.คนที่น่าคบหา

1).คนที่น่าเกลียดเป็นอย่างไร? คือคนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ ทำผิดจากคุณงามความดีที่ตนได้ประกาศไว้ มีใจสกปรก เน่าใน ปฏิบัติตนไม่ดี มีกิจกรรมที่ลึกลับปิดบัง ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติดีแต่บอกคนอื่นว่าเป็นคนที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่คนที่มุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แต่บอกคนอื่นว่าตนนั้นมุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เต็มไปด้วยความอยาก เป็นเหมือนคราบสกปรกเหนียวหนืดกลิ่นเหม็นกำจัดได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกว่าคนแบบนี้ “ควรเกลียด”(คือไม่ไปยินดีในสิ่งที่เขาเป็น) ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าไปใกล้ แม้นั่งใกล้ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน แม้เราจะไม่ได้ทำตัวแย่เหมือนเขาก็ตาม แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเขา นิสัยที่ไม่ดีของเขา จะทำให้คนเข้าใจเราว่าคบคนชั่ว ก็เป็นเหมือนกับคนชั่วนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ เหมือน พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนงูตกถังขี้ ถ้าเราเข้าใกล้ แม้มันจะไม่กัดเรา แต่ไปใกล้ชิดกัน ก็ทำให้เปื้อนขี้ได้

พระพุทธเจ้าท่านได้เตือนไว้ให้ระวัง คนผิดศีล คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่สร้างภาพว่าปฏิบัติเหล่านี้ แม้เราจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ทำชั่วอย่างเขา แต่เข้าไปใกล้ ไปคบหา ไปพูดคุย ก็จะทำให้มีภัยเกิดแก่ตัวเอง คนเช่นนี้จริง ๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะเขาจะจะแสร้งว่าตนเป็นคนดี ปกปิดบิดเบือนความจริง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “เน่าใน” อ้าว แล้วอย่างนี้เขาเน่าในแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ต้องคอยสังเกตกันไปว่าเขาดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างไหม เช่นอ้างว่าจะช่วยสืบสานศาสนา เข็นกงล้อธรรมจักร แต่เขาได้ลดกิเลสไหม ได้ปฏิบัติตนเพื่อลดกามหรืออัตตาไหม ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าตอแหล เพราะการสืบสานศาสนาคือการลดความโลภ โกรธ หลง ถึงจะคงเนื้อแท้ของศาสนาไว้ได้ หรือคนที่มีการงานลึกลับปิดบัง ทำอะไรก็จะต้องแอบคิดแอบทำ ทำกิจกรรมด้วยกันแต่ก็แอบเสพผลประโยชน์มาเพื่อตน ยักยอกประโยชน์ไว้ที่ตนหรือกลุ่มของตน ไม่ชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งหมด พวกนี้ก็ฝังอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มที่มีผลประโยชน์มาก มีโลกธรรมมาก

การจะรู้จักคนผิดศีลหรือคนเน่าในนี้ได้ จะต้องใช้แว่นคือธรรมะในการส่อง การเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติจะทำให้สามารถรู้จักความเป็นพาลในคนพาลเหล่านี้ได้ เพราะโดยทั่วไปในสังคมนั้น คนพาลมักจะแสร้งว่าตนเป็นคนดีเสมอ ที่เจ็บปวดกันมามากมายก็เพราะหลงเชื่อคนเหล่านี้นี่แหละ แต่ก็ผิดที่เราเองที่ดูเขาไม่ออก คนพาลมีมากมายกว่าคนดีอยู่ ยังไงชีวิตก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะรู้ทันหรือไม่ทันเขาเท่านั้นเอง ซึ่งพอคบหาคนพาลไป แม้เขาจะแสร้งทำเป็นคนดีได้ แต่ไม่นานเขาก็จะหลุดทำชั่ว ผิดศีล เริ่มจะเน่าใน(มีความเห็นผิด) เมื่อรู้แล้ว จึงไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าหากเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ทันกลอุบายของเขา เราก็ติดกับดักเขาเลย แย่น้อยที่สุดก็เหมือนงูตกถังขี้เลื้อยผ่าน แต่ถ้ามันกัดขึ้นมาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งเจ็บปวด ทั้งเหม็น ทั้งติดเชื้อ เอาจริง ๆ แค่ถังเก็บขี้หรือบ่อขี้ก็ไม่มีคนอยากเข้าใกล้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นงูยิ่งไม่น่าเข้าใกล้ไปใหญ่ เป็นภาษาที่นำมาสื่อสภาวะ คือบ่อขี้และงูน่าเกลียด ไม่น่าคบ ไม่น่าใกล้ ยิ่งรู้สึกว่าน่าห่างไกลสองสิ่งนี้เท่าไหร่ กับคนพาลเช่นนี้ก็ควรจะรู้สึกอยากห่างไกลเท่านั้นเช่นกัน การห่างไกลสิ่งที่เน่าเหม็นและอันตราย คือความปลอดภัยและเป็นอยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า การห่างไกลคนพาลคือมงคลชีวิตนั่นเอง

2).คนที่ไม่ควรใส่ใจเป็นอย่างไร? ในพระไตรปิฎกจะใช้ภาษาว่า “คนที่ควรวางเฉย” แต่จะปรับมาเป็นภาษาที่น่าจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่สภาวะใกล้เคียงกัน วางเฉย คือไม่เอาภาระ ไม่ต้องหยิบขึ้นมา ไม่ต้องไปสนใจ จึงปรับคำเป็นคนที่ไม่ควรใส่ใจ

คนที่เราไม่ควรใส่ใจ คือคนที่ขี้โกรธ อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้อยใจ  ถูกต่อว่า ตำหนิ ติเตือนแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท โกรธแบบเน่าในหมักหมม สะสมความโกรธเกลียด ชิงชังอยู่เสมอ คนเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปคบ ไม่ควรแม้จะไปนั่งใกล้ ๆ คบไปก็พาให้เจอแต่เรื่องน่าปวดหัว เดี๋ยวก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวนินทาคนนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็วนมาด่าเรา นินทาเรานี่แหละ จะคบหาหรือเข้าใกล้ไป ก็มีแต่พลังลบ พลังกิเลสพุ่งพล่านเต็มไปหมด เคยเจอไหม คนที่ถูกติหรือมีคนทำไม่ถูกใจนิดเดียว แผลเล็กนิดเดียว แต่เอามาขยายกันใหญ่เท่าตึก และแม้เหตุการณ์จะจบไปนานแล้วก็ตาม เขาก็มักจะพูดต่อไปยาวทั้งจำนวนครั้งและความยาวนาน คนแบบนี้อยู่ด้วยก็ซวยเปล่า ๆ คนพวกนี้ท่านเปรียบเหมือนบ่อขี้ ถ้ามีไม้ไปกวนหรือมีอะไรไปกระทบ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง ดังนั้นหากเจอคนที่เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ถือสาคนนี้ เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเขามักจะสนใจแต่ความผิดของคนอื่น ก็ให้ห่าง ๆ ไว้ เพราะคนโกรธนี่เขาจะไม่มองตัวเอง ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง เขาจะมุ่งแก้ปัญหาที่คนอื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็จะมุ่งมาแก้ปัญหาที่เรา แม้บางทีความจริงมันจะไม่ใช่ปัญหาก็ตามที น่าปวดหัวไหมล่ะ?

การไม่ใส่ใจ การวางเฉยต่อท่าทีของผู้ที่มักโกรธ ก็เปรียบเหมือนการไม่ให้อาหารความชั่ว แม้เขาโกรธมา เราไม่ส่งเสริม(ไม่กอดคอไปนรกด้วยกัน) ไม่ผลักไส(เดี๋ยวจะเข้าตัว) แค่เราไม่ใส่ใจ ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเอาภาระ คนขี้โกรธสอนกันไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังโกรธ หงุดหงิด หรือกำลังนินทาใคร ตอนนั้นพลังของกิเลสกำลังพลุ่งพล่าน จึงไม่ใช่เวลาที่ธรรมะจะเติบโตได้ แม้มีธรรมที่เลิศยิ่งกว่าน้ำทิพย์ ราดรดลงไปก็เหมือนราดน้ำไปบนเหล็กร้อนแดงฉาน น้ำก็จะระเหยหายไปหมดนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ ดังนั้นอย่าไปใส่ใจคนขี้โกรธ

3).คนที่น่าคบหาเป็นคนอย่างไร? คือ เขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีล ประพฤติตามธรรม ไม่เบียดเบียน กล่าวแต่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ พูดเรื่องที่พาให้ละ หน่าย คลาย จากความโลภโกรธหลง ท่านว่าถ้าเจอคนอย่างนี้ ให้เข้าไปคบหา ไปศึกษา ไปใกล้ชิด เพราะแม้ว่าเราจะปฏิบัติตนได้ไม่ถึง ไม่เป็น ไม่เหมือนอย่างคนมีศีลเหล่านั้นก็ตาม แต่เราก็จะมีชื่อเสียงที่ดีกระจายไปไกล ว่าเราคบคนดี เราคบคนมีศีล มีคนปฏิบัติถูกตรงเป็นมิตร ก็จะเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนดีเขาก็จะไม่ระแวงเพราะเราก็คบคนที่ดีมีศีล เป็นการยืนยันธรรมะในตัวเราอีกชั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพยายามทำดีแล้ว เรายังคบหาคนดีอีก มันจะเต็มรอบ รูปจะสวย จะเป็นกุศลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ถ้าเราไปคบคลผิดศีล คนเน่าใน คนตอแหล เสแสร้ง แกล้งทำ และคนขี้โกรธ คนเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียชื่อเสียงบ้าง สร้างปัญหาให้เราบ้าง คนอื่นเขาจะระแวงเรา ไม่มั่นใจในตัวเรานัก ทำอะไรก็ขัดข้องเพราะมีศรัทธาที่ไม่เต็มต่อกัน ความไม่มั่นใจจะดลให้เกิดความผิดพลาดและเสื่อมศรัทธาต่อกันได้ เพราะมีการคบหาคนพาลเป็นเหตุนั่นเอง

พระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ”

จะเห็นได้ชัดเลยว่าท่านให้เลือกคบคน ท่านก็ไม่ได้บังคับ ให้อิสระ อยากเลวก็คบคนเลว ถ้าจะประกันความผาสุกก็ให้คบหาคนที่เสมอกัน แล้วถ้าอยากได้ความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้คบคนที่สูงกว่า มีศีลมากกว่า มีใจที่พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็จะมีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเด่นขึ้นมาทันที ดังนั้น ท่านจึงและนำให้คบหาคนที่สูงกว่าไว้ในชีวิต

เพราะคนที่ไม่คบคนสูงกว่า ไม่มีคนสูงกว่าให้ศรัทธา ไม่นับถือว่าใครสูงกว่าตน คนพวกนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะไม่มีวันเจริญไปมากกว่าที่เขาเคยเป็นมา เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โง่เท่าเดิม” ธรรมะหรือความเจริญในศาสนาพุทธนั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ มันจะติดเพดานกิเลส ต้องมีคนที่สูงกว่าคอยชี้นำเป็นลำดับ ๆ  ไปตามฐานของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร(เล่ม 24 ข้อ 61) ว่าผู้ที่พ้นทุกข์ได้นั้นต้องเริ่มจากการคบหาสัตบุรุษ คือผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รู้ธรรมรู้ทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ และทำความพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นกาม พ้นอัตตา พ้นความมัวเมาในสิ่งเสพติดต่าง ๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียดโดยลำดับ เป็นที่นำพาไป การสัตบุรุษจึงเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญทางธรรม

จากเนื้อหาในชิคุจฉสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466 )  จะสรุปความได้ว่า เราจะต้องเลือกคบคน คนที่คบแล้วเป็นภัยก็อย่าไปคบหา อย่าไปสนิท อย่าไปนั่งใกล้ คนเหล่านี้มีแต่จะสร้างความฉิบหาย มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้แก่เรา และเราควรจะแสวงหาคนดีมีศีล เพื่อคบหาและศึกษาเพื่อความเจริญ เพื่อความพ้นทุกข์และความไม่เสื่อมของเรา การพรากจากคนพาลและการเข้าใกล้คนดี คือประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน

27.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

ศัตรูชีวิตก็คือสตรี

February 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 821 views 0

ศัตรูชีวิตก็คือสตรี

ความเจ้าชู้ ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง ก็เป็นภัยแก่ความผาสุกทั้งสิ้น หลายครั้งที่ได้เห็นข่าวเกี่ยวกับคนที่คนรักไปมีชู้ แล้วเขาก็แก้ปัญหาในทางที่ผิด คือแก้ด้วยความโกรธ แค้น อาฆาต มุ่งร้าย ทำลาย ฯลฯ คือมีแต่พากันให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็ทุกข์เพราะโทสะ คนอื่นก็ทุกข์เพราะผลแห่งการบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะชวนกันมาศึกษาว่า เรื่องเหล่านี้ควรจะแก้ไขอย่างไรหนอ? ชีวิตจึงจะเป็นสุข ลองมาอ่านความตอนหนึ่งจากพระไตรปิฎกกัน

“บัณฑิตจะพึงวางใจอย่างไรได้ว่า หญิงนี้เรารักษาไว้ดีแล้ว วิธีที่จะป้องกันรักษาหญิงผู้มีหลายใจ ไม่พึงมีโดยแท้ เพราะว่าหญิงเหล่านั้นมีอาการคล้ายก้นเหวที่เรียกกันว่าบาดาล บุรุษผู้ประมาทในหญิงเหล่านั้นย่อมถึงความพินาศทั้งนั้น

เพราะเหตุนั้นแหละ ชนเหล่าใดไม่เที่ยวคลุกคลีกับมาตุคาม(ผู้หญิง) ชนเหล่านั้นมีความสุขปราศจากความโศก ความประพฤติไม่คลุกคลีกับมาตุคามนี้เป็นคุณนำความสุขมาให้ บุคคลผู้ปรารถนาความเกษมอันอุดมไม่พึงทำความเชยชิดสนิทสนมกับมาตุคามเลย (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗“สมุคคชาดก” ช้อ ๑๒๙๙)

ในชาดกตอนนี้ท่านว่า ไม่มีหรอกที่จะรักษาผู้หญิง(ผู้ชาย) ที่หลายใจ เราจะวางใจไม่ได้เลย เพราะหญิงหรือชายหลายใจเหล่านั้นไม่เคยพอ ไม่เคยเต็ม ดังเนื้อเพลงฮิตสมัยก่อนว่า “เติมใจเธอไม่เคยเต็ม เติมใจเธอไม่เคยพอ” คนหลายใจก็เป็นเช่นนี้แหละ ไม่เคยเต็ม ไม่เคยพอแบบนี้ จะทุ่มโถมทุ่มเทเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม เพราะกิเลสนั้นคือความเสพไม่เคยอิ่ม คนที่ประมาท ชะล่าใจ ไว้ใจ ว่าตนเองเอาอยู่ ตนเองควบคุมได้ รักษาไว้ได้ คนที่ประมาทอย่างนี้ก็ต้องพบกับทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในย่อหน้าที่สองยังสรุปไว้อย่างหนักแน่นว่า คนที่ไม่ไปยุ่งหรือวนเวียนอยู่กับผู้หญิง คนเหล่านั้นจะมีแต่ความสุข ไม่มีเศร้าหมอง ถ้าดำรงชีวิตไม่คลุกคลีกับผู้หญิงจะนำความสุขมาสู่ชีวิต คนที่หวังจะมีชีวิตผาสุกอย่างยิ่งยวด ไม่ควรไปสนิทสนมกับผู้หญิงเลย

ถ้าอ่านรู้แล้วสึกว่า มันอะไรกันนักกันหนากับผู้หญิง จะยกเนื้อหาเพิ่มเติมให้ศึกษา คือตอนที่แม่ที่เลี้ยงเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้งแต่ยังเด็ก จะมาขอบวช แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงอนุญาต ขอแล้วขออีก น้ำตานองหน้า โกนหัว นุ่งผ้าฝาด เดินจนเท้าพองมาขอ ท่านก็ยังไม่ให้บวช จนพระอานนท์ต้องตื้อแล้วตื้ออีก จนพระพุทธเจ้ายอมแบบมีข้อแม้ คือนักบวชหญิงต้องปฏิบัติคุรุธรรม 8 ประการ ตลอดชีวิต เป็นข้อธรรมที่หนัก และทำได้ยาก ทำลายอัตตาผู้หญิงแบบสุด ๆ ผู้หญิงที่ยอมทำตามเท่านั้นจึงจะให้บวชได้

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าได้สอนว่าถ้ารับผู้หญิงเข้าบวชมาในศาสนา อายุศาสนาจะสั้นลงเท่าหนึ่ง เช่น จาก 1,000 ปี ก็เหลือ 500 ปี ท่านเปรียบไว้เช่นว่า “เปรียบเหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน”  สุดท้ายพระพุทธเจ้าสรุปว่าคุรุธรรม 8 ประการนั้นแหละ จะเป็นตัวกั้นไม่ให้เสื่อม เหมือนกับทำขอบสระให้ใหญ่พอที่จะกั้นไม่ให้น้ำไหลออกได้ ดังนั้นความเสื่อมจะเกิดน้อยที่สุด เท่าที่นักบวชหญิงทั้งหลายยังถือปฏิบัติคุรุธรรม 8 ประการ

เรื่องเหล่านี้นี่เอง คือความรู้ของพระพุทธเจ้าที่เห็นโทษภัยแม้เล็กแม้น้อยที่มีในผู้หญิง และยังมีอีกหลายสูตรเกี่ยวกับความเป็นภัยของผู้หญิง ดังนั้น ผู้ชายอย่างเราก็ควรจะรักษาตนให้เป็นโสด ไม่คลุกคลีกับผู้หญิงโดยไม่จำเป็น ชีวิตก็จะเป็นอยู่ผาสุก ห่างไกลบาปกรรมและการทำสารพัดเรื่องชั่วได้นั่นเอง

19.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

รู้ตัวชัดแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 847 views 0

แนะนำหนังสือครับ เล่มนี้อ่านแล้วรู้ชัดเลยว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต รู้ทั้งตัวเองและคนที่ใกล้ชิดว่าที่เขาเรียกว่ามิตรนั่นน่ะมิตรแท้หรือมิตรเทียม

เล่มใหญ่ ๆ ราคา 70 บาท ลองค้น ๆ หา ๆ กันดู ถ้าหาไม่ได้ที่ธรรมทัศน์สมาคมที่สันติอโศกมีขาย จริง ๆ น่าจะมีขายอยู่ในหลาย ๆ เครือข่ายนั่นแหละ

เล่มนี้เขาคัดข้อมูลมาจากพระไตรปิฎก มีอ้างอิง ตามไปสืบค้นพระสูตรฉบับเต็มกันได้ อ่านง่าย เหมาะกับคนที่ต้องการความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ถ้าเวลาเหลือ ผมยกมานำเสนอกันเป็นบท ๆ