ถาม-ตอบ

การมีคู่ สืบพันธุ์ ออกลูกออกหลาน คือความถูกต้องตามธรรมชาติจริงหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 660 views 0

ถาม การมีคู่ สืบพันธุ์ ออกลูกออกหลาน คือความถูกต้องตามธรรมชาติจริงหรือ?

ตอบ จริง ตามธรรมชาติของสัตว์ และไม่จริงตามธรรมชาติของบัณฑิต

การที่สัตว์นั้นจะเกิดมาเพื่อหากิน ดำรงชีวิต ดำรงเผ่าพันธุ์ มันก็เป็นปกติของมัน เพราะมันโง่ ชีวิตของมันก็มีอยู่แค่นั้น เกิด กิน ผสมพันธุ์ ดำรงอยู่ แล้วก็ตายไป ไม่ได้มีความดีงามอะไรในชีวิตมากมาย เขาถึงเรียกว่าเดรัจฉาน เป็นสภาพของความไม่มีปัญญา

คนที่จะเอาอย่างสัตว์ก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปตามธรรมของเขา อันนี้เราไปห้ามใครเขาไม่ได้ เขามีสิทธิ์เลือกของเขา ว่าจะอยู่เป็นโสด หรือจะไปมีคู่ดำรงเผ่าพันธุ์

การอยู่เป็นโสดไม่ได้ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ เพราะในความจริงแล้วการอยู่เป็นโสดนั้น ทำได้ยากกว่าการมีชีวิตเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ยิ่งนัก คนที่เขามีหน้าที่ผลิตลูกหลานเขาก็ทำของเขาไป เอาจริง ๆ คนผลิตลูกหลานนี่มากกว่าคนตั้งใจอยู่เป็นโสดอีกด้วย ถ้าดูจากจำนวนประชากรประเทศไทยที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น งานสร้างลูกสร้างหลาน ไม่ใช่งานที่โลกขาดแคลน โลกไม่ได้ขาดแคลนมนุษย์ แต่ขาดแคลนธรรมะ

ผู้เป็นบัณฑิตจึงเล็งเห็นประโยชน์ตรงนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ตน เพราะตนเองก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เพิ่มพลังของความหลงไปตามธรรมชาติของสัตว์ แหวกผ่าวงล้อมโลกีย์ ออกมาปฏิบัติตนเป็นโสด ทวนกระแส ไม่ไหลไปตามกระแสโลกียะ ที่จะพาคนหมุนวนเวียนไปตามกำลังของกามและอัตตา หรือหลงไปตามกิเลสนั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ โดยสรุปว่า บัณฑิตคือผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นโสด

จะเห็นได้ว่าพอคนพัฒนาไปถึงศีล ๘ จะเริ่มแปลกจากคนทั่วไปแล้ว เริ่มเป็นมนุษย์ประหลาดไปเรื่อย ๆ เพราะจะไม่ไปเสพตามโลก ไม่ไหลไปตามกระแสโลก อันนี้คือความเจริญของมนุษย์ที่พัฒนาตนจนทวนกระแสความหลง ความวน ความเป็นธรรมชาตินั่นแหละ ที่จะรั้งคนให้อยู่ในวิถีที่สังคมอุดมกิเลสสร้างมา

เอาจริง ๆ คนเขาก็ไม่ได้คิดจะสืบพันธุ์อะไรกันมากมายหรอก จริง ๆ เขาแค่อยากจะสมสู่กันนั่นแหละ แต่เอาเรื่องการสืบเผ่าพันธุ์มาบังไว้เฉย ๆ ไหน ใครที่เขามีลูกแล้ว เขาเลิกสมสู่กันบ้าง ไหนใครที่เขาไม่ได้คุมกำเนิดกันบ้าง ส่วนมากคนเขาก็เอาเรื่องใหญ่มากลบเรื่องเล็กนั่นแหละ คือพูดให้ดูเหมือนมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ มีอุดมกาม พูดให้โก้ ๆ ไปแบบนั้นเอง

แต่คนที่หลงเรื่องสืบพันธุ์จริง ๆ ก็มี แต่มีจำนวนน้อย ไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่

สุดท้ายก็เลือกเอาเองว่าจะเอาตามธรรมแบบไหน จะตามธรรมแบบสัตว์โลกทั่วไป หรือจะเอาตามธรรมของบัณฑิต ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ ก็เลือกได้ตามอัธยาศัย

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

November 27, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,124 views 1

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?

ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม

ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ

1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต

เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม  ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก   ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ  เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ  พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ

2.รักแท้โลกียะ

รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน

รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน

3.รักแท้กัลยาณธรรม

ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน

ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง

ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป

4.รักแท้โลกุตระ

รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้

รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร?  มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)

ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้

พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง

ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น  แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา

สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน

26.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,318 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตฟุ้งซ่านเพราะถูกกระตุ้น

September 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,262 views 0

ถาม : การที่เราได้ไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้หวนคิดถึงเรื่องเก่าๆที่เคยสุขหรือทุกข์ใจ เช่นเรื่องของแฟนเก่า ภาพในวันเก่า จนจิตฟุ้งไปกับอารมณ์นั้น ควรทำอย่างไร?

1.1.ถ้ามันฟุ้งซ่านคุมไม่อยู่ก็เปลี่ยนเรื่องไปทำอย่างอื่น ใช้อุบายกำหนดจิต หลอกจิตให้สงบไปก่อน

1.2.ถ้าไม่ถึงกับฟุ้งซ่านมาก ก็ให้ตามดูอาการที่เกิดขึ้น ดูว่ามีความทุกข์หรือสุขขนาดไหน เพราะอะไร

1.3.ค้นลึกต่อไปที่เหตุของสิ่งที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์นั้นว่าเราไป หลงติดหลงยึดอะไรจึงทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น

1.4.เมื่อเห็นเหตุเหล่านั้นให้ให้พิจารณาธรรมะ ที่ตรงกับเหตุนั้นเพื่อไปทำลายอธรรมที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน

ถาม : ถ้าเราไม่ไปเจอเหตุการณ์เช่นนั้นเราก็ไม่ฟุ้ง เราควรหลีกเลี่ยงหรือไม่อย่างไร

2.1.ถ้าจิตไม่แกร่งพอจะทนไหว ก็ควรจะหลีกเลี่ยงก่อน ถึงจะต้องปะทะกันก็ควรจะรักษาระยะห่าง

2.2.ถ้าพอจะสู้ไหว อาการไม่ออกไปภายนอกก็ลองเข้าไปหาเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะ “ผัสสะ” คือตัวที่จะชี้ให้เห็นว่า “เหตุแห่งทุกข์” อยู่ตรงไหน ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีทางได้ปฏฺิบัติธรรม เพราะมีผัสสะจึงมีการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรหนีจากผัสสะ แต่ถ้าไม่ไหวก็วนกลับไปทำอย่างข้อ 2.1

2.3. ถ้าปฏิบัติถูกตรง จนทำให้กิเลสจางคลายได้จริง จะสามารถรู้ได้เองเมื่อเกิดผัสสะ ความสุขทุกข์ที่เคยมีจะเบาลง (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้วันเวลาเยียวยา แต่หมายถึงปฏิบัติกันทั้งๆที่เกิดอาการแรงๆกันอยู่เมื่อวาน แล้ววันนี้ทำได้ดีขึ้น)

2.4. ถ้าทำลายกิเลสได้จริง จะเหลือแต่อาการไม่ทุกข์ไม่สุข (ไม่ใช่เพราะเบื่อแบบชาวบ้าน แต่เป็นเพราะทำลายความหลงติดหลงยึดด้วยปัญญา)