ข้อคิด
โสดก่อนซวย
โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…
ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย”
ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน
๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง
ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้
๑.ชิงโสดก่อนแต่ง
ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก
เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม
มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้
เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ
๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด
คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด
โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง
การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น
แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน
ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น
แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)
ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)
นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย
สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้
การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
21.4.2559
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
ผมพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับปัญหาคนคู่ ปัญหาความรักไว้ค่อนข้างเยอะ และได้รับความเห็นเกี่ยวกับความทุกข์ เมื่อออกจากนรกคนคู่ไม่ได้มาหลายครั้ง
เป็นสภาพของ “คนในอยากออก” ซึ่งก็เป็นคนที่พลาดโดนกิเลสหลอกให้ไปมีคู่นั่นแหละนะ ตอนแรกหลายคนก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นสุข อย่างน้อยๆก็สุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นหรอก มันเป็นสภาพกล้ำกลืนฝืนทน ทนอยู่ไปทั้งรักทั้งชัง จะเลิกก็เสียดาย จะรักมันก็ไม่เต็มที่มันวันที่คบกันแรกๆ มันมีความรังเกียจชิงชังอยู่ด้วย
ส่วน “คนนอกอยากเข้า” นี่ก็เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น อยากได้อยากเสพเหมือนคนอื่นเขา เห็นคนอื่นเขาสร้างภาพว่ารักกัน แต่งงานกันแล้วมันจะเป็นสุข ก็คิดว่าไปว่าทั้งหมดของชีวิตคู่ต้องสุขแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ คู่อื่นเขาก็แสดงให้เห็นแค่ตอนสุขนั่นแหละ ตอนเขาทะเลาะกันเป็นทุกข์กัน เขาไม่ค่อยเอาออกมาพูดให้อับอายขายขี้หน้ากันหรอก
น้อยคนนักที่จะยอมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตคู่ที่เจ็บช้ำ เพราะคนเรามักจะอยากมองอยากรับรู้แต่เรื่องที่สวยงาม แล้วกดข่มความทุกข์ไว้ แน่นอนว่ามันจะกดข่มได้แค่ประมาณหนึ่ง จึงมีคนจำนวนหนึ่งออกมาประกาศความจริงว่าชีวิตคู่มันห่วย แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บงำความจริงไว้ ปล่อยให้ชีวิตรักเป็นภาพสวยๆ ที่มีดอกไม้บานเต็มทุ่งท่ามกลางหุบเขาอะไรแบบนั้น
ทีนี้คนนอกที่ศึกษาจนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่ามีแต่ทุกข์หรือโอกาสที่จะเกิดทุกข์นั้นสูงกว่า ก็จะทำให้ละหน่ายคลายความเห็นผิดว่าการครองคู่มีแต่สุขไปได้บ้างตามความรู้จริงนั้นๆ
แต่ก็มีคนนอกจำนวนมากที่อยากเข้ามามีชีวิตคู่เพราะความประมาท เช่นประมาทในผลของกรรม หลงคิดว่าตนเองนั้นเก่ง มีธรรมะ มีปัญญา เป็นคนดี แล้วจะสามารถพาชีวิตคู่ให้เจริญได้ ไม่ทำผิดพลาดเหมือนคู่คนอื่นหรอก แบบนี้คือโดนกิเลสหลอกซ้อนเข้าไปอีก คือหลงในเรื่องคู่ยังไม่พอ ยังหลงว่าตนจะต้องบริหารจัดการชีวิตคู่ให้สุขและเจริญสุดๆได้อีก
มันไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าเป็นคนดี ทำดี แล้วชีวิตคู่จะดี ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้) เราเคยทำกรรมชั่วมาแค่ไหนไม่รู้ แต่มันจะรู้เอาตอนได้รับผลนี่แหละ
ซึ่งผลของมันก็แสดงให้เห็นแล้ว กับคนที่อยู่ในสภาพของคนในอยากออก จริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ประมาทมาก่อน เคยตัดสินใจผิดพลาดมาก่อน หรือด้วยเหตุอะไรก็ตาม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เคยเชื่อว่ารักนั้นจะต้องสวยงาม แต่ในความจริงคือมันไม่สุขสมหวัง หรืออาจจะสุขอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สุขอีกหลายช่วงก็เป็นได้ เอาเป็นว่าถ้าออกได้ก็เป็นสุขกว่านั่นแหละ
การแก้ปัญหาตอนยังโสดนั้นยังง่ายเพราะมีตัวแปรน้อย กิเลสก็น้อย แต่ถ้ามาแก้ปัญหาตอนมีคู่แล้ว ตัวแปรนั้นมาก กิเลสก็มากกว่าด้วย ไหนจะกิเลสตัวเองที่โตขึ้น …คู่ครอง ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติ วุ่นวายไปหมด คนเดียวก็เอาตัวรอดจากกิเลสยากอยู่แล้ว ยังต้องประมาณคนในครอบครัวอีก
ใครว่าการมีคู่คือทางพ้นทุกข์จะลองก็ได้นะ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยแนะนำให้ใครไปมีคู่นะ ท่านไม่ได้บอกว่านั่นคือทางพ้นทุกข์ ซึ่งหากต้องการพิสูจน์สัจจะก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไปลองชิมทุกข์ จนกระทั่งถึงนรกทั้งเป็นสำหรับบางคน แต่ได้เป็นทุกข์แน่นอน..อันนี้รับประกัน
ส่วนความสุขแท้หรอ? ไม่มีหรอก มีแต่สุขลวงๆที่ตนเองปั้นขึ้นมา ซึ่งวันหนึ่งผลของกรรมจะแสดงให้เห็นเองว่าสุดท้ายแล้วก็โดนกิเลสหลอก อีกชาตินึงละ ว้าาา… แย่จัง~(อันนี้ยังดี บางคนโดนหลอกไปหลายชาติเลย จะตายแล้วก็ยังหลงอยู่)
เสียเวลาชีวิตไปตามความหลง หลงน้อยก็พ้นได้ไว หลงมากไปมีลูกมีหลาน คุณเอ๋ย ยาวเลยทีนี้ เวลาจะใช้เพื่อธรรมะไม่มีหรอก เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มีลูกหนึ่งคนเขาว่าจนไป 20 ปี มันก็มัวแต่หาเงินอย่างเดียวนั่นแหละ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาธรรม
ดังนั้นคนในก็ให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสใช้หนี้กรรมไป เผื่อวันนึงทำดีจนเห็นผล เขาจะปล่อยให้พ้นคุกคนคู่นี้ ส่วนคนนอกที่อยากเข้าก็ศึกษาให้มันเห็นจริงก่อน ค่อยๆดูไป อย่าพึ่งรีบไปเข้าคุกนัก เพราะเข้าแล้วมันออกไม่ง่าย คุกที่ชื่อครอบครัวนี่มันเหมือนบ่วง ที่ทั้งแน่น ทั้งเหนียว ทั้งหนัก…
คู่ครองถ่วงธรรม
คู่ครองถ่วงธรรม
หากจะนึกถึงสิ่งใดที่เป็นบ่วงซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดและถ่วงความเจริญ หนึ่งในนั้นก็คือการมีคู่ครอง แม้ในโลกจะสรรเสริญการมีคู่ แต่ในทางธรรมการมีคู่นั้นกลับกลายเป็นขวากหนามขวางกั้นคนให้ห่างจากความผาสุกที่แท้จริง
ถ้าเราเอาเหตุผลทางโลก ก็คงจะมีหลายคนที่ให้เหตุผลที่ฟังแล้วดูดี สมควรแก่การมีคู่ ถึงแม้เขาจะพยายามขยับขามาทางธรรม ความเห็นผิดที่หลงในสุขลวงเหล่านั้นก็จะยังติดตามมาเสมอ เช่น หาคู่มาคอยเกื้อกูลกัน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน เป็นกัลยาณมิตรกัน อะไรก็ว่ากันไปตามเหตุผลของคนอยากมีคู่
ถ้าเขาไม่คิดจะเจริญทางธรรม อยากมีชีวิตไปแบบโลกๆ กิน เที่ยว เสพสุขไปตามเวรตามกรรม การมีคู่ครองก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถ่วงความเจริญของชีวิตในความเห็นของเขา เพราะเขาไม่ได้แสวงหาความเจริญในธรรม ไม่ต้องการความเจริญแบบโลกุตระ(เหนือโลก) ต้องการเพียงแค่ความเจริญแบบโลกีย์ (วนเวียนอยู่ในโลกของกิเลสตัณหา) การมีคู่ก็คงจะเป็นเหตุที่สมควรแก่ความเห็นของเขา แต่ในบทความนี้เราจะมากล่าวกันในบริบทของผู้ที่ต้องการแสวงหาความผาสุกในชีวิต ต้องการความเจริญในทางธรรม ต้องการหลุดพ้นจากการตามกระแสโลกไปวันๆ
ถ้าคิดแบบทางโลกทั่วไป การมีคู่ครองแล้วปฏิบัติธรรมไปด้วยกันก็เหมือนกับการมีจักรยานสักคัน มีแล้วปั่นไปได้เร็วกว่าเดิน ตามที่หลายคนอ้างว่า พอมีคู่แล้วพากันทำดี ชวนกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เข้าวัดฟังธรรม เป็นคนดีมากขึ้น ถ้าไม่มีคู่ก็คงจะไม่มีใครพาเข้าหาธรรม ได้เรียนรู้ศึกษา ปรับนิสัยให้เป็นคนดีขึ้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีใช่ไหม? การมีจักรยานแบบนี้เหมือนจะดูดีกว่าไม่มีใช่ไหม?
แต่ถ้าเราลองมาคิดอีกที การจะมีจักรยานนี่มันทุกข์ตั้งแต่อยากมีแล้ว ต้องเลือกหาจักรยานคันที่ถูกใจ ก็เหมือนกับคนเลือกหาคู่ ซึ่งกว่าจะมีกันก็ใช่ว่าง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์เพราะเลือกยากก็ทุกข์เพราะไม่มีให้เลือก มีมากมายหลายเหตุให้ทุกข์เพราะความอยากมีคู่นั้นเอง
พอมีคู่ครองแล้วก็เหมือนได้จักรยานมาคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนดีจริงๆ ก็อาจจะพากันไปทำดีได้อยู่เหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกนัก มีจักรยานแล้วก็ต้องคอยหาที่จอด ต้องคอยเช็ดคอยล้าง คอยดูแลเปลี่ยนอะไหล่ เอาไปจอดที่ไหนก็ต้องล็อคไว้ ไม่อย่างนั้นคนจะมาขโมยไป เป็นห่วงเป็นกังวล จะไปไหนไกลมากก็ไม่ได้ มันก็มีขอบเขตที่มันจะพาเดินทางไปได้อยู่ ก็เหมือนกับการมีคู่ มีแล้วก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่กัน เสียเงินเสียเวลาเสียแรงในการบำเรอกัน ปล่อยไปนานๆ โดยไม่ดูแลก็ไม่ได้ เดี๋ยวมีคนใหม่เข้ามาเขาจะนอกใจไปได้อีก และที่สำคัญมีแล้วก็เป็นภาระ จะปฏิบัติธรรมอะไรก็ไม่สะดวก ต้องเกรงใจอีกคน ต้องคอยอนุโลม จนบางทีต้องลงยอมลงนรกไปด้วยกันก็มี
ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งอยากไปศึกษาธรรม แต่อีกคนหนึ่งอยากไปกิน ไปเที่ยว มันก็ทำดีไม่ได้เต็มที่ เพราะต้องเกรงใจคู่ ถึงเราจะไม่เกรงใจแล้วเลือกออกไปทำสิ่งดี แต่เขาก็ไปลากกลับมาได้ ไม่ยอมให้ทำดี หรือไม่เราก็ทิ้งการทำดีไปเสพสุขด้วยกันกับคู่เสียเอง สรุปแล้วสิ่งดีๆ ก็ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร คือทำความดีไม่ถึงพร้อม แต่มักพากันไปมัวเมากับกิเลสสะสมนรกกันไปเรื่อยๆ
หรือคนหนึ่งอยากเลิกกินเนื้อสัตว์ พอไปคบหาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการไม่กินเนื้อสัตว์ ถึงแม้เขาจะไม่ก้าวก่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นดีด้วย บางทีเขาไม่ได้แสดงอาการลำบากใจอะไร แต่เราก็ดันไปลำบากใจแทนเขา กลัวเขาจะอึดอัดที่เรามีวิถีชีวิตที่แตกต่าง คิดดูว่าการจะทำสิ่งดียังต้องมาเกรงใจกันอีก แล้วการจะพาคนที่ไม่ได้ศรัทธาในการทำสิ่งดีนั้นๆ ให้ทำตามมันไม่ง่ายนะ เช่นเราไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะให้เขาเลิกกินเนื้อสัตว์แบบเรา เพียงเพราะเป็นคู่ครอง เขาไม่ยอมง่ายๆนะ ให้เขาหยุดเสพกามในเนื้อสัตว์นี้มันก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขามากเกินไป มันปากเขาไม่ใช่ปากเรา ทีนี้มันจะทนกันได้ไม่นานหรอก คนไม่กินเนื้อสัตว์ถ้าไม่ติดดียึดดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนทะเลาะกัน ก็หย่อนยานจนกลับไปกินเนื้อสัตว์กับเขานั่นแหละ ส่วนที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้จริงนี่ก็รอดไป
มาถึงเรื่องสมสู่ ถ้าคนหนึ่งอยากทำดี อยากพ้นไปจากวิสัยคนคู่ที่ต้องคอยสมสู่กันเพื่อบำเรอสุข อยากจะทำให้ชัดเจนว่าเป็นคู่กันเพราะความรักจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วัตถุบำเรอกาม ก็เลยอยากจะชวนกันถือศีล ๘ เพื่อให้ชีวิตเจริญขึ้น แต่เรื่องนี้มันคิดคนเดียว ทำคนเดียวไม่ได้นะ บางทีเราอยากออก แต่คู่เขาไม่ยอมออกตาม เขาก็จะสมสู่เราอยู่นั่นแหละ หรือไม่เราก็ทนไม่ไหวเวียนกลับไปเสพเขาเสียเอง มันก็คอยฉุดกันกลับไปนรกคนคู่อยู่นั่นแหละ ไม่ปล่อยให้เจริญกันได้ง่ายๆหรอก ถ้าใครไม่เชื่อลองตั้งตบะดูเลยก็ได้ ว่าจะไม่มีเรื่องสมสู่กันแม้ว่าจะครองคู่กันนานเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีบารมีเก่าไม่มีทางรอดหรอก สุดท้ายเดี๋ยวก็หาเหตุผลให้ไปเสพกันจนได้
ทีนี้ยกตัวอย่างกันให้สุดๆ แบบพ่อพระแม่พระกันไปเลย คือไม่สมสู่กันเลย ไม่บำเรอกันด้วยกิเลสใดๆเลย คบหากันอย่างเพื่อนเลยก็ว่าได้ พากันเข้าวัด เสียสละชีวิตตนเองให้ศาสนา เป็นคนวัดทั้งคู่เลย แต่มันไม่พ้นภาระนะ มันต้องดูแลกันเป็นพิเศษ พอขึ้นชื่อว่า “คู่ครอง” แล้วนี่มันเป็นสัญญาที่คนเขารู้กันว่าต้องดูแลกัน มันจะมีหน้าที่เพิ่มขึ้นมามากกว่าเพื่อน เป็นสิ่งที่ทำให้ยึดกันมากกว่าเพื่อน ห่วงหากันมากกว่าเพื่อน สุดท้ายก็ติดอยู่ในสัญญานั้นแหละ หลงว่าเป็นสิ่งดี สิ่งเยี่ยม เป็นศักดิ์ศรี เป็นหน้าที่ ไม่พ้นจากสภาพของคู่ครองสักที
หากเราดูเผินๆ ก็อาจจะเห็นว่าการมีจักรยานนั้นดีกว่าเดิน แต่จริงๆมันมีความลำบากซ่อนอยู่ เอาเข้าจริงคนไม่มีจักรยานนี่อาจจะสบายกว่าก็ได้ จะเดินไปไหนก็ไม่ต้องกังวล จะขึ้นรถคันไหนก็ได้ จะเดินทางด้วยวิธีไหนก็ได้ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นวิธีใดวิธีหนึ่ง ดีไม่ดีถ้าทำดีเข้ามากๆ จะมีคนคอยรับส่งด้วยซ้ำ สรุปคือจักรยานนี่มันไม่ต้องมีก็ได้ มันก็เดินทางไปของมันได้อยู่ดี เหมือนกับคู่ครองนี่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเช่นกัน
เราอาจจะอ้างเหตุผลว่า มีเพื่อเกื้อกูลกัน เป็นผัสสะแก่กันและกัน คอยดูแลเอาใจใส่ตอนแก่เฒ่า เป็นกัลยาณมิตรกัน ซึ่งจริงๆ แล้วองค์ประกอบทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครองก็ได้ แค่เราหาเพื่อนที่สนใจธรรมะในแนวทางเดียวกัน จริงจังเหมือนกัน ถ้าให้ดีก็เลือกเพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องเสี่ยงมารักใคร่ชอบพอกันเชิงชู้สาว มีเพื่อนนี่ก็เกื้อกูลกันได้ เป็นผัสสะแก่กันได้ คอยดูแลเอาใจใส่กันได้ และแน่นอนว่าเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกว่าคู่ครองแน่ๆ เพราะอย่างน้อยก็ไม่สมสู่กัน ไม่เบียดเบียนกันเพียงเพราะความเป็นคู่ครองใดๆเลย ทีนี้พอเป็นมิตรดีแก่กันแต่ไม่ได้ครองคู่กัน พากันทำดีอย่างเดียว ไม่ทำชั่ว มันก็พากันเจริญได้เร็วกว่าคนที่ครองคู่สิ เพราะบาปไม่ได้ทำ อกุศลก็ไม่ได้ทำ แล้วจะมีอะไรมาคอยถ่วงความเจริญ
มีคนปฏิบัติธรรมมากมายที่ตั้งใจจะเป็นโสด แสวงหาความเจริญทางธรรม ยินดีที่จะเป็นมิตรดีเกื้อกูลกันและพากันดำเนินชีวิตไปในเส้นทางธรรม แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่านักปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกหลายคนกลับเมินหน้าหนีมิตรดีเหล่านั้น แล้วไปแสวงหาศัตรูคู่อาฆาตที่คอยจองเวรจองกรรมกันมาแล้วหลายภพหลายชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และหวังว่าจะแสวงหาความเจริญจากการมีคู่
“ คนที่แสวงหาความเจริญทางธรรมจากการมีคู่ ก็เหมือนกับคนที่หยิบขี้ขึ้นมากำไว้แล้วหวังว่ามันจะกลายเป็นทอง ซึ่งแท้จริงแล้วขี้มันก็เป็นขี้นั่นแหละ มันไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทองได้หรอก แต่ด้วยความหลงผิดจึงหยิบเอาขี้นั้นเข้ามากอดเก็บไว้
พอวันหนึ่งก็พบว่าการกำขี้นั้นเหม็นจนเป็นทุกข์ ก็ขว้างขี้นั้นทิ้งไป จะขว้างด้วยลีลาท่าทางอย่างไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็ต้องมาลำบากเช็ดคราบขี้และทรมานกับกลิ่นเหม็นที่ติดมือ แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้ชัดว่าขี้นั้นไม่มีวันเปลี่ยนเป็นทอง ไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่านั่นคือขี้ เดี๋ยวก็วนกลับไปแสวงหาขี้ก้อนใหม่ขึ้นมากำไว้เหมือนเดิมอีก แล้วก็เข้าใจว่าขี้ก้อนนี้นั้นดีกว่าก้อนเก่า บางคนก็หยิบขี้ก้อนเดิมมานั่นแหละ ขว้างทิ้งไปแล้วก็ไปหยิบขึ้นมากำใหม่ เพราะคิดไปว่าครั้งนี้ฉันจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนครั้งก่อน ขี้ก้อนนี้แหละที่จะเปลี่ยนเป็นทอง อะไรแนวๆนี้
สุดท้ายก็วนเวียนทุกข์เพราะขี้ไปแบบนั้นจนกว่าจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง แล้วจึงปล่อยวางขี้นั้นด้วยปัญญารู้โทษชั่วของการเอาขี้ขึ้นมากำไว้ ดังนั้นความเจริญสูงสุดที่หวังได้ก็คือการเห็นขี้เป็นขี้ เห็นการมีคู่ครองเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญทางธรรม คือสุดท้ายก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ก็สามารถหาความเจริญได้และเจริญได้มากกว่าด้วย เพราะไม่ต้องมาวนเวียนเสียเวลาอยู่กับเรื่องคู่ เหมือนคนที่เสียเวลามัวเมาอยู่กับขี้ ”
– – – – – – – – – – – – – – –
28.2.2559
รักแท้ ข้ามกาลเวลา : การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ
รักแท้ ข้ามกาลเวลา: การส่งผ่านความหวังดีและเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ
ในโลกใบนี้มีหลากหลายนิยามที่ใครๆ ต่างก็ให้ไว้เพื่ออธิบายความรัก และในบทความนี้จะมาอธิบายนิยามของคำว่า “รักแท้” อีกมุมหนึ่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นความรักทำความเข้าใจได้ยากที่สุดในโลก
ความรักทั่วไปนั้นจะต้องเสพเพื่อให้เกิดความสุข เป็นรักตามวิถีของ “โลกียะ” (ผู้หมุนวนไปตามโลก) เรียกว่าความรักได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นรักที่เบียดเบียน ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา ไม่เที่ยงแท้ หรือเรียกได้ว่าเป็น “รักไม่แท้” แต่ความรักที่จะกล่าวถึงกันในบทความนี้ มั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ข้ามกาลเวลา ข้ามภพข้ามชาติ เราจะมาศึกษา “รักแท้” เช่นนี้กัน
ความรักแท้ในที่นี้หมายเพียงแค่รักในรูปแบบของ “โลกุตระ” (ผู้อยู่เหนือโลก) ที่อบอุ่น สว่าง เบิกบาน เหมือนกับแสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก แม้ว่าจะเป็นกลางคืนดวงอาทิตย์ก็ยังส่องแสงอยู่ ถึงเราจะมองไม่เห็นมันก็ตามที แต่มันก็จะกลับมาในตอนเช้าของอีกวัน ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงและมั่นคง ซึ่งจะต่างกันกับรักแบบ “โลกียะ” ที่ร้อนแรง เผาทำลาย เหมือนกับกองไฟที่ต้องคอยเติมเชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลาจึงจะสร้างความอบอุ่นและแสงสว่างได้ ถ้าห่างไปก็ไม่ได้รับไออุ่น ถ้าใกล้ไปก็จะร้อนจนทรมาน และไฟเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายได้ ซ้ำร้ายไฟนี้ยังสามารถเผาไหม้ลุกลามไปได้ เป็นอันตรายต่อตนเองผู้อื่น ไฟที่ว่านี้เปรียบได้กับไฟราคะเราจะมาขยายรักโลกียะและรักโลกุตระกันให้ชัดขึ้น
รักโลกียะ จองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ
รักโลกียะ นั้นจะรักกันเพื่อบำเรอกัน ส่งเสริมและสนองกิเลสกัน เป็นไปเพื่อเพิ่มความโลภ โกรธ หลง เบียดเบียนกันและกันด้วยความอยากและความยึดเพราะ “ให้คุณค่ากับความสุข” และมักจะเสพติดความสุขนั้น จนกระทั่งเกิดความไม่ได้ดั่งใจ ไม่พอใจ ไม่สาสมใจ โกรธเกลียดอาฆาตกันในที่สุด ทำให้เกิดการจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน
รักโลกุตระเกื้อกูลกันข้ามภพข้ามชาติ
รักโลกุตระ นั้นจะเป็นเพียงความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย มีแต่ความเกื้อกูลกันโดยไม่เบียดเบียนกัน “ให้คุณค่ากับการพ้นทุกข์” จึงพากันลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลงอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีระยะความสัมพันธ์ที่เท่าเดิมคือเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ใช่เพื่อให้เขามาเห็นค่าหรือคุณงามความดีหรือความซื่อสัตย์ของเรา แต่เป็นไปเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าและความดีงามของธรรมะที่เราได้ปฏิบัติ
ความรักที่จะยาวนานข้ามผ่านกาลเวลา นั้นจะต้องตั้งอยู่บนความเมตตา เกื้อกูล หวังประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยสามารถอดทน รอคอย ให้อภัยได้
ความรักที่แท้นั้นไม่หยาบและฉาบฉวยเหมือนความรักเชิงชู้สาว ไม่คับแคบเหมือนรักในครอบครัว ไม่หลงอยู่แค่ในชุมชน สังคม เชื้อชาติ ประเทศ หรือว่าเผ่าพันธุ์ของตน แต่เป็นรักที่กระจายออกไปให้ทุกๆ สรรพสิ่งบนโลกโดยไม่มีอคติลำเอียง และที่สำคัญ รักนั้นยังยาวนานจนเลยขอบเขตของกาลเวลาที่เรารู้จักกันไป ข้ามภพข้ามชาติ ทั้งในภพชาติที่เข้าใจกันโดยสามัญว่าเป็นการเกิดอีกครั้งของชีวิต และโดยธรรม คือการข้ามภพของกิเลสทั้งหลายและข้ามชาติคือไม่มีการเกิดของกิเลสนั้นอีก สรุปรวมลงตรงที่ว่า “ผู้ที่มีรักแท้นั้นเป็นผู้ทำลายกิเลสของตนจนสิ้นซากและทำหน้าที่ช่วยผู้อื่นไปเรื่อยๆ ตราบปรินิพพาน”
บทความนี้อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายและยากที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็จำเป็นต้องขยายกันไว้เพื่อให้ศึกษา ความรักเช่นนี้ โลกจะไม่ยอมรับ ไม่เอา ไม่สนใจ เพราะไม่ได้เสพ ไม่ได้ครอบครอง มองว่ามันเป็นเพียงอุดมคติ ไม่ได้มีอยู่จริง เข้าใจว่าความสุขที่มากกว่าเสพนั้นไม่มีอยู่จริง ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตรรกะที่สวยหรูเท่านั้น
แต่ความจริง “รักแท้” เช่นนี้มีอยู่จริง และมีมานานแล้วในโลกนี้ยกตัวอย่างที่สุดของผู้มีรักแท้ข้ามกาลเวลาของคือพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่เป็นผู้เมตตาเหนือใครในโลก อดทนศึกษาจนรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง รอคอยและให้โอกาสทุกคนตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ให้อภัยได้แม้แต่ผู้ที่คิดจะปลงชีวิตท่าน กล่าวกันเพียงแค่นี้ก็คงจะไม่พอสาธยายถึงรักแท้ที่ท่านได้มอบไว้ให้กับโลก…
เราจะมาขยายความหมายของการเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัยกันให้ละเอียดขึ้นดังนี้
ความเมตตา เกื้อกูลและหวังให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น หมายถึงการคิด พูด ทำ แต่สิ่งดีให้กันและกัน สิ่งชั่วไม่พากันทำ ไม่ส่งเสริมให้ทำชั่ว ทั้งยังขัดเกลากันให้ไปสู่ความดี ความเจริญ และความผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย
การอดทน หมายถึง การทนต่อสิ่งที่กระทบเข้ามาทางภายนอก ไม่ว่าจะคำหวาน หรือคำกล่าวหา เขามาพูดชมเชย จีบ ยั่วเย้า หรือคำติเตียน คำด่า นินทา เย้ยหยัน เราก็จะต้องอดทนไม่หลงไปตามสิ่งเร้าเหล่านั้น ไม่หลงไปรักหรือชังตามที่โลกได้เชื้อเชิญให้เราหมุนวนตามไปอย่างนั้น
และการเสียสละอดทนทำหน้าที่แสดงให้เขาเห็นว่าความรักที่มากกว่าการได้เสพได้ครอบครองกันนั้นยังมีอยู่ ให้เขาได้เห็นถึงความสุขที่มากกว่าการเสพ อดทนทำไปแม้ว่าจะเป็นงานที่หนักหนา ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการขยาย อธิบาย แสดงให้เห็น ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ฯลฯ
การรอคอยหมายถึง สามารถรอให้เขาได้เรียนรู้จักความรักที่แท้จริงได้โดยไม่เร่งรัดหวังผลหรือไปบีบบังคับให้เขาเรียนรู้และทำความเข้าใจ แต่ให้อิสระเขาในการเข้าถึงความรักนี้ จะต้องการขนาดเรียนรู้ขนาดไหน หรือจะเป็นเมื่อไหร่ก็ได้ จะพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรือชาติหน้าก็ได้ สนใจเมื่อไหร่ก็มาศึกษาเมื่อนั้น เพราะความรักแท้นั้น ไม่มีวันเน่าบูด ไม่มีวันเสื่อมสลาย และเป็นสิ่งดี เป็นคุณค่าสูงสุดที่ควรมอบให้แก่กัน จึงรอคอยที่จะมอบให้ได้โดยไม่มีเวลามาเป็นข้อจำกัด ดังนั้นความรักและความหวังดีนี้จึงข้ามกาลเวลาได้
การรอคอยนี้ไม่ใช่การรอที่จะเสพ ไม่ใช่รอว่าฉันทำดีไปเรื่อยๆ แล้วชาติใดชาติหนึ่งเธอจะมารัก สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นการรอคอยเหมือนกัน แต่เป็นการรอที่จะเสพตามธรรมชาติทั่วไปของความรักในแบบโลกีย์ ที่หลายคนอาจจะศรัทธา เช่น รอเป็นสิบยี่สิบปีเพื่อที่จะให้ได้มาคู่กัน แต่ในมุมของโลกุตระนั้น สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ไร้ค่า เสียเวลา เบียดเบียน ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ รอคอยด้วยความทุกข์เพื่อที่จะสร้างทุกข์ให้แก่กันและกัน จึงไม่ใช่รักแท้ แต่เป็นเพียงรักลวงเท่านั้น
การให้อภัย หมายถึงการให้โอกาสเขาได้ลองผิดลองถูกตามที่เขาเข้าใจ โดยไม่ถือโทษโกรธเคืองเขา เขาจะไม่มาเอาความรักดีๆ ที่เรามอบให้ก็ไม่เป็นไร เขาจะเข้าใจเราผิดก็ยังยอมได้ เขาจะกลับไปเลือกรักที่ต้องเสพเพื่อสุขอย่างโลกๆ เราก็พร้อมจะเข้าใจและให้อภัยได้ แม้เขาจะไม่เห็นว่า สิ่งที่เรามีเป็นคุณค่าที่เขาควรจะได้ แม้ว่าเขาจะโยนเพชรที่เราพยายามเจียระไนอย่างยากลำบากทิ้งไปดังขยะที่ไร้ค่า …ก็ไม่เป็นไร เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความพร่อง ความไม่สมบูรณ์แบบ ก้าวข้ามความไม่พอใจและความยึดดี ติดดี ที่เป็นสิ่งที่จะทำร้าย เบียดเบียน จนถึงกีดกันไม่ให้เขาเข้าถึงรักแท้นี้ได้
ให้โอกาสกันไปอีกหลายปีหลายชาติ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ความรักจากเรา ให้โอกาสเขาได้ทำความเข้าใจ ได้มั่นใจว่าสิ่งที่เรามอบให้ไปนั้นดีจริง ด้วยความเมตตา อดทน รอคอย ให้อภัย หวังประโยชน์แก่เขาเสมอ คอยเกื้อกูล ให้เขาได้ศึกษาความจริงจากเราว่ารักที่แท้จริงมันดีแบบนี้ มันสงบเย็นแบบนี้ มันเป็นสุขแบบนี้ มันยาวนานแบบนี้ มันมั่นคงแบบนี้ …
…กับการเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาที่แสนจะยาวนานเสียจนนับไม่ได้ เพียงเพราะว่ารักจึงยังทำหน้าที่ต่อไป และนี่เองคือ ”รักแท้”
– – – – – – – – – – – – – – –
11.2.2559