กรรมและผลของกรรม
การดูดวงเป็นการเดา
“การดูดวง“เป็นการเดาผลของกรรมในอนาคต
1. การเดาใจ ทายใจ หรือเดาอะไรก็ตาม ศาสนาพุทธไม่สรรเสริญเรื่องพวกนี้
2. ผลของกรรม เป็นเรื่องอจินไตย คิดไปก็ปวดหัว เดาไม่ได้ ไม่ควรคิด ไม่ใช่เรื่องสถิติ
3. การเชื่อเพราะเขาเป็นหมอดูหรือเกจิอาจารย์คนดัง มีชื่อเสียง น่าเคารพ ผิดกาลามสูตรเต็มๆ
4. นักหลอกลวงมักพูดเพ้อเจ้อ พูดเลื่อนลอย กลับกลอก ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง เป็นไสยศาสตร์ เป็นเวทมนต์ ไม่ชัดเจน ลึกลับ ไม่เหมือนศาสนาพุทธที่ไม่ลึกลับ ธรรมะเป็นสิ่งที่ยินดีให้ผู้สนใจเข้ามาพิสูจน์ความจริงได้เสมอ
5.อนาคตไม่แน่นอน
พุทธศาสนิกชนที่ยังหลงมัวเมากับการดูดวงอยู่ ก็ยังห่างไกลจากการพ้นทุกข์มากนัก และห่างไกลธรรมะด้วยเช่นกัน หากต้องการเจริญในธรรม ให้เลิกหลงงมงายกับสิ่งเหล่านี้เสียก่อน
ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย
อจินไตย หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรคิด คิดไปก็ไม่สามารถเข้าใจได้โดยสามัญ คิดมากไปพาลจะเป็นบ้า
เราไม่สามารถคิดหรือเดาได้ว่า “ผลของกรรม” ของเราหรือใครจะออกมาเป็นแบบไหนอย่างไร ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะเจออะไร ต้องป้องกันแบบไหน ต้องแก้อย่างไร จึงจะหักลบกันได้พอดี
เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลของกรรมนั้นจะแสดงผลออกมาอย่างไร ตอนไหน ที่ใด แบบใด กับใคร ฯลฯ และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากรรมดีกรรมชั่วที่เคยทำมานั้นมีปริมาณสะสมไว้มากเท่าไหร่อย่างไร
ดังนั้นการที่จะพยายามเดาหรือคิดเอาว่า ผลของกรรมจะออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ ฉากนั้นเหตุการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องไร้สาระ
เรารู้ได้แค่เพียงว่าเมื่อทำดี ก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ดี และเมื่อทำชั่วก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ชั่ว อย่างยุติธรรม
ซึ่งเราจะรู้ได้เองว่าเราทำกรรมอะไรมาเมื่อได้รับผลของกรรมนั้นไปแล้ว เพราะสิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่สะท้อนความดีความชั่วที่เราทำมาในชาตินี้และชาติก่อนๆนั่นเอง
วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม
วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม
วิบาก(ผล) กรรม(การกระทำ) หรือผลของการกระทำในอดีตของเรานั้น จะเป็นสิ่งที่จะจัดฉากให้เราต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้าย หรือสิ่งไม่ดีไม่ร้ายใด ๆ ก็ตามที่เราเคยทำมา
แต่การจะตัดสินใจใด ๆ ต่อเหตุการณ์นั้นคือสิทธิ์ของเรา แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกจัดมาอย่างเลวร้ายหรือแสนดีแค่ไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องเล่นไปตามบทบาทที่ถูกเขียนมา เพราะเรามีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจทำกรรมใดก็ตามที่จะเป็นกุศล(ความดี), อกุศล(ความชั่ว), ทั้งดีและชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ได้
แต่อิสระเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลส ความโลภ โกรธ หลงจะเป็นสิ่งที่บงการเรา อยู่เหนืออิสระของเรา ให้เราทำกรรมชั่วนั้น กิเลสจึงเป็นตัวบงการให้สร้างกรรมต่างๆ เช่น เมื่อเจอขนมที่ชอบ ถ้าเราไม่หลงในขนมนั้น ก็คงจะมีอิสระเหนือขนมนั้นอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เราตกเป็นทาสของกิเลส อิสระของเราเลยกลายเป็นอิสระเฉโก กลายเป็นอิสระในการกิน แต่ไม่เป็นอิสระต่อความอยากกิน เพราะพลังของกิเลสนั่นเอง
การอ้างว่าฉันตัดสินใจทำเช่นนั้นเช่นนี้เพราะกรรมเก่า เป็นการโยนความผิดให้ตัวเองในอดีต โยนบาปให้พ้นตัว ทั้งที่ความจริงแล้ว การตัดสินใจทำกรรมใด ๆ ล้วนเกิดจากเหตุสองทาง หนึ่งคือเกิดจากกิเลส สองคือเกิดจากการไม่มีกิเลส ไม่ได้เกิดกรรมเก่าแต่อย่างใด ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๗๓ นิทานสูตร )
การเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ นั้นต้องรู้จักรู้จริงในความเป็นปัจจุบัน เข้าใจในพลังของอดีต และความเป็นไปได้ในอนาคต ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองว่าการตัดสินใจใดๆที่ได้ทำลงไปนั้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดจากกิเลสก็ยอมรับว่ากิเลส ไม่ใช่เฉโก ฉลาดหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่กิเลส แล้วหลงว่าตนไม่มีกิเลสเข้าไปอีก และก็ต้องแยกให้ออกว่ากิเลสตัวไหน แบบใด หาเหตุของมันจึงจะสามารถเข้าไปทำความผิดให้เป็นความถูกได้โดยลำดับ
– – – – – – – – – – – – – – –
6.11.2558
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?
มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู
“การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป
การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้
นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก
การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย”
ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด
ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้
การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้
ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด
จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา
– – – – – – – – – – – – – – –
8.10.2558