วิธีการทำ ขั้นตอนต่างๆ

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,601 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาระของศีล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,579 views 0

สาระของศีล

สาระของศีล

การมีศีลนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในความเจริญของผู้แสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์ แต่ในความเป็นศีลนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความเห็นความเข้าใจซึ่งมีทั้งการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น บ้างก็เข้าใจความหมายของศีลผิดไป ซึ่งเหตุเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระแท้ของศีลได้

ผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ถือศีลเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสุขที่จะทำให้หลงวนเวียนเสพสุขอยู่ในภพนี้ แต่จะใช้ศีลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส เพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลสเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา

เราจะจำแนกลักษณะของความเข้าใจในศีลออกมา 3 แบบคือ ถือศีล ทิ้งศีล ศึกษาศีล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1).ถือศีล

การถือศีล รับศีลมาถือ นำมาปฏิบัติ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นประโยชน์ของศีลว่าการมีศีลนั้นจะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งยังป้องกันภัยต่างๆที่จะเข้ามาสู่ชีวิต และยังเป็นการสร้างกุศลให้กับชีวิตตนอีกด้วย

ผู้ที่ถือศีลนั้นจะมีทั้งแบบยึดอาศัยกับแบบยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่ยึดอาศัยหรือการ “สมาทาน” นั้นก็จะใช้ศีลเป็นเครื่องประกอบในการทำคุณงามความ ใช้ศีลเพื่อความสุขความเจริญ แต่เมื่อเกิดความยึดดีถือดี เป็นความยึดมั่นถือมั่นในศีล หรือที่เรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน” คือความยึดมั่นและงมงายในศีลและข้อปฏิบัติเป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

การถือศีลแบบยึดอาศัยกับยึดมั่นถือมั่นจะแตกต่างกันตรงที่ความตึงเครียด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะถือศีลอย่างไม่ปล่อยวาง เคร่งเครียด, ยึดว่าศีลนั้นเป็นที่สุด, คนต้องมีศีลแบบนั้น, พระต้องมีศีลแบบนี้, ปฏิบัติแบบนี้จึงเรียกว่าถือศีล, ใครถือศีลได้มากข้อกว่าก็น่าเคารพกว่า, ฉันถือศีลได้เท่านั้นเท่านี้, ฉันไม่เคยทำศีลขาดหรือด่างพร้อย, มักจะมีอาการยกตกข่มผู้อื่นร่วมด้วย รวมทั้งมีอาการติดดีประกอบอยู่เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นในศีลนั้น

ถึงแม้ว่าจะการยึดอาศัยศีลเพื่อสร้างความสุขความเจริญ หรือการยึดมั่นถือมั่นในศีลจนงมงาย แม้จะถือศีลได้ปกติแต่ไม่มีปัญญารู้แจ้งในกิเลสก็เรียกได้ว่าถือไปแบบนั้น“เหมือนกับมีเพชรและรู้ว่าเพชรมีค่าขายได้มีราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเพชรไปใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์” เช่นนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงคุณประโยชน์สูงสุดของศีลในพุทธศาสนา การถือศีลเพื่อความสุขความเจริญนี้ยังเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแก่นสารสาระของศีล ดังนั้นคนที่ยึดเอาศีลเป็นเพียงประโยชน์เพื่อเสพสุขจากกุศลกรรม ย่อมยังไม่พบกับความพ้นทุกข์

2).ทิ้งศีล

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างของความเห็นผิดในการถือศีล ซึ่งมีให้เห็นได้ในปัจจุบัน คือการทิ้งศีล ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติศีลซึ่งในส่วนของคนที่ยังไม่ถือศีลเพราะยังไม่มีปัญญาเห็นคุณประโยชน์ในศีลจะขอยกไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คนบางกลุ่มบางจำพวก ตีความหมายของศีลนั้นไปตามความเข้าใจของเขา เช่น ศีลคือความปกติ ดังนั้นรักษากายใจให้ปกติก็ถือว่ามีศีล สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เมื่อเห็นผิดในกระบวรการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่มีการศึกษาในสาระของศีลแต่ละข้อว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อนั้นถูกจำแนกให้ขัดเกลากิเลสในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านได้แยกย่อยไว้ให้ค่อยๆเรียนรู้และปฏิบัติศีลไปโดยลำดับ มิใช่เพื่อการบรรลุธรรมในทันที

ยกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่สาวกท่านหนึ่งจำศีลมากมายไม่ได้ เลยไปขอศีลจำนวนน้อยกับพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้ไว้สามข้อ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต คือมีกายวาจาใจที่ดีงามไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งเหมาะกับปัญญาของสาวกท่านนั้นเท่านั้น การที่เราจะรับศีลที่สั้นกระชับในระดับนี้มาปฏิบัติ อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าข้างตนเองก็ได้ว่าฉันก็สุจริตทั้งสามอย่างนะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมไม่สมฐานะ ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเมื่อศึกษาพระไตรปิฎก เพราะใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราจะทำได้ อินทรีย์พละมันต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้คนที่ขี้เกียจปฏิบัติธรรมหาช่องทางให้ตนได้ศึกษาธรรมได้แบบง่ายๆสบายๆ เพราะความหลงผิดนั่นเอง

กลับมาที่การรักษาใจให้ปกติที่คนบางจำพวกถือเอาเป็นข้อปฏิบัติหรือศีล เมื่อศีลของเขาคือความปกติ เขาจึงมุ่งรักษาใจให้ปกติ โดยที่มักจะใช้วิธีสมถะเข้ามากดข่มจิตใจให้ปกติ เมื่อทำได้เช่นนั้นก็มักจะหลงผิดเข้าใจว่าศีลมีเพียงเท่านี้ ตีทิ้งศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อีกมากมาย โดยไม่รู้เนื้อหาสาระแท้ในแต่ละข้อทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเห็นผิดหรือความขี้เกียจถือศีลมากๆก็ได้ จึงตีความหมายให้เป็นว่าถ้าทำเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องมีศีล เพียงแค่รักษาใจให้บริสุทธิ์ตามที่เข้าใจก็ถือว่ามีศีลแล้ว

เราสามารถเข้าใจว่าศีลคือความปกติได้ แต่นั่นคือผลของการปฏิบัติจนเกิดความปกติ ไม่ใช่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในจิตด้วยการพยายามกำหนดจิต เช่น เมื่อเราถือศีลกินมื้อเดียว เราจะทำอย่างไรให้กินมื้อเดียวได้ด้วยใจปกติ ไม่มีความอยากกินที่เกินมื้อ ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหดหู่ หรือลังเลสงสัยในศีลนี้ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร

หรือหากเรามองว่าศีลคือความพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน ถ้าหมายถึงศีล ๕ นั้นก็คงใช่ แต่พอขึ้นมาถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มักจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันขัดข้องใจที่จะถือศีลนั้นๆ โดยเฉพาะจุลศีลในข้อกินมื้อเดียว เรียกว่าหักความคิดตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปทิ้งเลยทีเดียว การกินมื้อเดียวไม่ใช่เพียงแค่ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ยังเป็นความพอดีสูงสุดในชีวิตด้วย แล้วพื้นฐานของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน? ความไม่เบียดเบียนกันควรจะวัดจากจุดไหน? แล้วศีล ๑๐ เบียดเบียนตนและผู้อื่นน้อยกว่าศีล ๕ ไหม? ถ้าเบียดเบียนน้อยกว่าก็ควรจะให้ศีล ๑๐ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์สิ ในเมื่อศีลแต่ละข้อมีความยากง่ายและนัยสำคัญที่แตกต่างกันทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าใจแก่นสารสาระเหล่านั้นได้?

อย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นมีเป้าหมายเดียวคือเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลส นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะรู้ชัดว่าเมื่อกิเลสนั้นคลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับ ดังนั้นการถือศีลก็ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมในสันดาน มิใช่เพียงเพื่อความสุขความเจริญดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก

ความปกตินั้นคือ “ผล” แต่คนสับสนกลับเอาผลมาเป็น “มรรค” พอปฏิบัติกลับหัวกลับหางกัน มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด จนทำให้เข้าใจแก่นสารสาระของศีลผิด จึงนำมาซึ่งการทิ้งศีล มองศีลเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่รู้จักแล้วก็วางได้ ปฏิบัติศีลเพียงแค่กายวาจาแต่ไม่เข้าใจ จนอาจหลงผิดถึงขั้นดูหมิ่นผู้มีศีลได้

เช่น หลงผิดเข้าใจไปว่าเราคือผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีล คนที่เคร่งศีลคือคนที่ยึดมั่นถือมั่น ยิ่งคนที่ถือศีลมากๆยิ่งจะถูกมองว่าบ้า โต่ง หรือตึงเกินไป เหตุหนึ่งเพราะตนเองไม่สามารถถือศีลเหล่านั้นได้ พอถือแล้วก็ทรมานจากฤทธิ์ของกิเลส เลยต้องหย่อนลงมา จึงเกิดความเห็นผิดว่าการถือศีลคือโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วนั่นคือสภาพของอัตตกิลมถะหรือการทรมานตนเองด้วยความยึดดี

ตอนแรกก็เห็นว่าศีลดีก็เลยพยายามถือศีล แต่พออินทรีย์พละไม่พอมันก็จะทรมาน พอทรมานก็ลดศีลหรือเลิกถือศีล มันก็สบายจากความหลุดพ้นในการทรมานตนด้วยความยึดดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าการถือศีลเป็นสิ่งที่โต่ง แต่การถือศีลที่เกินกำลังนั้นเองคือสิ่งที่โต่ง แต่พอทิ้งศีลก็มักจะเข้าสู่ทางโต่งอีกทางคือไหลไปตามกามเลย ไปหลงเสพกาม แล้วก็ติดสุขจากกาม โดยมากจะกู่ไม่กลับเพราะเห็นผิดในการถือศีลไปแล้ว

ในศีลของนักบวชก็เช่นกัน เมื่อไม่เข้าใจสาระของศีล จึงเหลือแต่วินัย ในทุกวันนี้ศีล ๒๒๗ ข้อ คือพระวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสให้นักบวชในศาสนาของท่านถือศีล ๓ คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก แต่นักบวชทุกวันนี้กลับไม่มีศีล มีแต่วินัย เพราะไม่เข้าใจสาระของศีล จึงทิ้งศีล คงไว้เพียงวินัย หากเราจะลองเอาศีล ๓ หมวดนี้มาตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบัน ก็จะพบว่าส่วนมากผิดศีล เพราะไม่เคยมีศีล ไม่เคยศึกษาในศีล ไม่เห็นประโยชน์ในศีลนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ทิ้งศีล และไม่ถือศีลอย่างงมงาย เพียรศึกษาให้เข้าถึงสาระแท้ของศีล

3).ศึกษาศีล

การมีศีลนั้นคือการศึกษาเพื่อที่จะละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น เริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของศีลเพื่อถือศีลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถือศีลนั้นไว้เพื่อศึกษาสาระแท้ของศีล นั่นคือการศึกษากิเลสในตนผ่านการถือศีล

สาระแท้ของศีลนั้นมีไว้เพื่อเปิดประตูสู่การชำระกิเลส หากไม่มีศีลมากำหนด ก็ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราเห็นทุกข์จากกิเลสได้ ศีลนั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของการพ้นทุกข์ ซึ่งหากไม่เริ่มจากศีลก็ต้องเริ่มจากปัญญาที่พัฒนาจนเห็นประโยชน์ของการถือศีล ดังนั้นหากจะปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากศีลอยู่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกสาวกเสมอว่าเธอจงศึกษาในศีล ๓ หมวดดังที่ยกมาอธิบายก่อนหน้านี้

การศึกษาในศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร? เมื่อเราถือศีล ศีลก็จะเป็นกำแพงไม่ให้เราไปเสพสิ่งเดิมๆที่เราเคยหลงติดหลงยึดได้ง่ายนัก อย่างน้อยก็เป็นกำแพงในใจ ซึ่งเมื่อศึกษาแรกๆ กำแพงก็จะไม่แข็งแรง เราก็มักจะปีนกำแพงออกไปเสพสุขในสิ่งที่ละเมิดศีลตามแรงยั่วของกิเลส เราก็ต้องใช้ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่แหละในการสร้างความแข็งแกร่งของกำแพงศีล เจริญขึ้นไปจนถึงขั้นเกิดหิริโอตตัปปะ เริ่มจะไม่ผิดศีลด้วยความเต็มใจเพราะรู้สึกผิดละอายต่อบาป เจริญขึ้นไปอีกจนกระทั่งเพียรพิจารณากิเลสที่พยายามยั่วยวน ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยศีลและสติ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลส กระโดดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกุตระ) ก็ถือว่าจบภารกิจในศีลนั้นๆ แล้วก็ขยับฐานไปถือศีลที่ยากขึ้นหรือศีลอื่นๆต่อไป

ศีลนั้นมีระดับยากง่ายที่ต่างกัน และในศีลหนึ่งๆยังมีการปฏิบัติไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ควบคุมกาย วาจา ไปจนกระทั่งชำระกิเลสในจิตใจได้

ผู้ที่มีศีลแต่ไม่เข้าใจว่าศีลนั้นชำระกิเลสได้อย่างไร หรือเข้าใจผิดคิดเหมาเอาเองว่าการมีศีลนั้นคือการชำระกิเลส ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการถือศีลโดยทั่วไปนั้นไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงใจ ไม่ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่สามารถชำระกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ ไม่สามารถทำให้ละหน่ายคลายจากความอยากนั้นได้ โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับคนที่ถือศีลเพื่อความสงบสุข ความดีงามดังที่ยกตัวอย่างในข้อแรก

ตัวตนของกิเลสนั้นจะสามารถเห็นได้จากการถือศีล ศีลคือเครื่องมือเดียวที่จะตีกรอบให้กิเลสนั้นถูกแสดงตัว เมื่อเห็นดังนั้นจึงใช้สติปัฏฐานเข้ามาพิจารณาตัวตนแท้ของกิเลสตั้งแต่ผัสสะเกิด เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตว่ากิเลสใดหนอที่ปะปนอยู่ในจิตของเรา แล้วใช้ธรรมที่เหมาะที่ควรเข้าไปพิจารณาตามเหตุคือกิเลสนั้นๆ

การปฏิบัติศีลอย่างเข้าใจในกระบวนการ จะสามารถชำระกิเลสที่มีในจิตใจได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ควบคุมกาย วาจา อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงมีสภาพของการถือศีลข้อนั้นๆอย่างปกติโดยที่ไม่ต้องพยายามกดข่ม ฝืนทน หรือมีความลำบากกายและใจใดๆเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,713 views 0

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

วิธีป้องกันคนชั่วคนพาล

แค่มีศีลมีธรรม คนชั่วเขาก็หนีแล้ว

ยิ่งเสนอให้เขาถือศีล เขาจะทุกข์ร้อนหวาดผวา

เหมือนที่ใครเขาเปรียบกันว่า

ถ้าจะกันผี(กิเลส) ต้องใช้สายสิญจน์(ศีล)

……………………………………..

การที่เราเจอแต่คนพาลเข้ามาในชีวิตนั้น ใช่ว่าจะเกิดจากกรรมเก่าในปางก่อนเสมอไป ส่วนใหญ่ก็กรรมเก่าในชาตินี้นี่แหละ คือไม่ศึกษาวิธีป้องกันคนชั่ว ไม่เคยมีศีลมีธรรมเป็นเกราะคุ้มครองตนเอง พอเจอคนชั่วก็โทษกรรมเก่าในชาติก่อนๆเสียหมด กลายเป็นว่าหาเหตุไม่ได้ หาที่มาไม่ได้ พอหาเหตุไม่ได้ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้เช่นกัน

การที่เรายังชั่วอยู่นั้น หมายถึงเราเองเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ยังดึงดูดคนชั่วเข้ามาในชีวิต เพราะถ้าเราชั่ว เราก็จะได้เจอกับคนชั่วๆ อยู่ในสังคมชั่วๆ วนเวียนอยู่กับคนพาลที่สร้างปัญหาให้กับชีวิต

การเริ่มต้นห่างไกลคนพาล ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สมควรทำเพื่อชีวิตที่ผาสุกคือทำลายความชั่วในตนเสียก่อน เพราะสิ่งที่ดึงดูดชั่วภายนอกเข้ามาหาก็คือชั่วข้างในตัวเองนี่แหละ ดังนั้นหากจะโทษสิ่งใดสักสิ่งที่นำสิ่งชั่วเข้ามาในชีวิตเราก็โทษความชั่วที่เรายังมีนี่แหละ ยังไม่ต้องไปโทษเวรโทษกรรมอะไรที่มันไกลตัวหรอก เพราะชั่วนี่มันเห็นได้ง่าย กรรมมันเห็นได้ยาก

พอเราเริ่มมีศีลมีธรรมก็จะเป็นเกราะคุ้มครองที่ดีระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด เราจึงควรมีกลยุทธ์เชิงรุกด้วย นั่นคือชักชวนให้คนรอบข้างถือศีล คิดดี พูดดี ทำดี ถ้าเขาดีพอ เขาก็จะเอาดีและพยายามจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเจริญ แต่ถ้าเขาชั่วมาก เขาจะออกไปจากชีวิตเราเอง เพราะทนความดีไม่ไหว นั่นเพราะชั่วในตัวเขามันไม่ยอมให้ทำดี

ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเขาและตัวเรา สำหรับตัวเขานั้นก็จะได้ไม่ต้องมาทำบาปเวรภัยกับคนอื่น เพราะมีดีมาขวางไว้ และได้เรียนรู้ว่าความดีนั้นเป็นอย่างไร เอาดีมาถ่วงไว้จะได้ไม่ชั่วมากจนเกินไป สำหรับตัวเรานั้นก็ได้อาจจะได้ทั้งบุญและกุศลเกิดขึ้นกับเรา เป็นพลังที่จะหนุนให้เราเกิดความสุขความเจริญ ห่างไกลคนพาล ปกป้องคุ้มครองตัวเองโดยธรรม

แม้แต่คนพาลที่เข้ามาในคราบของคนดี เป็นสัตว์ร้ายที่ปลอมตัวมา เป็นมารในคราบเทวดา แม้จะมีท่าทางดูดี คิดดี พูดดี ทำดี ในทีแรก แต่ถ้าเจอศีลเข้าไปแล้วก็ยากที่จะรอด เพราะศีลจะทำให้คนกิเลสหนาเกิดอาการร้อนรน ไม่เอาศีล รังเกียจศีล ไม่อยากถือศีล ลำบากในการคบหาคนมีศีล

ยิ่งมาดีเท่าไหร่ลองเพิ่มศีลเข้าไปเท่านั้น เดี๋ยววันหนึ่งก็ออกลายเอง ดีไม่ดีคุยกันไม่กี่วันก็หายไปจากชีวิตเลย นี่แหละพลังของศีลที่จะป้องกันคนชั่วที่จะมาในสารพัดลีลาด้วยท่าทีงามสง่าน่าอัศจรรย์ สุดท้ายต้องมาตกม้าตายด้วยศีลกันทุกรายไป

แต่สิ่งที่สำคัญคือ เรารู้จักศีลดีหรือยัง เข้าใจศีลดีหรือยัง สาระของศีลคืออะไร ศีลใดที่ควรใช้ ศีลใดที่เหมาะ ศีลใดไม่เหมาะ รายละเอียดของศีลนั้นต่างกันไป การใช้เพื่อประโยชน์ใดๆก็ต่างมุมกันไป เราจึงควรศึกษาในสาระและประโยชน์ของศีลกันให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

เพราะการใช้ศีลในการป้องกันสิ่งชั่วนั้น จะใช้ได้เฉพาะในศีลในระดับที่ตนปฏิบัติไหว ใช่ว่าเราจะสามารถให้คนอื่นศึกษาในศีลที่เรายังไม่สามารถปฏิบัติและเข้าใจได้ นั่นหมายถึงถ้าเราไม่ศึกษาและปฏิบัติในสิ่งใด ก็จะไม่สิทธิ์ในการใช้คุณวิเศษของสิ่งนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,795 views 0

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

สมัยที่ยังไม่เคยศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าความโสดไม่ดีมีแต่เหงา มีคู่สิดีมีอะไรมากมาย แม้จะเจ็บจากความรักเท่าใดก็ยังไม่ทิ้งความหวังที่จะมีความรักอีกครั้ง

จนกระทั่งได้มาศึกษาธรรมะ ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์และผู้รู้ที่นำมาขยายและอธิบายว่าการมีคู่ทำให้เกิดทุกข์อย่างไร เป็นโทษอย่างไร ความโสดมีคุณประโยชน์อย่างไร ทำให้ชีวิตเจริญอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ความเจ็บช้ำมามากเท่าไหร่ เห็นรักของใครต่อใครพังมามากแค่ไหน ได้เรียนรู้ว่าโสดนั้นดีกว่ามีคู่อย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถทำใจให้โสดสนิทได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมโสด มันยังอยากมีคู่ เห็นคนอื่นควงกันมาแล้วก็ยังอิจฉา ดูละครเห็นพระเอกนางเอกจีบกันก็ยังสุขตาม บางทีก็ยังเฝ้าฝันถึงวันที่ได้มีคู่ ทำไมมันยังไม่ยอมโสดเสียทีทั้งที่มีความรู้ขนาดนี้แล้ว?

เรียนรู้ใช่ว่าจะรู้จริง

เราอาจจะเคยเจอกับสภาวะที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หรือ เข้าใจแต่ทำไม่ได้ การเรียนรู้โดยทั่วไปนั้นเป็นการนำความรู้นั้นเข้ามาใส่ความจำเท่านั้น ซึ่งในความจำนั้นก็ยังมีอีกมากมายหลายล้านเรื่องที่จำไว้ เช่นจำว่าเคยมีความสุขตอนมีคู่ จำได้ว่าตอนเสพมันเป็นสุข ซึ่งแม้จะจำได้ว่ามีคู่เป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบกับสิ่งที่ถูกใจเข้าจริงๆก็มักจะแกล้งลืมความจำบางอย่างไปเสียหมด

สิ่งที่ทำให้เราเลือกจำแต่เรื่องที่ไร้สาระและเลือกเสพในสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขแท้นั้นก็คือ “กิเลส” พลังของกิเลสจะทำหน้าที่บดบังความจริงตามความเป็นจริง สร้างความสุขลวงขึ้นมา ปั้นความลวงให้เป็นความจริง ถึงแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นกงจักรก็ยังเข้าใจไปว่าเป็นดอกบัว นี่คือพลังของกิเลสที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก ทำให้ความจริงนั้นผิดเพี้ยนไป ดังนั้นเมื่อเราได้เรียนรู้อะไรมาก็ตาม หากเรายังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ ความรู้เหล่านั้นจะถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งบันทึกสิ่งที่ผิดๆลงในความทรงจำ

ดังนั้นการเรียนมากก็ใช่ว่าพ้นทุกข์ได้ เพราะหากขยันเรียนแต่ยังมีกิเลสมากหรือความรู้ที่เรียนนั้นไม่ได้พาให้ลดกิเลส ความรู้นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย ยิ่งรู้มากยิ่งหลงผิดมาก เรียกว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ก็ว่าได้

โสดที่ยังมีกิเลส

เมื่อเราได้เรียนรู้ชีวิตและศึกษาธรรมะ เข้าใจเหตุแห่งความอยากในการมีคู่แล้วเห็นดีในความโสด ไม่ใช่การโสดเพราะอยากจะหนีหรือเพราะเจ็บปวดจากความรัก แต่เพราะเกิดปัญญาเห็นโทษภัยของการมีคู่และข้อดีของการโสด

แต่ถึงจะเห็นไปในทางที่ถูกเช่นนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถโสดโดยไม่มีสะดุด เพราะยังมีกิเลสคอยเป็นมารที่ขวางกั้นความสงบในชีวิต การเห็นว่าโสดนั้นดี คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกปรับเข้ามาในทิศทางที่ถูกแล้ว เหมือนเรือที่หันหางเสือไปยังทิศทางพ้นทุกข์ แต่ก็ยังไม่ออกเรือ เป็นเพียงการระบุทิศทางเท่านั้น

ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นที่สงสัยของหลายคนว่า ได้ศึกษาธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เข้าใจและเห็นด้วย แต่ทำไมเวลาไปเจอของจริงมันแพ้กิเลสทุกที นั่นเพราะเพียงแค่ความเข้าใจที่ถูกตรงแต่ยังมีกิเลสนั้นยังไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้

ความเข้าใจที่ถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเข้าใจผิดเห็นว่ามีคู่ดีกว่า หรือถ้าเจอคู่ดีก็ควรมี หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้ไปมีคู่ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเรือที่อยากจะเดินทางไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ตั้งหางเสือให้ไปในทิศทางของทุกข์อยากมีความสุขแต่กลับแสวงหาทุกข์ เพราะมีกิเลสมาบดบังปัญญาจึงทำให้หลงผิด

เมื่อมีความเข้าใจที่ถูก ก็จะต้องทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้องตามมา ในตอนแรกจะไม่สามารถมีความคิดไปตามหลักของพระพุทธเจ้าได้ กิเลสมันจะค้านแย้งตลอด แม้จะได้เรียนธรรมมามาก มีข้อธรรมเยอะ จำได้มาก แต่ก็มักจะต้องแพ้ให้กับกิเลสเสมอ เพราะพลังของอธรรมนั้นมีมากกว่าธรรม ตั้งใจพิจารณากิเลสแทบตาย ฟังธรรมปฏิบัติธรรมกันอยู่เป็นสัปดาห์ ออกไปใช้ชีวิตแล้วเจอคนที่ถูกใจพูดด้วยไม่กี่คำก็เพ้อฝันไปไกล

การจะคิดได้อย่างถูกตรงนั้นไม่ง่าย จึงต้องใช้พลังของการปฏิบัติอื่นๆร่วมด้วย คือการพูดสิ่งที่ถูกตรง คือพูดไปในทางไม่เสริมกิเลส ขัดกิเลส ทำกิจกรรมการงาน เลี้ยงชีพอย่างถูกตรง โดยเฉพาะความเพียรที่ถูกตรง

ความเพียรที่ถูกคืออะไร? ในกรณีของการจะไปสู่ความโสดอย่างเป็นสุขได้นั้นจะต้องเพียรชำระล้างกิเลส ไม่ใช่ขยันทำการงาน แต่เป็นขยันชำระกิเลสในใจตน ขยันพิจารณาประโยชน์ของความโสดและโทษของการมีคู่ เพื่อให้อาหารกับธรรมะและงดให้อาหารอธรรม เพื่อไม่ให้ความชั่วโตขึ้นและเสริมสร้างความดีให้แข็งแรง

จนกระทั่งมาถึงสติที่ถูกตรง เป็นสติที่สามารถจับและวิเคราะห์กิเลสได้ รู้ได้ชัดว่ากิเลสใดเกิดขึ้น เป็นกิเลสชนิดไหน โลภ โกรธ หลงในสิ่งใด เราอยากเสพอะไร เราหลงติดหลงยึดในอะไร แล้วจะใช้ธรรมะเข้าใดเข้ามาขัดเกลากิเลสนี้

เมื่อวิถีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ทั้งหมดถูกปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จึงเกิดเป็นสมาธิที่ถูกตรง เป็นลักษณะเฉพาะของผลการปฏิบัติในวิถีพุทธ นั่นคือเกิดสมาธิขึ้นเพราะความสงบจากกิเลส เป็นสมาธิที่ไม่ต้องนั่ง ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออก เป็นสภาพสามัญของ “สัมมาสมาธิ” ของผู้ที่ปฏิบัติ “สัมมาอริยมรรค” ๗ ข้ออย่างถูกตรงด้วยความตั้งมั่น ต่างจากวิธีปฏิบัติของลัทธิอื่นๆที่ต้องนั่งสมาธิหรือใช้อุบายให้จิตสงบเสียก่อนจึงเกิดจิตที่เป็นสมาธิได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงมิจฉาสมาธิเท่านั้น

โสดไม่มีกิเลส

เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงด้วยความเพียรอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ เป็นความรู้เดียวกับที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์สอน ไม่ว่าใครที่รู้แจ้งในกิเลสก็จะได้สัมผัสรสเดียวกัน รับรู้เช่นเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน คือมีสภาพปล่อยวางจากกิเลส ปล่อยให้กิเลสเดินออกจากจิตวิญญาณของเรา กิเลสไม่ใช่เราและเราไม่ใช่กิเลส ไม่จำเป็นต้องมีกันและกันอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจดังนั้น ก็จะไม่ต้องพยายามโสด ไม่ต้องระวังว่าใครจะมาพรากความโสดได้ ต่อให้ยกบ้านยกเมืองให้ ให้เป็นเศรษฐีระดับโลก มีกินมีใช้ตลอดชีวิต มีคนที่พร้อมจะมาเป็นคู่ มีนิสัยดีแสนดี มีพร้อมทั้งความงามและปัญญามาแลกกับการสละความโสดก็ไม่เอา ดีแค่ไหนก็ไม่เอา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นแม้น้อย เพราะมีคำตอบเดียวคือ “โสด” ปิดประตูนรกของการมีคู่ไปได้เลย

ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆในคำสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์อีก เพราะรู้แน่ชัดในตนเองแล้วว่าสิ่งนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุดในโลก เป็นสภาวะที่ไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาเปรียบ ไม่มีอะไรที่จะเอามาแลกได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ยั่งยืน ถาวร ไม่เวียนกลับ คงอยู่ตลอดกาล ไม่แปรปรวนอีกต่อไป เกิดเป็นความรู้ในตน เป็นปัญญาของตน เป็นสมบัติของตนเอง ไม่ใช่ของที่หยิบยืมมาอ้างจากผู้อื่นอีกต่อไป กลายเป็นอริยทรัพย์เรื่องหนึ่งที่จะให้ผลต่อเนื่องไปตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)