ธรรมะ
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ
ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)
หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา
ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ
ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ
ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้
การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง
ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด
เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา
ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร
สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร
ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ
ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย
ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น
ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง
การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ
ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)
การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
27.7.2558
จะรู้ได้อย่างไร ว่ากิเลสมากหรือน้อย
จะรู้ได้อย่างไร ว่ากิเลสมากหรือน้อย
ในปัจจุบันเรามีวิธีบริหารจิตใจไม่ให้เกิดความทุกข์มากมาย มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนทุกจริตตามกรรมของแต่ละคน เราสามารถเห็นคนดีมีศีลธรรมปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้เป็นเรื่องปกติ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่ว่าดีนั้น ดีแค่ไหน?
วิธีตรวจว่าตนเองว่าดีจริงหรือไม่นั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่นำศีลเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน หากดีจริงชีวิตจะไม่ทุกข์ไม่ติดขัด ถือศีลได้อย่างปกติ แต่ถ้าไม่ดีจริง มันจะติดขัด จะมีเหตุให้ผิดศีล เกิดทุกข์ หดหู่ ไม่เบิกบานกระทั่งเลิกถือศีลไปเลยก็ได้
เพียงแค่ศีล ๕ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปก็สามารถจะทำให้ตนเองนั้นรู้ตัวได้ว่าเราดีจริงแล้วหรือยัง เรายังมีเหตุให้ผิดศีลอยู่หรือไม่ กิเลสนั้นเองคือเหตุที่ทำให้ผิดศีล ถ้าไม่มีกิเลสก็จะไม่มีข้ออ้างใดๆให้ทำผิดศีลเลย แม้ว่าจะไม่ได้ผิดศีลในระดับศีลขาด แต่ความขุ่นข้องหมองใจนั้นก็เรียกได้ว่ายังผิดอยู่ในระดับของใจ เพราะศีลนั้นต้องชำระกิเลสตั้งแต่ภายนอกไปจนถึงภายใน ตั้งแต่กาย วาจา ไปจนถึงใจ
หากมีศีลเพียงแค่คุมกายวาจา แต่ใจนั้นยังปรุงแต่งเชื้อทุกข์อยู่แม้จะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม จนทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย ไม่เบิกบาน หดหู่ หงุดหงิด ฯลฯ ก็เรียกได้ว่ายังชั่วอยู่
การมีศีลได้นั้นจะต้องมีปัญญา พระพุทธเจ้าเปรียบปัญญาและศีลเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงศีลนั้นๆได้ เพราะจำเป็นต้องมีปัญญาที่มากพอจะเอื้อมถึงคุณประโยชน์ของศีลนั้นด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เราเจอคนดีคนหนึ่ง ดูท่าทีเป็นนักปฏิบัติธรรมมาก พูดอะไรเป็นธรรมะหมด ก็เลยลองเสนอสิ่งดีๆที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขาและเขายังไม่ได้รู้ถึงประโยชน์นั้น เช่นบอกว่าลองกินมังสวิรัติดูสิ ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่เบียดเบียนด้วย ถ้าเขามีปัญญามากพอ เขาจะสนใจถือศีลนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถศึกษาศีลจนเกิดปัญญาที่เป็นผลได้ทันที
หรือในอีกตัวอย่างหนึ่งเช่น เราเจอคนดี มีศีลธรรม เราก็ลองเสนอสิ่งดีๆเหมือนเดิม ทีนี้ลองเสนอศีลที่ยากขึ้นเช่น กินจืด , กินมื้อเดียว , เป็นโสด ฯลฯ ลองดูว่าเขาจะรับไหวไหม มีเหตุผลของกิเลสมากมายที่จะทำให้คนปฏิเสธการมีศีล แม้ว่าจะเป็นเหตุผลที่ดูดีและน่าเชื่อถือแค่ไหน นั่นแหละพลังแห่งความชั่วที่อยู่ในตนมันกำลังขัดขวางทางเจริญ
ทีนี้ก็ลองเอาตัวอย่างทั้งหมดมาปรับใช้กับตัวเอง การที่เราคิดว่าเราเป็นคนดีแล้ว เราดีจริงหรือ? แล้วเราดีแค่ไหน? เรายังปนชั่วอยู่ไหม? ลองเอาศีลนี้มาปฏิบัติดูซิ ถ้าทำได้ก็เอาศีลที่ยากมาปฏิบัติอีก พระพุทธเจ้าท่านให้ผู้บวชในศาสนาของท่านศึกษา จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเป็นนักบวชก็สามารถปฏิบัติได้ทุกข้อ แต่ถ้าเป็นฆราวาสก็เลือกข้อที่เหมาะสมหรือจะเริ่มจากศีล ๕, ๘, ๑๐ หรือจะชอบแบบผสมก็ได้ แต่อย่าไปผสมให้เลี่ยงสิ่งที่ติด ควรจะศึกษาศีลที่ทำให้ตัวเองเห็นกิเลส ศีลใดถือแล้วเฉยๆก็ถือไปอย่างนั้น แล้วเพิ่มศีลอื่นๆไปเข้าอีก
อย่างเช่นการกินมื้อเดียวนี่ใช่ว่าแค่นักบวชเท่านั้นที่ทำได้ ฆราวาสก็ทำได้ มีคนพิสูจน์มาแล้วมากมายว่าสามารถกินมื้อเดียวแล้วมีพลังใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งโดยมากจะเกิดศักยภาพมากกว่าปกติ ไม่มีข้อจำกัดใดๆในการถือศีลนอกจากกิเลส
ศีลในหมวดของอาหารตั้งแต่ ลดเนื้อกินผัก กินจืด กินมื้อเดียว เลิกกินขนมและสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย คือหมวดศีลที่ปฏิบัติได้ทุกคนทั้งนักบวชและฆราวาส นั่นหมายถึงทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมได้บนพื้นฐานเดียวกัน คือจะเจอกิเลสที่มีลักษณะและลีลาคล้ายๆกันนั่นเอง
หากการมีศีลเกิดจากปัญญา การไม่มีศีลก็คือไม่มีปัญญาเช่นกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
21.6.2558
การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง
ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย
ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้
เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป
นรกของกาม
กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง
ความยากของอัตตา
กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา
ความหลงผิดในอนัตตา
การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก
อุเบกขาธรรมะ
การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย
– – – – – – – – – – – – – – –
30.4.2558
ฉันคือผู้หลุดพ้น
ฉันคือผู้หลุดพ้น
…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ
(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)
สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ
1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก
มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ
2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด
ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด
คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก
คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป
3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส
สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด
หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก
ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้
ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร
4).การรู้ประมาณ
การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน
ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด
เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย
ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี
ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด
ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น
ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน
ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก
คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้
5).ปัญญากับมังสวิรัติ
การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ
แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์
พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก
การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง
เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด
ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน
6). ทางสายกลวง
ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ
คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น
คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ
7).กินมังเหยาะแหยะ
คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน
จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว
การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น
คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์
ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร
8). กินอยู่อย่างพอดี
หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง
ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ
ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ
9).มังสวิรัติบารมี
ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม
หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า
ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส
พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก
ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย
พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน
หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
2.12.2557