ธรรมะ

จริงหรือที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

August 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,100 views 1

จริงหรือที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

จริงหรือที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

คงจะมีหลายครั้งที่เรามักจะคิดไปว่า เราทำดีกลับไม่ได้ดี แต่คนที่ทำแต่ความชั่วกลับได้ดี อยู่สุขสบาย แคล้วคลาดปลอดภัย ทำให้คนที่คิดจะทำดีน้อยใจ นั่นก็เพราะเราทำดีเพื่อที่จะเอาผลดี เมื่อมีความหวังว่าจะเอาดีแล้วไม่ได้รับดีตอบ ก็อกหักอกพังกันไปตามๆกัน

คำที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นั้นเกิดขึ้นมาเพราะเรายังไม่เข้าใจในเรื่องของกรรมและผลของกรรม คนที่เข้าใจเรื่องของกรรมอย่างถ่องแท้ จะไม่สงสัยในการเกิดสิ่งใดๆในโลกเลย เพราะทุกสิ่งล้วนมีมาแต่เหตุ คือมีเหตุก็ต้องมีผล สิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นผล แล้วเหตุล่ะมันมาจากไหน?

พระพุทธเจ้าได้สอนให้เราเข้าใจว่า “ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

นั่นหมายความจะสิ่งดีหรือสิ่งร้าย ก็เป็นสิ่งที่ตัวเราเองสร้างมาทั้งนั้น เมื่อเราได้รับสิ่งดีเรามักจะมองข้ามเหตุของมันไป แต่เมื่อได้รับสิ่งร้าย เรากลับมองหาคนผิด มองหาคนก่อเหตุ ว่าใคร อะไรมาทำให้เราทุกข์ โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปพิจารณาตามจริงเลยว่าสิ่งที่เราทำมานั่นแหละ ทำให้เราทุกข์

บางคนก็จะคิดเข้าข้างตัวเองอีกว่า ชาตินี้ฉันไม่เคยทำร้ายใคร ไม่เคยเบียดเบียนใคร ทำแต่ความดี แล้วทำไมฉันต้องเจอแต่เรื่องร้ายๆ เมื่อคิดแบบนี้ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ นั่นก็เพราะเขาทำดีเพื่อที่จะเอาดี หวังผลให้เกิดดี พอไม่เกิดดีดังใจหมายก็เป็นทุกข์ โดยที่ไม่คิดย้อนไปว่าการเกิดสิ่งร้ายนั้นเป็นเพราะสิ่งที่เราทำในอดีต อาจจะในวันก่อน ปีก่อน หรือชาติก่อนก็ได้

ลองนึกดูก็ได้ ว่าเราทำดีอะไรมาถึงได้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีปัจจัยสี่พร้อมเพรียง ไม่ลำบาก ไม่ขัดสน เราทำอะไรมาล่ะจึงได้สิ่งนี้ ในเมื่อสัจจะบอกว่าเราจะได้รับแต่สิ่งที่เราทำมา แล้วเราไม่เคยทำดีในชาตินี้เลย ทำไมจึงได้เกิดมามีชีวิตที่ดี ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทำเหตุอะไรเลยในชาตินี้ แต่เกิดมาก็สมบูรณ์พร้อมแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาก็เกิดจากดีที่เราทำมาแต่ปางก่อน

ในเมื่อเรายินดีได้รับสิ่งดีให้เกิดในชีวิตแล้ว แต่เวลาเกิดสิ่งร้ายเรากลับไม่ยินดียอมรับในผลกรรมที่ตัวเองทำมา เมื่อไม่ยินดีรับกรรมที่ทำมาก็จะทำให้เกิดทุกข์ ส่วนดีที่ทำใหม่เมื่อเร็วๆนี้ก็อาจจะยังไม่เกิดผล เพราะชั่วที่เคยทำมาก่อนอาจจะยังส่งผลอยู่ การทำดีแล้วคาดหวังว่าต้องเกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อไม่เกิดดีตามที่ใจหมายก็ต้องปล่อยวางให้ได้ อย่าให้ความคาดหวังกลับมาทำร้ายตัวเอง

อีกเหตุผลหนึ่งในการที่เราทำดีแล้วยังไม่ได้ดี ไม่เกิดสิ่งที่ดี เป็นเพราะเราทำดียังไม่มากพอ หรือเข้าใจไปเองว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆมันไม่ดี ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม เพราะเราเองไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งว่าสิ่งใดดีมีคุณค่าแท้ หรือเข้าใจไปว่าดีตามที่สังคมเข้าใจ

ความดีที่สังคมเข้าใจกับความดีจริงๆ นั้นอาจจะไปกันคนละทิศละทาง ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ย่อมปนเปื้อนไปด้วยกิเลส คือความขี้เกียจ มักง่าย เร่งผล เอาแต่ใจ ฯลฯ ทำให้หลายๆสิ่งถูกบิดเบือนไปจากความจริง ความดีที่แท้ ก็ถูกปนเปื้อนด้วยทุนนิยม ความเชื่อ ความงมงาย พิธีกรรม ไสยศาสตร์ ฯลฯ เราจึงต้องศึกษาให้เข้าใจถึงความดีอย่างถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ

ในส่วนของคนชั่วที่เขาไม่ได้ทำดีแต่ได้ดี นั่นก็เกิดจากดีที่เขาทำสะสมมานาน เมื่อเขาทำดีมา เขาก็ต้องรับดีตามที่เขาทำมา แม้ในเวลาที่เขาทำชั่ว ดีที่เขาทำก็จะมาส่งผลให้สิ่งร้ายๆเบาบางลง แต่เมื่อไหร่ที่ความชั่วที่ทำนั้นมีน้ำหนักมากกว่าดีที่เคยทำมา เมื่อนั้นแหละที่เขาจะได้รับทุกข์ โทษ ภัย ทรมานแสนสาหัส

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

August 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,772 views 0

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? แค่เมตตาสัตว์ละเว้นสัตว์ก็สามารถกินมังสวิรัติได้แล้วไม่ใช่หรือ?

ความเมตตา…

การกินมังสวิรัติไม่ได้เป็นเรื่องของความเมตตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปฏิบัติเพื่อ ลด ละ เลิก กิเลสได้อีกด้วย และในกระบวนการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์หรือล้างกิเลสนั้นจำเป็นต้องนำความเมตตามาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นการมุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสไม่ใช่ว่าไม่เมตตา ไม่รักสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่ในความเป็นจริงคือยิ่งต้องเมตตาให้มาก เมตตาทั้งสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ เมตตากับกับทุกชีวิตกันเลยทีเดียว

ศีลมังสวิรัติ…

แล้วมังสวิรัติจะเรียกว่าศีลได้อย่างไร มีหลายคนที่ไม่ได้คิดว่าการกินมังสวิรัติคือศีล มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ศีลคือการละเว้นจากสิ่งที่เป็นภัย การตั้งศีลกินมังสวิรัติ คือ เว้นจากภัยที่จะเกิดจากการกินเนื้อเช่น เรื่องสุขภาพ ,วิบากกรรมที่ไปมีส่วนร่วมในการฆ่า ,ความทุกข์จากการที่ไม่ได้เสพเนื้อสัตว์สมใจ ดังนั้นการตั้งศีลกินมังสวิรัติ ก็เพื่อการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยเหล่านี้นั่นเอง

ถ้าจะบอกว่าไม่มีในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เรามาลองดูศีลข้อ ๑ คือ ปาณาติปาตา เวรมณี คือเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แม้ว่าเราจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การกินเนื้อสัตว์ของเราก็ยังมีส่วนไปตัดชีวิต คือทำให้ชีวิตสัตว์อื่นตกร่วงอยู่นั่นเอง ถ้าเราไม่เสพเนื้อสัตว์มันก็ยังไม่ตาย การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเป็นการผิดศีลข้อ ๑ ในขั้นละเอียดขึ้นมามากกว่าการยึดถือปฏิบัติตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นการปฏิบัติอธิศีล คือการขยับฐานของการละเว้นสิ่งที่เป็นภัยให้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ปลาเป็นในตู้ที่ร้านอาหาร ทางร้านแนะนำเมนูปลา ปลาสด ปลาอร่อย เราก็สั่งปลามากิน เราไม่ได้ฆ่านะ แต่เราไปสั่งให้เขาไปฆ่ามาให้เรา ผิดเต็มประตูอยู่แล้ว ถ้าไม่สั่งปลามากิน ปลามันก็ยังมีชีวิตได้ต่อไปอีกตามกรรมของมัน ถ้ายกตัวอย่างไปถึงปลาที่ตายมาแล้ว ชำแหละมาแล้ว นั่นเขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น เขาก็ฆ่ามาตามอุปสงค์ อุปทาน มีคนซื้อเขาก็ฆ่ามาขายสิ ถ้าไม่มีคนซื้อ เขาก็ไม่รู้จะฆ่าให้เมื่อยทำไม

มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม…

คงเป็นประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุด คือมังสวิรัติมันเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? ภาพของการปฏิบัติธรรมที่มีในใจของหลายๆคนคือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่จะเข้าใจ

อย่างที่ยกตัวอย่างในเรื่องของศีลมังสวิรัติ ศีลนี้แหละจะเป็นตัวทำให้เห็นกิเลส เป็นตัวทำให้เห็นผีในตัวเรา ลองตั้งศีลนี้ขึ้นมาดูจะพบว่ากิเลสจะดิ้น ความอยากกินจะชัดเจน กิเลสจะให้เหตุผลมากมายในการทำลายการถือศีลนี้ เช่น…ไปกินเนื้อสัตว์สิไม่มีใครรู้หรอก,เกิดมาครั้งเดียวกินให้เต็มที่,เขาเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา,เรากินสัตว์เขาก็จะได้บุญนะ,เรากินเขาก็ยินดีนะ,ร่างกายเราต้องการสารอาหารนะ ….นี่ก็เป็นตัวอย่างคำสั่งของกิเลส เมื่อเห็นกิเลสดังนี้แล้ว เราก็จะต้องพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอย่างตั้งมั่น ไม่ลดละ เป็นการปฏิบัติไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา

ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะละกิเลสในสามภพ คือ ๑. กามภพ คือสภาวะที่ยังเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อยู่ , ๒. รูปภพ คือสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังมีความอยากที่ชัดเจนแต่อดกลั้นไว้ได้ และ ๓. อรูปภพ คือสภาวะที่ไม่มีความอยากให้เห็นเป็นรูปร่างแล้วแต่จะเหลือแค่อาการที่เบาบาง อารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ฯลฯ ถ้าสามารถละกิเลสจนข้ามสามภพนี้ได้ก็คือว่าประสบความสำเร็จ

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างแน่นอน เพราะการลด ละ เลิกการมีกิเลสนั้นๆ ทำให้เข้าใกล้ความสุขแท้ ดังในบทสวดมนต์ที่เราสวดมนต์กันอยู่บ่อยๆ “อะระหะโต : เป็นผู้ไกลจากกิเลส” ถ้าเราไกลจากกิเลสขึ้นอีกนิด ก็เข้าใกล้ความสุขแท้ขึ้นอีกหน่อย ถ้าไม่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมแล้วจะเรียกว่าอะไร…

– – – – – – – – – – – – – – –
9.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์