หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

October 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,462 views 0

หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

ข้อคิดเห็นของฉัน : หลักพิจารณาในการแนะนำ เพื่อแก้ปัญหาทุกข์จากความรักในคนโสดและคนคู่

ในเพจนี้มักจะมีแต่บทความเกี่ยวกับความโสด พูดถึงแต่ในบริบทของคนโสด มักจะไม่ค่อยกล่าวถึงในมุมของคนมีคู่สักเท่าไหร่

บทความส่วนมากของผมเจาะจงลงไปที่ปัญหาความรัก ชี้ให้เห็นเหตุของปัญหา แต่ไม่เคยแนะนำให้หนีปัญหา หรือหักดิบทิ้งปัญหาเหล่านั้น แล้วเอาตัวรอดคนเดียว นั่นหมายถึงผมไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนให้คนมีคู่ หนีคู่ไปด้วยข้ออ้างที่ว่าโสดนั้นดีกว่า

ซึ่งผมเองไม่ได้มีเจตนาที่จะไปยุ่งเกี่ยว หรือไปมีอิทธิพลต่อชีวิตใครจนกระทั่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่จนเป็นทุกข์ เพราะเจตนาที่แท้จริงก็เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นโทษของกิเลสเท่านั้น และการจะแก้ปัญหาความรักที่มีความซับซ้อนน้อยที่สุด ก็คือการแก้ปัญหาตั้งแต่ยังเป็นโสด เพจนี้จึงมักจะมีบทความชวนให้เห็นโทษของการมีคู่ เห็นคุณของความโสด

เพราะการแก้ปัญหากิเลส ตอนโสดนั้นเป็นการแก้ต่อเดียว แก้ที่คนคนเดียว ปัญหามีความซับซ้อนน้อย สามารถจัดการได้ง่าย แต่การแก้ปัญหากิเลสในคนมีคู่นั้นยาก ซับซ้อน มีเรื่องปิดบังอำพรางมาก มีเรื่องส่วนตัวเยอะ มีเหตุแห่งทุกข์มากมายที่เป็นเรื่องลึกลับ ไม่สามารถไขความหมายหรือเข้าใจได้ ไม่ใช่ลักษณะแบบ (1+1 =2 ) แต่เป็น (กิเลส + กิเลส = อภิมหากิเลส)

เพียงแค่การแก้ปัญหากิเลสในคนๆเดียวก็ไม่รู้จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ความเพียรแค่ไหน ผมเองก็ผ่านมาแบบแผลเหวอะหวะ ถ้าเป็นสงครามก็เสียแขนเสียขาไปอย่างละข้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะเรียนรู้โดยไม่เจ็บช้ำ ไม่ง่ายที่จะเอาชนะกิเลสโดยไม่ต้องเสียอะไรไป ไม่ง่ายเพราะต้องแพ้กิเลสซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ยังต้องสู้อยู่…นี่แค่ตัวคนเดียวนะ

แต่การแก้ปัญหากิเลสในคนคู่นั้นซับซ้อนยิ่งกว่า มันมีความผูกของกิเลสสองคน ถ้าเป็นเชือกก็เป็นเชือกสองเส้นที่สีเดียวกันบ้าง คนละสีบ้างในแต่ละเส้น พันกันเป็นปมใหญ่ ไม่รู้อันไหนต้นอันไหนปลาย ไม่รู้จะเริ่มจากจุดไหน ไม่รู้จะแก้ปัญหาที่ใด

สำหรับคนคู่ผมจึงได้พิมพ์บทความไว้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในตนเองเท่านั้น ไม่ต้องไปมุ่งแก้ที่คู่ของตน เพราะลำพังแก้ที่ตนก็ยากพออยู่แล้ว ควรจะเอาตัวเองให้รอเสียก่อนแล้วค่อยไปช่วยคนอื่น ใครจะคิดไปแก้คู่ของตนด้วยก็ตัวใครตัวมัน

ซึ่งในความจริงมันก็ต้องลากกันไปแบบนั้น คนโสดแก้ปัญหาตัวเองได้ เรื่องก็จบ แต่คนคู่แค่แก้ปัญหาตัวเองได้นั้นยังไม่พอ ยังต้องช่วยคู่แก้ปัญหาอย่างมีศิลปะด้วย เพราะหากคู่ครองยังมีปัญหาอยู่ ก็สามารถลากกันไปลงนรก ลากกันไปทุกข์ได้เช่นกัน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเปรียบคู่ เหมือนกับบ่วง จะเดินไปไหนก็ต้องลากกันไปด้วย ต้องลำบากเพิ่มขึ้น ใครมีลูกก็ต้องลำบากเพิ่มขึ้นอีกตามบ่วงที่สร้างมา

และผมก็ยังถือหลัก “ ผูกเองก็ต้องแก้เอง ” ตอนผูกพันก็สมยอมผูกกันมาเอง แล้วตอนจะแก้มาให้คนอื่นแก้ให้ เก่งแค่ไหนก็คงไม่สามารถแก้ให้ได้ เพราะไม่รู้ว่าผูกกันมายังไง มีแต่คนที่ผูกเท่านั้นที่จะรู้ว่าต้องแก้ปัญหายังไง

ถ้าจะให้แนะนำกันในส่วนตน เรื่องของตนเอง เฉพาะจิตใจตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคนโสดที่ยังเร้าร้อนแสวงหาคู่ หรือคนคู่ที่ทุกข์มาจากเรื่องคู่ของตน การแนะนำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องส่วนบุคคลนั้นยังเป็นเรื่องที่พอจะทำได้

แต่ถ้าจะให้ไปวิเคราะห์กันถึงบุคคล ที่ 2 3 4 … ไปคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาเรื่องนอกตัว เช่นว่า ทำไมเขาต้องทำกับฉันแบบนี้ , เขาจะต้องได้รับกรรมอะไร, เขาจะต้องทำอย่างไรถึงจะแก้นิสัย ฯลฯ ผมว่ามันจะเลอะเทอะ เสียเวลากันเปล่าๆ เอาแค่เวลาที่มีในชาตินี้ทั้งหมดจะแก้ปัญหาที่ตัวเองให้ได้หมดก็ดูท่าจะยังไม่พอกันเลย แล้วใครที่คิดจะไปแก้ปัญหาของคนอื่นแต่ไม่มุ่งแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อนนี่ ผมเองไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแนวคิดแบบนี้

ในมุมธรรมะ คนที่มุ่งแต่จะแก้ไขคนอื่นนั้น ไม่มีทางที่เขาจะพ้นทุกข์ได้เลย พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตนเอง อย่าไปทำนาคนอื่น ซึ่งถ้าใครมีความคิดเห็นในแนวทางมุ่งแก้ปัญหาคนอื่น ไม่มองว่าตัวเองมีปัญหา ผมก็คิดว่ายากที่เขาจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

ส่วนคนที่น้อมปัญหากลับมามองตน กลับมาทบทวนว่าเหตุแห่งทุกข์ของเรานั้นอยู่ตรงไหนในจิตใจเรา คนที่มีความคิดในแนวทางนี้เจริญได้ง่าย แก้ปัญหาได้ง่าย ถ้าให้ผมเลือก ก็คิดว่าควรใช้เวลาให้กับคนที่มีความเห็นเช่นนี้ เพราะเขามุ่งแก้ปัญหาในตนจริงๆ ซึ่งการแนะนำต่างๆจะสามารถเข้าถึงปัญหาได้ง่าย เพราะไม่มีตัวแปรที่ซับซ้อนเหมือนคนที่ดึงเอาบุคคลที่ 2 3 4 … มาเกี่ยวด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นิยาม “คุณค่า” ของชีวิต

October 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,512 views 0

ฝ่ายหนึ่งมองว่าการไม่มีกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการตอบสนองกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
และอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าจะมีหรือไม่มีกิเลสก็ช่างมัน เกิดมาใช้ชีวิตแล้วก็ตาย

…มันจะคุยกันรู้เรื่องไหมเนี่ย?

การที่เราคุยกันอยู่บนพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจ (ทิฏฐิ) ที่ต่างกัน แล้วแต่ละคนยึดมั่นในทิฏฐินั้น ต่อให้คุยกันทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เจริญหรอก เสียเวลาเปล่าๆ

ขาดแฟนชีวิตเจริญ ขาดมิตรดีชีวิตไม่เจริญ

October 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,933 views 3

ขาดแฟนชีวิตเจริญ

เป็นส่วนเกินไม่มีก็ได้

ขาดมิตรดีชีวีฉิบหาย

เจริญก็ไม่ได้ไม่พ้นโลกีย์

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดแฟน

 

แฟน คู่รัก คู่ครอง ฯลฯ แท้จริงแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีความจำเป็นในชีวิต” ถึงไม่มีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และถ้ามีแล้วนอกจากจะสามารถขวางทางเจริญ ยังสามารถฉุดกันลงนรกได้อีกด้วย กว่าจะถึงวันแต่งงานบำเรอกิเลสกันไปเท่าไหร่ เลี้ยงกิเลสโตกันไปขนาดไหน แม้ว่ามันจะดูน่าใคร่น่าเสพในทางโลกีย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือทุกข์ล้วนๆ

เหตุผลหนึ่งในการหาแฟนหรือคู่ครองที่คนมักจะซ่อนเอาไว้ก็คือ “การสมสู่” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนที่ดีไม่สามารถทำให้กันได้ เพราะการระบายอารมณ์ การให้เป็นที่พึ่ง การปรึกษาปัญหาชีวิต การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่า หรือแม้กระทั่งการง้องอน เพื่อนที่ดีก็สามารถทำหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ได้ครอบคลุมทั้งหมด

แต่การจะให้เหตุผลว่าหาคู่ครองเพื่อมาบำเรอความใคร่ เอามาบำบัดความอยากในกามอารมณ์ มันก็ดูจะตรงเกินไปสักหน่อย คนเราก็เลยโอนคุณสมบัติบางอย่างของเพื่อนเพื่อมาให้น้ำหนักทางฝั่งแฟน ลดความสัมพันธ์ของเพื่อนมาเพิ่มคุณค่าให้กับแฟน สร้างระยะว่านี่เพื่อน นี่แฟน เพื่อนได้แค่เท่านี้ แฟนต้องขนาดนี้ และเว้นอาณาเขตพิเศษไว้ให้แฟน จึงกลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการหาแฟนหรือคู่ครองในที่สุด(สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นนี้ได้โดยถือศีลการเว้นการสมสู่ตลอดชีวิต แล้วจะเห็นพลังของกิเลสว่ามีจริง)

เหตุผลอีกข้อก็คือ หลงผิดว่ามนุษย์ต้องมีคู่ ต้องแต่งงาน ต้องสืบพันธุ์ การมีคู่เป็นคุณค่า เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ฯลฯและยังมีเหตุผลยิบย่อยอีกมากมายเช่น อยากมีไว้แก้เหงา, อยากมีคนเอาใจ, อยาก…ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดมิตรดี

หากว่าชีวิตของเรานั้นไม่มีมิตรดี ไม่ได้คบหาหรือรู้จักคนที่ปฏิบัติดี จะไม่มีทางที่ชีวิตจะไปสู่ความเจริญได้เลย แม้จะเจริญไปได้ ก็หนีไม่พ้นวิถีโลก ไม่พ้นโลกีย์ วนเวียนอยู่ในโลกีย์ แม้จะมีธรรมะก็เป็นธรรมะในขั้นโลกีย์ เป็นคนดีแบบที่โลกเขาสมมุติเอา แม้จะได้รับการเชิดชูเป็นศาสดา ก็เป็นเพียงศาสดาโลกีย์ ทำความดีในวิสัยของโลกีย์ วนอยู่เพียงเท่านั้น

วิถีโลกีย์คือความวน ไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็วนลงไปต่ำสุด ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นความวนได้เพราะมีกิเลสเป็นเหตุ ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะฉลาดหรือโง่ จะทำดีหรือทำชั่ว ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่มีวันที่จะปฏิบัติสู่การหลุดพ้นจากความเวียนวนนี้ไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ก่อนจะเห็นมรรคได้นั้น ต้องมีมิตรดีเป็นอันดับแรก ถ้าเปรียบมรรคดังดวงตะวัน มิตรดีก็เป็นดังแสงแรกที่จะเห็นเมื่อตะวันนั้นกำลังจะโผล่ขึ้นมา นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่ต้องปฏิบัติมรรคเลย เพราะผิดแน่นอน ปฏิบัติไปก็ผิด เรียนไปก็ผิด ทำอะไรก็ผิด

ย้ำลงไปอีกในอวิชชาสูตร ท่านได้กล่าวว่าคนจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษหรือมิตรดีที่พาเจริญ มิตรดีในที่นี้คือผู้ที่รู้ธรรม รู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ แล้วเรียนรู้จากสัตบุรุษเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ เพราะความรู้ของศาสนาพุทธนั้นคิดเอาเอง อ่านเอาเอง ปฏิบัติเอาเองไม่ได้ ถึงจะ คิด อ่าน หรือขยันปฏิบัติแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีภูมิเก่าก็จะมีแต่หลงเท่านั้น บางครั้งหลงไปด้วยว่าตนมีภูมิ หลงซ้ำซ้อนกันไปอีกหลายชั้น หลงถึงขั้นสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ก็มี

สรุปคือ ถ้าชีวิตไม่เจอมิตรดี ไปเจอมิตรลวง หรือเจอกับมิตรหลง นอกจากจะไม่มีวันพ้นทุกข์แล้ว ยังเพิ่มความหลงในโลกีย์ซ้อนเข้าไปอีก สร้างทุกข์หนักเข้าไปอีก ในทางกลับกันถ้าเจอมิตรดี หมั่นเข้าหา สนทนา ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับ

ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าคนไหนมิตรดี คนไหนที่ควรคบ ก็ให้ดูที่ศีล พระพุทธเจ้าตรัสศีลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ย่อมจะไม่ทิ้งศีล อาศัยศีลเป็นเครื่องนำความเจริญ ไม่ถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่ก็จะไม่ถือศีลอย่างลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ ทำทีเล่นทีจริง โดยจะสามารถเข้าถึงศีลได้ตามบารมี ๕ ๘ ๑๐ จนถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์

September 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,285 views 0

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์

อกหัก ช้ำรัก พึ่งธรรม เพื่อคลายทุกข์ แต่ไม่อยากพ้นทุกข์ : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงแก้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์

ความทุกข์ที่เกิดจากความรัก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนหนึ่งหันเข้าหาศาสนา เพื่อที่จะคลายทุกข์เหล่านั้น พวกเขาจึงเลือกธรรมะมาใช้เป็นเครื่องมือกำจัดทุกข์

แต่กระนั้นคนที่ทุกข์จากความรักส่วนมาก ไม่ได้ต้องการที่จะดับทุกข์ให้หมดสิ้น เขาเพียงแค่ต้องการให้ทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่นั้นได้จางคลายลง เปรียบเหมือนคนที่โดนปืนยิง แต่ไม่ต้องการผ่าเอาหัวกระสุนที่ฝังในออก เพียงแค่ต้องการให้รักษาทั่วไปแล้วเย็บแผลให้ดูหายเป็นปกติ นั่นหมายถึงเขาไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาทั้งหมดของความรัก เพียงแค่ต้องการแก้ทุกข์เท่าที่เป็นอยู่เท่านั้น

เขาเหล่านั้นเป็นทุกข์ แต่กลับไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็น “ความอยาก” ว่าเป็นความทุกข์ ไม่เห็นหัวกระสุนที่ฝังในอยู่นั้นคือปัญหา และเขาก็ไม่ได้อยากจะเห็นทุกข์ ไม่ได้อยากเห็นธรรม เขาแค่เพียงไม่อยากเป็นทุกข์ อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ในขณะนั้น โดยไม่ได้ต้องการทำลายเหตุแห่งทุกข์

ซึ่งทุกข์จากความรักเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลส มันมีเหตุ และสามารถดับเหตุของมันได้ จึงเป็นทุกข์ที่เลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องมีทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นในชีวิต

หาธรรม ให้ช้ำคลาย

การเข้าหาธรรม ด้วยความบีบคั้นของทุกข์จากความรักนั้น เกิดจากค่านิยมของคนส่วนใหญ่ว่าถ้าเข้ามาหาธรรมแล้วใจจะสงบขึ้น มีปัญญาขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ทุกข์เหล่านั้นสามารถดับลงไปเองได้แม้จะไม่ได้ทำอะไรกับมัน ตามวงจรของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การดับเช่นนี้เป็นลักษณะทั่วไปของโลก เป็นสามัญ แต่เมื่อดับแล้วก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

คนทั่วไปมักจะใช้วิธีเปลี่ยนเรื่องเพื่อช่วยในการออกจากความทุกข์ การใช้ธรรมะก็เช่นกัน เราสามารถนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อหยุดความฟุ้งซ่าน หรือถ้าแบบทั่วๆไป ก็ออกไปเที่ยว หากิจกรรมทำ หางานทำให้เรื่องมันเปลี่ยนจะได้ลืมๆความทุกข์ไป วิธีเหล่านี้จะถูกจัดอยู่ในลักษณะของ “สมถะ” คือการใช้อุบายเข้ามาบริหารจิต ให้เกิดความจางคลายจากสภาพหนึ่งๆ

การใช้ธรรมะเป็นทางเลือกก็เป็นโอกาสที่ดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เดินเข้ามาศึกษาธรรมะ ซึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพื่อการหลุดพ้นอย่างแท้จริง ตามขอบเขตของผู้ที่ต้องการศึกษา หรือจะใช้ธรรมะแค่คลายทุกข์ไปวันๆก็ตามแต่จะประสงค์

หาหมอ แต่ไม่ยอมรักษา

คนที่เลือกใช้ศาสนา ใช้ธรรมะในการคลายทุกข์จากความรัก น้อยคนนักที่จะยอมรักษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยส่วนมากก็ขอแค่ให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคลาย พออาการดีขึ้นก็รีบหนีออกจากความดูแลของหมอ(ผู้ผ่าตัดกิเลส) ไปเสพสุขในโลกต่อ เหมือนกับคนที่รักษาโรคแบบขอไปที หรือคนที่อาบน้ำกลัวเปียก

ในกรณีที่ใจป่วยรักษายังไงก็ไม่หาย อาจเพราะไม่กินยา(ไม่ปฏิบัติตาม) ทุกข์จึงไม่หาย บางทีกินยาผิด ไม่ตรงตามที่แนะนำ หรือเข้าใจผิดก็ทำให้ทุกข์ไม่หายไปอีก หรือที่ซวยกว่านั้นคือไปหาหมอผิด เช่น ท่านเหล่านั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ แต่หลงเข้าใจไปว่าตนเองนั้นสามารถดับทุกข์ได้ เป็นอาจารย์หมอขั้นนั้นขั้นนี้ แล้วก็ออกมารักษาคน หายบ้างไม่หายบ้าง แต่ที่แน่ๆคือไม่มีวันหายอย่างถาวร และทุกข์จากความรักเช่นนี้ แม้ไม่รักษามันก็จะหายไปเอง ตามธรรมชาติ อาจจะทำให้หลงเข้าใจผิดว่ามันหายไปก็ได้…แต่ถ้ารักษาผิด ไม่ทำลายถึงเหตุแห่งทุกข์สักวันมันก็จะเกิดขึ้นมาใหม่

แท้จริงแล้วการที่คนเราไม่ยอมศึกษาให้ถึงเหตุแห่งทุกข์นั้นเกิดจากความหลง มันหลงในกิเลสจนหวงกิเลส รักกิเลส เสียดายกิเลส กลัวว่าจะมีคนมาล้วงลึก มาทำลายกิเลสของตัวเอง ไม่ยอมเผยธาตุแท้ของกิเลสให้ใครเห็นแม้แต่ตัวเอง เรียกว่ารักกิเลสมากกว่ารักธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่โดนกิเลสปั่นหัวจนหลงมัวเมา เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

หมอที่ตาดีบางท่านเขาก็สังเกตเห็นอาการกิเลสกันได้ตามบารมีที่สะสมมา แต่การจะไปทัก หรือจะเข้าไปรักษานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าเขาอยากจะให้รักษาไหม เขาอยากให้แนะนำไหม เขายังหวงกิเลส เขายังผลักไสธรรมะอยู่ไหม ถ้ายัง…ก็ต้องปล่อยเขาไปก่อน ไว้วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่งเขาเห็นทุกข์จนอยากทำลายเหตุแห่งทุกข์นั้นแล้วค่อยมาว่ากัน

ช้ำรัก แต่ไม่หยุดรัก

พอไม่ได้แก้ปัญหาที่เหตุ ไปแก้ที่ผล ไปดับทุกข์กันแต่ที่ผล พอความทุกข์นั้นจางลงไป แต่ความใคร่อยากไม่ได้ลด กิเลสไม่ได้ลดลง สุดท้ายก็จะเวียนกลับไปหาเหาใส่หัว ไปสร้างเหตุแห่งทุกข์ให้ตัวเองเพิ่ม ซึ่งมันจะไม่ทุกข์เท่าเดิม มันจะค่อยๆเพิ่มมากกว่าเดิมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุจากความหลงที่เพิ่มขึ้น วิบากบาปก็มากตามที่หลงติดหลงยึดไปด้วย ติดนานเท่าไหร่ก็สะสมไปเท่านั้นและสุดท้ายก็ต้องชดใช้เท่าที่ทำมาไม่ขาดไม่เกิน

นี่คือความเป็นโลก ความวนเวียนอยู่ในโลก เป็นโลกียะ เป็นวิถีของผู้หลงผิด ที่มัวเมาในสุขลวง หลงว่าสิ่งที่เป็นทุกข์เหล่านั้นว่าเป็นความสุขจริงๆ เขาจึงวิ่งเข้าใส่ความทุกข์ด้วยความยินดี เปรียบเหมือนกับคนที่วิ่งเข้าไปในกองไฟแล้วรู้สึกว่ามีความสุขและเข้าใจว่า “ชีวิตมันก็ต้องสุขๆ ทุกข์ๆ เช่นนี้แหละ” นั่นหมายถึงเขาก็จะต้องวนเวียนไปเช่นนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์ เพราะเขายินดีในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นการไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือความวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ เสียแรง เสียทรัพย์ เสียเวลา เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ตัวเองก็ทุกข์แล้วไม่ยอมแก้เหตุแห่งทุกข์ ยังต้องไปเบียดเบียนคนอื่นเพื่อหาทางคลายทุกข์ นั่นหมายถึงว่า การไม่พยายามศึกษาและปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ คือการเบียดเบียนที่แท้จริง เป็นการใช้ชีวิตไปในทางที่ผิด เป็นทางไปสู่นรก เป็นไปเพื่อความฉิบหาย เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกัลปาวสาน

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)