Dinh (Author's Website)
แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์
แก้ทุกข์ ไม่แก้สุข จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร : การแก้ปัญหาความรักที่ไม่ลงไปแก้ถึงเหตุแห่งทุกข์
เวลาที่เราเจอกับปัญหาความรัก หลายคนมุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดขึ้น แสวงหาหนทาง หาความรู้ในการดับทุกข์ ทั้งที่จริงแล้วการจะแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์เหล่านั้น ก็ต้องกลับมาแก้ว่าเราไปติดสุขในอะไร
ตอนที่คนเราตกหลุมรักใครสักคน น้อยคนนักที่จะปรึกษาคนอื่นว่าจะดีไหม จะเห็นอย่างไร ถ้าจะปรึกษาก็คงจะปรึกษากับผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นเพียงแค่สายลมเบาๆที่ผ่านหูไป โดยเฉพาะถ้าให้คนที่กำลังตกหลุมรักไปปรึกษากับพระ หรือผู้ที่ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ เขาย่อมไม่ยินดีที่จะรับฟังทางพ้นทุกข์เหล่านั้นอย่างแน่นอน เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าการมีคู่นั้นเป็นทางแห่งทุกข์แต่คนก็ยินดีที่จะรับทุกข์นั้นเพราะหลงว่าในทุกข์นั้นยังมีสุข และเห็นว่าสุขที่มีนั้นมากกว่าทุกข์นั่นเอง
สรุปว่าตอนที่เรากำลังสร้างปัญหานี้ขึ้นมานั้น เราไม่ค่อยปรึกษาใครหรอก แต่ตอนที่รักนั้นมีปัญหา ชีวิตคู่มีปัญหา เป็นทุกข์ ทุรนทุราย คร่ำครวญ รำพัน จะเป็นจะตาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็มักจะแสวงหาทางออก ซึ่งหนทางยอดนิยมทางหนึ่งของคนไทยก็คือหันหน้าเข้าหาศาสนา
แล้วยังไง? ทีนี้คนก็มุ่งแต่จะแก้ทุกข์ที่เกิดพยายามแสวงหาผู้วิเศษ ที่มีอิทธิฤทธิ์ช่วยให้ทุกข์ของตนคลายได้ “ เป็นความเชื่อที่จะเปรียบไปแล้วก็เหมือน ไปหาคนอื่นมาเช็ดขี้ของตัวเอง “ รังเกียจขี้เหม็นๆ ของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าขี้มันก็เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปนั่นแหละ กินอะไรเข้าไปมันก็ขี้ออกมาอย่างนั้น แล้วก็มุ่งประเด็นว่าจะทำอย่างไรขี้ถึงจะหอม ถึงจะออกมาสะอาด เหมือนกับคนที่ทำชั่วแล้วหวังให้ผลออกมาดี ซึ่งไม่มีทางเป็นอย่างนั้นได้เลย
ปัญหาของตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ก็ต้องแก้เอาเอง จะไปโยนปัญหาของตัวเองให้คนอื่นแก้นั้นไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ การพึ่งตนเองต่างหากคือทางพ้นทุกข์ ขยันสร้างทุกข์มาเท่าไหร่ก็ต้องแก้เท่านั้น ตอนสุขก็เออออไปกับกิเลสไม่เอาธรรมะ แต่พอทุกข์แล้วจะมาเอาธรรมะไปล้างทุกข์ แต่ไม่ยอมล้างกิเลส หวงกิเลส แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร?
ความทุกข์ทั้งหลายมีอาหาร ไม่ใช่ไม่มีอาหาร เพียงแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นอาหารของความทุกข์เหล่านั้น ก็คงจะไม่มีใครเข้าไปรู้ใจคนอื่นได้ นอกจากคนที่กินอาหารนั้นเอง ต่อให้ครูบาอาจารย์เก่งแค่ไหนก็แนะนำได้แค่ภาพรวม แต่คนที่รู้ว่าอาหารของทุกข์นั้นคืออะไร คนนั้นคือผู้ที่เป็นทุกข์เองเท่านั้น
การเกิดของความทุกข์นั้นก็เกิดจากความหลงสุข หากเราไปหลงสุขหลงเสพ หลงติดหลงยึดในอะไร ก็จะต้องทุกข์เพราะเรื่องนั้น ดังนั้นจะแก้ทุกข์ก็ต้องลงไปแก้ที่ความติดสุข แล้วทีนี้ปัญหาก็คือคนที่เป็นทุกข์จากความรัก กลับไม่อยากทิ้งความสุขเหล่านั้น ไม่อยากแม้แต่จะไปข้องแวะในอาณาเขตแห่งความสุขเหล่านั้น เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกปกป้องอำพรางไว้ด้วยขุนพลกิเลสใหญ่น้อย ที่มีกำลังแกร่งกล้า เพราะกิเลสนั้นฝึกตนให้หลงมาหลายภพหลายชาติ
ผู้ที่กิเลสหนา จิตอ่อน ปัญญาน้อย เพียงแค่ถูกกิเลสจ้องหน้าก็เข่าอ่อน ล้มลงไปกองกับพื้นแล้ว อยากพ้นทุกข์แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปแตะว่าสุขเพราะอะไร ทำให้เหตุของปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องลึกลับ เป็นเหมือนเมืองลับแล เป็นพื้นที่หวงห้ามที่ถูกพรางให้ไม่ปรากฏบนแผนที่โลก เหมือนกับมันไม่เคยมีอยู่ในจิตใจ เพราะไม่เคยคิดจะไปค้นหา ไปวิเคราะห์ ไปพิจารณาว่า เรานี่ติดสุขในอะไร สิ่งนั้นมันสุขตรงไหน สุขแบบไหน ทั้งยังไม่ยินยอมให้ใครเข้าไปลุกล้ำพื้นที่เหล่านั้น เรียกได้ว่าหวงกิเลส กิเลสของฉัน ความสุขของฉัน ตัวตนของฉัน บางครั้งถึงกับยกไว้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตีความ ห้ามเข้าถึง ห้ามหาความหมาย แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงอาการที่หลง ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่ชัดแจ้งในสมุทัย
สรุปแล้ว การแก้ปัญหาความรักก็ไม่ต้องไปไหนไกลหรอก ไม่ต้องไปปรึกษาใครให้มันเวิ่นเว้อวุ่นวายเสียเวลากันมากมายหรอก แค่ศึกษาวิธีล้างกิเลส แล้วไปค้นว่าสร้างสุขลวงอะไรขึ้นมาก็ทำลายอั้นนั้นแหละ ทุกข์ก็จะดับไปเองแต่ถ้าไม่ชัดเจนในสุขลวงเหล่านั้น ไม่ทำให้สิ่งลึกลับนั้นถูกเปิดเผยให้รู้แจ้ง ก็จะต้องจมกับความทุกข์และความเศร้าหมองตลอดไป
– – – – – – – – – – – – – – –
2.10.2558
ไตรลักษณ์กับการครองคู่
ไตรลักษณ์กับการครองคู่
ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน
ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้
ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา
เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน
ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย
. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ”
จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง
– – – – – – – – – – – – – – –
8.10.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
มิจฉาอาชีวะ (ข้อ ๔/๕ การมอบตนในทางที่ผิด)
ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับมิจฉาอาชีวะให้เห็นกันบ่อยๆ เกี่ยวกับการมอบตนในทางที่ผิด เอาตนเองไปทำสิ่งที่ผิดแลกลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข และรับใช้คน/องค์กรที่ผิด
เช่นการไปยอมรับใช้คนชั่ว ไปทำประโยชน์ให้คนผิด ปกป้องคนเลว ฯลฯ ซึ่งอาชีพที่เสี่ยงที่เห็นได้ชัดก็คือ ทนาย นักการฑูต คนกลาง ผู้ไกล่เกลี่ย ดารา หรือคนที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย
ไปรับงานทั้งงานที่เป็นอกุศล (อันนี้ผิดตรงๆ) ไปรับงานใดๆก็ตามจากคนชั่ว ( อันนี้จางลงมา แต่ก็พอเห็นได้) หรือทำงานอยู่ในองค์กรณ์ที่เอาเปรียบผู้อื่น (อันนี้เห็นยากเข้าใจยาก)
มิจฉาอาชีวะแต่ละข้อนั้นมีความลึกซึ้งละเอียดลออ ไว้มีโอกาสจะเรียบเรียงเป็นบทความมาแบ่งปันกัน
การไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
เป็นชุดบทความประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มากอบกู้ศาสนาในช่วงต้น ในยุคนั้นก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์กัน และมีข้อมูลว่าท่านเองก็เป็นมังสวิรัติด้วย ดังนั้นจากหลักฐานที่พอจะมีปรากฏคือชาวพุทธนั้นเขาไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นธรรมดา คือไม่กินกันเป็นปกติ เพราะไม่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยไม่มีให้กินกันอย่างเช่นทุกวันนี้
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดา ใครกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนไม่กินเนื้อกลับเป็นเรื่องแปลก กลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางจากสมัยอดีตที่ผ่านมา สิ่งนี้คือความเจริญหรือความเสื่อมของชาวพุทธกันแน่ ก็ลองมาศึกษากัน
บทความที่รวบรวมมานี้แต่ละบทความค่อนข้างยาว ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควร แต่ละบทความมีเนื้อหาแตกต่างกันไปเพื่อวิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมศึกษา
๑.การกินไม่มีโทษจริงหรือ การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นควรยุ่งเกี่ยวกับการกินหรือไม่ มีสาระสำคัญหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/GF2IUs )
๒.ชาวพุทธ ควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ อ้างอิงพระสูตรที่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นกุศล (facebook : https://goo.gl/VG2MYU )
๓.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ มีความเจริญในทางธรรมหรือไม่ ควรปฏิบัติหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/q3NTH4 )
๔. กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป จริงหรือ? วิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า “บาป” คืออะไร ทำไมจึงบาป (facebook : https://goo.gl/HkH80y )
๕.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ บุญคืออะไร เป็นบุญหรือไม่ ทำอย่างไรจึงเป็นบุญ (facebook : https://goo.gl/kSDWzK )
๖.พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ ความเห็นความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการปฏิบัติธรรม (facebook : https://goo.gl/GXAolv )
๗.การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ ว่ากันด้วยเนื้อหาของศีลของเดียว ทุกวันนี้มีศีล หรือเสื่อมจากศีล (facebook : https://goo.gl/SK65K6)
๘.สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ความเห็นจาก “มิจฉาวณิชชา” ที่นำมาขยายกัน (facebook : https://goo.gl/FHtLs6)
๙.กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น การที่คนเราละเว้นเนื้อสัตว์ ไปกินผักกินหญ้านั้นสามารถหลุดพ้นได้จริงไหม (facebook : https://goo.gl/rYxhC9 )
๑๐. การไม่กินเนื้อสัตว์ แบบอุปาทานและสมาทาน การทำความดีที่มีความต่างในทางธรรม (facebook : https://goo.gl/guJLmO )
๑๑.สงครามอัตตา ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ บนสมรภูมิแห่งโลกีย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (facebook : https://goo.gl/syMTNR )
๑๒. สมรภูมิคนดี โจทย์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความดี ที่ว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงแค่ไหน (facebook : https://goo.gl/5mNxZF )