Dinh (Author's Website)
อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน
อธรรมของชาย ธรรมะสอนหญิง : เมื่อความจริง ทำลายความเชื่อของผู้หญิงช่างฝัน
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” นี้คือคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่จะพาให้เห็นภาพรวมในการแก้ปัญหาของเรื่องนี้
คนที่หลงในความรักก็จะเชื่อว่าความรักของพวกเธอนั้นดี ฉันคิดว่าฉันเป็นคนดี ฉันคิดว่าเขาเป็นคนดี รักของพวกเรานั้นมั่นคง ยืนนาน ถาวร ไม่จบง่ายๆเหมือนคู่ของคนอื่น และมันจะเป็นเช่นนั้นไปจนกว่า….จะถึงวันที่พบกับ”ความจริง”
เรามักจะถูกทำให้เชื่อด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่เราได้ตั้งไว้เท่าที่ปัญญาของเราจะมี เช่น…
ถ้าเขาอดทนจีบเราได้ถึงสามเดือน หนึ่งปี ห้าปี สิบปี คือเขารักเราจริง
ถ้าเขาเอาใจเราได้ตามที่เราเอาแต่ใจ คือเขารักเราจริง
ถ้าเขามาง้อทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ผิด คือเขารักเราจริง
ถ้าเขายอมให้อภัยแม้เราจะทำผิดแค่ไหน คือเขารักเราจริง
ถ้าเขารักครอบครัวเรา รักสัตว์เลี้ยงของเรา รักงานอดิเรกของเรา ฯลฯ คือเขารักเราจริง
ถ้าเขาอ้อนวอนขอร้องที่จะแต่งงานกับเรา คือเขารักเราจริง
ถ้าเขายินดีมีลูกกับเรา คือเขารักเราจริง
…
ภาคฝัน
ผู้หญิงหลายคนต่างรู้สึกยินดีเมื่อมีคนที่ถูกใจเข้ามาจีบ เข้ามาเอาใจ ยอมง้อก่อน ยอมให้อภัย รักครอบครัวของเรา ขอเราแต่งงาน มีลูก สร้างครอบครัวกับเรา แล้วหลงเชื่อจนหลงยึดไปว่าสิ่งเหล่านั้นคือความรัก ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรักเลยแม้แต่นิดเดียวก็ได้
เพราะการที่เขามาจีบ เอาใจ ง้อ ให้อภัย จนกระทั่งแต่งงานมีลูก เขาก็อาจจะแค่อยากเอาชนะเรา อยากเสพเรา อยากให้เรายอมให้เขาหมดตัวหมดใจก็ได้ นั่นอาจจะเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองอย่างหนึ่งของเขาก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเรากลายเป็นแค่เป้าหมายให้เขาเข้ามาท้าทาย เป็นยอดเขาให้เขาปีนขึ้นมาแล้วปักธง พอเขาถึงยอดก็อาจจะไม่หยุดแล้วไปหาภูเขาอื่นขึ้นอีกก็ได้ เพราะการที่ผู้ชายจะแต่งงานจนมีลูก ก็มักจะไม่ได้ลำบากอะไรมากมาย ตั้งท้องก็ไม่ต้อง คลอดก็ไม่ต้อง ให้นมก็ไม่ต้อง แถมบางคนยังไม่ต้องเลี้ยงลูกอีก เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องลำบากอะไรเลยในการสร้างลูก เพียงแค่เอาชนะใจหญิงสาวผู้อ่อนโลกแล้วเอาธงไปปักให้ได้เท่านั้นเอง
มีผู้ชายจำนวนมากที่ได้ทำลายวิมานในจินตนาการของผู้หญิงช่างฝันจนเหลือแต่เศษซากของความฝัน ที่เคยคิดว่าเขาดี เคยคิดว่าเขาจะอยู่กับเราตลอดไป แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังช้ำรักอย่างซ้ำซากมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน แต่พวกเธอก็ไม่เคยจำ ไม่เคยเข็ด ยังคงเชื่อมั่นว่าจะต้องมีเจ้าชายในฝันที่จะมาทำให้ความรักนั้นเป็นสุขยั่งยืนนิรันดร์อย่างที่พวกเธอฝันไว้
แม้จะพลาดพลั้งเสียทีให้กับผู้ชายคนก่อนไป แต่ก็จะตั้งหน้าตั้งตาหาคนใหม่เข้ามาแทนที่ในลักษณะที่เรียกว่าต้องมากกว่าของเก่า เช่น ถ้าคนแรกจีบกัน 1 เดือน คนต่อไปก็ต้องจีบกัน 1 ปี ตั้งมาตรฐานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่จะมีปัญญาตั้งได้
แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันวิบากบาปได้ ฟ้าจะส่งเทพบุตรมาร ที่มีคุณสมบัติครบพร้อมในการเอาชนะใจเรา และมีความสามารถมากพอในการขยี้ฝันให้แหลกสลายในเวลาเดียวกัน เราจะเรียกชายที่เข้ามานี้ว่า “คู่เวรคู่กรรม”
คู่เวรคู่กรรมคือ ผู้ที่มีกรรมสอดคล้องกับที่เราต้องรับ เขาจะเสนอตัวเข้ามาเพื่อทำหน้าที่จัดส่งผลกรรมนั้นๆให้เราได้รับ ซึ่งในตอนแรกมักจะมาในรูปของความสุข เป็นกุศลที่เกริ่นนำทางมา เป็นรสหวาน เป็นวิบากกรรมดีที่เคยสะสมร่วมกันมา ทำให้ได้มาเจอกันอีกในชาตินี้ ซึ่งจะมีความสามารถในการเจาะทะลุทุกเหตุผลและทำลายกำแพงใจของผู้หญิงคนนั้นได้
ภาคเทพ (เทวดา)
ต่อให้นานเป็นสิบปีเขาก็จะรอเราได้ ทนจีบ คอยรับคอยส่ง อดทนดูแลเอาใจอยู่ได้ด้วยใจเป็นสุข ถึงทะเลาะกันก็ยอมกันให้อภัยกันได้ เข้ากับครอบครัวได้ดี ดีแสนดี มีศีลมีธรรม มีแนวโน้มที่จะได้แต่งงานกัน และอาจจะได้แต่งงานกันในที่สุด สุดท้ายก็อาจจะผลิตทายาทออกมาเป็นบ่วงคล้องคอผูกกันไว้ทั้งสองฝ่าย ไม่ให้หลุดออกจากกันได้โดยง่าย ในทางโลกจะเรียกกระบวนการนี้ว่า “ชีวิตคู่เป็นสุข” หรือ “happy ending”ในทางธรรมจะเรียกว่า “บ่วง” หรือ “ภาระ” หรือ “bad never ending (ซวยไม่รู้จบ)”
ภาคมาร
แต่ความสุขลวงที่เกิดขึ้นในชีวิตคู่รักเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ให้จำไว้เลยว่ายิ่งสุขเท่าไหร่ก็จะยิ่งทุกข์เท่านั้น ทุกๆความสุขที่เสพไปคือกุศลกรรมเก่าที่เคยได้ทำมา เราจะได้เสพเท่าที่เราเคยทำกรรมดีไว้ และเมื่อเปลี่ยนจากคนโสดมาคบกันเป็นคนคู่จนแต่งงาน คือความเสื่อมจากธรรม เมื่อคนมีกิเลสสองคนมารวมกันก็จะเริ่มพากันเสพตามกิเลส หลงกาม เมาอัตตา ทั้งกิน ทั้งเที่ยว ทั้งสมสู่ มีแต่กิจกรรมเสริมกิเลส นั่นหมายความว่า พอมาเข้าคู่กับคู่เวรคู่กรรมแล้ว ก็จะมีแนวโน้มไปทางชั่ว
สุดท้ายพอกุศลหมด แต่อกุศลที่ทำมาเต็มไปหมด ก็จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าสวรรค์ล่ม เทวดาตกสวรรค์ จากที่เคยเสพสุขกันบนสวรรค์ก็ร่วงลงมาบนโลก นั่นก็คือสภาพของความจริง คือต้องพบกับการพลัดพราก การเสื่อมสลายของทุกสิ่ง ความรักก็เช่นกัน
ตอนที่เราก็หลงสุข ก็หลงว่าคู่ของเราดี ทั้งที่จริงๆมันอาจจะยังไม่ถึงเวลาก็ได้ ซึ่งเมื่อมีความเห็นว่าคู่ของเราเป็นคนดีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันและน่าจะตลอดไป นั่นแหละคือความประมาท คือไม่รู้ไม่สนใจเลยว่าวันหนึ่งชั่วมันจะเกิดหรือไม่เกิด ขอฉันเสพฉันสุขในปัจจุบันก็พอ เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดที่ว่าหลงเข้าใจว่าความสุขในการเสพกามในปัจจุบันคือของแท้
คู่เวรคู่กรรมบางคนอาจจะหมดเวรหมดกรรมตั้งแต่ตอนเป็นแฟน แต่บางคนต้องโดนสมสู่แล้วทิ้งถึงจะหมดกรรมชั่วชุดนั้น บางคนหนักกว่าต้องไปแต่งงานกันกว่าจะออกฤทธิ์ชั่วให้เห็น ที่หนักกว่านั้นคือรอให้มีลูกก่อน และจะไม่ค่อยรอให้ลูกโตกันหรอก พอมีแล้วก็ให้โอกาสใช้เวรใช้กรรมกันเลยในขณะที่ยังลำบากอยู่นั่นแหละ คือมีเหตุให้เลิกกัน ทะเลาะ หักหลัง มีชู้ ป่วย ตาย ฯลฯ ตามวิบากกรรมของแต่ละคน และที่ชั่วที่สุดคือรักกันไปจนแก่ตายนี่แหละ อภิมหาชั่วเลย คือหลอกล่อมัวเมากันด้วยสุขลวงแล้วหลงกันข้ามภพข้ามชาติเลย
คนโดนทิ้งตอนเป็นแฟนก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้ไว คนโดนทิ้งตอนโดนสมสู่ไปแล้ว โดนทิ้งตอนแต่งงานไปแล้ว โดนทิ้งตอนมีลูกไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสตาสว่างได้แม้จะมีความทุกข์มากเพราะยึดมั่นถือมั่นมากตามระยะเวลาที่ได้สะสมมาแต่ก็จะสามารถที่จะเห็นธรรมะได้ แต่คนที่พากันให้หลงมัวเมาในรักจนแก่ตายนั้น ไม่มีโอกาสตาสว่างได้เลย นี้จึงเรียกว่าชั่วที่สุด
ด้วยลีลาที่เรียกว่าเกินปัญญาจะคาดเดา เหมือนเสือที่หลอกหมูว่าตนเองนั้นไม่มีภัย ทำตัวเป็นเสือกินพืชกินผักหลอกให้หมูนั้นตายใจ หลงว่าเสือนั้นจะไม่กินตน เสือนั้นกินผักได้ เสือนั้นเชื่องกับตน เสือจะปกป้องตน เสือรักตน โดยหารู้ไม่ว่าที่เสือมันอดทนกินพืชผักอยู่นั้น มันก็รอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะกินหมูตัวนั้นเท่านั้นเอง
สรุปว่าเทพบุตรมาร(คู่เวรคู่กรรม)ที่เข้ามาเอาชนะใจของเราได้นี่แหละ คือคนที่จะมีผลในการทำลายใจของเราในท้ายที่สุด ขึ้นอยู่กับเมื่อไหร่จะหมดกรรมที่ทำมาร่วมกัน หากจะคิดว่าทำดีสู้ มันสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะเวลาคู่กันแล้วชั่วมันเยอะกว่าดี ถ้าให้ดีคือไม่ต้องไปคู่กันแล้วทำดีต่อกัน นั่นจึงเรียกว่าดี
ภาคนรก
ทีนี้พอผิดหวังช้ำรักนี่มันหลุดกันไม่ได้ง่ายๆหรอก ตามสัจจะมันต้องลงนรกกันก่อน คือต้องได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจให้สาสมกับความยึดมั่นถือมั่นที่สะสมมาเสียก่อน ถ้าวิบากกรรมที่ส่งผลชุดนั้นยังไม่หมด ก็ไม่มีวันจะตาสว่างเห็นธรรมในทุกข์เหล่านั้นได้ ได้ฟังธรรมะก็จะไม่เข้าหู ถึงมีผู้รู้มาแนะนำก็จะไม่เข้าใจ มันจะตัน จะตื้อไปหมด
ต่อเมื่อหมดวิบากกรรมชั่วชุดนั้นแล้ว จะมีสัญญาณให้รู้สึกถึงความคลี่คลาย จะได้รับธรรมะที่ทำให้ใจสบายขึ้น เช่นพ่อแม่ปลอบ เพื่อนแนะนำ ได้ฟังธรรมะครูบาอาจารย์แล้วจิตใจผ่อนคลายจากทุกข์ได้ จะไม่จมอยู่กับทุกข์นั้นๆ มีโอกาสในการพิจารณาธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น และหากสามารถปฏิบัติธรรมจนกระทั่งดับเหตุแห่งทุกข์นั้นๆได้ก็ถือว่าคุ้มค่า
แต่ในอีกกรณีหนึ่งคือผู้ที่คลายจากวิบากกรรมชุดนั้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความเจริญในทางธรรม เพียงแค่ปล่อยให้ทุกข์เกิดแล้วดับไปตามธรรมชาติ แล้วปล่อยโอกาสแห่งการศึกษาให้ลอยไป ใช้ชีวิตเหมือนปกติ เป็นคนช่างฝันเหมือนสมัยก่อน พร้อมกับตั้งเงื่อนไขของชายคนต่อไปเท่าที่ปัญญาจะมี เพราะยังอยากเสพสุขในการมีคู่อยู่ นั่นจึงเป็นเหตุที่พวกเธอจะต้องวนเวียนอยู่ในสวรรค์ลวงและนรกจริงเช่นนี้ตลอดไปนั่นเอง
สรุป
เราทุกคนที่วิบากกรรมชั่วที่ไล่ล่าอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะพอป้องกันได้ก็คงจะมีแต่ศีล คู่เวรคู่กรรมคือผู้ที่จะพยายามเข้ามาพรากศีลไปจากเรา พรากความโสดไปจากเรา เข้ามาสร้างสุขลวงให้เราหลงเสพหลงสุขตามที่เราเคยไปหลอกล่อใครต่อใครไว้ในชาตินี้และชาติก่อนๆ จนเราต้องหลงมัวเมากับความรัก
และสุดท้ายก็พังทิ้งอย่างไร้เยื่อใย เหมือนกับการแก้แค้นของใครบางคนที่ตามมาทวงคืนกันข้ามภพข้ามชาติ ความผิดหวัง ความทุกข์ต่างๆที่ได้รับมานั้นคือสมบัติของเราเอง ที่รอเพียงจะมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมในการรับผลของกรรมนั้นในช่วงเวลาที่สมควร
วิบากกรรมที่ไล่ล่าเรานั้น มันอาจจะมาถึงในอีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ ก็ได้ในการส่งผล ให้พึงระลึกไว้เถอะว่า กรรมที่เราทำมา มันตามมาล้างแค้นเราแน่ “แค้นนี้จะอีกกี่ปีกี่ชาติก็ยังไม่สาย” และวันนั้นคือวันที่คนผู้ประมาทจะต้องเสียใจ
ผู้มีคู่จึงต้องทนทุกข์อยู่กับความกังวลกับชีวิตคู่ในอนาคต และต้องเจอกับการจากพรากกับคู่เป็นที่แน่นอนในที่สุด ต่างจากคนโสดที่ไม่ต้องมีความกังวลใดๆเหล่านี้เลย คนโสดจึงเป็นคนที่ผาสุกที่สุด
– – – – – – – – – – – – – – –
30.11.2558
ความสงบ เกิดจากจิตที่สงบจากกิเลส
ความสงบในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ความสงบภายนอกที่เอาแต่แสวงหาที่สงบเงียบ เช่นไปวัดแล้วสงบ เข้าป่าแล้วสงบ
แต่เกิดจากการทำใจในใจให้สงบ สงัดต่อกิเลส ทำลายความแส่หา(ตัณหา) และความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือในป่าหรืออยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยใดๆที่จะมาเคลื่อนจิตที่สงบของผู้ฝึกดีแล้วให้เคลื่อนออกจากความสงบนั้นได้เลย
ผิดกับผู้ที่แสวงหาความสงบภายนอก เขามักจะใช้ความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้จิตใจนั้นสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่การปลีกวิเวก ไม่เจอคน ไม่กระทบใคร ไม่มีผัสสะ แล้วจะเกิดความสงบ
แต่การแสวงหาของสงบของพุทธไม่ได้เหมือนกับการหนีสังคมออกไปหาความสงบ แต่ปฏิบัติอยู่กับ “ผัสสะ” อยู่ในโลกในสังคมที่มีการกระทบกระทั่งกัน เพื่อทำลายความอยากและความยึด
เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่การไขว่คว้าหาที่สงบ หรือทำความสงบเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำจัดเหตุแห่งความไม่สงบก็คือกิเลส
ซึ่งการจะเห็นกิเลสของตนได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในสังคม ปะทะกับอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ให้เห็นกันชัดๆว่าติดอะไร อะไรที่มันสกปรกก็เช็ดตรงนั้นให้สะอาด ไม่ใช่ไปเข้าป่าเข้าถ้ำไม่เจออะไร สงบ ดิ่ง เงียบ จมลงลึกไปแล้วก็หลงเข้าใจว่านั่นคือสงบของพุทธ
ไปแสวงหาความสงบนอกกาย หลีกเลี่ยงการกระทบกับโลกและสังคมแล้วกิเลสมันจะแสดงตัวได้อย่างไร มันก็ซ่อนตัวอยู่ในจิตนั่นแหละ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อมี “ผัสสะ” เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติแสวงหาความสงบที่ไม่มีผัสสะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมผัสความสงบที่แท้จริง อย่างเก่งก็สงบเป็นช่วงๆตามกำลังของจิตที่ได้ฝึกมา แต่จะให้สงบแบบถาวรก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะปฏิบัติผิดทาง
ชี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าความสงบของพุทธนั้นเกิดจากการสงบจากกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่การหาความสงบโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก
เรียนรู้วิกฤติพุทธจาก กระแสสังคมในช่วงการป่วยของคุณปอ ทฤษฏี
จากช่วงนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีกระแสแปลกๆออกมามากมาย เช่นคนนั้นจะแก้กรรมให้ คนนั้นจะหาวิธีพ้นกรรม ปัดกรรม ชะลอกรรม ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่เป็นศาสตร์ในเชิงลึกลับ ที่ไปยุ่งวุ่นวายกับกรรมคนอื่น ซึ่งมักจะเข้าขีดเดรัจฉานวิชาอยู่เนืองๆ
ในส่วนตัวแล้วหากผมเห็นว่าใครอวดอ้างว่าตนหรืออาจารย์ของตนนั้นมีอิทธิฤทธิ์ในการจัดการกรรมของคนอื่น ผมก็จะกาหัวไว้ก่อนเลยว่ามิจฉาทิฏฐิแบบสุดๆ
ซึ่งในช่วงนี้เราก็จะได้เห็นความเพี้ยนในความเป็นพุทธ บ้างก็มีภาพลักษณ์เป็นคนดีแต่ก็เห็นผิดเชื่อผิดๆ ซ้ำร้ายอาจจะยังมีพวกอลัชชี ผีผ้าเหลืองที่คอยบั่นทอนความเป็นพุทธด้วยความหลงผิดของตนอีก
ขนาดพระพุทธเจ้าไปห้ามญาติรบกัน 3 ครั้ง สุดท้ายก็ยังห้ามไม่ได้ เพราะเขามีกรรมเป็นของเขา ซึ่งช่วงหลังมานี่มีคนเก่งเกินพระพุทธเจ้าเยอะ ตั้งตนเป็นเกจิอาจารย์อวดอ้างวิธีแก้กรรม ปัดเป่าทุกข์ ฯลฯ
….ก็เรียนรู้กันไป ว่าในปัจจุบันพุทธนั้นผิดเพี้ยนไปขนาดไหนแล้ว
ผลของกรรมเกิดจากสิ่งที่เราทำมา (เรามีกรรมเป็นของตน)
กรณีของคุณปอ ทฤษฎี หากว่าเขาจะหายหรือไม่หายนั้นก็เป็นไปตามกรรมที่เขาทำมา
เราไม่สามารถทำอะไรให้เขามีผลกรรมจากเราได้ กรรมไม่สามารถโยกย้ายได้ ใครทำอะไรไว้คนนั้นก็รับ อ่านต่อ…
ไตรสิกขา มันไม่ได้ปฏิบัติแบบนั้น!
ไม่ใช่ว่ารับศีลรับพร ถือศีล แล้วไปนั่งสมาธิกำหนดจิต แล้วหวังว่าจะเกิดปัญญาเองขึ้นมา อันนั้นมันไม่ใช่ไตรสิกขาของพุทธ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ไปปฏิบัติแยก ศีล สมาธิ ปัญญาออกจากกันมันจะเจริญได้อย่างไร
ศึกษากันดีๆเถอะ ถ้ายิ่งทำยิ่งทุกข์นี่ยิ่งผิดทางแล้ว ทิศที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีแนวทางกำกับไว้แล้วคือ
1.เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
2.เป็นไปเพื่อความพราก
3.เป็นไปเพื่อความไม่สะสม
4.เป็นไปเพื่อความมักน้อยกล้าจน
5.เป็นไปเพื่อความสันโดษใจพอ
6.เป็นไปเพื่อความสงัดจากกิเลส
7.เป็นไปเพื่อปรารภความเพียรยอดขยัน
8.เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
(หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ เล่ม ๒๓ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๔๓)
ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปในแนวทาง 8 ข้อนี้แล้วจะทุกข์มากขึ้นนะ ถ้าผิดก็ยิ่งทุกข์ แต่ถ้าถูกก็จะพ้นทุกข์โดยลำดับแล้วสามารถขยับฐานขึ้นไปให้ยิ่งขึ้นได้โดยไม่ลำบาก
ถึงจะปฏิบัติไปแล้วจะรู้สึกทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น แต่ถ้าไม่เข้าหลักนี้ก็ให้พิจารณาตัวเองดีๆ เพราะมันมีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นว่าสุขในกามคือนิพพานเหมือนกัน