Dinh (Author's Website)
สนทนาธรรมในสวน
สนทนาธรรมในสวน
วันนี้ผมได้จัดกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมา เป็นการเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมะกัน ซึ่งในงานนี้เราก็จัดกันในสวน
ผมเลือกสวนสาธารณะ เพราะมันมีความเป็นสาธารณะ ใครมาใช้ก็ได้ จะไม่มาก็ได้ นั่งตรงไหนก็ได้ แถมยังมีห้องน้ำ และร้านค้าไว้บริการอีก ที่สำคัญคือฟรี ผมเชื่อว่าเราควรศึกษาธรรมะด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่ทำให้ทุกข์จนเกินทน
ผมเลือกที่จะนั่งใต้โคนไม้ใหญ่ บนพื้นที่นั่งนั้นไม่มีหญ้า มีแต่เศษใบไม้ การนั่งของเรานั้นจึงไม่ได้สร้างความเสียหายให้ต้นหญ้า จนต้องลำบากคนดูแลอีกทีหนึ่ง แต่สิ่งนั้นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เราได้ตรวจใจว่า เราติดความนุ่ม ความสบายรึเปล่า หญ้านี่มันนุ่มนะ นั่งไปแล้วมันสบาย แต่เราพามานั่งในที่ที่มันไม่ได้สบายขนาดนั้น เป็นแค่พื้นดินที่มีเศษใบไม้อยู่ แต่ถ้าปูเสื่อก็พอนั่งได้ ถึงจะไม่ปูก็นั่งได้อยู่ดี เอาแค่มันไม่เลอะเทอะไม่ชื้นแฉะก็พอแล้ว
ผมเลือกเวลาค่อนข้างเช้าในการสนทนา เพราะเหมาะสมทั้งสภาพอากาศและการขัดเกลาจิตใจ ผมเห็นคนที่เขารักษาสุขภาพตื่นมาวิ่งกันตั้งแต่ก่อนตีห้าครึ่ง แล้วคนรักธรรมะ รักษาจิตใจอย่างเรา จะนอนตื่นสาย มาทำกิจกรรมกันสายๆ ก็คงจะไม่ใช่แนวทางที่เจริญแน่ๆ ผมจึงเลือกเวลาเช้าตรู่ในการนัด ซึ่งครั้งนี้นัดเวลา 7.00 น. แต่ครั้งหน้าก็อาจจะปรับเป็นเช้ากว่านี้ เพราะ 7 โมงนี่คนมาวิ่งเต็มสวนแล้ว ถ้าคนรักสุขภาพเขามาออกกำลังกายได้ คนรักธรรมะก็ควรจะมาสนทนาธรรมแต่เช้าได้เหมือนกัน (จริงๆ เราควรจะแกร่งกว่าเขานะ แต่จะให้เช้ามากในกรุงเทพฯ มันก็จะเดินทางลำบากสำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว)
ในตอนแรกผมตั้งใจรับคนมากที่สุดไว้ที่ 15 คน แต่สมัครกันมาก็น้อยกว่านั้นเยอะ และมาจริงๆไม่กี่คน แต่เมื่อได้เริ่มกิจกรรม คุยธรรมะกัน ผมพบว่าคนเยอะก็ไม่ดีหรอก อย่างมาก 5 คน ก็พอแล้ว เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นถ้าคนเยอะไปมันจะได้แต่น้ำ เนื้อไม่มีเวลาเจาะ เพราะผมเองก็คงจะไม่ได้บรรยายธรรมะเป็นหลัก แต่เป็นการถามตอบกันเป็นส่วนใหญ่ ถามมาเราก็ขยายธรรมะตามที่เราได้เรียนรู้มา แนะนำกันว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ โดยใช้ไตรสิกขาเป็นแกนในการสนทนากัน
ผมเชื่อเสมอว่าการสนทนาธรรมนั้นเป็นทางแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส เพราะผมก็ได้ประโยชน์กับการสนทนาธรรมนี้มาโดยตลอด และที่สำคัญผมไม่ได้คิดเอาเอง แต่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการฟังธรรมการสนทนาธรรมกันนี่แหละ ที่จะทำให้หลุดพ้นจากกิเลส (เหตุแห่งวิมุตติ ๕) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเชื่อว่า หากเราสร้างโอกาสในการสนทนาธรรมให้ผู้อื่น ก็จะเกิดกุศลทุกฝ่าย คนพูดก็ได้ประโยชน์ คนฟังก็ได้ประโยชน์ มีแต่คนได้ประโยชน์ ผมจึงคิดว่าผมก็คงจะทดลองจัดต่อไป และศึกษาปรับปรุงให้การสนทนาธรรมนี้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน เป็นไปเพื่อความดับกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง เป็นไปเพื่อนิพพาน ดังนั้นก็จะขอเชิญชวนผู้ที่สนใจศึกษามุ่งหวังมรรคผลอย่างแท้จริง ได้เข้ามาร่วมศึกษา มาลองพิสูจน์กันว่าทางนี้สามารถพ้นทุกข์ได้จริงไหม ทางนี้นั้นไม่ใช่ทางอื่นใด ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วยการคิด พูด ทำอย่างถูกตรง โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ให้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อการพราก ไม่สะสม เพื่อการละหน่ายคลาย เพื่อความผาสุกอย่างยั่งยืน
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2559
โสดก่อนซวย
โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…
ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย”
ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน
๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง
ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้
๑.ชิงโสดก่อนแต่ง
ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก
เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม
มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้
เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ
๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด
คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด
โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง
การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ
ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น
แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน
ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น
แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น
แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)
ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)
นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย
สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้
การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
21.4.2559
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
ผมพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับปัญหาคนคู่ ปัญหาความรักไว้ค่อนข้างเยอะ และได้รับความเห็นเกี่ยวกับความทุกข์ เมื่อออกจากนรกคนคู่ไม่ได้มาหลายครั้ง
เป็นสภาพของ “คนในอยากออก” ซึ่งก็เป็นคนที่พลาดโดนกิเลสหลอกให้ไปมีคู่นั่นแหละนะ ตอนแรกหลายคนก็เข้าใจว่าจะต้องเป็นสุข อย่างน้อยๆก็สุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นหรอก มันเป็นสภาพกล้ำกลืนฝืนทน ทนอยู่ไปทั้งรักทั้งชัง จะเลิกก็เสียดาย จะรักมันก็ไม่เต็มที่มันวันที่คบกันแรกๆ มันมีความรังเกียจชิงชังอยู่ด้วย
ส่วน “คนนอกอยากเข้า” นี่ก็เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น อยากได้อยากเสพเหมือนคนอื่นเขา เห็นคนอื่นเขาสร้างภาพว่ารักกัน แต่งงานกันแล้วมันจะเป็นสุข ก็คิดว่าไปว่าทั้งหมดของชีวิตคู่ต้องสุขแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ คู่อื่นเขาก็แสดงให้เห็นแค่ตอนสุขนั่นแหละ ตอนเขาทะเลาะกันเป็นทุกข์กัน เขาไม่ค่อยเอาออกมาพูดให้อับอายขายขี้หน้ากันหรอก
น้อยคนนักที่จะยอมเปิดเผยเรื่องราวชีวิตคู่ที่เจ็บช้ำ เพราะคนเรามักจะอยากมองอยากรับรู้แต่เรื่องที่สวยงาม แล้วกดข่มความทุกข์ไว้ แน่นอนว่ามันจะกดข่มได้แค่ประมาณหนึ่ง จึงมีคนจำนวนหนึ่งออกมาประกาศความจริงว่าชีวิตคู่มันห่วย แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บงำความจริงไว้ ปล่อยให้ชีวิตรักเป็นภาพสวยๆ ที่มีดอกไม้บานเต็มทุ่งท่ามกลางหุบเขาอะไรแบบนั้น
ทีนี้คนนอกที่ศึกษาจนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่ามีแต่ทุกข์หรือโอกาสที่จะเกิดทุกข์นั้นสูงกว่า ก็จะทำให้ละหน่ายคลายความเห็นผิดว่าการครองคู่มีแต่สุขไปได้บ้างตามความรู้จริงนั้นๆ
แต่ก็มีคนนอกจำนวนมากที่อยากเข้ามามีชีวิตคู่เพราะความประมาท เช่นประมาทในผลของกรรม หลงคิดว่าตนเองนั้นเก่ง มีธรรมะ มีปัญญา เป็นคนดี แล้วจะสามารถพาชีวิตคู่ให้เจริญได้ ไม่ทำผิดพลาดเหมือนคู่คนอื่นหรอก แบบนี้คือโดนกิเลสหลอกซ้อนเข้าไปอีก คือหลงในเรื่องคู่ยังไม่พอ ยังหลงว่าตนจะต้องบริหารจัดการชีวิตคู่ให้สุขและเจริญสุดๆได้อีก
มันไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าเป็นคนดี ทำดี แล้วชีวิตคู่จะดี ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้) เราเคยทำกรรมชั่วมาแค่ไหนไม่รู้ แต่มันจะรู้เอาตอนได้รับผลนี่แหละ
ซึ่งผลของมันก็แสดงให้เห็นแล้ว กับคนที่อยู่ในสภาพของคนในอยากออก จริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่ประมาทมาก่อน เคยตัดสินใจผิดพลาดมาก่อน หรือด้วยเหตุอะไรก็ตาม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เคยเชื่อว่ารักนั้นจะต้องสวยงาม แต่ในความจริงคือมันไม่สุขสมหวัง หรืออาจจะสุขอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ไม่สุขอีกหลายช่วงก็เป็นได้ เอาเป็นว่าถ้าออกได้ก็เป็นสุขกว่านั่นแหละ
การแก้ปัญหาตอนยังโสดนั้นยังง่ายเพราะมีตัวแปรน้อย กิเลสก็น้อย แต่ถ้ามาแก้ปัญหาตอนมีคู่แล้ว ตัวแปรนั้นมาก กิเลสก็มากกว่าด้วย ไหนจะกิเลสตัวเองที่โตขึ้น …คู่ครอง ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติ วุ่นวายไปหมด คนเดียวก็เอาตัวรอดจากกิเลสยากอยู่แล้ว ยังต้องประมาณคนในครอบครัวอีก
ใครว่าการมีคู่คือทางพ้นทุกข์จะลองก็ได้นะ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยแนะนำให้ใครไปมีคู่นะ ท่านไม่ได้บอกว่านั่นคือทางพ้นทุกข์ ซึ่งหากต้องการพิสูจน์สัจจะก็ถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล ไปลองชิมทุกข์ จนกระทั่งถึงนรกทั้งเป็นสำหรับบางคน แต่ได้เป็นทุกข์แน่นอน..อันนี้รับประกัน
ส่วนความสุขแท้หรอ? ไม่มีหรอก มีแต่สุขลวงๆที่ตนเองปั้นขึ้นมา ซึ่งวันหนึ่งผลของกรรมจะแสดงให้เห็นเองว่าสุดท้ายแล้วก็โดนกิเลสหลอก อีกชาตินึงละ ว้าาา… แย่จัง~(อันนี้ยังดี บางคนโดนหลอกไปหลายชาติเลย จะตายแล้วก็ยังหลงอยู่)
เสียเวลาชีวิตไปตามความหลง หลงน้อยก็พ้นได้ไว หลงมากไปมีลูกมีหลาน คุณเอ๋ย ยาวเลยทีนี้ เวลาจะใช้เพื่อธรรมะไม่มีหรอก เพราะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ มีลูกหนึ่งคนเขาว่าจนไป 20 ปี มันก็มัวแต่หาเงินอย่างเดียวนั่นแหละ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาธรรม
ดังนั้นคนในก็ให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสใช้หนี้กรรมไป เผื่อวันนึงทำดีจนเห็นผล เขาจะปล่อยให้พ้นคุกคนคู่นี้ ส่วนคนนอกที่อยากเข้าก็ศึกษาให้มันเห็นจริงก่อน ค่อยๆดูไป อย่าพึ่งรีบไปเข้าคุกนัก เพราะเข้าแล้วมันออกไม่ง่าย คุกที่ชื่อครอบครัวนี่มันเหมือนบ่วง ที่ทั้งแน่น ทั้งเหนียว ทั้งหนัก…
โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)
โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)
วันนี้ผมซึ้งเรื่องหนึ่งคือ ความขยันของคนโง่นี่แหละ เป็นอะไรที่แย่ที่สุดแล้ว
คือตนเองก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้ถูกผิด เข้าใจว่าที่ตนทำนั้นถูกทั้งที่ผิด(โง่) แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูก ความขยันที่มีจึงกลายเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองลงไปในความโง่ที่ลึกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าคนโง่นั้นก็มักจะไม่โง่อยู่คนเดียว ซึ่งมักจะแจกจ่ายความโง่ของตัวเองไปให้กับคนอื่นด้วย ก็เลยกลายเป็นช่วยกันขุดให้ลึกลงไปอีก ทั้งหมดนั้นคือลักษณะของการเติบโตของมิจฉาทิฏฐิ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย หนึ่งในนั้นคือมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ใครล่ะจะรู้ว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งโง่ยิ่งไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิ จะไปเข้าใจว่าตนเองสัมมาทิฏฐิด้วยซ้ำ
คนมีปัญญายังพอเห็นมิจฉาทิฏฐิในตนบ้าง นั่นหมายถึงมีส่วนของสัมมาทิฏฐิที่มารู้ในส่วนมิจฉาในตนบ้างแล้ว
แต่คนที่มิจฉาทิฏฐิแล้วยังหลงว่าตนเป็นสัมมาทิฏฐิอีก เรียกว่าโง่ซ้ำโง่ซ้อน แล้วดันเป็นคนขยันอีก ทีนี้เป็นอย่างไร? เขาก็จะทำสิ่งที่เขาเห็นผิดนั่นแหละให้มันยิ่งขึ้นๆ ให้มันกระจายออกไปมากขึ้น เพราะเขาหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี
มีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเปรียบเทียบกับกลองศึกชื่ออานกะ คือในอดีตนั้นมีกลองชื่ออานกะ แต่ต่อมาก็ได้มีการซ่อมบำรุงปรับปรุงแก้ไขจนความเป็นกลองอานกะเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่ มีเพียงชื่อเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนเนื้อในนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็นของใหม่ไปหมดแล้ว
ซึ่งท่านก็เปรียบกันตรงๆว่าพุทธในสมัยต่อมานั้นจะเหมือนกลองอานกะ คือมีแต่ชื่อ แต่เนื้อในไม่เหมือนเดิมแล้ว คนจะไปฟังธรรมะที่แต่งขึ้นใหม่โดยครูอาจารย์ แต่จะไม่ฟังธรรมะเก่าซึ่งเป็นเนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งมีความลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก คำสอนที่แท้จึงค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด
ระวังไว้เถอะ พวกธรรมะง่ายๆ ปฏิบัติได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ เข้าถึงได้ง่ายๆ ได้เป็นพระอริยะ พระอรหันต์กันง่ายๆ เหมือนกับได้รับตำแหน่ง supervisor เมื่อทำยอดขายถึงเป้าเท่านั้นเท่านี้
แม้แต่ภาษาสำเนียงท่าทางที่เหมือนพุทธแต่ก็อาจจะไม่ใช่พุทธ ดังกรณีของกลองอานกะ คือรูปนอกน่ะเหมือนทุกอย่าง คำสอนก็เหมือน การปฏิบัติก็เหมือน ดูคล้ายๆก็น่าจะเหมือน แต่เนื้อในไม่มีของเดิมแล้วก็มี
ขยายคำว่า ธรรมะง่ายๆ
คำว่า “ง่าย” ในที่นี้คือ “มักง่าย” คือเอาที่ตนสะดวกนั่นแหละ เพราะถ้าตามที่ผมศึกษานี่เรียกว่าไม่ง่าย หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว
ตัวตรวจวัดก็คือศีลที่ต้องปฏิบัติ ศีล ๕ ก็พอเข้าใจได้ง่ายหน่อย ศีล ๘ ๑๐ จนถึงนักบวชก็ต้องปฏฺิบัติจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ในส่วนวินัย สองร้อยกว่าข้อนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วย และทั้งหมดต้องอยู่ในแนวทางของมรรค 8 คือกาย วาจา ใจต้องมุ่งไปทางตรงข้ามกับกิเลส
ถ้าเอาศีลไปจับปุ๊ปจะ รู้เลยว่าอันไหนมักง่าย อันไหนทำตามที่พระพุทธเจ้าให้ศึกษา เพราะศีลและวินัยต่างๆ จะเป็นตัวบีบให้ทำในสิ่งที่จะพาไปพ้นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำตามศีลมันก็นอกกรอบเท่านั้นเอง
และพวกมักง่าย ก็จะมีอุบายที่จะตีกิน ไม่ทำตามศีลด้วยวาทะเท่ๆ คือมีคำพูดให้ดูดีแม้ตนเองจะไม่ปฏิบัติตามศีล หรือเอาภาวะของพระอรหันต์มาตีกิน (พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาผิด) คือไปหลอกคนอื่นว่าตนเองเป็นอรหันต์แล้วจะทำอะไรก็ได้ บางทีหลอกก็ไม่รู้ว่าตัวเองหลอกก็มี คือเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มีเยอะที่เข้าใจผิดไปเอง(หลงว่าบรรลุธรรม)