Dinh (Author's Website)
ศิลปบริหารกรรม
หลังจากที่ชีวิตได้เล่าเรียนมาในหลายๆศาสตร์ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จนมาถึงปัจจุบัน ผมได้พาตัวเองเข้าสู่หลักสูตรใหม่ หลักสูตรนี้เริ่มมาตั้งนานแล้ว และจะจบลงเมื่อกรรมเท่ากับศูนย์
ศิลปบริหารกรรม ผมได้คำนี้มาจากการคิดเล่นๆจากการได้เรียน ป.ตรี เกี่ยวกับศิลปะ ป.โท เกี่ยวกับบริหารการจัดการ และความรู้ทางศาสนาพุทธ ที่ได้ศึกษามาบ้าง จนรวมมาเป็น ศิลป + บริหาร + กรรม คำนี้คิดไว้นานแล้ว แต่ไม่คิดว่าจะได้หยิบยกกันมาอีกที
ศิลปบริหารกรรม ( Art of karma management) มีความหมาย หรือนิยามที่ผมได้ให้ไว้เป็นส่วนตัว คือ ” การใช้ศิลปะในการบริหารจัดการ กรรมหรือผลของการกระทำที่เกิดขึ้น ” แน่นอนว่าคำว่าศิลปะนั้นมีความหมายมากกว่าความงาม อาจจะเป็นความพอดี ความเหมาะสม ก็ได้สำหรับผม
ในการบริหารกรรมที่ดีนั้น มีทั้งการจัดการหลากหลาย ถ้ามองเป็นขั้นตอนก็ต้นเหตุ ปลายเหตุ หรือความเป็นเหตุเป็นผลนั่นเอง ถ้าสามารถหยุดเหตุได้ ก็ไม่มีผล ไม่ว่าจะบริหารเหตุหรือผล สุดท้ายก็ต้องยอมรับกับผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆอยู่ดี
ศิลปบริหารกรรม
จึงกลายเป็นวิชาใหม่ที่ผมกำลังจะลงเรียนอย่างเต็มตัว ในมหาวิทยาลัยชีวิต วิชานี้สามารถเรียนได้ตั้งแต่เกิดจนตาย ตายจนเกิด แล้วก็เกิดไปจนตายใหม่ เรียนกันไม่จบไม่สิ้นกว่าจะผ่านได้ในวิชานี้ก็มี 4 เกรดด้วยกัน ซึ่งถ้าได้เกรดต่ำก็คงต้องไปเรียนใหม่อีกจนกว่าจะได้เกรดสูง สำหรับเกรดในวิชานี้คงไม่ใช่ A B C D หรือ F อย่างแน่นอน แต่เป็นระดับของจิตวิญญาณมากกว่า เดาๆกันเองนะครับว่าผมหมายถึงอะไร…
สวัสดี
The journey begins
วันนี้เป็นวันดี เป็นวันแรกที่ได้ทำสิ่งที่ได้คิดไว้ เป็นการเดินทางที่จะทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในการเดินทางครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆที่จุดมุ่งหมาย แม้ว่าจะเป็นการเรียนรู้เหมือนทุกๆครั้ง แต่แตกต่างกันที่ปลายทาง
ที่ผ่านมาในชีวิตได้แต่เดินทาง เพื่อจะไปปลดปล่อย เก็บ สะสม อะไรบางอย่าง แล้วก็กลับมาที่บ้าน เหมือนคนทั่วๆไป ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ดูเหมือนจะเหมือนเดิม เดินทางและกลับมา แต่เป้าหมายนั้นเป็นการเดินทางเพื่อไม่กลับมา อาจจะงงๆกันนิดหน่อย แต่เชื่อว่าใครที่แสวงหาการเปลี่ยนแปลงย่อมเข้าใจอารมณ์นี้อย่างแน่นอน
ก้าวนี้เป็นก้าวแรกของชีวิต อย่างจริงจังเลยก็ว่าได้ หลังจากได้ทดลองเรียนรู้มาจากหลายๆที่แล้ว การเดินทางไปเรียนรู้ในครั้งนี้จะนำประสบการณ์และความรู้เพื่อไปใช้จริงในอนาคต ไม่ใช่การเรียนรู้แบบกว้างๆเพื่อหาแนวทางอีกต่อไป เป็นการเริ่มต้นความชัดเจนอีกขั้นของชีวิต แน่นอนอาจจะเป็นก้าวที่สั้นๆ เพราะว่ายังไม่ได้ออกไปจริงๆ แต่เป็นก้าวที่สำคัญมากๆสำหรับชีวิตผม การเดินทางครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แล้วจะมาเล่าให้อ่านกันภายหลังครับ
สวัสดี
ก่อนถึงวันผลัดใบ
แนวคิดเล็กๆ ที่มีอยู่ในบล็อกแห่งนี้ก็มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ผมเคยอ่านเมื่อตอนเฝ้ายายที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก่อนวันผลัดใบ…
ดังที่เห็นว่าผมใช้ภาพใบไม้แห้ง หรือใบไม้ที่ร่วงหล่นมาเป็นภาพประกอบของบล็อก ซึ่งมันจะช่วยเป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนให้ผมคิดเสมอว่า ทุกอย่างก็ต้องมีวันดับ อย่างใบไม้ที่งอกขึ้นมาแก่และร่วงหล่นไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องธรรมดาๆของโลกนี้ ซึ่งมันก็ทำให้ผมได้เข้าใจว่าตัวผมเองก็ไม่ต่างไปจากใบไม้เหมือนกัน นั่นคือมีเกิดและดับไป เมื่อถึงเวลาของมัน
หนังสือสอนใจในวาระสุดท้าย
ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมๆ กับการเฝ้ายายที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ความหวังนั้น หวังเพียงแค่ว่ายายจะได้ไปสบาย ผมอ่านไปเรื่อยๆ แบบกระโดดๆ ไปมา หน้านั้นบ้างหน้านี้บ้าง ตามแต่จะเปิดมาหน้าไหน
ผมมีเวลามากพอที่จะได้อ่่านจนจับประเด็นได้ว่า ยังมีมนุษย์ในโลกอีกมากที่เตรียมตัวตายไว้แล้ว แน่นอนซึ่งก็ยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะตายเลย ความตายนั้นเข้ามาได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่จากปัจจัยภายนอกก็อาจจะมาจากร่างกายเราก็เป็นได้ หนังสือเล่มนี้ได้บอกเกี่ยวกับสภาวะใกล้ตาย การเตรียมตัวตาย การรับมือกับความตายทั้งในทางโลกและทางธรรม ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านแล้วปลงได้ดีจริงๆ
ถือว่าเป็นบุญของผมที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้ายายไม่ได้ป่วยนอนโรงพยาบาลหลายวันก็คงจะไม่มีโอกาสได้อ่านเป็นแน่ การจากไปบางครั้งก็คงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากมองในทางธรรม ก็เป็นเ็พียงการหมุนวนไปเริ่มต้นใหม่เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกๆเวลาแม้กระทั่งการเีรียนรู้จากความตายของผู้อื่นนั้น ผมเชื่อว่าคงเป็นกุศลให้กับผู้จากไปไม่มากก็น้่อยอย่างแน่นอน
minimal life ในมุมมองของผม
minimal life อาจจะเป็นคำที่หลายๆคน เคยรู้จักกันมาบ้างแล้ว ผมเริ่มต้นคำนี้มาจาก minimal art ซึ่งเป็นผลงานศิลปะซึ่งสร้างสรรค์ความเรียบง่ายให้ดูน่าสนใจ
สำหรับความหมายนั้น
minimal = ขั้นต่ำ,ต่ำสุด,เล็กมาก
life = ชีวิต
ดังนั้น minimal life ในมุมมองของผม หมายถึงการใช้ชีวิตที่กินน้อยใช้น้อย หรือความต้องการขั้นต่ำสุดเท่าที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
คำว่า minimal , minimum นั้นจะตรงกันข้ามกับ MAXIMUM หรือมากที่สุดนั่นเอง สำหรับสังคมในปัจจุบันนั้นกำลังไปในทิศทางของ MAXIMUM ซึ่งเป็นไปด้วยกระแสสังคม การโฆษณา การตลาด อะไรก็ว่าไป เรากำลังถูกสร้างให้ต้องการสิ่งของหรืออะไรมากมาย ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจจะใช้ทั้งชีวิตหรือใช้ทั้งชีวิตก็ยังไม่พอที่จะคว้าเอามาก็ได้ บ้าน รถ ชีวิตที่หรูหรา ลาภ ยศ ซึ่งมากเท่าไหร่ก็ไม่พอ
คำว่า “พอ” นี่มันยาก ใครจะบอก หรือพูดว่าพอก็สามารถกล่าวอ้างได้ แต่ใครจะทำให้พอจริงๆได้ หรือ “พอใจ” อย่างแท้จริงได้ อาจจะมีข้ออ้างมากมายว่าฉันได้สิ่งนี้สิ่งนั้นแล้วจะพอ แต่ก็มักจะมีอะไรมาทำให้อยากได้มากขึ้นไปอีก ไม่สุดหรือถึงค่า MAXIMUM จริงๆเสียที มันขยับเพดานความต้องการเพิ่มไปได้เรื่อยๆ ตามที่คนเรายังไม่พอ
จนผมต้องกลับมาทบทวนคำว่า “พอ” นอกจากพอแล้วยังต้องลดอีก ลดทุกอย่างให้เข้าสู่ความจำเป็น เท่าที่ชีวิตจะเป็นปกติสุขได้ นั่นคือ minimum คำว่า minimal ของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก ขึ้นกับพื้นฐานของแต่ละคน แต่ที่แน่นอนว่าแตกต่างกับ MAXIMUM ก็คือ มันมีจุดจบ เพราะยังไงค่าสุดท้ายของมันก็คือ 0 ก็คือไม่มีอะไรเลยนั่นเอง ( ไม่มีติดลบหรอกนะ )
การใช้ชีวิตแบบ minimal life เป็นแนวคิดที่เบียดเบียนธรรมชาติน้อย เบียดเบียน (ใจ) ตัวเองน้อย ไม่ต้องลำบาก มีแค่พอดี สามารถแบ่งปันกลับไปธรรมชาติและสังคมได้ เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรากินน้อยใช้น้อย ก็มักจะมีของเหลือใช้เป็นธรรมดา ไม่ต้องอยากได้อะไร ไม่อยากได้ของใคร ไม่อยากเป็นอะไร เป็นอิสระจากความต้องการทั้งปวง