Dinh (Author's Website)
ความรัก…ไม่จำเป็นต้อง…
ความรัก…
ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟน
ไม่จำเป็นต้องแต่งงาน
ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัว
ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขใดๆ
…เพียงเพื่อจะได้ครอบครอง
= = = = = = = = = = =
คนที่รักกันจริงนั้น ย่อมไม่คิดจะผูกพัน
ด้วยเงื่อนไขที่ผูกมัดเช่น แฟน หรือครอบครัว
แม้จะเป็นคนที่รักแสนรักปานใด
ก็จะไม่ยอมทำบาปและสร้างอกุศล
เพียงเพื่อได้เสพสุขที่ลวงโลกเหล่านั้น
…แต่จะคงไว้ซึ่งความเป็นมิตรที่ดี
เป็นผู้แบ่งปัน เกื้อกูล ดูแล ตักเตือน ฯลฯ
เพื่อนำพาคนที่รักนั้นไปสู่ความเจริญฝ่ายเดียว
…ผู้ที่เข้าไปผูกพันนั้น คงจะหนีไม่พ้นเหตุแห่งกิเลส
ด้วยความหลงในโลกียรส หลงในการสมสู่
หลงในการครอบครอง อยากได้เป็นเจ้าของ
หากเว้นขาดจากเรื่องเหล่านี้แล้ว
การคบหากันเป็นแฟน หรือแต่งงาน
ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกเลยในชีวิต
ซึ่งจะคงเหลือไว้แต่ความเป็นมิตรที่ดีเท่านั้น
= = = = = = = = = = =
บทขยาย: ในบทนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความรักที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องครอบครองด้วยสถานะใดๆที่เกินเพื่อนเลย หากเราไม่ต้องการครอบครองเขา ไม่สมสู่เขา ไม่หลงเสพสุขในกามคุณ โลกธรรม อัตตาทั้งหลายที่เขามี เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปมีความสัมพันธ์ให้เกินเพื่อน
คนที่พยายามให้ความสัมพันธ์นั้นเกินเพื่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร มันก็เป็นเพียงข้ออ้างของกิเลสที่ปั้นแต่งมาเพื่อให้ตนได้เสพสมใจเท่านั้น
คนที่หลงไปแต่งงานแล้ว ความเจริญสูงสุดที่จะมีได้ก็คือการเว้นขาดจากการสมสู่ สุดท้ายก็จะกลายเป็นการคบหาแบบเพื่อนที่ดีต่อกัน ซึ่งการมีความสัมพันธ์ที่ดีนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างวิบากบาป สะสมกิเลสรายทาง ให้ต้องมารับกรรมชั่วกันทีหลัง เพียงแค่คงสถานะมิตรที่มีไว้ตั้งแต่แรกให้ยั่งยืน สุดท้ายก็จะมาบรรจบที่เดียวกันกับคู่รักที่เจริญแล้วทุกคู่
แต่คนที่คงความเป็นโสดและเป็นมิตรที่ดีจะเจริญได้มากกว่ามากนัก เพราะไม่ต้องมารับวิบากบาปจากความชั่วที่ทำมาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบำเรอกิเลสของกันและกัน การสมสู่กันและกัน การระบายโทสะแก่กันและกัน จนกระทั่งการพากันไปหลงในกิเลสต่างๆด้วยกัน พวกเขาก็ไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้นทีหลัง
นั่นหมายถึงเราสามารถพาคนที่เรารักเจริญได้มากกว่าการที่ไปคบหากันเป็นแฟนหรือแต่งงานกัน เพราะไม่ต้องมีวิบากบาปใดมากั้นขวางไม่ให้ไปสู่ความเจริญ นี้เองคือความรักที่มากกว่า เกื้อกูลมากกว่า มีปัญญามากกว่า เห็นแก่ตัวน้อยกว่า เสื่อมน้อยกว่า และทุกข์น้อยกว่าคนที่หลงไปคบหากันเป็นแฟนหรือแต่งงานกันมากนัก
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
โสดจนสูญพันธุ์?
โสดจนสูญพันธุ์
ถาม: ถ้าคนพากันโสดทั้งหมด ไม่มีคู่ครอง โลกจะเป็นอย่างไร คนจะสูญพันธุ์หรือไม่?
ตอบ: ในโลกนี้มีศาสนามากมายอยู่หลายศาสนา และศาสนาที่จริงจังกับการครองตนเป็นโสดเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วก็คงจะมีแต่ศาสนาพุทธนี่แหละ ดังนั้นอัตราส่วนของคนที่ครองคู่และสืบพันธุ์ก็ย่อมมากกว่าคนที่คิดจะโสดในระดับหนึ่งแล้ว
ทีนี้มองย่อยลงมาที่พุทธศาสนิกชน แม้ว่าในประเทศไทยแห่งนี้จะมีธรรมในพระพุทธศาสนาประกาศอยู่แล้วก็ตาม การจะพาตนเองไปถึงธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าคนจะถือศีล ๕ ได้นั้นก็ยากสุดยากแล้ว การจะหวังคนให้ถือศีล ๕ ทั้งประเทศก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดหวัง และการครองตนเป็นโสดนั้นอยู่ในฐานของศีล ๘ ซึ่งกระทำได้ยากกว่าศีล ๕ มากมายนัก จึงทำให้อัตราส่วนของคนที่คิดจะโสดน้อยเข้าไปอีก
ทีนี้คนที่ถือศีล ๘ หรือมากกว่านั้น ก็มีทั้งถือแบบงมงายบ้าง ไม่รู้สาระบ้าง โอกาสที่กิเลสจะกำเริบจนทิ้งศีลไปหาคู่ก็มีมากมาย เรื่องดังเช่นว่าพระสึกไปมีคู่ ก็มีให้เห็นกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ตัดสินใจโสดจึงมีอัตราส่วนน้อยลงไปอีก
ด้วยอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญแบบเห็นกันได้ทั่วไปจนไม่ต้องไปทำงานวิจัยหาข้อมูลให้วุ่นวายจึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่มีทางสูญพันธุ์ด้วยเหตุแห่งการถือศีล ครองตนเป็นโสดอย่างแน่นอน ซึ่งโอกาสที่มนุษย์จะสูญพันธุ์จากสาเหตุอื่นเช่น โลกแตก ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า
ตอบกันเชิงปริมาณไปแล้ว คราวนี้มาตอบเชิงคุณภาพกัน
เรื่องการครองตนเป็นโสดนี้ ขนาดพระพุทธเจ้าซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนละทิ้งความอยาก แล้วหันมาครองความโสดได้เลย แม้แต่ภิกษุที่บวชในสมัยพุทธกาลก็ยังมีคนสึกกลับไปมีครอบครัว แล้วในยุคนี้จะมีใครมีความสามารถที่จะสอนให้คนเห็นคุณค่าของความโสดขนาดที่ว่ายอมโสดกันทุกคนได้
ธรรมชาติของสัตว์คือเกิดขึ้นมาแล้วสืบพันธุ์ นี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำกัน แต่มนุษย์ที่จะมีปัญญาพอที่จะเห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการมีคู่ครองนั้นจะมีอยู่สักเท่าไหร่ ในเมื่อการไม่มีคู่ การไม่สืบพันธุ์ นั้นคือการฝืนธรรมชาติ การขัดธรรมชาติ การเป็นไปเพื่ออยู่เหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน
ธรรมะของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อทวนกระแสโลก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คนอื่นเขามีคู่กัน ครองเรือนกัน สมสู่กัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าพยายามที่จะลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการฝืนธรรมชาติคือกิเลสตัณหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หากไม่มีทิฏฐิที่ตั้งตรงสู่การพ้นทุกข์ และการพากเพียรที่เรียกได้ว่าถวายชีวิตให้ธรรม ก็คงจะไม่สามารถผ่านไปได้
คนทั่วไปนั้นจะเข้าใจว่ามนุษย์ต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ เกิดมาสืบเผ่าพันธุ์ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แนวความคิดของพุทธ เพราะพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเกิดมาด้วยการสมสู่แต่เราไม่จำเป็นต้องไปสมสู่ ให้ละจากสิ่งนั้นเสีย นี้คือความเห็นสู่การพ้นทุกข์ เป็นเครื่องมือออกจากโลก (โลกียะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงปัญญาอันรู้แจ้งในกิเลสเช่นนี้
ดังนั้น มนุษย์จึงพากันมีคู่ครองด้วยตัณหาและอุปาทาน คือมีความอยากในการได้เสพสมใจตามความหลงผิดที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นไว้ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ด้วยว่า การสมสู่คือการเสพที่ไม่มีวันอิ่ม ดังนั้นการที่มนุษย์จะหมดโลกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสย่อมไม่มีวันอิ่มจากกามเมถุน เขาเหล่านั้นจะเสพไปเรื่อยๆ จะส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพไปเรื่อยๆ และเขาเหล่านั้นก็สร้างลูกหลานของเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆเอง
ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวลกับอนาคตของมนุษย์ เพราะความจริงแล้วหากกิเลสยังไม่ดับไป สุดท้ายเราก็ต้องเกิดขึ้นมาเสพอยู่ดี ไม่ว่าโลกไหน จักรวาลใด จิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยกิเลสจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อเสพอยู่เสมอและเป็นเช่นนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
การมีความรัก เพื่อขัดเกลากิเลส
การมีความรัก
เพื่อขัดเกลากิเลส
ก็ตกอยู่ภายใต้กิเลส
…ตั้งแต่แรกแล้ว
= = = = = = = = = = =
การที่คนเราจะไปหลงสุขในการมีคู่ครองนั้นคงจะไม่แปลกอะไรสำหรับคนทั่วไป
แต่คนที่หันหน้ามาหาธรรม เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีทิศทางที่ไปสู่การมีคู่
โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ ให้การมีคู่มีน้ำหนัก มีคุณค่า มีเหตุมีผล น่าได้ น่ามี น่าเป็น
เป็นพลังของกิเลสที่พาให้หลงไป ให้หลงคิดว่าวิธีเรียนธรรมของตนนั้นดีเยี่ยม
เพราะได้ทั้งเสพสุขและปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นความโง่สุดโง่ที่หลงไปในกิเลส
โดนกิเลสจูงให้ไปเสพโดยที่คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีปัญญา สมดุลโลกและธรรม
กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชั่วแบบนี้ มันทำให้เราเป็นคนไร้เดียงสาที่คิดว่าตนฉลาดที่สุด
….ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการล่อลวงของกิเลส อยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส
ทำให้จมอยู่ในความหลงผิด เชื่อในทางที่ผิด และเห็นทางที่ผิดเหล่านั้นเป็นทางที่ถูก
แล้วมันจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ในเมื่อตนนั้นหลงอยู่ในกิเลส ขัดยังไงก็อยู่ในกิเลส
เหมือนคนที่คิดจะไปอาบน้ำขัดตัวโดยหวังความสะอาด แต่กลับลงไปขัดตัวในบ่อเก็บขี้
ขัดไปมันก็มีแต่เปื้อนขี้ปนเชื้อโรค แล้วมันจะสะอาดไหม? มันจะสุขไหม? มันจะดีไหม?
ท่านผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ก็ลองพิจารณากันดู ว่ามันจะคุ้มไหม?
มันจะได้มากกว่าเสียจริงไหม? ถ้าท่านเห็นว่าเป็นทางที่ไม่ควรก็พึงละเสีย พรากจากทางนั้นเสีย
อย่าได้เข้าใกล้ อย่าไปคลุกคลี อย่าปล่อยใจให้เผลอไปตามกลลวงของกิเลสที่คอยยั่วเย้า
แล้วเพียรพิจารณาให้เห็นโทษภัยตามความเป็นจริง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กันเถิด
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
การปฏิบัติธรรมนั้น หากคิดจะก้าวหน้าได้ไวเพื่อให้เรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยหนทางที่สั้นและง่ายที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางเป็นผู้ชี้ทาง มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน เสนอแนะ และตักเตือนกัน จึงจะสามารถเจริญไปได้เร็วที่สุด
การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มจากการเสาะแสวงหามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เพราะถ้าพยายามปฏิบัติไปทั้งที่ไม่รู้ทางก็คงหลงทางเสียเวลาไปเปล่าๆ
การแสวงหาครูบาอาจารย์นั้นต้องเริ่มด้วยการมีเหตุปัจจัยสองอย่างคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและการนำมาขบคิดพิจารณา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมักจะเกิดสภาพยึดมั่นถือมั่นเมื่อเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เมื่อปฏิบัติไปนานเข้าก็จะปิดใจ ไม่รับฟังแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากตน และนั่นอาจจะหมายถึงการปิดประตูสู่การพ้นทุกข์เลยก็ว่าได้
เพราะไม่มีใครรู้ได้เองหรอกว่า อาจารย์ที่ตนเจอนั้นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้าตัดสินด้วยทิฏฐิของคนที่ยังหลงทางแล้ว มันก็ดูเหมือนจะสัมมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเราชอบอะไร ถูกใจอะไร เราก็เหมาว่าสัมมาหมด เพราะคิดตรงกับเรา เป็นอย่างที่ใจเราหมาย และเมื่อคิดว่าถูกจึงปักมั่นลงไป
การพิสูจน์ว่าของจริงหรือไม่นั้นเกิดจากการนำธรรมของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม ซึ่งความเจริญนั้นจะสามารถวัดได้จากความโลภ โกรธ หลง ที่ลดน้อยลง สรุปง่ายๆว่าถ้าถูกทางกิเลสต้องลด ถ้าปฏิบัติตามแล้วกิเลสไม่ลดก็ควรจะทบทวนทิศทางและศึกษาแนวทางอื่นๆประกอบ
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะสามารถเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงได้ไว คือผู้ที่เปิดใจรับฟังการปฏิบัติที่หลากหลาย และนำหลักการเหล่านั้นมาปฏิบัติตามโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงสาระประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้นได้
แต่ถึงอย่างนั้นการจะได้พบครูบาอาจารย์หรือสหายธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกรรม นั่นคือเราไม่สามารถได้มากกว่ากรรมที่เราทำมา เราไม่สามารถพบอาจารย์ที่ถูกตรงได้เลย หากเราไม่มีกรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงหรือกรรมดีที่จะพาให้พบกับคนที่ถูกตรงได้ สรุปได้ว่า เราไม่สามารถพบกับสิ่งดีได้เกินกว่ากรรมดีที่เราทำมา
ดังนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมที่ว่า คนบางพวกไปศรัทธากับผู้บวชมาหากินกับศาสนาบ้าง ศรัทธาครูบาอาจารย์ที่ใช้เดรัจฉานวิชาบ้าง ศรัทธาอลัชชีบ้าง นั่นเพราะพวกเขามีกรรมที่ต้องไปศรัทธาคนเหล่านั้น มันหนีไม่พ้น จะพยายามอย่างไรก็จะต้องไปจมกับสิ่งเดิม เพราะมีกรรมที่เคยผูกกันมาหลายภพหลายชาติเป็นพลังดูดดึงที่มองไม่เห็น
ในทางเดียวกัน คนที่ทำดีมากๆก็เช่นกัน เขาก็จะมีพลังดูดดึงกันระหว่างคนดี ได้พบกับคนที่ดี ได้พบกับผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงจริง ได้เจอมิตรดี สหายดี เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมาเช่นกัน เพราะเคยเกื้อกูลคนดีมาหลายต่อหลายชาติ แล้วชาตินี้มันจะหนีไปไหนพ้น มันก็เจอแต่คนดี หลงไปในหมู่คนดีอยู่นั่นเอง
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่จะลิขิตเส้นทางให้ได้เจอกับคนดี ส่วนกรรมใหม่นั่นคือจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่ จะสนใจหรือไม่ หากได้เจอครูบาอาจารย์ที่คิดว่าสามารถชี้ทางให้พ้นทุกข์ได้ แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเรายังมีกรรมกิเลสที่ต้องเป็นทาสกิเลส ไปคอยเสพสิ่งต่างๆให้เสียเวลาปฏิบัติธรรมไปอีกหรือไม่
การมีกรรมเก่าผลักดันให้เจอคนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเจอได้ทุกชาติ กรรมดีมันก็มีหมดเหมือนกัน กรรมใดที่ส่งผลไปแล้วมันก็หมดพลังของมันเอง ทีนี้พอกรรมดีส่งผลให้เจอกับคนดี แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ให้เวลาไปกับการสนองกิเลส กรรมดีที่ทำมานั้นก็เสียเปล่า ส่วนกรรมชั่วที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็รอส่งผล ซึ่งมันก็ทำให้เสื่อมลงไปได้เรื่อยๆเช่นกันหากไม่ได้ทำกรรมดีเพิ่ม
ดังนั้นถ้าอยากเจอคนดี เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงไม่พาหลงทางจริงๆ ก็ให้ทำดีให้มากๆ เพียรทำดีโดยไม่ประมาท ขยันศึกษารับฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนยึดมั่นถือมั่น และนำมาพิจารณาหาประโยชน์ที่แท้ แม้ว่ากรรมเก่าจะมีพลังดีไม่มากนัก แต่กรรมใหม่ที่ทำนั้นทรงพลังมากกว่า ฟ้าไม่มีทางกั้นให้คนดีไม่พบกับทางพ้นทุกข์ได้นาน แม้จะหลงทางไปบ้างแต่ถ้าขยันทำดีไปเรื่อยๆ วิบากกรรมดีก็จะดลให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงในวันใดวันหนึ่งเอง
พอเจอผู้ชี้ทางแล้วได้ฟังธรรม นำมาศึกษาและปฏิบัติจนเกิดผล กิเลสลด ความโลภ โกรธ หลง เบาบาง ปฏิบัติศีลที่ยากได้ดีขึ้น เช่นสามารถมีศีล ๕ ได้โดยปกติทั้งกาย วาจา ใจ นิสัยดีขึ้น มีความสุขขึ้น มักน้อยกล้าจนมากขึ้น กล้าที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับผู้อื่นมากขึ้น สามารถที่จะรับรู้ถึงความเจริญเหล่านี้ได้เอง จนเข้าใจได้ว่าธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นของจริง ทำให้ลดกิเลสได้จริง ทำให้เกิดความผาสุกได้จริง ทำลายสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้จริง
เช่นจากที่เคยชอบกินขนมชนิดหนึ่งมาก ก็ประหารความอยากนั้นได้จริงๆ ,เคยกินเนื้อสัตว์ ก็หันมากินมังสวิรัติได้แบบปกติสุข , เคยกินหลายมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียวได้อย่างมีปัญญา , เคยอยากมีคู่ แต่ก็ทำลายความอยากนั้นจนสิ้นซากได้ต่อหน้าต่อตา พอมันทำได้จริงเช่นนี้ เอาวิธีปฏิบัติมาทำให้เกิดผลเจริญได้แบบนี้ มันก็หมดสงสัยอีก ไม่ต้องถามกันอีกว่าถูกหรือผิด เพราะถ้าผิดมันทำลายกิเลสไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทางที่ถูกเท่านั้นที่จะสามารถต่อกรกับกิเลสได้
นั่นหมายความว่ามีแต่สงฆ์สาวกแท้ๆของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถสอนวิธีทำลายกิเลสจนสิ้นซากได้ นอกเหนือจากนี้ไม่มี วิธีอื่นใดในโลกไม่มี วิธีจัดการกับกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นนอกจากนี้ไม่มี
พอรู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็ถือว่าจบภารกิจในการตามหาครูบาอาจารย์และมิตรสหาย เพราะรู้ว่าถ้าทำดีไปตามแนวทางนี้ก็จะได้พบกับคนที่ดียิ่งขึ้น คนที่เก่งกว่านี้ และที่แน่นอนคือเราสามารถทำตนเองนี่แหละให้ดียิ่งๆขึ้น จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นขีดความสามารถของกรรมใหม่ที่สามารถทำได้ แม้ว่ากรรมเก่าจะขีดเขียนมาเช่นไรก็ตาม แต่หากเราใช้ทุกวันของชีวิตเพียรสร้างกรรมดีใหม่ๆขึ้นมา โอกาสที่จะได้เรียนอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิตก็จะถูกเปิดเผยให้ได้ไขว่คว้ามา
ยกเว้นเสียแต่ชีวิตนี้ได้ทำอนันตริยกรรมลงไปแล้ว ประตูโอกาสทุกบานก็จะถูกปิดลง แม้จะมีทางแต่ก็ไม่เห็น แม้จะมีพระอรหันต์อยู่ตรงหน้าแต่ก็ไม่รู้ แม้จะมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ประกาศอยู่แต่ก็จะไม่เข้าใจ แม้ครูบาอาจารย์จะเก่งแค่ไหนแต่ก็ไม่มีวันจะเรียนรู้ได้ เรียกได้ว่าหมดโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้ คงทำได้อย่างมากแค่ทำดีเท่าที่กำลังปัญญาจะพอมี และรอวันตายไปฟรีๆอีกหนึ่งชาติ
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2558