วิธีปล่อยวางความรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 103,353 views 11

วิธีปล่อยวางความรัก

วิธีปล่อยวางความรัก

…ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา

ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ นั่นเพราะการปล่อยวางของเรานั้นยังไม่ทำจนถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้งนั่นเอง

วิธีที่เราใช้เพื่อปล่อยวางความรักนั้นมีหลายวิธี แต่ในบทความนี้จะสรุปรวมมาให้แบบกว้างๆ 3 วิธี คือ 1).เปลี่ยนเรื่อง 2).ปัดทิ้ง 3). เข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1). เปลี่ยนเรื่อง

วิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปคือการหากิจกรรมทำ ท่องเที่ยวไปในที่ที่ไม่เคยไป ศึกษาเรื่องที่ไม่เคยรู้หรือแม้แต่การเน้นลงไปในเรื่องเดิมเช่น ชอบเที่ยวอยู่แล้วก็เที่ยวให้หนักขึ้น ก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ควรจะสนใจอยู่ให้ไปสนใจเรื่องใหม่ที่เรากำลังทำอยู่นั่นเอง

จะเรียกว่ากลบเกลื่อนก็ว่าได้ หลายกิจกรรมนั้นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีสอดแทรกอยู่ เช่นถ้าเราไปหาแฟนใหม่ เราก็จะสามารถปล่อยวางแฟนเก่าได้ เพราะเราเลิกยึดแฟนเก่ามายึดแฟนใหม่แทน แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้มันแค่ถูกกลบทำเป็นลืมเท่านั้น นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ดี ส่วนกิจกรรมที่ดีเช่น เรากลับไปดูแลพ่อแม่และพบว่าความรักของท่านมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ซึ่งทำให้เราปล่อยวางรักที่จากไปพร้อมกับอดีตคนรักได้ เพราะได้พบกับความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า นี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนเรื่องอยู่ดี

การเปลี่ยนเรื่องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่หลายคนนิยมใช้เพราะเข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกุศลก็ยังถือว่าดี แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เป็นอกุศลสร้างบาป เวร ภัยให้ตัวเองเช่น อกหักแล้วทำตัวเสเพล ใจแตก เที่ยวผับ เมาเหล้า บ้าผู้หญิง อย่างนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่พาลงนรกได้เช่นกัน

2).ปัดทิ้ง

ในมุมของการปัดทิ้งจะมีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วิธีสามัญธรรมดาคือการพยายามไม่พูดถึง ไม่ใส่ใจ ใครทักก็ทำเฉยๆ เห็นภาพเก่าๆก็ทำลืมๆไป จนมาได้ศึกษาธรรมะบ้างจึงได้พบกับวิธีการทางธรรมซึ่งเรียกว่าสมถะวิธี

สมถะคืออุบายทางใจ มีไว้เพื่อพักจิตพักใจ ใช้กดข่ม ใช้ตบ ใช้แบ่งเบาผัสสะที่เข้ามา ผู้ที่ฝึกสมถะได้มากๆจะสามารถกดข่มอาการหวั่นไหวในใจจากอาการปล่อยแต่ยังไม่วางได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมถะก็ยังมีขอบเขตของผลที่จะได้รับแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะแบ่งสมถะออกเป็นสองวิธี

2.1).เจโตสมถะ

คือการใช้พลังกดข่มเอาดื้อๆนี่แหละ หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าใช้สติ , รู้ , หรืออะไรก็ตามแต่ภาษาบัญญัติเป็นลักษณะของการย้ายจิตที่จมอยู่ ณ สภาพหนึ่งเปลี่ยนไปจมอยู่อีกสภาพหนึ่งโดยการปัดผลของผัสสะ(การกระทบ)นั้นทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น แฟนเก่าเดินมาใจเราก็หวั่นไหวแต่ด้วยความที่เราฝึกสติมาเราก็รู้ตัวว่าจิตกำลังเกิดก็ปัดอาการเหล่านั้นทิ้งไปได้ทันที ลักษณะนี้คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดไปแล้วแต่ไปปัดทิ้งไม่นำมาพิจารณาต่อ จบเรื่องไปตรงนั้น ดับไปตรงนั้นแล้วเข้าใจว่าการดับมันเป็นแบบนั้น

จริงๆแล้วมันเป็นการดับที่ปลายเหตุ ซึ่งในขีดสูงสุดที่เจโตสมถะจะทำได้คือดับทุกอาการของเวทนาที่เกิด ดับไปจนถึงสังขารหรือกระทั่งสัญญาในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ คือเมื่อมีผัสสะแล้วเกิดอาการจะสามารถดับได้ทันทีโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นคนที่มีพลังของเจโตสมถะเต็มที่ ลักษณะจะดูเหมือนว่ามีสติเต็มแต่หากมองในทางพุทธจริงๆแล้วจะพบว่าสติไม่เต็มเพราะถูกตัดความต่อเนื่องของสติขาดไปตั้งแต่ปัดทิ้งแล้ว

ข้อดีของเจโตสมถะคือไม่ต้องคิดมาก วิธีการเรียนรู้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน สอนกันไม่นานก็จับหลักได้ มีสอนกันโดยทั่วไป เป็นวิธีที่มีมาก่อนพุทธศาสนาและจะมีไปจนตราบโลกแตก เอาเป็นว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็มีวิธีแบบนี้

ข้อเสียของเจโตสมถะคือการใช้สติตัดอาการเหล่านั้นทิ้งเสีย จึงไม่สามารถเข้าสู่วิปัสสนาได้ แต่คนมักจะหลงว่านี่คือการวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วยังคงอยู่ในขีดของเจโตสมถะเท่านั้น การเข้าวิปัสสนานั้นต้องเริ่มที่ญาณ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ แต่วิธีของเจโตสมถะจะไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้เลย รู้เพียงแค่ว่าจิตเกิดแล้วก็ทำให้มันดับไปเท่านั้นเอง เข้าใจการเกิดและดับเพียงเท่านั้น ไม่ได้ขุดค้นไปที่ต้นเหตุ กระทำเพียงแค่ปลายเหตุ

ซึ่งคนที่เก่งในเจโตสมถะมักจะหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมเพราะสามารถดับหลายสภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว จะยกตัวอย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้าคืออุทกดาบส และอาฬารดาบส ซึ่งโดยรวมก็เป็นสายสมถะเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยืนยันแล้วว่าไม่บรรลุธรรม

ความเข้าใจที่ว่าสติมาปัญญาเกิดนั้นยังเป็นความเข้าใจที่อธิบายได้ยากและทำให้คนหลงลืมศีล มุ่งแต่ปฏิบัติสมถะซึ่งเป็นสายหลักของเจโตสมถะ เมื่อไม่กล่าวถึงศีล ไม่มีศีลในข้อปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไปเป็นองค์รวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อมไม่เกิดมรรคผล ไม่เป็นพุทธ ไม่เข้าใจในพุทธ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องศีล สมาธิ ปัญญา หากเราฝึกเพียงสติแล้วหวังจะให้ปัญญาเกิด ปัญญาที่ได้จะเป็นปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบปล่อยวางทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า เหมือนสภาพปล่อยก่อนหน้าที่จะถือ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าไปถือเพราะอะไร

การปล่อยวางความรักโดยใช้เจโตสมถะนี้จะไม่สามารถวางได้จริง พอเจอผัสสะเช่นแฟนเก่าเดินมา เขาแต่งงานใหม่ก็ต้องมาดับจิต ข่มจิต ปัดจิตตัวเองทิ้งเป็นรอบๆไป เจอหนักๆเข้าก็ไม่ไหวสติแตกได้เช่นกัน

2.2).ปัญญาสมถะ

เป็นลักษณะของผู้พิจารณาที่มีชั้นเชิงขึ้นมาบ้าง ใช้ปัญญาเข้ามาเสริมบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญญาทางโลก เป็นเหตุผลทางโลก เป็นสัจจะที่รู้กันในโลก ไม่ใช่สัจจะที่เกิดในใจ

ลักษณะของการใช้ปัญญาเข้ามาเสริมในเชิงของสมถะคือมีการใช้กรรมฐานเข้ามาพิจารณาร่วม ส่วนกรรมฐานจะเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาเป็นกรรมฐาน ยกตัวอย่างเช่น พอเราอกหักก็แล้วปล่อยวางไม่ได้ เขาก็จะแนะนำว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ใช้การพิจารณาธรรมอย่างนี้เข้ามาช่วย จะมีลักษณะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณา เป็นการใช้กรรมฐานในลักษณะเช่นเดียวกับ พุทโธ , ยุบหนอพองหนอ แต่จะนำบทธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

โดยรวมแล้วปัญญาสมถะนั้นเหมือนจะดี มีสอนกันโดยมาก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลเข้ามากดข่มความทุกข์ ใช้เหตุผลเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่น เอาสัจจะ เอาความรู้ เอาตรรกะ เอาปัญญาโลกียะ เข้ามากดจิตไว้ ซึ่งก็เป็นลักษณะของสมถะเช่นกัน

ข้อดีของปัญญาสมถะนั้นก็มีมาก เพราะเริ่มจะใช้เหตุผลในการพิจารณาออกจากทุกข์บ้างแล้ว ไม่ใช่การตบทิ้งเอาดื้อๆหรือหลงเข้าใจเพียงว่าการแก้อวิชชาก็แค่เพียงรู้ รู้ รู้ เท่านั้น จะเริ่มละเอียดในจิตมากขึ้น

ข้อเสียของปัญญาสมถะนั้นก็มีอยู่ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมแต่มักจะหลงว่าถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะมีการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณาความทุกข์ แต่ปัญหาคือล้วงไม่สุด ล้วงไม่ลึกถึงสมุทัย เจอแค่ปัญหาปลายๆก็พิจารณาเพียงปลายๆแล้วจบลงตรงนั้นคล้ายๆว่าเราพอเจอความยึดมั่นถือมั่นเราก็จะพิจารณาแค่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เจาะลงไปในเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากอะไร

พอไม่ได้พิจารณาลงไปที่เหตุกิเลสก็ไม่มีทางดับ มันเพียงแค่ซ่อนตัวอยู่เพราะมีพลังของสมถะมากดไว้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนหลงไปได้มาก จะมีสภาพเหมือนเข้าใจทั้งธรรมและเข้าใจทั้งทุกข์ ซึ่งโดยมากจะมีรูปแบบการพิจารณาที่เป็นแบบแผนชัดเจน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่ได้ล้วงลึกไปที่เหตุ

เหมือนกับหมอที่เห็นว่าคนไข้น้ำมูกไหลก็สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ทั้งที่เหตุของน้ำมูกนั้นเกิดได้มากมายหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่น้ำมูกไหลนั้นเป็นปลายเหตุ ลักษณะของปัญญาสมถะจะเป็นเช่นนี้ เหมือนจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ได้ดับไปที่รากของปัญหา

…. จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิถีแห่งสมถะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงสมุทัยได้ เมื่อไม่ถึงสมุทัย ไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงวิปัสสนา เพราะการวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเริ่มกันที่นามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเรียกได้ว่ากระทำวิปัสสนา คือการเห็นว่ากิเลสมันเริ่มจากตรงไหน กิเลสตัวใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดทุกข์

ซึ่งสมถะวิธีนี่เองคือตัวกั้นไม่ให้เราไปถึงสมุทัย โดยเฉพาะวิธีเจโตสมถะซึ่งจะตบทิ้งทุกๆผลของผัสสะที่เข้ามาทำให้ทุกข์ เมื่อตบเวทนา สังขาร สัญญา เหล่านั้นทิ้งไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาเหตุแห่งทุกข์อีก ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธเจ้า ในบทของอาหาร ๔ ในข้อหนึ่งที่ว่า ผัสสาหาร หมายถึงคนเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตเพื่อความเจริญทางจิตใจ ต้องรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นและค้นต่อไปว่าเวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านั้นเกิดเพราะเหตุใด มิใช่จิตเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วปัดทิ้ง ตบทั้ง ดับทิ้ง แบบนี้เป็นวิถีของฤๅษี

3). เข้าใจ

ก่อนที่เราจะเข้าใจสิ่งใดได้นั้นเราจะต้องเห็นทุกข์กับมันอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน ดังคำตรัสที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” จะลองยกตัวอย่างการเห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมในแบบโลกๆให้พอเห็นภาพกันโดยสังเขป

ครั้งหนึ่งได้กินยำไข่แมงดาแต่กลับมาพบว่าปวดหัวหายใจขัด ครั้งนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าผิดที่ไข่แมงดาหรือผิดที่เราเพราะคนอื่นกินก็ปกติดีมีแต่เราเป็น ก็เลยมีการลองครั้งที่สองครั้งนี้หายใจขัดเหมือนเดิม พูดไม่ค่อยได้ ปวดหัวตัวร้อน ยังไม่ชัดแต่ก็เริ่มมั่นใจขึ้นแล้วว่าไม่ได้ผิดที่ไข่แมงดาแน่ สุดท้ายก็เลยต้องลองให้ชัดกับยำไข่แมงดาครั้งที่สาม ครั้งนี้หายใจแทบไม่ออก หายใจได้ทีละสั้นๆ ปวดหัว เหงื่อออก หมดแรงไปทั้งตัว เลยมั่นใจว่านี่แหละ “ฉันแพ้ไข่แมงดา”

การกินสามครั้งจากคนละช่วงเวลาห่างกันนานนับปี ต่างสถานที่ทำให้เข้าใจว่าไข่แมงดาไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นเราเองที่ผิด ที่แพ้ไข่แมงดา หลังจากได้เห็นทุกข์จากความเจ็บปวดทรมานนั้น ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอีกไหม อยากกินอีกไหม ครั้งหน้าอาจจะตายก็ได้นะ พอพิจารณาเข้ามากๆประกอบกับทุกข์จำนวนมากที่ได้รับจึงทำให้รู้สึกเข็ดขยาดกับไข่แมงดา

ทุกข์คืออาการแพ้ไข่แมงดา เหตุแห่งทุกข์คือเราอยากกินไข่แมงดาเพราะเขาว่าอร่อย ถ้าจะดับทุกข์ก็ไม่ต้องอยากกินไข่แมงดา ก็ใช้วิธีสำรวมกายวาจาใจไม่ให้ไปยุ่งกับไข่แมงดา

เมื่อพิจารณาดีแล้วจึงเกิดสภาพเข้าใจและยอมรับว่าไข่แมงดากับเราเข้ากันไม่ได้ เราจึงยอมไม่กินไข่แมงดาได้อย่างสบายใจ แม้ใครจะให้ฟรีก็ไม่กิน เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์มาก นี่คือตัวอย่างการวิปัสสนาแบบโลกๆทั่วไปที่ยกมาเพื่อจะพอให้จินตนาการภาพของการวิปัสสนาได้บ้าง

3.1) วิปัสสนา

วิปัสสนาคืออุบายทางปัญญา คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ และเข้าใจวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค

วิปัสสนานั้นต่างออกไปจากสมถะจนเรียกได้ว่าไปคนละทาง เพราะสมถะนั้นใช้การดับ ปัดทิ้ง ตบทิ้ง ส่วนวิปัสสนานั้นจะใช้เวทนาจากผัสสะนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการพิจารณาหาสมุทัยต่อ ซึ่งแม้แนวทางปฏิบัติจะต่างกันมาก แต่หากผู้ใดที่สามารถเข้าใจได้ทั้งวิปัสสนาและสมถะก็จะสามารถเจริญได้ไว เพราะทั้งสองวิธีใช้เกื้อหนุนกันได้ ส่งเสริมกันได้ โดยใช้สมถะเป็นตัวพัก เป็นตัวลดปริมาณเวทนาที่เกิดจากสังขารได้ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำก่อนแล้วจึงค่อยเผา”

นั่นหมายถึงว่าในบางครั้ง บางผัสสะที่เข้ามาอาจจะมีกำลังแรงเกินกว่าที่เราจะรับไว้ เราก็ใช้สมถะตบทิ้งไปสัก 80 % เหลือไว้ 20% ไว้พิจารณาต่อก็ได้ เพราะหากเรารับไว้ทั้งหมดอาจจะเกิดอาการสติแตกได้ เมื่อคุมสติไม่อยู่ก็ไม่ต้องหวังจะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะรากของการวิปัสสนานั้นก็ต้องเริ่มจากสติเช่นกัน แต่สตินี้ต้องเป็นสายต่อเนื่องไปจนพิจารณาจบ จะไม่กดทิ้ง ไม่ดับทิ้ง ไม่ทำเป็นลืม ไม่เปลี่ยนเรื่อง แต่เป็นการนำสิ่งกระทบนั้นๆมาพิจารณาจนเกิดปัญญาว่าเพราะเหตุใดเราจึงทุกข์กับสิ่งนั้น

3.2). วิปัสสนา…ค้นหาเหตุแห่งทุกข์

การวิปัสสนานั้นต้องเริ่มจากผัสสะ คือมีสิ่งกระทบยกตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิก วันเวลาผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวสั่น ตัวเย็น อยากมอง อยากสบตา อยากคุย ถ้ามีสติดีก็ให้จับตรงนี้ให้ชัดๆ ส่วนจะตบทิ้งหรือจะปล่อยก็ให้ประมาณตามกำลังที่จะทนไหว ถ้าเราเลือกไม่ทักทาย เราก็กลับมาพิจารณาต่อให้เห็นว่าทำไมมันยังเกิดอาการเหล่านี้อยู่ แน่นอนมันคือความยึดมั่นถือมั่น แต่ยึดในอะไรล่ะ? ณ ตอนนี้เราก็ต้องขุดค้นลงไปว่าเรายึดในอะไร หรือจะใช้วิธีจินตนาการก็ได้ ดูรูปเก่าก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ใดๆแล้วใจฟูก็นั่นแหละ เช่นดูรูปถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันแล้วยังแอบมีความสุข ก็ให้ค้นลงไปอีกว่ามีความสุขเพราะอะไร เพราะในการเที่ยวครั้งนั้นเขาเอาใจ เขาจ่ายเงินให้หมด เขาดูแลเอาใจใส่เรายังกับเราเป็นเจ้าหญิง ยังไม่พอต้องขุดลงไปอีกว่าทำไมเราถึงพอใจและยินดีกับการที่เขาเอาใจใส่ เพราะเราอยากให้ใครมาดูแลใช่ไหม เพราะเราโลภใช่ไหม หรือเพราะเราอยากให้ใครเห็นความสำคัญของเรา ค้นไปค้นมาไปมั่นใจตรงที่ว่าเพราะเราชอบที่ใครมาเห็นความสำคัญของเรา แล้วทีนี้ก็ค้นไปอีกว่าทำไมเราจึงอยากให้ใครมาสนใจเรา ก็ไปเจอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่สนใจเราเลย จะค้นไปอีกก็ได้ เพราะจริงๆเราไม่เข้าใจพ่อแม่ เราทำอะไรเราก็อยากโชว์ อยากได้รับคำชมเมื่อไม่ได้ก็เลยน้อยใจ

เอาแค่ประมาณนี้แล้วกันนะ นี่คือกระบวนการหนึ่งของการวิปัสสนาคือการค้นไปที่เหตุ มันต้องเจอเหตุก่อนไม่ใช่ยังไม่เจอเหตุแล้วไปพิจารณา กิเลสมันจะไม่ตาย แล้วเหตุนี่ไม่ใช่เจอกันง่ายๆนะ ต้องใช้ปัญญาขุดค้นกันไปหลายรอบ บางทีเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เจอ ถ้าจะให้ดีก็ให้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ช่วยไขให้ก็จะเร็วขึ้น

เอาอีกตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน เช่นแฟนเราบอกเลิก ผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวชา ไม่อยากคุย ไม่อยากเจอ แต่เผลอก็มองทุกที ก็เก็บเรื่องมาพิจารณาต่อค้นไปในเหตุที่ทำไมเราจึงมีอาการทุกข์ หรืออาการที่จิตนั้นหวั่นไหว ทั้งๆที่เขาทิ้งเรา เราก็โกรธเขานะ แค้นเขาด้วย แต่ทำไมมันยังมองเขา ก็ค้นไปที่ปลายแรกคือโกรธ เราโกรธเพราะเขาทิ้งเรา เขาพรากเราออกจากสภาพที่เรายังสุข เหมือนกับเขาพรากความสุขของเราไปเราจึงโกรธเขา เหตุนั้นเพราะเรามีความสุขมากจนเราเผลอประมาท ทำให้เขาไม่พอใจในบางเรื่องจนเขาตัดสินใจเลิกกับเราก็เป็นได้ ทบทวนให้ดีในส่วนนี้ล้างโกรธให้ได้ก่อน

เมื่อล้างโกรธได้ จะล้างสภาพผลักได้ ซึ่งจะเหลือสภาพดูดคือรักและคิดถึง จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดเริ่มยอมรับผิด แต่อย่าเพิ่งรีบไปขอโทษ ให้พิจารณากิเลสลงไปต่อว่า เราไปรักไปคิดถึงเขาเพราะอะไร เพราะสิ่งใดเหตุการณ์ใดที่เขาทำกับเราอย่างที่ยกไว้ในตัวอย่างแรก ค้นให้สุดๆจะพบกับรากของกิเลสของตัวเอง แล้วล้างกิเลสของตัวเองให้ได้ก่อนจะกลับไปคุยกับเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าการจะปล่อยวางได้นั้นต้องหาเหตุที่ไม่ยอมปล่อยวางก่อน เราไม่สามารถปล่อยวางได้เพียงพูดว่า ปล่อยวางเพราะมันจะไม่วางจริงจะวางได้แต่คำพูดได้แต่รูปข้างนอกส่วนข้างในใจนั้นยังคงร้อนรุ่มเพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกล้างไป แม้จะกดข่มด้วยสมถะแต่ถ้าโดนยั่วต้องใกล้ชิดหรือเจอผัสสะที่แรงมากๆก็จะกดไม่ไหวสติแตกไปได้

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย กิเลสนั้นมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ถ้าเราไม่ฉลาดในการค้นหาต้นตอของกิเลสก็ไม่มีวันที่จะรักษาโรคร้ายนี้หาย มันจะยังคงแพร่เชื้อลุกลามทำลายร่างกายและจิตใจของเราไปเรื่อยๆเราต้องค้นให้เจอว่าเราไปยึดไว้เพราะอะไร จึงจะสามารถทำลายความยึดนั้นได้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ การจะดับทุกข์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย

3.3).วิปัสสนา…พิจารณากิเลส

ทีนี้มาถึงขั้นตอนพิจารณา การวิปัสสนานั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะหลักการพิจารณาจะปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสนั้นๆ บางเรื่องต้องหนักในเรื่องกรรม บางเรื่องต้องหนักในเรื่องไม่เที่ยง และในระดับต่างกันของกิเลสตัวเดียวกันก็ใช้การพิจารณาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าควรใช้ธรรมใดมากกว่าธรรมใดและใช้ธรรมไหนจึงจะเหมาะสม แต่ผู้พิจารณาควรรู้ด้วยตนเองว่าเรานั้นยึดติดในมุมใดมากก็ใช้ธรรมข้อนั้นแหละมาแก้กิเลสตัวนั้น คือการใช้ธรรมแก้ปัญหาให้ถูกจุด เหมือนกับการให้ยากำจัดเชื้อโรคร้ายที่ถูกตัวถูกตนโดยไม่มีผลกระทบไปถึงส่วนที่ดีอื่นๆในร่างกาย

หลังจากที่เราจับโจรหรือจับตัวกิเลสได้แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกิเลสหรือการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลส โดยใช้หลักไตรลักษณ์ คือความทุกข์ของการมีกิเลสนั้นว่าถ้าเรายังมีกิเลสมันจะทุกข์อย่างไร ความไม่เที่ยงของกิเลสนั้นว่ามันไม่เที่ยงไปทางใดกิเลสมันเพิ่มหรือมันลด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแล้วมันเกิดใหม่อย่างไร ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นว่าแท้จริงแล้วกิเลสนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา กิเลสเป็นเพียงแขกที่แวะเข้ามาในบ้านเราแล้วยึดบ้านเราเป็นสมบัติของมันแล้วยังใช้เราให้ทำงานหาสิ่งของมาบำเรอกิเลส และด้วยความหลงผิดไปในบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารับใช้กิเลสด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ทั้งๆที่กิเลสไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตเรา

หลักการต่อมาคือการพิจารณาประโยชน์และโทษของกิเลส ว่าหากเราออกจากกิเลสนี้หรือทำลายกิเลสนี้เสียจะเกิดประโยชน์ใดบ้างในชีวิตเรา และหากว่าเรายังยึดมั่นในกิเลสนี้อยู่เรายังจะต้องรับทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียใดอีกที่จะเข้ามาในชีวิตเราในอนาคต จะสร้างภาระ สร้างความลำบากให้แก่เราอย่างไรบ้าง

และพิจารณาไปถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม ให้เข้าใจก่อนว่ากิเลสนี้คือผลของกิเลสที่สั่งสมมาในชาติก่อนๆส่วนหนึ่งและในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำลายได้เพียงแค่คิด แต่การพิจารณาไปถึงกรรมข้างหน้าที่จะต้องรับก็จะสามารถช่วยคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นในตอนนี้ยังทำลายยากขนาดนี้ แล้วถ้าเราสะสมกิเลสมากเข้าไปอีกจะยากขนาดไหน แล้วยังมีผลกรรมที่จะเกิดจากการที่เราตามใจกิเลสนี้อีกมากมายในอนาคตที่เราต้องรับไว้ ต้องแบกไว้ เช่นหากเรายังคงเอาแต่ใจตัวเอง เราก็มักจะต้องแพ้ทางให้กับคนที่เอาใจเก่งแต่ไม่จริงใจอยู่เรื่อยไป เพราะเราหลงติดในความเสพสมใจในอัตตา พอมีคนมาสนองอัตตาได้ก็ยอมเขา สุดท้ายพอโดนพรากไปก็ต้องทุกข์ใจ

3.4).ตั้งศีล

วิธีที่จะเข้าถึงการปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คิดเอา แต่ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพียงแค่เราตั้งศีลหรือตั้งตบะไว้ง่ายๆว่าเราจะไม่หวั่นไหวในเรื่องเขา แล้วลองเปิดรูปเก่าๆ เปิดดูข้อความเก่า ค้นอดีตทั้งดีและร้ายทั้งหมดที่มี ถ้าอดีตยังเฉยๆอยู่ก็ลองจินตนาการอนาคตไปเลยว่าถ้าเขากลับมา ถ้าเขามาง้อ ถ้าเขาไปแต่งงาน หรือถ้าเขาตายเราจะหวั่นไหวหรือไม่การตรวจเวทนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันนี้เป็นการตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นไปเพื่อการล้างกิเลสเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติธรรม แม้ลมหายใจขัดเสี้ยวหนึ่งก็รู้สึกตัวแล้ว แม้กลืนน้ำลายก็รู้สึกตัว แม้จิตขุ่นเคืองก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองต้องใช้การฝึกสังเกตตัวเองให้มาก ผู้ฝึกสมถะมามากจะค่อนข้างรับรู้ได้ดีในการกระเพื่อมของจิตโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นตัวสะท้อนของใจ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเรายังหวั่นไหว เป็นเพราะเรามีกิเลส ก็ให้เราขุดค้นหารากของกิเลสดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และพิจารณาไปตามธรรมที่ควรแก่กิเลสนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วจะค่อยๆ เจอกิเลสที่แอบอยู่ในซอกหลืบลึกไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะเจอแค่ตัวหยาบ พอพิจารณาได้ผลสำเร็จไปก็เหมือนกับผ่านไปด่านหนึ่งก็จะเจอด่านใหม่ไปเรื่อย ซึ่งต้องอาศัยผัสสะที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จากดูรูปเก่า คิดถึงวันเก่า อาจจะต้องลองจินตนาการถึงการพบเจอ หรือถ้ามีโอกาสเจอกันก็ไปเจอไปทดสอบดูว่าเรายังเหลืออาการอะไรอีกไหม ซึ่งการทดสอบเหล่านี้อาจจะพลาดได้ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยตรวจสอบ เพราะบางทีอัตตามันจะบังไม่ให้เราเห็นกิเลส ทั้งนี้กัลยาณมิตรควรมีธรรมระดับหนึ่ง ไม่ลำเอียงเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ให้มองตามความเป็นจริง

…สรุป

การวิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนี้ ถ้าเพียรพิจารณาจนรู้ว่าคลายกิเลสได้จริง จะมีลักษณะอาการเป็นไปตามวิปัสสนาญาณ ๑๖ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทำลายกิเลสแต่ละตัวนั้นจะมีขั้นตอนไปตามญาณเหล่านั้น เปลี่ยนกิเลสตัวใหม่ก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ความแตกต่างของสมถะกับวิปัสสนาคือสมถะจะได้อย่างมากแค่ “เคหะสิทตอุเบกขา” ซึ่งเป็นการวางเฉยอย่างทั่วไป แบบไม่ได้ใส่ใจ แบบไม่มีปัญญา แต่การวิปัสสนาจะได้ผลสูงสุดคือ “เนกขัมมสิตอุเบกขา” คือการอุเบกขาอย่างผู้รู้แจ้ง ที่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการขัดเกลากิเลสจนเกิดผลเป็นสภาวะอุเบกขาแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะอุเบกขาเหมือนกันแต่การรับรู้ภายในต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

10.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Related Posts

Comments (11)

  1. panya

    ใน หัวข้อ3.3 วิปัสสนาโดยพิจารณากิเลส ปัญญาตัวที่ได้ จากการพิจารณานั้น เรื่องของปัญญา3
    ปัญญา 3 (wisdom, knowledge, understanding)

    ปัญญา หมายถึง ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความเข้าใจ, ความรู้แจ้ง คือ ความรอบรู้ทั้งตนเอง และวิชาการต่าง ๆ สิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นไปของโลกอย่างชัดเจน กระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญา มี 3 วิธีคือ

    1. สุตมยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการฟัง อันได้แก่ ฟังการอบรม ฟังการบรรยาย ฟังการอภิปราย ฟังการเสวนา ฟังการระดม สมอง การอ่านตำราหรือเอกสารต่าง ๆ การได้ดูได้ฟังจากสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

    2. จิตตามยปัญญา คือปัญญาเกิดจากความคิด เป็นความคิดที่เป็นระบบถูกต้อง ความคิดที่ละเอียดลึกซึ้ง ความคิดแบบแยบคาย ความคิดรอบด้านที่เรียกว่า ความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย

    3. ภาวนามนปัญญา คือปัญญาเกิดจากการอบรมตนเองโดยเน้นกระบวนการศึกษาจิตและกายอย่างชัดแจ้ง เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต เมื่อทราบว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ก็ให้การฝึกจิตควบคุมจิต จนกระทั่งมีความสงบ สามารถนำไปตรึกตรองเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างแตกฉาน เป็นระบบ สงบ ไม่วุ่นวาย ทำงานได้ผล มีประสิทธิภาพ มีความสุข
    ในหัวข้อวิปัสสนา 3,3 นั้น น่าจะเป็นจิตตามยปัญญา เพราะอาศัยการพิจารณาเป็นหลัก แต่ ส่วนของภาวนามนปัญญามนปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติ ในส่วนของการวิปัสสนาไม่เห็นผู้เขียนกล่าวถึง ว่ากระบวนการในการอบรมจิตให้เกิดโดยการภาวนาทำได้อย่างไร เมื่อเอ่ยถึงวิปัสสนาซึ่งกระบวนการทางวิปัสสนากรรมฐานน่าจะเกี่ยวข้องในเรื่องของการภาวนาร่วมด้วย ขออนุญาตสอบถาม ควรมิควรในการถาม ต้องขอภัยล่วงหน้า

    • ปํญญา 3 นั้นเป็นสภาพที่จะเกิดต่อเนื่องกัน ไม่ใช่การเลือกไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดผล แต่เป็นการเริ่มจากได้ยินได้ฟังจนเกิดปัญญาเช่นได้ฟังพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังก็ไม่เชื่อในทันที เอามาคิดพิจารณาในใจหรือที่เรียกว่าโยนิโสมณสิการ คือเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี่แหละมาสังเคราะห์ต่อจนกระทั่งสำเร็จเป็นผล คือภาวนามยปัญญา เป็นสภาพผลเจริญของการปฏิบัติที่เกิดขึ้น

      ในข้อ 3.3 เป็นการชี้แนะถึงวิธีการทำจินตามยปัญญาดังที่เข้าใจ แต่การจะเกิดภาวนาหรือผลของการวิปัสสนานั้นจะต้องไปทำต่อเอง ภาวนาที่เกิดเป็นผล ไม่ใช่มรรค เป็นตัวสรุป เป็นตัวจบแล้ว นั่นเพราะคิดพิจารณาอย่างถูกตรงตามสัมมาสังกัปปะ (คิดไปในทางลดกิเลส ประหารกิเลส)

      วิปัสสนานั้นคือการทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริง การจะรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้นต้องพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง ความจริงเป็นอย่างไร? ก็เกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟังผู้ที่ปฏิบัติดี มีสัจจะจริง จนได้สุตมยปัญญา จึงนำความจริงเหล่านั้นมาพิจารณาต่อเป็นจินตามยปัญญา เพียรพิจารณาต่อสู้กับกิเลสจนกระทั่งพบความจริงตามความเป็นจริงดังที่ผู้รู้กล่าวไว้ จนสำเร็จผลกลายเป็นภาวนามยปัญญา เกิดปัญญาที่เป็นผลขึ้นในวิญญาณนั้นเอง

  2. panya

    ขยายความ ในคำถามข้างบน บางสายของการปฏิบัติ ดูปรมัติอารมณ์ เห็น วิเศษณลักษณะ เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็งตึง ไหว หรือการเห็นสามัญลักษณะ หรือไตรลักษณะ ของการปฏิบัติในการภาวนา เห็นธรรมชาติของปรมัติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ด้วยการปฏิบัติ ตามแนวปฏิบัติเพื่อภาวนาปัญญา
    การพิจารณากิเลสที่ผู้เขียนบรรยายนั้น. สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับการปฏิบัติเพื่อภาวนาปัญญา เห็นสิ่งต่างที่เป็นปรมัติ นั้นใช้กระบวนการลงไปดูหรือลงไปรู้ คล้ายกับการ obseve บางสายแค่รู้ตัวด้วยสติ อาจจะกำหนดรู้ลมหายใจ บางสายมีคำบริกรรม อยากทราบว่าการพิจารณาในเรื่องของกเลสนั้น สามารถนำไปก่อให้เกิดประโยชน์นอกเหนือจากการพิจารณาลงลึกแล้วเกิดจิตตามยปัญญาซึ่งในกระบวนการพิจารณาล้วนต้องลงเรื่องราว ซึ่งต้องอาศัยบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนั้นในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดภาวนาปัญญานั้น การพิจารณากิเลสที่ผู้เขียนกล่าวถึงว่า วิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติได้อย่างไร

    • แนวปฏิบัติที่เขียนนั้นนำไปสู่ภาวนามยปัญญาโดยการทำให้รู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยจี้ให้ตรงจุดของกิเลส ดังที่หลวงปู่ชาเคยกล่าวไว้ประมาณว่า สกปรกตรงไหนก็ไปเช็ดตรงนั้น กิเลสก็เช่นกัน มีกิเลสเรื่องใดก็ไปทำเรื่องนั้น

      คนมีกิเลสจะไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง ดังนั้นจึงต้องใช้ปัญญา 3 เข้ามาช่วย คือไปหาความจริงแท้ฟังก่อน ความจริงอยู่ที่สัตบุรุษเท่านั้นต้องหาคนดีให้เจอ พอเจอความจริงก็มาคิดพิจารณาตาม แต่กิเลสมันจะไม่ยอมตามความจริง มันรู้แต่มันจะไม่เชื่อ ถึงมันจะเชื่อแต่มันก็ไม่เข้าใจ มันจะติดอยู่ที่จินตามยปัญญา จนกระทั่งพิจารณาจนเกิดผลนั่นแหละจึงจะเป็นภาวนามยปัญญา ส่วนจะใช้สมถะช่วยก็ได้ จะดูลม เพ่งกสิณ เดินจงกรม เดินเร็ว ขุดดิน เย็บผ้า กวาดบ้านก็ได้ ถ้าเข้าใจหลักของสมถะ-วิปัสสนาก็จะสามารถทำส่งเสริมกันได้

      การพิจารณากิเลสก็ทำให้ละหน่ายคลายกิเลส เป็นการปฏิบัติที่ไปสู่การหมดกิเลสแบบตรงๆอยู่แล้ว สู้กับกิเลสเป็นตัวๆจนหมดกิเลส การพิจารณาเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปหรือแม้แต่ใช้ไตรลักษลักณ์ ทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนแบบผิวเผิน ก็จะเข้าอยู่ในลักษณะของสมถะแต่เป็นปัญญาสมถะ คือใช้การคิดพิจารณาเข้ามากดข่มกิเลส ดังในข้อ 2.2 ซึ่งโดยมากคนจะหลงว่าเป็นวิปัสสนา แต่เพราะทำได้ง่ายเข้าใจได้ง่าย สอนได้ง่าย เข้าถึงผล(ผิวเผินไม่ถูกตัวถูกตนกิเลส) ได้ง่ายจึงเป็นที่นิยม จนกลายเป็นที่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้คือการวิปัสสนา

  3. panya

    ในเมื่อยังพิจารณาบัญญัติอยู่ ไม่ได้เอ่ยถึงการพิจารณาปรมัติ แล้วจะเชื่อมโยงการพิจารณากิเลสแบบที่ยังมีบัญัติอยู่. ไม่ได้อาศันการกำหนดรู้ปรมัติกับการวิปัสสนาได้อย่างไร ผู้ถามเห็นว่าหลายบทความบรรยายเรื่องอัตตาและการลดอัตตาได้ดีมาก แต่ผู้อ่านยังไม่สามารถเชื่อมโยงการใช้การพิจารณากิเลสเข้าสู่กระบวนการของการวิปัสสนาได้ คำถามถามด้วยความจริงใจ มิได้เจตนาหรือ ถามคำถามที่เจือด้วยมานะเจตสิกขณะถาม

    • ดีแล้วครับที่ถามมาขอบคุณมากๆ ผมจะได้หัดตอบ ความเข้าใจในการปฏิบัติของเราอาจจะต่างกันอยู่บ้าง สัญญาของเราก็ต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ขอให้ใช้เวลาค่อยๆศึกษากันไป ค่อยๆดูกันไป ผมยินดีที่จะตอบ และอธิบายในสิ่งที่ผมเข้าใจ

      ขอสรุปในความเข้าใจของผมนะ การภาวนา คือการวิปัสสนาจนเห็นผล ผลคือรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง การจะมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงต้องไม่มีกิเลสในเรื่องนั้นๆ ต้องไม่มีนิวรณ์ 5 มากั้น ต้องไม่ลังเลสงสัยว่าการหมดกิเลสในเรื่องนั้นดีกว่าการมีกิเลสจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องมังสวิรัติหรือกินมื้อเดียว ข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นไปเพื่อขัดกิเลส อย่างกินมื้อเดียวนี่ก็เรียกว่าศีลเคร่ง แต่คนมีกิเลสจะไม่ยินดีกิน นี่มันไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง แต่คนที่เห็นความจริงตามความเป็นจริงจะยินดีกินมื้อเดียวด้วยใจที่เป็นสุข

      ศีลนี้เองคือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ เป็นสุตมยปัญญาที่พระพุทธเจ้าทิ้งไว้ให้ ท่านบอกว่าศีลดีที่สุดในโลก เราจะถือศีลระดับใดก็ได้ที่ถือไหว แต่กิเลสมันจะไม่ยอมง่ายๆหรอกนะ มันจะหาเหตุผลมาค้านแย้งดีไม่ดีหาเหตุให้ไม่ถือศีลไปเลย อันนี้มันขาดตั้งแต่สุตมยปัญญาแล้วคือไม่เห็นว่าศีลดี

      จะต้องเริ่มเห็นว่าศีลนั้นดีและปฏิบัติตามศีล ใช้จินตามยปัญญาไปจนกระทั่ง รู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงเป็นผลหรือภาวนามยปัญญาที่เกิดในตน เป็นสภาพปกติของศีลคือถือศีลโดยไม่คิดว่าถือ กลายเป็นสภาพนั้นอยู่ในตนอย่างยั่งยืน เกิดเป็นสภาพที่รู้ได้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง เข้าใจได้ด้วยตนเอง ว่าปัญญาที่รู้แจ้งเรื่องกิเลสในศีลนั้นๆมันดีอย่างนี้หนอ สุขอย่างนี้หรอ

      วิธีที่ได้อธิบายอยู่นั้นเป็นการกำจัดกิเลสไปที่ละตัว เริ่มจากเรื่องที่หยาบๆและเป็นภัยมาก ในเรื่องของความรักในหัวข้อนี้ เป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าให้ดีก็ลองกลับไปปฏิบัติกับกิเลสง่ายๆเช่น ติดกาแฟ ติดเนื้อสัตว์ ติดขนมที่เป็นภัยมาก หรืออะไรก็ได้ในฐานศีล 5 จนสามารถลด ละ เลิก สิ่งนั้นด้วยใจที่เป็นสุข ไม่วนกลับไปอยากเสพแม้ในเศษธุลีของจิตใจ จะใช้ประยุกต์ใช้วิธีที่ท่านเข้าใจและปฏิบัติอยู่ก็ได้ หรือจะลองศึกษาวิธีปฏิบัติของเราเพิ่มก็ได้เช่นกัน

      ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิบัติใดๆต้องเกิดผลที่ว่ากิเลสลดลงหรือสามารถดับกิเลสได้อย่างสิ้นเกลี้ยง เพราะเป็นตัวยืนยันว่าปฏิบัติถูกทางพุทธจริงตามหลักตัดสินพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า (สังขิตตสูตร ข้อ 143) การปฏิบัติใดที่ทำให้กิเลสไม่ลดนั้นเป็นการปฏิบัติที่เฟ้อ ส่วนจะอยากรู้ว่ากิเลสนั้นลดหรือเพิ่มต้องใช้ศีลมาเป็นตัววัด

      ผมยืนยันนะว่าการปฏิบัติที่เข้าใจและกระทำอยู่นั้นเกิดผลจริง ชีวิตดีขึ้นจริง เบากาย สบายหัว เพราะลดกิเลสหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตหนักได้

  4. panya

    ชอบหลายบทความของผู้เขียน แต่สงสัยคำว่าวิปัสสนาของผู้เขียนทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึง เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าวิปัสสนาในความคิดของผู้เขัยนอาศัยการพิจารณา. ผู้อ่านไม่แน่ใจว่า จะใช่กระบวนการพิจารณาที่คล้ายๆ กับ process of thinking หรือไม่ ถ้าเข้าใจผิดก็ขออภัยด้วย ซึ่งในทัศนคติของผู้อ่าน วิปัสสนาไม่ใช่process of thinking เพราะ การพิจารณาหรือการคิด เป็นสังขารขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 ซึ่งปัญญาที่ได้จากการภาวนานั้นต้องมาจากการปฏิบัติโดยขณะปฏิบัติไม่ได้ใช้ความคิด ซึ่งเมื่อใดที่คิดเมื่อนั้นไม่ใช่การรู้ แต่เมื่อรู้ว่ากำลังคิดขณะนั้นมีสติในเสี้ยววินาทีนั้นเรียกว่ามีปัญญาคล้ายๆกับการปฏิบัติโดยการลงไปรู้หรือobserve ความเป็นจริงที่เกิดภายในใจและกายของผู้ปฏิบัติโดยที่ขณะปฏิบัติไม่ได้รู้สึกว่ามีคน สัตว์ บุคคล เราเป็นใคร เราชอบ ไม่ชอบอะไรเพราะเท่ากับสะสมการมีตัวตนของเราและยังยึกติดกับเรื่องราวต่างๆอยู่ การภาวนาในความคิดของผู้อ่าน ครูบาอาจารย์สอนให่้เห็นถึงความสำคัญของการเห็นสภาพปรมัติที่มีเพียงธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่แสดง อาการเย็นร้อน อ่อนแข็งตึงไหว ให้เห็น ไม่ได้มีตัวตนของเรา ผู้อื่น. คนสัตว์สิ่งของ เพราะในขณะจิตนั้น. เท่ากับเราฝึกการละวางตัวตนของเรา และ ในวิปัสสนาญาณต่างๆที่เกินกว่าวิปัสสนญาณ3. เป็นต้นไปจะพัฒนาญาณได้ต้องอาศัยการภาวนา ซึ่งเมื่อได้วิปัสสนาญาน 16 ในครั้งแรกก็จะละสังโยชน์ เบื้องต่ำได้ 3 ข้อ ซึ่งได้โสดาบัญก็ยังคงละกามคุณไม่ได้ ฉะนั้นผู้อ่านไม่เข้าใจว่าเมื่อพิจารณากิเลสอย่างขุดรากถอนโคนโดยไม่ภาวนาโดยอยู่กับปรมัติอารมณ์ โดยอาศัยสติปัฏฐาน4มาใช้เป็นฐานของการปฏิบัติ ซึ่งนึกสงสัยว่าการพิจารณากิเลสเป็นสติปัฏฐาน4 ข้อใดแล้ววิปัสสนาญานจะพัฒนาได้อย่างไร

    http://youtu.be/byj5r8EeFMI

    การภาวนาในความคิดผู้อ่านคล้ายกับที่พระอาจารย์บรรยายในคลิบนี้
    ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะเห็นว่าบทความหลายบทความของผู้เขียนให้ประโยชน์ให้รู้จักโยนิโส และเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน แต่ก็นึกสงสัยคำว่าวิปัสสนาที่ผู้เขียนกล่าวถึง เพราะแตกต่างจากพระอาจารย์หลายท่าน ที่สอนในยุคปัจจุบัน แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้เวลาล่วงมาหลังจากพระพุทธปรินิพพานมาถึง 2558 ปี คำว่าวิปัสสนาในความคิดของบุคคลต่างๆย่อมแตกต่างกัน ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

    • ผมมองการภาวนาที่คุณหมายนั้นคือการทำสมถะ การใช้อุบายทางจิตกดสภาพให้จิตเข้าไปอยู่ในภพ จนเกิดฌาณ(ฤาษี)ไปตามลำดับ แน่นอนว่าเป็นสภาพที่ดูเหมือนสงบจากกิเลสเป็นวิธีที่สอนกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน เป็นปัญญาของสมถะที่ได้ในขีดที่กดความคิดเอาไว้ สภาพเช่นนั้นผมก็เข้าใจ การดับความคิดไปกำหนดรู้ในธาตุ มันก็เป็นอารมณ์กำหนดสมมุติขึ้นมา เป็นลักษณะของการใช้กสิณ เป็นความเข้าใจตามหลักสากลในปัจจุบันที่ผมเห็นแย้งในวิธีการปฏิบัติเหล่านั้นว่าไม่ใช่ทาง

      วิปัสสนาที่ผมเข้าใจคือการเข้าถึงความจริงตามความเป็นจริง จะยกตัวอย่างในเชิงปฏิบัติ เช่น ถ้าเราติดกาแฟ เราจะไม่มองกาแฟเป็นโทษหรอก เราจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง กิเลสมันจะบังไว้ ทีนี้ลองใช้วิธีที่คุณกล่าวมา มันทำลายความยึดมั่นถือมั่นในกาแฟได้ไหม มันอาจจะกดได้แต่มันกดได้แค่กามภพ รูปภพเท่านั้น กิเลสยังมีอรูปภพอีกหนึ่งซึ่งเป็นภพที่สมถะวิธีไม่มีวันข้ามไปได้ ถึงจะภาวนาตามวิธีของคุณจนมีสภาพไม่เสพ ไม่สนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้แจ้งถึงกิเลส เพราะมันใช้สภาพการกดข่มเข้ามา มันจะไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่ใส แต่ด้วยสภาพสงบจึงทำให้หลงเข้าใจได้ว่าตัดกิเลสได้ สภาพของฤๅษีนี่แหละน่ากลัวเพราะสามารถกดได้ข้ามภพข้ามชาติ

      วิปัสสนาที่ผมหมายนั้นไม่ใช่แค่การคิด แต่เป็นการพิจารณาสู้กิเลส ดังที่กล่าวไว้ว่าถ้าเราติดกาแฟ เราจะคิดยังไงมันก็ชอบกาแฟ การวิปัสสนาคือการทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทีนี้ความจริงมันขัดกับกิเลส เราจึงต้องพิจารณาความจริงเหล่านั้นลงไปในใจ หรือที่เรียกว่าทำให้เกิดโยนิโสมณสิการ แน่นอนว่ามันจะยังไม่เกิดตั้งแต่แรก มันจะเกิดก็ต่อเมื่อเรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงว่ากาแฟ ไม่มีประโยชน์ เป็นสิ่งไร้สาระ แต่แค่โยนิโสมณสิการได้นั้นก็ยังไม่ใช่ตัวจบ แน่นอนกิเลสอื่นๆก็เช่นกัน เราสามารถใช้ศีลที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในการขัดกิเลสก็ได้ หรือจะตั้งตบะทำสิ่งที่ดีขึ้นมาเองก็ได้ ซึ่งกิเลสของคุณจะขัดใจเสมอแล้วยังไง จะภาวนาให้ข้ามกิเลสนี้ไปได้อย่างไร ทำให้หมดกิเลสเหล่านี้ไปได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ลองพิสูจน์คุณก็ไม่รู้หรอก มันจะได้เพียงทฤษฏีที่ฟังเขามา แต่มันจะไม่เข้าใจในวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ

      การพิจารณาทำลายกิเลสนั้นเป็นการใช้สติปัฏฐาน 4 ทั้งองค์มาเป็นเครื่องมือในการขุดค้นหากิเลส ถ้าคุณแยกสติปัฏฐาน 4 เป็นตัวๆมาปฏิบัติมันจะกลายเป็นสมถะไป ซึ่งที่จริงแล้วสติปัฏฐาน4นั้นเป็นกระบวนการชำแหละกิเลส ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่เจริญต่อจากสติสัมปชัญญะอีกที ถ้าเราไม่สามารถแยกความต่างของสติในแบบต่างๆได้ เราก็จะหลงภาษา พอไม่มีสภาวะอีกก็เลยหลงไปกันใหญ่ การทำงานของสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่การแยกกาย เวทนา จิต ธรรม มาปฏิบัติกันเป็นตัวๆอย่างที่ทำกันมากในปัจจุบัน แต่ต้องทำไปพร้อมๆกันเป็นกระบวนเข้าตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม จบกระบวนในตัวเอง ซึ่งเหมือนกับการเอากิเลสเข้าเครื่องจักร แต่ในปัจจุบันเขาเอาสติปัฏฐาน 4 มาเป็นตัวบริกรรม เป็นตัวกำหนดในการทำสมถะเท่านั้นเอง

      สภาวะของอุเบกขานั้นมีทั้งเคหสิทตะและเนกขัมมะ ถ้าคุณไปหลงว่าอุเบกขาเคหสิทตะหรืออุเบกขาแบบบ้านๆเป็นตัวบรรลุธรรมนั้น คุณจะหลงไปอีกนานเลย เพราะถ้าปฏิบัติสมถะถึงขีดสุดก็จะได้อุเบกขาแบบนี้มาเป็นสามัญเช่นกันจะมีสภาพสงบ ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ไม่ฟุ้งซ่าน เหมือนผู้บรรลุธรรมเป๊ะๆ กลายเป็นฤๅษีไป ซึ่งในยุคกึ่งพุทธกาลนั้นมีฤๅษีอยู่มากมาย ถ้าคุณยังแยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไรกับพุทธก็จะทำให้คุณเสียเวลาเพราะไปติดกับภาพความสงบเช่นนั้น

      ผมเองยอมรับว่าวิธีที่นำเสนอนี้แตกต่างกันมาก แต่ก็ต้องบอกตามที่ผมเข้าใจจริงๆและเห็นจริงๆว่าสมถะกับวิปัสสนานั้นต่างกันอย่างไร เพราะทุกวันนี้ถูกใช้แทนกันหมดแล้ว บางทีเรียกว่าภาวนาแต่ก็ทำสมถะอยู่นั่นเอง พยายามอย่าให้ภาษามาเป็นตัวหลอก เอาสภาวะมาเป็นตัวกำหนดจะไม่สงสัย แต่ถ้าไม่มีสภาวะที่ถูกก็จะยังต้องศึกษากันจนกว่าจะหายสงสัย วิธีที่ยืนยันความถูกคือเรามีทิศทางชีวิตไปตามหลักของพุทธหรือไม่ เราโลภ โกรธ หลงน้อยลงหรือไม่ การปฏิบัติที่ถูกจะมีปัญญาญาณเกิดขึ้นเพื่อยืนยันความจริงมากมาย จนรู้จริงด้วยตัวเอง ไม่สงสัย ไม่สับสนกับวิธีปฏิบัติที่มีอยู่มากมายในสังคมทุกวันนี้

  5. panya

    วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ได้อาศัยกระบวนการนึกคิดเป็นหลัก แต่อาศัยการภาวนาที่ทำให้ลงไปรู้ความจริงของกายและใจที่เกิดกับมนุษย์ทุกคน ที่ไม่ได้ใช้บัญญัติเรื่องของภาษาลงไป แต่เป็นความจริงที่คนทุกชาติทุกภาษารับรู้ปรมัติได้เหมือนกัน และวิปัสสนาก็ไม่ได้ยึดติดอยู่กับดรื่องราวที่มีบุคคลตัวตนต่างๆ แต่ลงไปรู้ความจริงที่ไม่ได้คน สัตว์บุคคลตัวตน แต่ดูธรรมชาติของสิ่งต่างๆโดยการobserve ดูสิ่งต่างๆที่เป็นธรรมชาติที่เกิดกับใจและกายของเรา วิปัสสนานั้น เมื่อรู้ตัวว่าคิด. แล้วเห็นธรรมชาติของความคิด ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู้แบะดับไป ตามความเป็นจริง ไม่ได้ลงไปดูว่า คิดเรื่องอะไร ใคร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะอะไร ต้องขอโทษล่วงหน้า แต่อยากให้เน้นความหมายของวิปัสสนากรรมฐานที่พระนักปฏิบัติต่างๆแม้แนวการปฏิบัติต่างกัน แต่ก็เข้าใจความหมายของคำว่าวิปัสสนาเหมือนกันคือ ไม่ได้อาศัยเน้นการนึกคิด แบบ มีตัวตน บุคคล
    คิดอยู่ว่าได้พบกับผู้สนใจทางธรรม ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมิได้มีเจตนาลบ แต่ตั้งใจแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาและพัฒนาตนเอง ไปบนเส้นทางของการหลุดพ้น

    • ผมเข้าใจนะ วิธีปฏิบัติเช่นนี้ แพร่หลาย เข้าใจกันโดยมาก ผมคงไม่สรุปว่าอันไหนเป็นอย่างไร เพราะการปฏิบัติในยุคนี้มีมากมายหลายวิธี ทุกคนก็จะเห็นว่าสิ่งที่ตนเชื่อนั้นเป็นทางปฏิบัติที่ถูกที่ควร ถึงคุณจะบอกว่าวิปัสสนาเป็นแบบที่คุณเข้าใจแต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจริงๆมันจะเป็นแบบที่คุณเข้าใจ เพราะคุณได้เชื่อสิ่งที่คุณศรัทธาแล้วยึดมั่นถือว่านี่แหละคือวิปัสสนา มันทำให้คุณติดอยู่ในสมมุติสัจจะหรือภาษาบัญญัตินั่นแหละว่าวิปัสสนาต้องเป็นแบบนี้ เพียงแค่เพราะเขาว่ามันเป็นแบบนี้

      ในกาลามสูตรท่านบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อใครง่ายๆ หรืออย่าไปเชื่อใครเลย จนกว่าจะได้เห็นว่าธรรมนั้นเป็นธรรมที่เป็นกุศลจึงควรเข้าหา หรือธรรมนั้นเป็นอกุศลควรออกห่าง ทั้งนี้ทั้งนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้เราเข้าไปพิสูจน์ เพราะไม่มีใครที่จะมีสัมมาทิฏฐิตั้งแต่แรกหรอก การเห็นผิดเป็นถูกมันก็เป็นธรรมดาของคนเห็นผิด แน่นอนว่าเราต้องใช้เวลาหลายต่อหลายชาติกว่าจะค้นเจอเส้นทางที่ถูกจริงๆ เป็นกุศลจริงๆ

      แต่มันจะเป็นทางไหน ในเมื่อคุณก็เชื่อในแบบของคุณ ผมก็เชื่อในแบบของผม เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน แต่ทุกคนยืนยันว่าของตนเองนั้นถูก วิธีเดียวที่จะยืนยันได้คือเราสามารถปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ได้จริง เราทำได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ฟังเขามา เราต้องชัดในตัวเองจริงๆ จะพ้นทุกข์ก็พ้นไป จะเป็นฤๅษีก็เป็นไป ใช้ทั้งชีวิตนี่แหละพิสูจน์สัจจะ ว่าไปมันก็เหมือนเป็นการพนัน แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นการเรียนรู้ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้เราก็จะลังเลสงสัยในวิธีปฏิบัติที่มีอยู่มากมาย

      ในส่วนตัวผมเข้าใจวิธีที่คุณกล่าวมา แต่ผมมองว่าการพิจารณาเช่นนั้นยังตื้นเขินนักเมื่อเทียบกับกิเลสที่สั่งสมมาหลายภพหลายชาติ เราไม่สามารถใช้สูตรสำเร็จสูตรเดียวในการทำลายกิเลสได้ อย่างเก่งก็กดจิตตัวเองให้อยู่ในสภาพหนึ่งๆ ถ้าได้ศึกษาเรื่องกิเลสจะพบว่ากิเลสนั้นมีความลึกตื้นหนาบางต่างกัน การใช้วิธีเช่นที่กล่าวมาจะสามารถกดกิเลสในสภาวะหยาบๆได้ดี แต่ไม่สามารถทะลวงไปถึงตัวละเอียดได้ เรียกว่าไม่สามารถรับรู้ตัวละเอียดได้มากกว่า เพราะตัวหยาบยังไม่ได้ทำลาย เพียงแค่กดไว้

      วิธีที่คุณกล่าวมานั้น ไม่ได้เป็นไปตามหลักอริยสัจ ๔ ไม่ได้เห็นทุกข์ ไม่ได้หาเหตุแห่งทุกข์ ทำเพียงความดับทุกข์ (นิโรธฤๅษี) ไม่มีมรรค (สัมมาสังกัปปะ คือการคิด ทีนี้ท่านไม่คิดก็ไม่ใช่ทางแล้ว) // แต่จริงๆท่านก็คิดอยู่นะ มันจะเป็นความซ้อนอยู่ เหมือนเจอความคิดก็ดับความคิดแล้วก็มาคิด ทีนี้มาปฏิเสธความคิดมันก็งงไปกันใหญ่ ความคิดมันไม่ใช่ปัญหา สังขารไม่ใช่ปัญหา อย่าโฟกัสผิดจุด ปัญหาอยู่ที่กิเลสในความคิด ในสัญญา ในสังขาร ทีนี้พอปฏิบัติไม่เป็นก็ดับความคิดมันทั้งยวงเลย เก่งขึ้นไปอีกก็ดับสัญญาไปกันใหญ่ มันไม่ได้เกี่ยวกับความคิดหรือความจำอะไรทั้งนั้น มันเกี่ยวกับกิเลส

      วิธีวิปัสสนากรรมฐานที่ท่านกล่าวมานั้น มีอารมณ์ของวิปัสสนาตามวิธีปฏิบัติที่ผมเข้าใจอยู่บ้างในบางช่วงบางตอน แต่โดยมากจะเป็นสมถะ ซึ่งการวิปัสสนาที่ทำนั้นก็เป็นการวิปัสสนาแบบผิวเผิน เพราะไม่ได้เจาะลงไปในความยึดมั่นถือมั่นแต่ละตัวอย่างชัดเจน ว่าติดอะไร ยึดอะไร เพราะอะไร คือหาเหตุนะ แต่หาไม่ค่อยสุด

      ไหนๆก็ขอสรุปวิปัสสนาเลยว่า เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ) ลงไปที่อัตตา ซึ่งเป็นตัวที่ยึดมั่นถือมั่นจนเกิดภพและชาติขึ้นมา

      เมื่อเห็นต่างดังนี้ผมจึงแนะนำให้ลองพิสูจน์ดูว่าวิธีที่เข้าใจและปฏิบัติอยู่นั้นสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร มีมรรค และผลอย่างไร ถ้าทำถึงผลได้ก็ลองมาแบ่งปันกันก็ได้ว่าได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ ถ้าจะเอาให้หายสงสัยแล้วเราจะได้แบ่งปันกันเพื่อความกระจ่างในแนวทางที่หลากหลาย อาจจะมีเรื่องที่ท่านทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว แล้วผมจะลองทำตามดูด้วยวิธีของผม หรือจะลองเอาเป็นเรื่องที่ผมทำได้แล้วกัน เช่น กินมังฯ กาแฟ อาหารรสจัด กินมื้อเดียว เรื่องคู่ครอง เป็นต้น เมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้แล้วก็ลองมาแบ่งปันกันดู ผมยินดีที่จะทำการเรียนรู้นี้ไปพร้อมๆกัน เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ยังสงสัยในวิธิปฏิบัติอีกหลายท่านครับ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นสืบไปครับ

      อนุโมทนาบุญล่วงหน้าครับ 🙂

  6. Met

    ลองทำตามวิธีที่ท่านผู้เขียนเขียนเป็นวิทยาทานในเรื่องนี้ ขอบอกว่ายังทำไม่สำเร็จเลยครับ(แต่อ่านทุกหัวข้อในเรื่องที่เกี่ยวกับความรัก ได้คำตอบจากเรื่องเยอะมาก)

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply