Tag: การปฏิบัติธรรม
ความรักกับการปฏิบัติธรรม
เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่าการปฏิบัติธรรมกับการครองคู่มันไปด้วยกันได้
แม้จะได้ฟังสัจธรรมมาว่าการมีคู่นั้นเป็นทุกข์ เท่าที่ได้เรียนรู้จากพระไตรปิฎกมานี่ก็ไม่เห็นสุขเลย
แต่กิเลสข้างในมันก็ยังสั่งให้พยายามคิดหาทางจะมีคู่ไปด้วยเจริญในธรรมไป ด้วย …ดูสิกิเลสมันเก่งขนาดไหน เราว่าเราเก่งแล้ว กิเลสมันเก่งกว่าเราอีก มันหลอกเราไปอีกชั้นหนึ่ง
มาตอนนี้ก็บอกกันตรงๆอย่างไม่อายเลยว่า แต่ก่อนนี่มันหลงไปจริงๆ หลงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข เข้าใจว่าสิ่งนั้นสุดยอด หาเหตุผลมากมายให้การได้มีคู่นั้นดูมีประโยชน์และไม่ต้องรู้สึกผิดบาปใดๆ มันหลงไปไกลมาก
เรามุ่งมาศึกษาธรรมแล้วเรายังแสดงกิเลสของเราออกไปโดยที่เห็นว่ามันเป็นสิ่ง ดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แสดงมิจฉาทิฏฐิเราออกมาได้แบบหน้าไม่อาย ทั้งที่จริงๆมันน่าอายมากเลยนะ
ดังนั้นจึงได้นำความรู้ที่ได้มา พิมพ์ลงในบทความ “ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์” เพื่อให้ทุกท่านๆได้ร่วมเรียนรู้กัน
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา
การปฏิบัติธรรมนั้น หากคิดจะก้าวหน้าได้ไวเพื่อให้เรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยหนทางที่สั้นและง่ายที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางเป็นผู้ชี้ทาง มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน เสนอแนะ และตักเตือนกัน จึงจะสามารถเจริญไปได้เร็วที่สุด
การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มจากการเสาะแสวงหามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เพราะถ้าพยายามปฏิบัติไปทั้งที่ไม่รู้ทางก็คงหลงทางเสียเวลาไปเปล่าๆ
การแสวงหาครูบาอาจารย์นั้นต้องเริ่มด้วยการมีเหตุปัจจัยสองอย่างคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและการนำมาขบคิดพิจารณา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมักจะเกิดสภาพยึดมั่นถือมั่นเมื่อเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เมื่อปฏิบัติไปนานเข้าก็จะปิดใจ ไม่รับฟังแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากตน และนั่นอาจจะหมายถึงการปิดประตูสู่การพ้นทุกข์เลยก็ว่าได้
เพราะไม่มีใครรู้ได้เองหรอกว่า อาจารย์ที่ตนเจอนั้นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้าตัดสินด้วยทิฏฐิของคนที่ยังหลงทางแล้ว มันก็ดูเหมือนจะสัมมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเราชอบอะไร ถูกใจอะไร เราก็เหมาว่าสัมมาหมด เพราะคิดตรงกับเรา เป็นอย่างที่ใจเราหมาย และเมื่อคิดว่าถูกจึงปักมั่นลงไป
การพิสูจน์ว่าของจริงหรือไม่นั้นเกิดจากการนำธรรมของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม ซึ่งความเจริญนั้นจะสามารถวัดได้จากความโลภ โกรธ หลง ที่ลดน้อยลง สรุปง่ายๆว่าถ้าถูกทางกิเลสต้องลด ถ้าปฏิบัติตามแล้วกิเลสไม่ลดก็ควรจะทบทวนทิศทางและศึกษาแนวทางอื่นๆประกอบ
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะสามารถเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงได้ไว คือผู้ที่เปิดใจรับฟังการปฏิบัติที่หลากหลาย และนำหลักการเหล่านั้นมาปฏิบัติตามโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงสาระประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้นได้
แต่ถึงอย่างนั้นการจะได้พบครูบาอาจารย์หรือสหายธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกรรม นั่นคือเราไม่สามารถได้มากกว่ากรรมที่เราทำมา เราไม่สามารถพบอาจารย์ที่ถูกตรงได้เลย หากเราไม่มีกรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงหรือกรรมดีที่จะพาให้พบกับคนที่ถูกตรงได้ สรุปได้ว่า เราไม่สามารถพบกับสิ่งดีได้เกินกว่ากรรมดีที่เราทำมา
ดังนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมที่ว่า คนบางพวกไปศรัทธากับผู้บวชมาหากินกับศาสนาบ้าง ศรัทธาครูบาอาจารย์ที่ใช้เดรัจฉานวิชาบ้าง ศรัทธาอลัชชีบ้าง นั่นเพราะพวกเขามีกรรมที่ต้องไปศรัทธาคนเหล่านั้น มันหนีไม่พ้น จะพยายามอย่างไรก็จะต้องไปจมกับสิ่งเดิม เพราะมีกรรมที่เคยผูกกันมาหลายภพหลายชาติเป็นพลังดูดดึงที่มองไม่เห็น
ในทางเดียวกัน คนที่ทำดีมากๆก็เช่นกัน เขาก็จะมีพลังดูดดึงกันระหว่างคนดี ได้พบกับคนที่ดี ได้พบกับผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงจริง ได้เจอมิตรดี สหายดี เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมาเช่นกัน เพราะเคยเกื้อกูลคนดีมาหลายต่อหลายชาติ แล้วชาตินี้มันจะหนีไปไหนพ้น มันก็เจอแต่คนดี หลงไปในหมู่คนดีอยู่นั่นเอง
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่จะลิขิตเส้นทางให้ได้เจอกับคนดี ส่วนกรรมใหม่นั่นคือจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่ จะสนใจหรือไม่ หากได้เจอครูบาอาจารย์ที่คิดว่าสามารถชี้ทางให้พ้นทุกข์ได้ แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเรายังมีกรรมกิเลสที่ต้องเป็นทาสกิเลส ไปคอยเสพสิ่งต่างๆให้เสียเวลาปฏิบัติธรรมไปอีกหรือไม่
การมีกรรมเก่าผลักดันให้เจอคนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเจอได้ทุกชาติ กรรมดีมันก็มีหมดเหมือนกัน กรรมใดที่ส่งผลไปแล้วมันก็หมดพลังของมันเอง ทีนี้พอกรรมดีส่งผลให้เจอกับคนดี แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ให้เวลาไปกับการสนองกิเลส กรรมดีที่ทำมานั้นก็เสียเปล่า ส่วนกรรมชั่วที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็รอส่งผล ซึ่งมันก็ทำให้เสื่อมลงไปได้เรื่อยๆเช่นกันหากไม่ได้ทำกรรมดีเพิ่ม
ดังนั้นถ้าอยากเจอคนดี เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงไม่พาหลงทางจริงๆ ก็ให้ทำดีให้มากๆ เพียรทำดีโดยไม่ประมาท ขยันศึกษารับฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนยึดมั่นถือมั่น และนำมาพิจารณาหาประโยชน์ที่แท้ แม้ว่ากรรมเก่าจะมีพลังดีไม่มากนัก แต่กรรมใหม่ที่ทำนั้นทรงพลังมากกว่า ฟ้าไม่มีทางกั้นให้คนดีไม่พบกับทางพ้นทุกข์ได้นาน แม้จะหลงทางไปบ้างแต่ถ้าขยันทำดีไปเรื่อยๆ วิบากกรรมดีก็จะดลให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงในวันใดวันหนึ่งเอง
พอเจอผู้ชี้ทางแล้วได้ฟังธรรม นำมาศึกษาและปฏิบัติจนเกิดผล กิเลสลด ความโลภ โกรธ หลง เบาบาง ปฏิบัติศีลที่ยากได้ดีขึ้น เช่นสามารถมีศีล ๕ ได้โดยปกติทั้งกาย วาจา ใจ นิสัยดีขึ้น มีความสุขขึ้น มักน้อยกล้าจนมากขึ้น กล้าที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับผู้อื่นมากขึ้น สามารถที่จะรับรู้ถึงความเจริญเหล่านี้ได้เอง จนเข้าใจได้ว่าธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นของจริง ทำให้ลดกิเลสได้จริง ทำให้เกิดความผาสุกได้จริง ทำลายสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้จริง
เช่นจากที่เคยชอบกินขนมชนิดหนึ่งมาก ก็ประหารความอยากนั้นได้จริงๆ ,เคยกินเนื้อสัตว์ ก็หันมากินมังสวิรัติได้แบบปกติสุข , เคยกินหลายมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียวได้อย่างมีปัญญา , เคยอยากมีคู่ แต่ก็ทำลายความอยากนั้นจนสิ้นซากได้ต่อหน้าต่อตา พอมันทำได้จริงเช่นนี้ เอาวิธีปฏิบัติมาทำให้เกิดผลเจริญได้แบบนี้ มันก็หมดสงสัยอีก ไม่ต้องถามกันอีกว่าถูกหรือผิด เพราะถ้าผิดมันทำลายกิเลสไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทางที่ถูกเท่านั้นที่จะสามารถต่อกรกับกิเลสได้
นั่นหมายความว่ามีแต่สงฆ์สาวกแท้ๆของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถสอนวิธีทำลายกิเลสจนสิ้นซากได้ นอกเหนือจากนี้ไม่มี วิธีอื่นใดในโลกไม่มี วิธีจัดการกับกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นนอกจากนี้ไม่มี
พอรู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็ถือว่าจบภารกิจในการตามหาครูบาอาจารย์และมิตรสหาย เพราะรู้ว่าถ้าทำดีไปตามแนวทางนี้ก็จะได้พบกับคนที่ดียิ่งขึ้น คนที่เก่งกว่านี้ และที่แน่นอนคือเราสามารถทำตนเองนี่แหละให้ดียิ่งๆขึ้น จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นขีดความสามารถของกรรมใหม่ที่สามารถทำได้ แม้ว่ากรรมเก่าจะขีดเขียนมาเช่นไรก็ตาม แต่หากเราใช้ทุกวันของชีวิตเพียรสร้างกรรมดีใหม่ๆขึ้นมา โอกาสที่จะได้เรียนอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิตก็จะถูกเปิดเผยให้ได้ไขว่คว้ามา
ยกเว้นเสียแต่ชีวิตนี้ได้ทำอนันตริยกรรมลงไปแล้ว ประตูโอกาสทุกบานก็จะถูกปิดลง แม้จะมีทางแต่ก็ไม่เห็น แม้จะมีพระอรหันต์อยู่ตรงหน้าแต่ก็ไม่รู้ แม้จะมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ประกาศอยู่แต่ก็จะไม่เข้าใจ แม้ครูบาอาจารย์จะเก่งแค่ไหนแต่ก็ไม่มีวันจะเรียนรู้ได้ เรียกได้ว่าหมดโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้ คงทำได้อย่างมากแค่ทำดีเท่าที่กำลังปัญญาจะพอมี และรอวันตายไปฟรีๆอีกหนึ่งชาติ
– – – – – – – – – – – – – – –
1.5.2558
สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ
สมถะติดสุข ฤๅษีติดภพ ความฉิบหายของผู้ยึดมั่นถือมั่นในการปฏิบัติธรรมเพียงแค่ในกรอบของสมถะ
ในบทความนี้จะชี้ไปถึงความเห็นผิดของผู้ที่ติดภพในการสมถะแบบตรงไปตรงมา เพราะการหลงทางเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้พบกับความสุขแท้ เพราะหลงเพียงแค่สุขลวงของความสงบที่ได้จากสมาธิแบบมิจฉาทิฏฐิ
ผู้เขียนไม่ได้ต้องการข่มผู้ที่เน้นการปฏิบัติสมถะแต่อย่างใด เพราะหลายครั้งผู้เขียนก็จำเป็นต้องใช้พลังของสมถะเข้ามาร่วมในการปฏิบัติธรรมเช่นกัน เพียงแค่ต้องการให้ “ผู้ที่หลงในสมถะเพียงอย่างเดียว” นั้นได้พิจารณาถึงความยึดมั่นถือมั่นที่จะนำไปสู่ความเนิ่นช้า
จึงได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อเพื่อเสนอให้พิจารณาทั้งหมด 8 หัวข้อดังนี้
1). สับสนอลหม่านสมถะวิปัสสนา
ในปัจจุบันนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก มักสับสนกับบัญญัติ สมถะ วิปัสสนา และศัพท์อื่นๆอีกมากมายที่หลายต่อหลายคนได้นำมาตั้งชื่อให้เกิดความแตกต่าง ด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แนวทางหลักของการปฏิบัตินั้นมีด้วยกันอยู่สองวิธีคือสมถะที่เป็นอุบายให้เกิดความสงบทางใจ และวิปัสสนาที่เป็นอุบายให้เกิดปัญญา
ทีนี้ก็มีหลายสำนักที่มีความเห็นผิด ตั้งชื่อสมถะของตนเองว่าวิปัสสนาบ้าง ไม่ใช่ว่าเพราะเขาตั้งใจล่อลวง แต่นั่นเพราะเขาไม่สามารถเข้าใจวิปัสสนาได้ จึงมีสำนักวิปัสสนาที่พากันทำแต่สมถะเต็มไปหมด เข้าวัดถือศีลก็พากันทำแต่สมถะ แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นการปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็พากันไปปฏิบัติให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ซึ่งเป็นลักษณะของสมถะทั้งสิ้น
2). โลกนี้มีแต่สมถะ
พอมีสายสมถะมากเข้าและหลอมรวมวิปัสสนาที่ผิดเพี้ยนเข้าไปกับสมถะ โลกนี้จึงมีแต่การปฏิบัติสมถะ แม้จะมีชื่อว่าสมถะและวิปัสสนา ก็จะมีแต่สมถะ กลายเป็นเหมือนก่อนพุทธกาลที่มีแต่สมถะ
ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริงๆ ก็มักจะหลงในความสงบความสุขของสมถะได้ง่าย เพราะการฝึกสมถะนั้นจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ สามารถทนต่อสิ่งกระทบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบจนกระทั่งติดความสงบนั้น
พอมันพบความสุขจากความสงบก็จะไม่เอาอะไรแล้ว กลายเป็นโลกนี้มีแต่สมถะ แม้จะมีกำลังสติมาก เจโตมาก แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของพุทธเลย เหมือนโลกก่อนพุทธกาลยังไงอย่างนั้น
3). ตีทิ้งวิปัสสนา
ผู้ที่ติดสมถะมากๆและ “ไม่เข้าใจวิปัสสนา” จะตีทิ้งวิธีวิปัสสนาไว้ท้าย จัดไว้เป็นกระบวนสุดท้าย ไว้ทำทีหลัง ซึ่งจริงๆแล้วเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจเลยสมถะกับวิปัสสนานั้นทำงานคนละแบบกันและสามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่ต้องไปสลับกันทำ
ผู้ที่เข้าใจทั้งสมถะและวิปัสสนาจะสามารถใช้ทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกันไม่เหมือนกับคนที่หลงแต่สมถะ ที่ว่าจะทำสมถะสักทีก็ต้องมีเวลา ต้องไปวัด ต้องหาความสงบ อันนี้ยังไม่เข้าใจสมถะดีเสียด้วยซ้ำ เพราะการทำสมถะจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องไปสงบ แต่สมถะนั่นแหละคือตัวที่ทำให้จิตสงบ
ทีนี้พอเข้าใจวิปัสสนาไม่ได้ เข้าใจไม่รอบด้าน เข้าใจว่าการคิดพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคือการหยุดคิด มันก็จะตีทิ้งวิปัสสนา กลายเป็นคนติดภพติดป่าไป ทั้งๆที่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นให้คิด พูด ทำ ไปในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่ว่าหยุดคิดแล้วหนีโลกไปทำสมถะ แล้วกลับเข้าเมืองมาค่อยคิด ถ้าเข้าใจแบบนี้ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติมรรค ยังปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพรอยู่
4). สงบจนหลงว่าบรรลุธรรม
เมื่อทำสมถะเอามากๆ กำลังก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถกดกิเลสได้มากขึ้น ถึงขั้นกดโดยอัตโนมัติไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ กดจนทุกอย่างหาย ดับความคิด ดับสัญญาไปเลย
ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งไปได้ถึงอรูปฌานขั้นท้ายๆ แต่นั้นเป็นฌานฤๅษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ถึงจะได้มากแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม ซึ่งเป็นโชคดีของคนในสมัยนั้นที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีโอกาสได้รู้ความจริง
มาถึงในสมัยนี้ความเข้าใจในการปฏิบัติกลับผิดเพี้ยนและเอนเอียงในไปทิศทางของฤๅษี หมายเอาความสงบจากสมถะเป็นการบรรลุธรรม ยกตัวอย่างเช่นการนั่งสมาธิ รายละเอียดไม่มีอะไรมากก็เพียงแค่นั่งกดให้นิวรณ์ดับไป จึงเกิดสภาพของฌานไปตามลำดับ ซึ่งก็เกิดได้เป็นลักษณะของฌานโลกีย์ทั่วไป
ด้วยความที่ไม่คบสัตบุรุษ (ผู้รู้สัจธรรมหรืออาจารย์ที่สัมมาทิฏฐิ) ไม่มีกัลยาณมิตร จึงไม่มีผู้ตรวจสอบสภาวะเหล่านั้น เมื่อเกิดสภาพของฌานจึงหลงว่าตนนั้นบรรลุธรรม เป็นผู้หลุดพ้นบ้าง เป็นพระอริยะบ้าง
ทั้งๆที่มรรคหรือวิธีปฏิบัตินั้นผิดทางตั้งแต่แรก ผลที่ได้มาย่อมผิด แล้วไปยึดเอาผลที่ผิดเป็นผลที่ถูก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของโลก (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะการปฏิบัติสมาธิของพุทธนั้นไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การทำสมถะ ไม่อยู่ในหมวดของสมถะเลย ถ้าจะเรียกว่าสมาธินั้นก็ใช่ แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ ซึ่งคนละแบบกับสมาธิในมรรค 8
สัมมาสมาธินั้นเกิดจากการปฏิบัติสัมมาอริยมรรคทั้ง 7 องค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นสภาพของสมาธิ ไม่ใช่การไปนั่งหลับตาสมาธิกดจิตจบสงบไปแบบนั้น ถ้าทำเช่นนั้นมันจะต่างกับฤๅษีอย่างไร?
5). ปัญญาที่เกิดจากสมถะ
ผู้เข้ามาศึกษาธรรมใหม่ๆก็มักจะได้ยินคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” ซึ่งจริงๆแล้วคำนี้สามารถแยกอธิบายได้สองอย่าง แบบที่เข้าใจทั่วไปเลยก็คือ เจริญสติ ฝึกสมาธิ ฝึกสมถะไปมากๆแล้วปัญญาจะเกิดเอง กับอีกแบบคือปฏิบัติธรรมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดสติปัฏฐานชำแหละกิเลสจนเกิดปัญญา
ปัญญาของสมถะจะเป็นในกรณีแรก และวิปัสสนาจะเป็นกรณีที่สอง โดยส่วนมากแล้วมักจะตกในกรณีของสมถะคือฝึกสติเข้าไปมากๆ เดี๋ยวปัญญามันจะมาเอง สรุปคือการปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรนอกจากฝึกสติ ทำสมาธิไปเรื่อยๆแล้วปัญญามันจะมาเอง …มันจะง่ายขนาดนั้นจริงหรือ?
ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดผลจะเห็นว่าปัญญาที่ได้จากการสมถะและวิปัสสนาเป็นคนละระดับกัน ปัญญาในสติมาปัญญาเกิดของสมถะนั้นจะเป็นปัญญาโลกียะทั่วไป เกิดจากกิเลสสงบเท่านั้น ซึ่งสายสมถะมักจะสอนว่าให้จิตว่างจากความคิด หรือให้หยุดคิดก่อนปัญญาจึงจะเกิด นี้คือมรรคของสมถะ ซึ่งต่างไปจากมรรคของพุทธ
เพราะปัญญาของพุทธนั้นเป็นปัญญารู้แจ้งกิเลส ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง ไม่ได้ผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้เกิดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่ใช่เรื่องลึกลับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ก” เพราะปัญญานั้นต้องสร้างขึ้นมาเอง พิจารณาเอาเองจนเกิดปัญญา ใครทำให้ก็ไม่ได้ นั่งสงบแค่ไหนก็ไม่ได้ ไม่สร้างเหตุแล้วจะมาหวังผลจากไหน? มันต้องคิดเอา ทบทวนเอา พิจารณาเอา พิจารณาที่ไหน? ก็พิจารณาไปที่เกิดกิเลสนั่นแหละ
ต่างจากปัญญาสมถะที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดับจิต ดับความคิด ดับความขุ่นเคืองโดยใช้วิธีต่างๆของสมถะซึ่งแล้วแต่จะเรียก ก็สามารถได้ความสงบและปัญญาในระดับที่กิเลสสงบได้แล้ว แต่จะหมายความว่านั่นคือปัญญาที่เป็นผลของวิปัสสนานั้นจะขอยืนยันว่า “ไม่ใช่”
6). สติสัมปชัญญะไม่เหมือนสติปัฏฐาน ๔
การฝึกสติทุกวันนี้ส่วนมากและมากที่สุดจะเป็นการฝึกความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือการฝึกสติสัมปชัญญะ แม้สิ่งที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นการฝึกสติธรรมดา ที่เอากาย เวทนา จิต ธรรม มาเป็นที่หมายบ้าง ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านั้นก็เป็นเพียงการฝึกสติทั่วไปเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณารายละเอียดก็จะดูเหมือนๆกันไปหมด ต่างกันที่จุดที่เพ่งสมาธิ จุดที่รวมจิตลงไป สุดท้ายก็กลายเป็นการฝึกสมถะทั้งหมดอยู่ดี
สติสัมปชัญญะกับสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำงานไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่ยังแยกไม่ออก ไม่กระจ่างในความต่างก็จะแยกเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นตัวฝึกสติสัมปชัญญะ ซึ่งจริงๆแล้วสติปัฏฐาน ๔ เป็นกระบวนการชำแหละกิเลสที่ทำงานต่อเนื่องกันตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่แยกกันทำ เพราะมันแยกไม่ได้ องค์ธรรมทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน ที่แยกกันทำได้เพราะไม่เข้าใจแล้วก็นำมาฝึกปฏิบัติปนเปกันไประหว่างสติสัมปชัญญะและสติปัฏฐาน ๔
ในอวิชชาสูตรยังมีอ้างอิงไว้ว่าต้องทำสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อม จึงจะทำให้เจริญถึงการสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม เมื่อสำรวมอินทรีย์ให้ถึงพร้อม จึงเกิดสุจริตทั้งกายวาจาใจ เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ ดังนั้นสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่ได้ทำงานเป็นตัวกดหรือตัวรู้อย่างทั่วๆไป แต่ทำงานเครื่องชำแหละกิเลส เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนถึงพร้อม จึงจะเจริญต่อถึงโพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติต่อไป
จึงจะเห็นได้ว่า ก่อนจะถึงสติปัฏฐานนั้น สติสัมปชัญญะต้องพร้อม สำรวมอินทรีย์แล้วทั้งหมด เกิดสุจริตสามแล้วด้วย แล้วยังเหลืองานอะไรให้สติปัฏฐานทำต่อ? ก็มีแต่ชำแหละให้เห็นตัวกิเลสจริงๆเท่านั้นแหละ ไม่ใช่งานของการกดข่มหรือทำให้เกิดสภาพรู้ตัวอะไรอีก เพราะการกดจิตให้สงบ มันทำไปตั้งแต่ขั้นตอนก่อนหน้านั้นแล้ว
7). การแยกปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา
การยึดสมถะนั้นเกิดจากความเห็นผิด เพราะเห็นเพียงว่าการมีสติเพียงอย่างเดียวก็สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแค่สะสมสติให้เต็มรอบก็จะสามารถหลุดพ้นได้ ถ้าถามว่าหลุดได้ไหมมันก็หลุดได้แบบฤๅษีนั่นแหละ สมถะก็มีมรรคและผลแบบสมถะเหมือนกันและทำให้หลงบรรลุธรรมได้ง่ายเหมือนกัน
ความไม่เข้าใจไตรสิกขา หรือการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาว่าแท้จริงแล้ว สามสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสิ่งเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน มันไปด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ส่งเสริมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติเพียงแค่เพิ่มกำลังจิตหรือกำลังสติแล้วมันจะได้ศีลและปัญญาไปด้วย
หากไม่เข้าใจว่าทั้งสามสิ่งนั้นทำงานร่วมกันอย่างไรจะเกิดสภาพของการปฏิบัติอย่างเดียวจนสุดโต่ง ในทิศทางของการเพิ่มกำลังจิตก็จะเป็นการเจริญสติ ทำสมาธิ แบบต่างๆ ซึ่งปลายทางก็คือฤๅษีนั่นเอง
การปฏิบัตินั้นต้องเริ่มจากศีล ไม่ใช่แค่การถือศีล แต่เป็นการศึกษาศีล ว่าจะทำอย่างไรเราจะสามารถถือศีลนั้นด้วยใจบริสุทธิ์ ศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรกับกิเลส เมื่อเห็นกิเลสก็จะต้องใช้กำลังจิตในการข่มใจ และปัญญาในการพิจารณาทำลายกิเลส ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกิเลสตาย ก็เพิ่มศีลเข้าไปอีก อธิศีลให้ยากขึ้นอีก นี้คือไตรสิกขาที่ศีล สมาธิ และปัญญาที่ทำงานไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง
เพราะเมื่อเพิ่มศีล มันก็ต้องยกระดับจิตและปัญญาเพื่อที่จะชำระกิเลสในศีลนั้นๆให้บริสุทธิ์ มันจึงเป็นการสร้างความเจริญทั้งกระบวนการไปพร้อมๆกัน ผู้ปฏิบัติจึงมีศีล สมาธิ ปัญญาที่แกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ
8). ไม่แสวงหาอาจารย์
มาถึงต้นเหตุจริงๆที่ทำให้คนติดสมถะก็คือการไม่แสวงหาอาจารย์ มีความคิดเห็นจำนวนมาก เห็นว่าไม่ต้องแสวงหาอาจารย์ให้ยุ่งยาก บ้างก็ว่าอาจารย์อยู่ในตน ซึ่งถ้าความหมายนั้นคือการเพียรปฏิบัติในตน รู้ในตนนั่นก็ถูกของเขา
แต่ในความจริงแล้วการปฏิบัติธรรมในแบบของพุทธไม่มีอาจารย์ไม่ได้ ยกเว้นเขาเหล่านั้นจะมีบุญบารมีมากพอที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ในหัวข้อนี้จะเอาค่ามาตรฐานกึ่งพุทธกาลที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนบุญน้อยมาเกิดเป็นตัวอ้างอิง
คนผู้ไม่แสวงหาอาจารย์แล้วคิดว่าตนเองนั้นปฏิบัติจนเข้าใจเองได้นั้นโดยมากแล้วมักจะเป็นคนเมาอัตตา คนแบบนี้จะขอผ่านไปก่อนไม่อธิบายในหัวข้อนี้ อีกส่วนคือผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ตนเองนั้นแหละคือผู้บรรลุธรรม ในหัวข้อนี้จะมีขยายในประเด็นนี้
ก่อนจะเข้าประเด็น จะขอเสริมในเรื่องของการแสวงหาอาจารย์เสียก่อน ในอวิชชาสูตรได้แสดงให้เป็นว่าต้องได้พบสัตบุรุษ ( ผู้มีสัจธรรม เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ หรือพระอริยะ ) เสียก่อนจึงจะสามารถเจริญในธรรมได้ และสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ยังระบุว่าต้องรู้ว่า มีผู้รู้โลกุตระธรรมอยู่ในโลกนี้ แล้วต้องรู้ด้วยว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน และเข้าไปศึกษาให้รู้แจ้ง ทั้งนี้ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะอริยสาวก ดังนั้นหากไม่มีสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้สาธยายธรรมนั้นให้ฟัง ก็อย่าหวังเลยว่าชาตินี้จะบรรลุธรรม
เพราะในเมื่อตนเองไม่รู้โลกุตระธรรม แล้วไม่ได้ฟังโลกุตระธรรม แล้วจะเอาผลแบบโลกุตระมาจากไหน ไม่มีเหตุมันก็ไม่มีผล ศึกษาและปฏิบัติแบบโลกียะมันก็ได้แบบโลกียะ บ้างก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปตามเรื่องตามราว ตามวิบากบาปของแต่ละคน
ดังนั้นจึงขอสรุปไว้ในเรื่องของการหาอาจารย์ว่า ถ้ายังไม่เจออาจารย์ที่มั่นใจว่าใช่จริงๆ ปฏิบัติไปก็เท่านั้น ปฏิบัติไปก็หลงทาง สู้หยุดชั่วทำดีไปเรื่อยๆจะดีกว่า
มาต่อในส่วนของผู้ที่แสวงหาอาจารย์แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์ของตนนั้นของจริง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเหล่านั้นเป็นของจริง แล้วอีกหลายท่านไม่จริงอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไร? ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วเราจะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเชื่อตนเองได้อย่างไร
มีแต่คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คนที่มีปัญญาจะรู้ว่าตัวเองโง่ ดังนั้นจึงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วใช้เวลาศึกษาพิจารณาธรรมะของหลายๆสาย ทดลองพากเพียรปฏิบัติจนเกิดผลเจริญขึ้นในตนเอง ทั้งยังมีจิตที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างในการปฏิบัติจึงจะสามารถเรียนรู้จนเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิข้อ ๑๐ ได้ คือการที่รู้แล้วว่าอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีนั้นมีอยู่ รู้ด้วยว่าใคร เพราะมีปัญญาเกิดขึ้นในตน นั่นเพราะตนเองปฏิบัติตามก็สามารถพ้นทุกข์ได้จากธรรมของท่านเหล่านั้นนั่นเอง
แต่โดยมากจะไม่เป็นเช่นนั้น มักจะยึดอาจารย์จนกลายเป็นอัตตา แต่ที่ซวยที่สุดคือยึดอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดอาจารย์ที่เป็นฤๅษี ก็เลยพากันติดภพติดสุขกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ พอติดสงบติดสุขแล้วมันก็ยึดมั่นถือมั่น พอยึดมั่นถือมั่นว่าของตัวเองถูกก็เริ่มว่าของคนอื่นผิด พอยึดมากๆก็จะเริ่มไปกล่าวหาว่าตนเองถูกผู้อื่นผิดไปเรื่อย กล่าวหาคนที่ผิดก็ได้วิบากบาปส่วนหนึ่ง แต่วันหนึ่งก็จะมีโอกาสไปกล่าวหาผู้ที่ถูกซึ่งวันนั้นเองเป็นวันที่นรกเปิดต้อนรับผู้ที่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะการเพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทำให้มีวิบากบาปอันแสนจะเจ็บปวดรวดร้าวน่าสยดสยองยิ่งกว่าความตายด้วยกัน ๑๑ ประการ ใครเมาอัตตามากก็จะมีสิทธิ์ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่นได้ นี้แหละคือความซวยของผู้ที่ไปยึดอาจารย์ที่ผิด อาจารย์ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่สามารถทำให้กิเลสลดได้จริง ไม่สามารถทำให้เกิดผลเจริญได้จริง ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้กิเลสโต กามหนาอัตตาจัดขึ้นเรื่อยๆ
จึงสรุปปัญหาทั้งหมด 8 ข้อรวมที่ประโยคนี้ว่า เลือกอาจารย์ผิด ก็ปฏิบัติผิดกันไปข้ามภพข้ามชาติ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทางผิดก็ล้างไม่เป็น ทางที่ถูกก็ไม่รู้ แถมยังมีโอกาสไปเพ่งโทษคนดี ปรามาสในธรรมของคนที่ถูกอีก ไม่รู้จะต้องวนเวียนปฏิบัติผิดไปอีกกี่ภพกี่ชาติ จึงจะสามารถกลับตัวมาปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควรเสียที
เหมือนในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นดีในธรรมของพระพุทธเจ้า คนบนโลกมีมากมาย แต่คนที่ศรัทธานั้นมีเพียงหยิบมือเดียว
– – – – – – – – – – – – – – –
8.4.2558
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
สมถะ-วิปัสสนา ความแตกต่างในลักษณะของการเกิดดับ
มุมมองต่อการเกิดดับของกิเลสจะแตกต่างกันไปตามวิธีปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนาจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเพราะมีการทำงานที่แตกต่างกัน
ผู้ที่เรียนรู้สมถะ
สมถะคือวิธีการพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม มีใช้กันทุกศาสนา โดยมากจะอยู่ในรูปการทำสมาธิ การเจริญสติในแบบต่างๆ การระลึกรู้ การคิดบวก การใช้ข้อธรรมดีๆเข้ามาจัดการกับการเกิดดับของจิตใจ โดยแนวคิดหลักๆคือการใช้อุบายเข้ามาควบคุมใจ ซึ่งสมถะจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติของทุกๆศาสนา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นมาก่อนศาสนาพุทธ และจะอยู่คู่โลกไปอีกนานแสนนานแม้ว่าพุทธจะเสื่อมสลายไปแล้วก็ตาม
มุมมองของสมถะต่อการเกิดและดับคือมองว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในแบบเปิดปิด ( on / off ) คือมีเกิด ก็ต้องมีดับ ดังนั้นหลักของสมถะคือกระทำความดับไม่ให้เกิด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายเหมือนปิดสวิตซ์ไฟ แต่การจะดับจิตหรือความคิดที่เกิดขึ้นมาได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดับได้ทันที
สมถะจึงต้องการมีฝึกเช่นกัน เพื่อที่จะใช้กำลังของจิต ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด เข้ามากดข่มจิตที่เกิดขึ้นนั้นๆให้ดับไป และหมายเอาว่าถ้าสามารถทำความดับให้ต่อเนื่องจนเป็นสมาธิได้ ก็จะบรรลุธรรม
นี้คือทิฏฐิของผู้ที่ฝึกแต่สมถะ ซึ่งก็จะมีมรรคผลแบบสมถะ ได้ความสงบ สามารถดับความคิด ดับจิตที่เกิดได้ในระดับอัตโนมัติ คือดับได้โดยไม่ต้องใช้สติไปรู้ หรืออีกนัยหนึ่งคือกดข่มโดยไม่มีสติอย่างเป็นธรรมชาติ สภาวธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ติดสงบ ติดภพ ติดสภาพของฤๅษี ที่หลงว่าสมถะนั้นคือทางบรรลุธรรม
บ้างก็หมายเอาว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา ทำให้หลงอยู่กับการกระทำความดับในแบบเปิดปิดเช่นนี้ โดยไม่เข้าใจเหตุปัจจัยของรูปและนามอย่างแท้จริง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถกดข่มกิเลสได้ มีรูปสวย ดูดีไปจนตาย แม้จะกดข่มได้ข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกเป็นสิบเป็นร้อยชาติ แต่ความเกิดนั้นก็จะยังเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี
ซึ่งวิธีการดับด้วยสมถะนี้เอง เป็นเรื่องที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย มีสอนกันโดยทั่วไป วิธีการก็ไม่ยาก แค่พยายามกดไปเรื่อยๆ กดข่มไป คิดบวกไป ตัดรอบไป ทำเป็นลืมไป ฯลฯ เรียกว่าเจอผัสสะเข้ามากระทบแล้วก็ทำลายสภาพจิตที่เกิดเวทนาสุขทุกข์นั้นเสีย
ด้วยวิธีสมถะนี้เอง ทำให้หลายคนสามารถถือศีลที่ยากๆได้ เพราะใช้การกดข่มอย่างต่อเนื่อง พยายามบีบบังคับความอยากด้วยอุบายทางใจไม่ให้โผล่หน้าออกมา แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเพียงการถือศีลในแบบสีลัพพัตตุปาทาน คือการถือศีลอย่างงมงาย ไม่มีปัญญา เขาว่าดีก็ถือ เขาว่าเป็นกุศลก็ถือ ไม่ได้เข้าใจในสาระและข้อปฏิบัติเพื่อการศึกษาในศีลนั้นๆ ดังนั้นการถือศีลยากๆได้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุธรรม เพราะสามารถใช้การกดข่มหรือวิธีของสมถะเข้ามาบริหารจัดการได้
ผู้ที่เรียนรู้วิปัสสนา
โดยปกติแล้ว ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถเข้าใจสมถะอย่างถ่องแท้ด้วย นั่นเพราะสมถะคือพื้นฐานของการปฏิบัติในทุกๆศาสนา แม้ไม่มีศาสนาก็เป็นนักสมถะที่เก่งได้ แต่วิปัสสนานั้นเป็นกระบวนการของพุทธเท่านั้น หากจะนับจำนวนชาติที่หลงผิดต่อจำนวนชาติที่เห็นถูกตรง ย่อมปฏิบัติกันผิดๆมามาก ซึ่งในการปฏิบัติที่ผิดเหล่านั้นมักจะมีการใช้สมถะเป็นวิถีทางหลักอยู่แล้ว นั่นหมายถึงก่อนจะมาเรียนรู้วิปัสสนาก็มักจะสะสมบารมีเกี่ยวกับสมถะมาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วกันมาไม่มากก็น้อย
วิปัสสนานั้นคือการทำให้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง โดยรู้เหตุปัจจัยแก่กันและกันทั้งหมดของความเกิดและความดับ รู้แจ้งโทษชั่วของกิเลสที่เกิดตลอดจนถึงความจางคลายละหน่ายจากกิเลสไปโดยลำดับ โดยมีญาณปัญญารู้ถึงระดับของกิเลสในตน
ปัญญาที่เกิดขึ้นจากวิปัสสนาจะกระจ่างแจ้งคนละระดับกับวิธีสมถะ เพราะเป็นปัญญาคนละโลก สมถะจะได้แค่ปัญญาโลกียะ ส่วนวิปัสสนาจะได้ทั้งปัญญาโลกียะและปัญญาโลกุตระ โดยหลักแล้วแม้สมถะจะเน้นไปที่สติ ดังคำว่า “สติมาปัญญาเกิด” แต่หากยังใช้เพียงวิธีของสมถะก็จะได้แค่ปัญญาโลกียะเท่านั้น เป็นปัญญาที่มีอยู่ในระดับที่กิเลสไม่กำเริบเท่านั้น ไม่ใช่ปัญญาในระดับของการชำระกิเลส
วิปัสสนานั้นจะไม่ได้ทำเพื่อการดับในทันทีเหมือนสมถะ เพราะรู้แน่ชัดว่ากิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จนทำให้จิตใจหวั่นไหวนั้นมีปริมาณมาก จะจำกัดทีเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีไว้ศึกษาโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด กิเลสก็เช่นกัน มันมีสภาวะที่ละเอียดลึกลงไปตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งถ้าวิปัสสนาอย่างถูกตรงจะสามารถทำลายทั้งสามภพนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติสมถะจะไม่ได้ทำลายภพ แต่จะเป็นการกดตัวเองเข้าไปอยู่ในภพ และกดข่มไปได้อย่างมากสุดก็แค่อรูปภพ จึงไม่มีวันหลุดพ้นจากกิเลสนั่นเอง
วิปัสสนานั้นจะทำให้เกิดปัญญาเจริญไปโดยลำดับ มีมรรคผลไปโดยลำดับ เติบโตไปทีละนิด กิเลสลดลงไปตามลำดับ ซึ่งอาจจะมีกิเลสเพิ่มบ้างในกรณีเกิดความทรมานจากการปฏิบัติธรรมแล้วย้อนกลับไปเสพตามกิเลสบ้างในบางคราว แต่โดยรวมแล้วจะมีทิศทางที่จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นการเกิดดับของวิปัสสนาจะเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการจนสุดท้ายดับเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดได้ จึงกลายเป็นสภาวะดับตลอดกาล ไม่มีวันเกิดอีก ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปอีกต่อไป เพราะเป็นการดับที่ถาวร ไม่มีเชื้อของกิเลสอีกแล้ว
วิธีของวิปัสสนานั้นเห็นผลไม่ได้ง่ายๆเหมือนอย่างวิธีสมถะ เพราะต้องอาศัยความเพียรที่ถูกตรงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผล ต่างจากวิธีสมถะที่สามารถดับกันได้ชัดๆ จนบางครั้งสมถะวิถีเหล่านั้นกลายเป็นหลักปฏิบัติของคนที่มักง่าย หวังบรรลุธรรมไว เข้าใจว่าแค่ดับให้หมด ดับให้ได้ ดับให้ต่อเนื่องก็บรรลุธรรมแล้ว ทั้งที่จริงแล้วทั้งหมดนั้นยังไม่เข้าหลักของพุทธเลย
ทั้งนี้สภาพที่จะมียืนยันความเจริญของการปฏิบัติวิปัสสนานั้นละเอียดล้ำลึกกว่าสมถะมาก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนไว้ให้เป็นแนวทางปฏิบัติและตรวจสอบกันทั้ง วิปัสสนาญาณ ๙ ,ญาณ ๑๖(โสฬสญาณ),จรณะ ๑๕, เจโตปริยญาณ ๑๖ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นสภาพความเจริญในจิตวิญญาณของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
31.3.2558