Tag: การปฏิบัติธรรม

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

July 25, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,497 views 1

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

การจะเป็นคนโสดที่มั่นคงกับความโสดได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีคนที่ถูกใจเข้ามาก็ยังยินดีในความเป็นโสดได้อย่างผาสุกนั้น เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักหากเรามีการศึกษาที่ถูกหลัก

ศาสนาพุทธกับการมีคู่

ศาสนาพุทธไม่ได้มีกฎห้ามฆราวาสมีคู่ การมีคู่ครองนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การเป็นโสดก็เป็นสิทธิที่พึงได้เช่นเดียวกัน

ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับความรักดังเช่นว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ การมีคู่นั้นเป็นดั่งบ่วงที่คล้องเราไว้กับความทุกข์ แต่ผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้นมีอยู่ เช่น การมีคู่รักนั้นคือความสุขคือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือเขาจะเข้าใจว่ารักนั้นมีทุกข์จริง แต่ก็มีสุขร่วมด้วย หรือการมีคู่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้ โดยรวมๆ แล้วคือพยายามสรรหาข้อดีของการมีคู่ ซึ่งหมายความว่ามีทิศทางไปทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ผู้ที่หลงผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ก็จะไปในทิศทางที่เป็นทุกข์

ตามหาแนวทางปฏิบัติ

เมื่อเราต้องการจะพัฒนาตนเองไปสู่ความโสดที่ผาสุกและยั่งยืน ไม่ใช่โสดรอเสพ ไม่ใช่โสดเพราะหาไม่ได้ แต่เป็นความโสดที่มั่นใจแล้วว่านี่แหละคือทางแห่งการพ้นทุกข์ ทางอื่นไม่ใช่ แม้เรามีความเห็นที่ตรงไปสู่ทางพ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ส่วนเป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ และการจะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ง่าย มารมักจะแปลงร่างมาลวงให้หลงได้เสมอ มาในคราบเทพบุตรบ้าง มาในคราบเทพธิดาบ้าง

เมื่อทางปฏิบัตินั้นดูไม่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับคุณค่าของความโสด ผู้ที่มีความเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือความผาสุกที่สุดแล้ว การมีคู่ครองนั้นเป็นทางแห่งทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพที่ทุกข์ดับ และรู้วิธีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ ซึ่งเข้าใจภาวะนั้นจริงในตนเอง เป็นในตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องกันตามตำรา มีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่เวียนกลับไปโสด หรือเหลาะแหละโลเล เป็นไม้ปักเลน

เมื่อได้เจอกับผู้รู้แล้วก็ศึกษาตามที่ท่านเหล่านั้นเป็น เพื่อที่เราจะได้มีหลักยึดในการปฏิบัติว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริงเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตาม เราก็จะได้ผลเหล่านี้เช่นกัน

คัมภีร์คนโสด

คู่มือคนโสดที่ตกทอดกันมาหลายพันปีนั้น เป็นสมบัติที่ชาวพุทธรู้จักกันดี นั่นคือพระไตรปิฎก แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาหลากหลาย แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “โทษภัย” ของการมีคู่อยู่ไม่น้อย เช่นในอนุตตริยสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้ภรรยานั้นเป็นลาภก็จริง แต่ก็ถือเป็นลาภเลว หรือ “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด   เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต,   ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ยิ่งถ้าอ่านเกี่ยวกับพระวินัยของผู้บวชเพื่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีเลยว่า ศัตรูชีวิตก็คือสตรี…

หนีรอตาย หนีรอโต

โดยพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจอกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบใจ ก็ควรจะหลีกหนีหรือรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดจนเกินไป จนจิตไปสะสมความรักใคร่ที่มากขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปนั้นทำตรงกันข้าม คือมุ่งหน้าหาสิ่งที่ตนเองชอบใจ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มากขึ้น

การหนีห่างออกมานั้น แม้จะช่วยไม่ให้เกิดการปะทะที่มากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะหนีได้ตลอดไป ผู้ที่เอาแต่หนี ไม่ยอมศึกษาเพื่อให้ความอยากมีคู่นั้นจางคลายลงไป ก็ทำได้เพียงแค่ “หนีรอตาย” เท่านั้น ไม่พลาดชาตินี้ ก็ไปพลาดชาติหน้า การหนีนั้นแท้จริงแล้ว ก็เพื่อใช้เวลาในช่วงที่ห่างออกมาเร่งศึกษาและปฏิบัติตนให้พ้นจากความอยากมีคู่ ให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นในความโสด ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่นั้น การหนีนี้คือ หนีเพื่อรอการเติบโต หรือ “หนีรอโต

ศึกษาเพื่อก้าวข้ามความอยากมีคู่

การศึกษาของพุทธนั้น มีไว้เพื่อความเจริญโดยลำดับ มิใช่เพื่อดับสิ้นเกลี้ยงในทันที ซึ่งจะมีความเจริญพัฒนาไปตั้งแต่ คนโสดที่อยากมีคู่ (กามภพ) ไปเป็นคนโสดที่ยังอยากมีคู่แต่เห็นโทษก็เลยไม่มีคู่ (รูปภพ) ไปเป็นคนโสดที่ไม่ยินดีในการครองคู่แต่ลึกๆ แล้วยังคงเหลือความอยากมีคู่ ยังมีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ยินดีในความโสดอย่างเต็มที่ (อรูปภพ) ไปจนถึงขั้นดับความอยากมีคู่จนสิ้นเกลี้ยง

การที่เราจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อข้ามความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องเริ่มจากศีล คือมีเจตนาละเว้นการครองคู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ เมื่อมีเป้าหมายที่จะขัดเกลากิเลสนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาจิตของตนด้วยสมถะ เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดลมหายใจ หรือจะเป็นสมถะในการงานต่างๆ เช่น ขุนดิน ตัดกระดาษ เย็บผ้า ออกกำลังกาย โยคะ ฯลฯ ฝึกจิตให้เกิดความสงบบ่อยๆ ก็จะสะสมเป็นกำลังของจิต ที่จะช่วยเพิ่มพลังไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อต้องเผชิญกับเนื้อคู่ ( ตัวเวรตัวกรรม )

ในส่วนของปัญญานั้น เกิดจากการรู้แจ้งโทษภัยของการมีคู่ได้ครบทุกเหลี่ยมทุกมุมตามที่ตนเองเคยหลงติดหลงยึด ซึ่งการจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องแก้ไขความเห็นผิดต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ด้วยประสบการณ์ของผู้รู้ และทำความรู้นั้นให้มีในตน

เดิมทีนั้นเรามีแต่อธรรม แม้จะอยากเป็นโสด แต่ก็ยังเป็นเพียงความใฝ่ดี ยังไม่เกิดผลดีนั้นจริง เราก็ต้องเอาธรรมที่ตรงกันมาล้างอธรรม เราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเราก็เอาธรรมะนั้นมาล้าง กิเลสจะบอกแต่ประโยชน์ของการมีคู่ เราต้องใช้ปัญญาเอาโทษของการมีคู่นั้นมาหักล้าง ซึ่งในช่วงแรกของผู้ปฏิบัติใหม่นั้น กิเลสมักจะมีแรงมากกว่า เรียกว่าเถียงไม่ทันกิเลส แต่พอเรียนรู้ไป ขยันฝึกไป จะเริ่มรู้ทางกิเลสและเถียงกิเลสเก่งขึ้น อันนี้เรียกว่าปัญญาที่จะมาชำระกิเลส มีทั้งแบบจำมา และรู้จริงในตน แบบที่จำหรือเรียนรู้มาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้ แบบที่รู้จริงในตนก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง ถ้ามันไม่เกิด เอาแต่จำเขามา มันก็จะไม่ไปไหน เพราะยังไม่สามารถสร้างความเจริญขึ้นในตนได้ ยังไม่สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้

ลงสนามสอบเมื่อจำเป็น

สำหรับเรื่องคู่นั้นเป็นเรื่องที่อันตราย พลาดแล้วพลาดเลย แก้ไขยาก เช่น คบหากันไปแล้ว แต่งงานกันไปแล้ว มีบุตรร่วมกันไปแล้ว พอเข้าไปแล้วมันไม่ได้ออกกันง่ายๆ ดังนั้นพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมก็คือหนีห่างไว้เป็นหลัก ปะทะเมื่อจำเป็น นั่นหมายถึงในเรื่องคู่ไม่ต้องขยันไปหาสนามสอบที่ไหน ไม่ต้องไปสมัครเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง เพราะถ้าหลงแล้วมันหลงเลย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีลูกไปแล้วก็ได้

เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้สอบ ฝึกปฏิบัติมาอย่างเต็มที่แล้วกลัวจะไม่เจอโจทย์ (ร้อนวิชา) เพราะหลายชาติที่ผ่านมาของเรา กว่าจะถึงวันที่อยากออกจากนรกคนคู่ ส่วนมากแล้วก็ต้องมีคู่มามากมายจนเห็นทุกข์โทษภัยกันมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงเราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับใครต่อใครไว้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโจทย์ เนื้อคู่(ตัวเวรตัวกรรม) ที่จะเข้ามาพิชิตใจเรานั้น มีอยู่ไม่ใช่น้อยอย่างแน่นอน

แต่เราก็จะไม่ประมาท ถึงแม้ว่าวันสอบยังไม่มาถึง เราก็ซ้อมทำโจทย์กันไปก่อน เห็นคนนั้นคนนี้เขารักกัน เราก็ตรวจใจเราไป ว่าเรายังอยากเป็นอย่างเขาอยู่ไหม เรายังมีจิตยินดีในแบบของเขาอยู่ไหม เรายินดีในการเป็นโสดของเราอยู่ไหม หรือมีอาการน้อยใจ หดหู่ใจ ขุ่นใจ แอบอิจฉาเขาอยู่ลึกๆ เราก็ขยันตรวจใจ หากิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ

โสดอย่างเป็นสุข

การผ่านโจทย์จากโสดรอเสพไปสู่โสดอย่างเป็นสุขนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเพียงแค่ครั้งเดียวผ่าน เราอาจจะต้องลงสนามสอบหลายครั้ง สอบตกกันหลายครั้ง ต้องมาสอบซ่อมกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้จิตใจเราจะหวั่นไหว รู้สึกอยากมีคู่ แต่ถ้าเราอดกลั้นฝืนทนข่มใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลส แล้วกลับมาฝึกใจใส่ปัญญาใหม่ เราก็จะมีโอกาสได้สู้เรื่อยๆ และปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนี้ สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ เพราะชนะจริงๆ นั้นมีครั้งเดียว แต่ในระหว่างที่เราศึกษา เราก็เก็บปัญญาตามทางมาว่าเราแพ้เพราะอะไร พลาดไปโดนเหลี่ยมไหน มันมีรูรั่วตรงไหน เราก็กลับมาอุดรูรั่วนั้นแล้วค่อยไปสู้ใหม่

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องมีผัสสะเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงจะนั่งนึกคิดเอาเองไม่ได้ว่าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่แล้ว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับสิ่งที่เราเคยชอบใจ แล้วไม่มีอาการสั่นไหวใดในจิตใจเลย มีเพียงการรับรู้ตามจริง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส คือไม่มีความรู้สึกลำเอียงใดๆ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น และไม่มีอคติใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน จึงเป็นสภาพไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด เป็นสภาพไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ใช่ว่ายังเห็นว่าการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสุขอยู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นยังไม่พ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะต้องกระทบ เผชิญหน้า พูดคุย ทำอะไรต่อมิอะไร เขาทำสิ่งดีให้เรา เขาทำเป็นง้องอนเรา เขายั่วเรา เขาบอกรักเรา เขาอ้อนวอนขอให้เราเป็นคู่ เราก็จะไม่มีอาการหวั่นไหว จิตใจไม่เคลื่อนไปจากความเห็นที่ว่าความโสดคือความผาสุกในชีวิตเลย สุดท้ายไม่ว่าจะกระทบสักแค่ไหนในปัจจุบัน ตรวจใจไปถึงเหตุการณ์ในอดีต จินตนาการไปถึงอนาคต ก็ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะทำให้เราหวั่นไหวเผลอตัวห่างจากความโสดได้เลย แล้วก็ตรวจใจซ้ำลงไปให้ละเอียดว่าแม้ธุลีของความลังเลแม้น้อยเดียวก็ไม่มีในจิต ก็จะเข้าถึงสภาวะของความโสดอย่างเป็นสุขได้นั่นเอง

….การอยู่เป็นโสดนั้นถือเป็นโจทย์ปราบเซียนโจทย์หนึ่ง เพราะไม่ง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ แม้ผู้มีศีล ๕ อย่างตั้งมั่นในจิตก็ยากจะต้านทานความอยากมีคู่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท ควรระลึกไว้เสมอว่าก่อนวันสอบจะมาถึง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังจิตและกำลังปัญญา เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากโจทย์นรกคนคู่นี้ให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้สามารถคงสถานะโสดไว้ได้ แม้จิตใจจะยังหวั่นไหวก็ตามที

24.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,584 views 0

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นต้องมีลำดับขั้นตอน มีความเจริญในมรรคผลสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อหวังบรรลุธรรมในทันที แบบไม่มีขั้นตอน ไม่มีลำดับ

เหมือนกับการจะได้ผลไม้สักหนึ่งลูก ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ถางวัชพืช ก็มีมรรคคือการถางวัชพืชและผลคือวัชพืชหายไป จนกระทั่งผสมดินเพื่อเตรียมปลูกก็จะมีมรรคผลเป็นลำดับ จนกระทั่งเพาะเมล็ด เลี้ยงดู ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็จะมีมรรคผลเกิดขึ้นโดยลำดับ มีความเจริญโดยลำดับ มีความสำเร็จโดยลำดับ จนกระทั่งสุดท้ายได้ผลไม้นั้นมากินเป็นผลสูงสุดที่คาดหวังไว้ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการปฏิบัติโดยลำดับ

หากเราต้องการแค่ผลไม้ จะใช้เงินซื้อมาหรือหาเก็บเอาก็ได้ แต่ผลทางโลกุตระนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ ความเจริญทางจิตวิญญาณนั้นต้องทำเอาเอง ต้องมีการถากถางกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน ปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจตนเองเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกิเลสในใจตนเองออกไปเรื่อยๆ โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่เรื่องเดียวทั้งปีทั้งชาติจะบรรลุผล เหมือนกับการปลูกผลไม้ จะถางหญ้าอยู่อย่างเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ให้หญ้าขึ้นเลยนั้นก็ได้ผลเพียงแค่หญ้าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีวันได้ผลไม้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่ผิด หลงเอาความสงบของจิตใจโดยการกดข่ม ฝืนทน กำหนดจิต เพ่งจิต รวมจิต ฯลฯ มาเป็นผล ก็คงจะได้ผลเพียงแค่วัชพืชไม่ขึ้น แต่จะให้ได้ผลไม้มากินก็คงไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการหวังให้ได้ความสงบในจิตใจชั่วครู่ก็คงหวังได้ แต่จะให้จิตนั้นหลุดพ้นจากกิเลสก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น จำเป็นต้องรู้จักเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย รู้ว่าอะไรหยาบ อะไรละเอียด ปฏิบัติจากหยาบไปก่อนแล้วค่อยไปละเอียด กิเลสหยาบๆ เอาออกให้ได้ก่อน สิ่งที่เบียดเบียนมาก เป็นภัยมาก อาการทางร่างกาย ทางวาจา หยุดให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปดับกิเลสในใจที่หลงผิด ไม่ใช่จะไปละเอียดได้โดยไม่ผ่านหยาบ ปฏิบัติลัดชั้นตอน ปฏิบัติไม่มีลำดับ ก็เรียกได้ว่าหลงทาง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,350 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,531 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)