Tag: ไม่มีเป้าหมาย
ทางที่ไร้เป้าหมาย
ทางที่ไร้เป้าหมาย
…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น
การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น
การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง
สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้
ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้
เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่
ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้
แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น
เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน
เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ
ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล
ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก
ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี”
ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด
แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว
ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น
หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ
หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น
– – – – – – – – – – – – – – –
5.12.2557