Tag: โอฬาริกอัตตา
เหงา
เหงา
ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ เป็นภัยเงียบที่คอยดึงดูดสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเข้ามาให้กับชีวิตอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้สึกขาด จึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องหามาเติม… และสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสุขลวงที่เป็นส่วนเกินสำหรับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงอยู่เสมอ
เมื่อคนรู้สึกเหงา พวกเขามักจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน บ้างก็ระบายออกมาตรงๆ บ้างก็หาทางกลบเกลื่อนความเหงาด้วยการกิน เที่ยว เล่น ทำงาน ทำตัวให้ยุ่งวุ่นวายเข้าไว้ ซึ่งถ้าไม่หนักไปทางเสพกาม ก็หนักไปทางอัตตา คือยึดดี ว่าฉันไม่เหงา ฉันอยู่ได้ ทำใจให้มันลืมๆ ทำให้เหมือนชีวิตไม่เคยรู้จักคำว่าเหงา ทำเป็นว่าไม่มีความเหงา โดยที่ไม่มีเหตุ ไม่รู้ว่า “ความรู้สึกเหงา” นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และดับมันไปได้อย่างไร ทำได้เพียงกดข่มความเหงาให้มันจมหายไปดื้อๆ
ความเหงาเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนต้องแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่างมาบำเรอตนเพื่อบำบัดความทุกข์จากความเหงา ซึ่งการบำบัดความเหงาให้จางคลายเป็นครั้งคราวนั้นก็ต้องใช้เหตุปัจจัยที่มีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามปริมาณของความเหงา หรือความเข้มข้นของกิเลสนั่นเอง
ความซวยที่สุดอย่างหนึ่งของคนขี้เหงา คือเมื่อเหงาแล้วก็อยากหาคู่มาบำบัดความเหงา มีความเห็นความเข้าใจผิดๆว่า ถ้ามีคู่แล้วจะแก้ปัญหาความเหงาได้ และยิ่งถ้ามีลูกหลานจะยิ่งไม่เหงา ซึ่งมันถูกอยู่มุมหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาโดยที่ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ เหมือนกับเอาปัญหาใหม่มากดทับปัญหาเก่าไว้ ให้ตนเองได้ทุกข์กับเรื่องใหม่จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเก่า มันก็หนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง
คนขี้เหงาที่หาคู่มาบำบัดความเหงานั้น ต่างจากคนที่หาเพื่อนมาบำบัด ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะหาคู่หรือหาเพื่อน คนที่เขากิเลสหนามากๆ เขาก็พิจารณาประโยชน์ของการมีคู่มาก จนน้ำหนักหรือคุณค่าในการมีอยู่ของเพื่อนตกไป เพราะเขาอยากจะเสพมากๆ การมีคู่คือการได้เสพมากๆ เธอเป็นของฉันคนเดียว เธอต้องบำเรอฉัน ต้องเป็นเพื่อนฉันตลอดไป ต่างจากคนที่หาเพื่อน ซึ่งจะได้เสพในปริมาณที่น้อยกว่า คือยุ่งกันได้ประมาณหนึ่ง ใกล้ชิดกันได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นเอง
ซึ่งความทุกข์ที่จะเจอนั้นก็มากไปตามปริมาณของกิเลส อยากคลายเหงาจนถึงขั้นต้องหาคู่มาบำบัดความเหงาก็จะทุกข์มาก ส่วนคนที่พึ่งพาเพื่อนก็จะทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ทั้งสองทางก็ยังทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าจะหาคู่หรือหาญาติมิตรสหายมาบำบัดความเหงา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตนเอง ไม่ใช่การพึ่งตน จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์
แท้จริงแล้วความเหงาเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองขาด จึงต้องหาคนอื่นมาเติม ทั้งๆที่ความจริงทุกคนก็เป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว แต่กิเลสนั้นจะทำให้เราเข้าใจว่าเราขาด เราไม่พอ เรายังพร่อง ยังเราต้องการส่วนเติมเต็ม เรายังต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่ง เรายังต้องตามหาคำตอบในชีวิตที่หายไป ฯลฯ
เป็นความรู้สึกต้องการให้ใครสักคนเข้ามาเติม เข้ามาเห็นคุณค่า เข้ามารัก มาดูแลเอาใจใส่ ว่ามีฉันอยู่ในโลกนี้นะ ฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจฉันหน่อย เข้าใจฉันหน่อย คุยกับฉันหน่อย ยอมรับฉันหน่อย เป็นเพื่อนกับฉันหน่อย อยู่กับฉันหน่อย อย่าทิ้งฉันไปนะ ฉันมีตัวตนอยู่ อย่ามองข้ามฉัน อย่าเมินฉัน อย่าลืมฉัน ฯลฯ
ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะของอัตตา เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นอัตตาระดับหยาบคือ “โอฬาริกอัตตา” คือการยึด คน สัตว์ สิ่งของมาเป็นตัวเป็นตน คือต้องการคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นมาเพื่อเติมเต็มความเป็น “ฉัน” ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ฉันจะเป็นคนไม่เต็มคน เป็นคนไม่มีคุณค่า เกิดความทุกข์ ถึงจะไม่ได้คนมาเสพ เป็นคู่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง แต่ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาเสพก็ยังดี หรือไม่ก็ให้วัตถุสิ่งของให้ฉันเสพเพื่อบรรเทาความพร่องลวงๆ ที่กิเลสสร้างมานี้
เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า “ความเหงา” หรือความทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดมาบำเรอตนนั้น เป็นความรู้สึกที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอา(มโนมยอัตตา) เราสร้างมันขึ้นมาแล้วก็หลงว่ามันมีจริง มันเหงาจริงๆ มันทุกข์จริงๆ เพราะเราไปยึดว่าสิ่งลวงที่เราหลงสร้างมาเป็นสิ่งจริง
และรากแท้ๆ ของปัญหาอยู่ในระดับ อรูปอัตตา คือ ยึดความเห็นผิดว่าที่ตัวเรานั้นเหงาเพราะขาดสิ่งอื่นมาบำเรอ ชีวิตเราต้องมีคู่ ต้องมีเพื่อน ฉันอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยสารพัดเหตุอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ ฉันมีคุณค่า ฉันมีศักดิ์ศรี ฉันมีตัวตนในโลกใบนี้ ฯลฯ
การแก้ไขปัญหาทุกข์จากความเหงาของพุทธนั้นเป็นการแก้ไปถึงเหตุแห่งความเหงา สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเหงา แล้วจะดับเหตุนั้นได้ขนาดไหน และจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในหนทางของการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่การกดข่มหรือปล่อยวางแบบไม่มีเหตุผล ไม่รู้ว่าความเหงาเกิดจากอะไร จะดับให้สนิทต้องทำอย่างไร ความเหงาถึงจะไม่กลับมาหลอกหลอนให้เป็นทุกข์อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆ ต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
26.1.2559
นรกของสัตว์เลี้ยง
นรกของสัตว์เลี้ยง
ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา
การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย
การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…
การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง
การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด
ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่
บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย
สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง
การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
16.9.2557