Tag: แก่นแท้

ยามศึกเรารบ …กับกิเลส ยามสงบเราล้าง …กิเลส

August 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,567 views 0

ยามศึกเรารบ ...กับกิเลส ยามสงบเราล้าง ...กิเลส

ยามศึกเรารบ …กับกิเลส ยามสงบเราล้าง …กิเลส

= = = = = = = = = = =

วันเวลาในชีวิตของเราผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายสิ่งที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะทำตั้งแต่ยังเด็กแต่กลับไม่ได้ทำจนถึงทุกวันนี้เหมือนกันกับการแสวงหาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิต เราทำเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นยังไม่ควรแก่เวลา เอาไว้ทำทีหลังก็ได้ ไว้ทำตอนแก่ชราก็ได้

ทุกวันนี้คนมุ่งเข้าหาโลก พยายามพาตัวเองให้หมุนวนไปตามโลก แสวงหา ไขว่คว้า ครอบครองโลกียะทรัพย์ทั้งหลายและหมายมั่นว่าสิ่งนั้นคือที่สุดในชีวิต จนกระทั่งหลงลืมว่างานทางธรรมนั้นยังมีอยู่ สิ่งที่เป็นความสุขแท้นั้นยังมีอยู่ แต่เรากลับเพิกเฉย มองข้าม และปล่อยให้มันผ่านไป

แก่นแท้ของศาสนาพุทธจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการหลุดพ้นจากกิเลส แม้ทุกวันนี้ความหมายเหล่านี้จะเลือนหายและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่คนผู้มั่นคงในเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์นี้ก็ไม่ได้ลดละความเพียรเลย แม้จะต้องเจอเหตุการณ์มากมายที่ประดังเข้ามาในชีวิตประจำวันก็สามารถสู้รบทำศึกกับกิเลส ไม่ยอมให้กิเลสเอาชัยชนะแต่ฝ่ายเดียว และแม้ในยามสงบก็ยังหยิบยกเรื่องกิเลสมาพิจารณา เพื่อทำลายเชื้อชั่วที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจให้จางคลายได้โดยลำดับ

คนที่เห็นภัยของวัฏสงสาร จะไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มัวเมาหลงระเริงกับเรื่องโลก จะใช้ชีวิตไปพร้อมๆกับการพัฒนาจิตใจให้เจริญได้ โดยที่โลกกับธรรมนั้นหมุนวนไปพร้อมกัน เรื่องโลกก็ต้องดำเนินต่อไปตามเหตุปัจจัยที่พอจะเอื้อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ เรื่องทางธรรมก็ต้องเพียรให้ถึงที่สุด ไม่เลิกล้มจนกว่าจะสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้

ดั้งนั้นผู้ที่จะเจริญได้ไวที่สุดคือผู้ที่เพียรพยายามต่อกรกับกิเลสในทุกๆลีลา มันจะเข้ามาเราก็ต่อสู้ ไม่ยอมง่ายๆ ถึงแม้เราจะแพ้แต่เราก็ไม่ย่อท้อ ฝึกฝนจิตใจ เพิ่มกำลังปัญญาเพื่อที่จะกลับไปสู้มันอีกครั้ง เป็นนักรบที่ไม่ก้มหัวให้กิเลส ไม่ยอมให้กิเลสเข้ามาครอบครองจิตใจได้ง่ายๆ ไม่หนีสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะรู้ดีว่า หนีไปก็มีแต่จะแพ้ ยิ่งหนี ยิ่งเพิกเฉย กิเลสก็ยิ่งแกร่งกล้า มันยิ่งสะสมพลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าสู้ก็ยังพอมีเสมอได้บ้าง แม้จะสู้แพ้ก็ยังได้เรียนรู้ว่าแพ้อย่างไร เพราะอะไร จะแก้ทางครั้งหน้าแบบไหน แต่ถ้าชนะได้เลยก็ยิ่งดี จบเรื่องนั้นๆได้เลย ไปลุยกิเลสเรื่องอื่นๆต่อ

– – – – – – – – – – – – – – –

16.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,478 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,335 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,852 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์