Tag: เมาบุญ

เมาบุญ

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,171 views 0

เมาบุญ

เมาบุญ

การที่เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเรามักจะวางตัวห่างไกลจากความพอดี บ้างก็เป็นศาสนานั้นแต่ในทะเบียนบ้าน บ้างก็นับถือศาสนานั้นอย่างมัวเมา หรือที่เรียกกันว่า “เมาบุญ

ความหลงมัวเมาในบุญนี้ มักเกิดจากความศรัทธาที่ไม่มีปัญญา จึงมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในสิ่งที่สังคมเขาเห็นว่าดี ดังจะเห็นได้จากการทำบุญทำทานอย่างเกินพอดีจนตนเองและครอบครัวลำบาก การใช้เวลาไปกับวัดและการบำรุงศาสนาจนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง การยึดดีถือดีติดดีจนทำให้คนรอบข้างเอือมระอา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของการ “มัวเมา

การทำบุญทานอย่างเมาบุญนั้น เบียดเบียนตนเองและคนอื่นอย่างไร?

การทำบุญทำทานที่ทำเพราะอยากได้บุญนั้น ไม่มีทางที่จะได้บุญเลย เพราะการทำทานที่ได้บุญคือการทำทานที่พาให้เราลดกิเลส แต่การทำเพราะอยากได้อยากมี คือการเพิ่มกิเลส ดังนั้นไม่มีทางได้บุญอยู่แล้วแต่อานิสงส์ก็ยังจะมีอยู่บ้าง ในส่วนของการเบียดเบียนคือการทำทานเกินความพอดี บางครั้งแทนที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้นไปทำกุศลอย่างอื่นก็ไม่ได้ใช้ บางทีก็ต้องไปเรี่ยไรขอเงินจากคนอื่นเพื่อมาสมทบความอยากได้บุญในกองบุญของตนเองอีก ความไม่พอดีจึงกลายมาเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

การใช้เวลาไปกับวัดบำรุงศาสนามาก ไม่ดีอย่างไร?

การใช้เวลากับการไปวัดและบำรุงศาสนามาก ถ้าเป็นนักบวชก็ถือว่าดี ยิ่งใช้เวลาศึกษาธรรม ก็จะยิ่งเป็นการบำรุงศาสนา คือการทำให้ตัวเองให้มีความเป็นพระยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันฆราวาสมักจะใช้เวลาที่มากไปกับการไปวัด ไปทำงานบำรุงศาสนา จนมักจะเห็นศาสนาดีกว่าทุกสิ่ง ทำให้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เช่นแทนที่จะดูแลกิจกรรมการงาน กลับเอาเวลาไปวัด แทนที่จะดูแลคู่ครองครอบครัว กลับเอาเวลาไปวัด สุดท้ายงานและครอบครัวก็มีปัญหา เพราะตนทำหน้าที่บกพร่อง แต่ด้วยความติดดีจึงโยนความผิดไปให้คนอื่นและบอกว่าศาสนาของตนดีเลิศ การที่ตนให้เวลากับศาสนาเป็นสิ่งดี เป็นความเข้าใจที่มัวเมาหลงผิดซ้ำซ้อน เพราะแท้จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนละทิ้งหน้าที่ แต่ให้ทำหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆกับการบำรุงศาสนาอย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันโดยไม่ให้บกพร่อง

การยึดดีถือดีติดดี เป็นอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่าการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดดี ถือดี ติดดีเหล่านี้ ผู้ที่ติดมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดดี แม้ว่าจะมีคนมาทัก หรือแนะนำก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองติดดี และไม่ระวังตัว มักจะใช้ความดีที่ตนมีอยู่ เข้าไปทำหน้าที่ตัดสิน พิพากษาคนที่เขาพลาดทำชั่วอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนที่เมาบุญ พอเจอคนที่เขาไม่เอาดีในการทำบุญทำทานก็จะเริ่มเพ่งโทษเขา ตำหนิเขา มองว่าที่ตนทำนั้นดี แต่ที่เขาทำไม่ดี มองว่าตนดีเขาไม่ดี มองแบบนี้ก็ติดดีแล้ว เข้าใจแบบนี้ก็ยึดดีเข้าแล้ว

เมาบุญ เมาโลกธรรม

การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ

เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆกัน

เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า จึงมีการจองเป็นประธานงานกฐิน กันแบบข้ามปี บางวัดก็จองกันข้ามชาติคือชีวิตนี้ตัวเองคงไม่ทันแล้วเลยจองไว้เผื่อลูกหลาน อาจจะเพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้ตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ

เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ถ้าไม่ได้ทำบุญจะไม่สุข ชีวิตต้องทำบุญ ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก เช่น ทำทาน บำรุงวัด บริการพระ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง

…..เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข

เมาบุญในระดับอบายมุข

และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย

คนที่เมาบุญจนขาดสติมักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นพระ หรือเกจิอาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญ สิ่งนั้นคือกุศล สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่นกิจกรรมเหล่านี้คือ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ รดน้ำมนต์ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมในมหาศีล)

เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมการงานพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมาบุญ นี้มีมิติที่หลากหลายลึกซึ้ง บ้างเมาน้อย บ้างเบามาก ไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรง ทำดีมาก มีปัญญามาก ก็จะสามารถเห็นโทษภัยจากการเมาบุญในระดับต่างๆได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีกิเลสหนา มีวิบากบาป จะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล สิ่งไหนที่เป็นบุญหรือบาป วิธีออกจากความโง่เขลาเหล่านี้คือทำบุญทำทานให้มาก เสียสละให้มาก ช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ถือศีลให้เคร่งครัด แล้วก็จะออกจากนรกนี้ได้เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,936 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์