Tag: อุปาทาน
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก
การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง
การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้
ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
13.8.2562
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
รักจริงที่หลอกลวง เมื่อเขาไม่ได้รักเธอจริง และเธอเป็นเพียงสิ่งสนองตัณหาของเขา
จริงหรือที่ว่าเขารักเรา? จริงหรือที่ว่าเราคือคนที่เขาหมายจะร่วมชีวิตด้วย? จริงหรือที่เขาจะมั่นคงและดีกับเราตลอดไป? ถ้าความรักที่เขาอ้างว่าจริงแท้ตามที่ได้แสดงออกมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องหลอกลวงตั้งแต่ต้นล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา หรือเป็นเพียงแค่สิ่งสนองตัณหา ที่จะมาบำเรอความอยากของเขา แน่ใจแล้วหรือว่าต้องเป็นเราเท่านั้น หรือว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถบำบัดความใคร่อยากของเขาได้ เพียงแค่เราบังเอิญอยู่ในความคิดของเขาตอนนั้นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรา ถึงจะไม่มีเรา เขาก็ไปหาคู่ของเขาอยู่ดี
เขาอาจจะมีอุบายหลายอย่างที่ล่อลวงให้เราหลงว่าเราคือสิ่ง “จำเป็น” สำหรับชีวิตของเขา ตั้งแต่การพรรณนาพร่ำเพ้อถึงความดีงามของเรา พูดคำหวานซึ่งว่าเขารักเราและเราจำเป็นกับชีวิตเขามากแค่ไหน หรือเราเป็นคนที่เขาเฝ้ารอมานานแสนนานเพียงใดก็ตาม
คนเราเมื่ออยากได้อยากเสพสิ่งใดแล้ว ก็มักจะใช้ความพยายามในการแสวงหาสิ่งนั้นมาเสพมาครอบครองตามที่ใจตนเองอยาก บางคนอาจจะรอได้ไม่นาน บางคนอาจจะรอได้เป็นสิบยี่สิบปีหรือทั้งชีวิต แต่นั่นไม่ได้แสดงถึง “ความจำเป็น” ของเราที่มีต่อเขาแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแค่สภาพของความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ของเขา ที่ใคร่อยากจะเสพคนแบบเรา หน้าตาแบบเรา รูปร่างแบบเรา เสียงแบบเรา นิสัยแบบเรา ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “สเปค” หรือคนในฝัน จึงไม่มีจริงในความจริง แต่มีจริงในความลวง คือโดนกิเลสลวง ว่าฉันชอบแบบนั้นแบบนี้ ขาว สวย หมวย ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ที่ตนมีอุปาทาน หลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งน่าได้น่ามี เพราะเอาเข้าจริงๆ ถึงจะตั้งสเปคไว้ แต่ถ้ามีดีกว่าที่ตั้งไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนไปหาคนใหม่ได้เหมือนกัน อย่างที่คนมากมายนอกใจคู่ของตน
สรุปคือสเปคนั้นคือตัวบอกอุปาทานของคน ว่าหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าได้เสพสิ่งที่หลงติดหลงยึดแล้วจะพอใจเช่นนั้นตลอดไป เพราะกิเลสของคนนั้นโตได้ เมื่อได้เสพสิ่งหนึ่งจนชินชาก็มักจะไปหาสิ่งที่มากกว่ามาเสพ ต้องสวยกว่าเดิม ต้องเด็ดกว่าเดิม ฯลฯ มีความอยากมากขึ้นไปตามความหลงว่าสิ่งใดเป็นสุข คล้ายกันกับอาการที่เราไม่หยุดแสวงหาของอร่อยใหม่ๆ มากิน
ถ้าการที่เขาเข้ามาในชีวิตของเราเพราะอยากเสพ หน้าตา รูปร่าง เสียง นิสัย ฐานะ ชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่พอเห็นและสังเกตได้ง่าย แต่ยังมีภาวะของกิเลสเชิงซ้อนคือไม่ได้อยากเสพอะไรในตัวเรา แต่ต้องการมีตัวเราเพื่อเสพภาพลักษณ์ดีๆ ในชีวิตของเขา เช่น อยากเล่นบทพระเอกนางเอก อยากแสดงตนเป็นคู่ครองที่ดี อยากเล่นบทพ่อแม่ลูก อยากเป็นคนที่มีคุณค่า สามารถดูแลคู่ครองได้ บำเรอความสุขให้คู่ของตนได้ นี่กิเลสมันซ้อนมาแบบนี้เลย คือภาพลักษณ์จะเป็นคนดีมาก ไม่สวยก็ไม่ว่า หุ่นไม่ดีก็ไม่เป็นไร ไม่มีอะไรก็ไม่เป็นไร ขอให้ฉันได้เป็น “คนดี” ที่ดูแลเธอได้ นี่มันเสพความดีของตัวเองอยู่(อัตตา) โดยใช้คู่ครองมาเป็นตัวบำบัดความอยากนั้นๆ
และในความซ้อนนี้ก็เหมือนกันกับกรณีทั่วๆไป คือจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเลิศเลอ หรือดีมากเป็นพิเศษ ขอแค่ใครสักคนให้ฉันได้แสดงความสามารถในการเป็นคู่ครองที่ดีก็พอ ดังนั้นคู่ครองคนนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรา จะเป็นใครก็ได้ที่ให้เขาได้แสดงบทพระเอกนางเอก ถึงเขาจะไม่เจอเรา เขาก็ไปจับคู่กับคนอื่นเสพดราม่าในชีวิตอยู่ดี
แม้เขาจะแสดงออกว่าเรานั้น “จำเป็น” ต่อชีวิตเขาเพียงใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจำเป็นกับเขาจริงๆ อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มายืนแทนที่เรา ถึงจะไม่มีเราอยู่ในโลกนี้ เขาก็จะไปหาคนมาบำเรอกาม บำเรออัตตาของเขาอยู่ดี เรานั้นเป็นเพียงแค่เหยื่อของกิเลสที่หลงไปตามวาทะของคนผู้มัวเมาด้วยตัณหาและอุปาทาน และหลงว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็นของจริง
แค่เขาหลงมัวเมาในตัวเองก็โง่งมงายพออยู่แล้ว นี่เราดันหลงไปเชื่อคำของคนที่มัวเมาในกิเลสอีก มันก็โง่มากไปกว่าเขาอีก สุดท้ายก็ชวนกันเมาตัณหาอุปาทาน หลงว่าเป็นของจริง หลงว่าเป็นสุข กลายเป็นสิ่งสนองตัณหาของกันและกัน สร้างเวรสร้างกรรมผูกกันด้วยความหลงว่าสิ่งเหล่านั้นน่าใคร่น่าเสพ มันก็ชวนกันโง่เท่านั้นเอง
ที่หนักกว่าก็คือรู้ทั้งรู้นะว่าเขาไม่ได้รักเราจริงหรอก เขาไม่ได้ซื่อสัตย์มั่นคงขนาดนั้น แต่ก็ไปตกลงปลงใจกับเขา เพราะอยากได้อยากเสพในสิ่งที่เขามีเขาเป็น นี่กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชิงกันเป็นเหยื่อเป็นผู้ล่าสลับกันไปมา เธอมาเสพตัวฉันก็ได้ เพราะฉันก็จะเสพในสิ่งที่เธอมีเหมือนกัน สรุปก็กอดคอลากกันไปนรกด้วยความสวยงามแบบ happy ending ตามที่โลกเข้าใจ (คบหา/แต่งงาน)
จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วความรักที่หวังจะครอบครอง ได้ใกล้ชิด ได้เสพสมสู่อะไรกันก็ตาม สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ความรักหรอก เป็นแค่ความหลงที่ฉาบทาด้วยนิยามสวยๆ โดยให้ชื่อว่า “ความรัก” เพื่อให้ตนได้เสพอย่างตะกละมูมมามโดยไม่ต้องรู้สึกผิด และไม่มีใครกล่าวหาว่าผิดจารีตในสังคม
ให้ “ความรัก” เป็นเพียงฉากบังตาที่เอาไว้บังความจริง จากความหลงที่ลวงกันจนมัวเมา ปิดบังกิเลสที่สกปรกโสมมในจิตใจไว้ในนามของความรักเท่านั้นเอง
…เขาอาจจะบอกว่ารักเราจริง แม้เขาจะรู้สึกเช่นนั้นจริง แต่ความรักนั้น…ไม่ใช่ความจริง
– – – – – – – – – – – – – – –
9.2.2559
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก
แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก : อย่าเพิ่งบอกว่ารัก ช้าไว้ก่อน ยั้งไว้ก่อน รอไปก่อน ให้โอกาสกันเรียนรู้จักรักให้ดีเสียก่อน
ก่อนที่ความสัมพันธ์จะผูกมัดกันมากขึ้นด้วยสัญญาใดๆ ก็ตาม และก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นคุณค่าที่เราต้องการอย่างแท้จริง ทิศทางที่จะเปลี่ยนไปนั้นคือนรกหรือสวรรค์ลวงกันแน่ เรามาเรียนรู้จัก “ความรัก” กันให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะสายเกินไป จนยากจะแก้ไข
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักนั้น มันเป็นความรักจริงๆ มันเป็นความบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ใช่ความหลง ไม่ใช่มารยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองอยากได้อยากเสพ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ปนเปื้อนด้วยขยะคือกิเลส
มีหลายเหตุผลที่ทำให้คน “หลง” ไปว่านั่นคือ “ความรัก” เช่น ความใกล้ชิดกันที่มากเกินไป ความเหงาที่อยากหาใครสักคนเข้ามาคลายเหงา ความใคร่ที่อยากหาใครมาบำเรอ ความอยากมีคุณค่าที่จะหาใครสักคนมาสะท้อนคุณค่าของตน ความขี้เกียจที่อยากจะเกาะใครสักคนไปชั่วชีวิต และอีกหลายสาเหตุจนกระทั่งถึงความหลงที่เข้าใจว่าเราจำเป็นต้องมีคู่ก็ตาม
แล้ววันหนึ่งบังเอิญมีใครคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต ซึ่งเขาจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่ตรงตามสเปค(ตรงตามกิเลส) ของเราพอดิบพอดี เราก็เลยหลงเข้าใจว่าคนนั้นใช่แน่ๆ นี่คือความรักแน่ๆ ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถมาแทนที่คนคนนี้ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันหรือมากกว่า ถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้ มันไม่ใช่ความรักอย่างแน่นอน
และการปักมั่นว่าต้องเป็นคนนี้ “ต้องคนนี้เท่านั้นที่ฉันจะรักไปจนตาย แม้ความตายก็ยังพรากความรักของฉันไปจากเธอไม่ได้” แบบนี้ก็ไม่ใช่ความรักเช่นกัน แต่เรียกว่า “ความยึดมั่นถือมั่น” หรืออุปาทาน เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลส ที่หลงติดหลงยึดในการเสพสิ่งนั้นๆ อย่างไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งกิเลสไม่ใช่เรื่องดีที่พาเจริญอย่างแน่นอน ดังนั้นการปักมั่นก็ไม่ใช่ความรักอีกเช่นกัน
แล้วอย่างไหนจึงจะเรียกว่าความรัก? ใครก็ได้ก็ไม่ใช่ความรัก… ใครก็ไม่ได้ต้องคนนี้เท่านั้นก็ไม่ใช่ความรัก…เรามาเรียนรู้ระหว่างทางก่อนจะไปเรียนรู้ “ความรักที่แท้จริง” กัน
เราสามารถทดสอบสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันเป็น “ความรัก” ได้ด้วยการ ”รอและให้โอกาส” …ถ้าเป็น ความใคร่อยากเสพ มันจะไม่รอ มันจะเพิ่มความสัมพันธ์ท่าเดียว มันต้องได้เสพมากขึ้น ต้องสุขมากขึ้น ความกระสันอยากให้ความสัมพันธ์พัฒนาไปมากขึ้นนั่นแหละคือ “ความอยาก (ตัณหา)” แม้จะมีสารพัดข้ออ้างให้ความสัมพันธ์คืบหน้าที่น่าฟังและน่าเชื่อถือปานใดก็ตาม แต่ถ้ารอไม่ได้ ไม่ยอมรอ เอาสารพัดสวรรค์ลวงมาหลอก มันก็รีบไปนรกเท่านั้นแหละ
การให้โอกาสคืออะไร คือให้โอกาสทั้งตัวเราและเขาได้เรียนรู้ผู้อื่น การให้โอกาสเป็นอีกสิ่งที่จะทดสอบ “ความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)” ความรักที่แท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” เราไม่ควรมีความทุกข์ใดๆ เพื่อจะมีความรักเลย ถ้าความรักนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ความรัก มันคือการเบียดเบียน,ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะไม่ยอมให้โอกาส ไม่ยอมพรากจากสิ่งที่ตนปักมั่น หากสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้นพรากออกไปเอง ก็จะพยายามดึงกลับมา ไม่เป็นอิสระ ต้องผูกมัดกันอยู่เช่นนั้น แต่การให้โอกาสนี้ควรอยู่ในกรอบของการไม่ละเมิดศีลเท่านั้น
ผ่านเรื่องตัณหาและอุปาทานหรือความอยากและความยึดโดยย่อมาแล้ว ทีนี้เราก็จะมาทำความรู้จักความรักที่แท้จริงกัน…
“ความรักที่แท้จริง นั้นคือรักที่ไม่มีความเบียดเบียนใดๆ เลย เป็นรักที่มีแต่การเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่กันและกันโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”
ขยายเพิ่มกันไปอีกคือรักที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่มักจะเกิดในความรักลวงๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความหลง”
เมื่อเราได้ศึกษาเรียนรู้ “ความรัก” เพื่อแยกแยะ “ความหลง” ออกไปได้แล้ว เมื่อเรามั่นใจ แน่ใจว่าความรู้สึกที่เรามีนั้นคือรักที่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เราก็ค่อยมอบสิ่งที่มีคุณค่าแท้เหล่านั้นให้คนที่เรารักก็ยังไม่สาย เป็นเพชรเม็ดงามที่เรา พยายามเจียระไนให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุด เหมือนคนที่พยายามขัดเกลาจิตใจตนเองเพื่อที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนที่เขานั้นรักและห่วงใย
มาถึงตรงนี้ยังมีใครยินดีที่จะรอและให้โอกาสอีกบ้าง… ตัณหาจะไม่รอ อุปาทานจะไม่ยอมพราก และมันจะไม่ยอมสยบต่อธรรมะ ไม่ยอมรับว่ามันคือศัตรูตัวร้าย ไม่ยอมรับว่ามันคือสิ่งสกปรกและความเลวทรามในจิตใจของเราหรอก มันพร้อมที่จะออกมาปฏิวัติเสมอ มันจะเสนอหน้าออกมาโกหกและบิดเบือนความจริงว่ามันต่างหากคือสิ่งดีงาม
ผู้ที่ศรัทธาในความรักที่แท้จริง จะต้องผ่านสงครามเพื่อปราบมารกิเลส เพื่อที่จะนำสันติสุขมาสู่คนที่ตนรัก ไม่ใช่ไปพากองทัพกิเลสมาถล่มคนที่ตนรัก
…มาจนถึงวันนี้ เรารู้จักความรักของเราดีจริงหรือยัง?
– – – – – – – – – – – – – – –
8.2.2559
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์
ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร
อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์
ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม
เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง
ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )
คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ
หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่
การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง
ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )
เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ
การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
15.7.2558