Tag: อัตตา
ประพฤติตนเป็นโสด คือความเป็นกลาง
ได้ไปเห็นความเห็นที่คนเขามองว่าการปฏิบัติตนเป็นโสด มันจะออกไปทางโต่ง ๆ ตามความเห็นของเขา อ่านแล้วก็เห็นใจเขา เพราะจริง ๆ ประพฤติตนเป็นโสดนั้น คือความเป็นกลาง เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหาทางอื่นไม่ได้เลย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต” นั่นหมายถึงก็มีแต่คนที่มีปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นโสด ท่านยังตรัสไปต่ออีกว่า “ส่วนคนเขลาฝักใฝ่ในเมถุนย่อมเศร้าหมอง” นั่นก็หมายถึงคนที่เขาไม่มีปัญญา หรือที่เรียกกันว่าคนโง่ คนหลง เขาก็จะเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการอยู่เป็นคู่ ๆ อยู่กับเรื่องคนคู่
ท่านยังตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 25 ข้อ 29 ไว้อีกว่า “บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต”
คนที่ประพฤติตนเป็นโสดนี่ทำไมถึงเป็นบัณฑิต แล้วทำไมบัณฑิตถึงไม่มีภัย นั่นก็เพราะการประพฤติตนเป็นโสด จะไม่สร้างเวรแค่ใคร ไม่มีภัยแก่ใคร เพราะไม่ทำให้ใครหลงรัก หรือหลงชัง ไม่ไปเป็นข้าศึกในวัฏสงสารอันยาวนานของเขา ออกจากวังวนแห่งการหลงสุขหลงเสพ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป
การที่คนเข้าไปรักกัน ไปแสดงความรักกันนั้น ก็ยังสร้างเวรสร้างภัยให้แก่กันอยู่ ด้วยการมอมเมาด้วยกาม ด้วยตัณหา ด้วยราคะ ด้วยอัตตา ก็ตาม ดังนั้นผู้ที่สร้างเวรสร้างภัย จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าตั้งตนอยู่บนทางสายกลางก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าปฏิบัติสู่ความเจริญก็ไม่ใช่
ทางสายกลางในมิติของคนโสดคนคู่นั้น จะอยู่ตรงการประพฤติตนเป็นโสด ส่วนทางโต่งสองด้านนั้น หนึ่งคือฝั่งของการหลงไปในทิศของกาม จะหลงใหลหมกมุ่นใคร่อยากในเรื่องคู่ครอง สองคือทิศของอัตตา จะเป็นความยึดดี ถือดี หลงดี จนเกิดความชังขึ้นในจิต อธิบายง่าย ๆ ว่าเกลียดความรัก เหม็นความรักอะไรทำนองนี้ เห็นเขารักกันก็จะไม่ชอบใจ อันนี้เป็นทางโต่งในทิศของอัตตา
แต่บัณฑิตที่ประพฤติตนเป็นโสดนั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่าเขาติดกามก็เห็นใจเขา เพราะเขาหลงไปสุข ไปเสพกับสิ่งลวง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็มัวเมาอยู่กับกาม เขาก็ให้ค่ามัน ให้ความสำคัญกับมันเป็นธรรมดา แค่เขาหลงเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว มันก็น่าเห็นใจ
ส่วนทิศอัตตานี่ก็น่าสงสารอีก เขาจะยึดดีจนอึดอัด กดดัน บีบคั้น มีแต่รังสีอำมหิต เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย ทำลายทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง ดีไม่ดี ตบะแตก อดทน อดกลั้นการมีคู่ไหมไหว กลับไปหาฝั่งกามก็มีเยอะเหมือนกัน ก็คล้าย ๆ พวกทำเป็นเก๊ก แล้วสุดท้ายใจแตก ก็น่าเห็นใจเขา
ความจริงมันก็ไม่มีอะไรน่ายึด เพียงแต่มันจะมีจุดอาศัยที่พอดี เป็นกลาง เป็นความเบาสบาย ถ้าทั้งสองฝั่งคือพื้นที่ที่มีไฟลุกเผาใจอยู่ทุกวี่วัน การประพฤติตนเป็นโสดจนหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ก็คือตรงกลางระหว่างนรกทั้งสองฝั่ง เป็นแดนสวรรค์ของจิตที่พ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจ
ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิตคือผู้ที่มีความเกษมสำราญในธรรม ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร ใครจะมีคู่ก็เข้าใจ ใครจะชังการมีคู่ก็เข้าใจ แต่ก็จะทำงานของตนต่อไปคือเผยแพร่สิ่งที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” เมื่อมีความรู้ ก็ควรจะแบ่งปันแจกจ่ายเป็นธรรมทาน เก็บไว้ หวงไว้ ซ่อนไว้ ไม่แบ่งแจก ก็เหมือนพรามห์ผู้เห็นผิดในโลหิจจสูตร ที่เห็นว่าผู้บรรลุธรรมนั้นไม่ควรเปิดเผยธรรม
พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า ธรรมะของท่าน ยิ่งเปิดเผย ยิ่งเจริญ แต่คนที่เขาไม่มีปัญญาเขาจะไม่ชอบใจหรอกนะ เขาจะค้านแย้ง ดังที่ท่่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่พาพ้นทุกข์ อสัตบุรุษจะไม่ยินดี ไม่ชอบใจ ให้พาออกจากกาม ออกจากอัตตานี่เขาจะไม่เอา เขาจะแย้ง มันก็เป็นธรรมดาของโลก ที่จะมีความเห็นทั้งสองทางมาค้านกัน
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง จะเข้าใจว่าทางสายกลางกลางกามก็เป็นสิทธิ์ที่พึงทำได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามใจของตน และผลกรรมก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับเช่นกัน ทำดีก็ได้รับผลดีสะสมไว้ ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วสะสมไว้ ก็ให้อิสระในการเลือกกันเองว่าจะทำอะไรแบบไหน
รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย
คนที่เขาแสวงหาความรักกันนี่เขาก็คิดว่ามันน่าจะมีความสุข น่าจะช่วยกันพากันเจริญไปทั้งทางโลกทางธรรมนะ
แต่ตัววัดว่ารักที่กำลังจะหาหรือมีอยู่นั้นพาเจริญ ทำให้เป็นสุขได้จริงไหม ตัววัดอย่างหนึ่งคือ “การไม่ทำร้ายกัน”
การไม่ทำร้าย ก็มีทั้งมุมร่างกายและจิตใจ
ในมุมการทำร้ายร่างกายเป็นมุมที่หยาบมากของคนที่บอกว่ารักกัน ส่วนมากการทำร้ายร่างกายของคู่รักนั้น ไม่ได้เกิดจากเมตตา เหมือนพ่อแม่ตีลูก ที่ตีลูกไปตัวเองก็เจ็บปวดไป แต่เกิดจากอัตตาที่จะสั่งสอนให้รู้ซะบ้างว่าใครเป็นใครเสียมากกว่า ดังนั้นคนที่ยังทำร้ายร่างกายกันอยู่ ก็เป็นความหยาบที่มาก เป็นคนไม่มีศีล เพราะคนมีศีลจะไม่ทำร้ายร่างกายใคร
การทำร้ายจิตใจเป็นมิติที่ลึกซึ้งขึ้น และมีลำดับของการทำร้ายที่หยาบ ไปจนถึงละเอียด รู้ได้ยาก แบบหยาบ ๆ ก็ทำร้ายร่างกายกระทบจิตใจนั่นแหละ ทั่วไปก็คือการพูดให้เสียใจ มีมารยาหน่อยก็แสดงท่าทีไม่พอใจแต่ไม่พูด โหด ๆ เลยก็คือไม่พูดเลย เป็นการกดดันให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ ที่ยกตัวอย่างมานี้คือ ลักษณะของคนที่มีเจตนาจะทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายในรูปแบบต่าง ๆ
ส่วนที่ทำร้ายจิตใจโดยไม่ชัดเจนในเจตนา คือการสร้างความหลงให้กับคนอื่น คือจริง ๆ น่ะ มีเจตนา แต่มันคลุมเครือในจิตเพราะความหลงของตัวเอง คือ หลงว่าสิ่งที่ตนเองทำเป็นประโยชน์ แต่จริง ๆ เป็นโทษ ถ้าถามไปเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำร้าย เช่น การไปชม(เชิงชู้สาว) ไปจีบ เพื่อทำให้เขาหลงไหลในคำเหล่านั้น อันนี้เป็นนัยที่ลึกขึ้น เพราะทำร้ายจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง ให้อ่อนแอลง ให้ยอมมอบกายมอบใจให้ เป็นการทำร้ายที่คนส่วนใหญ่ดูไม่ออก
การทำร้ายจิตใจที่ดูยากที่สุดคือการทำร้ายจิตใจตัวเองด้วยความชอบความชังในความรัก หลงในรักก็ทำให้ตัวเองอ่อนแอ เป็นทุกข์ กระหายอยากเสพ พอไม่ได้ก็เป็นทุกข์ใจ กระวนกระวาย กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ฯลฯ ส่วนความชังก็สะสมความเกลียดในจิต เกลียดคนที่เข้ามายุ่งวุ่นวายกับคู่ของตน เกลียดคู่ของตนที่ทำไม่ถูกใจ เกลียดที่เขาเปลี่ยนไป ไม่รักเราเหมือนกัน สารพัดความไม่ได้ดั่งใจจะสะสมความชังเพื่อไปทำร้ายตัวเองและคนอื่น
รักที่จะพาเจริญได้นั้น จะต้องไม่เป็นเหตุให้ความสะสมความชอบ และความชัง เพราะความชอบก็คือกามตัณหา ความชังคืออัตตา เป็นนรกทั้งคู่ ถ้ายังชอบยังชังในความรัก ในคู่รัก มันก็ไม่มีทางเจริญไปได้เลย มีแต่จะพาตกต่ำ เศร้าหมอง ทำร้ายกัน ฆ่ากัน
ความรักเป็นเหตุหนึ่งในคนฆ่ากันตายกันเกือบทุกวี่วัน ความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แต่คนก็ยังดิ้นรนแสวงหา ไขว่คว้า กอดรัดไว้ เหมือนยาพิษที่มีรสหวานที่คนอยากจะลิ้มลองชิม ด้วยความหลงว่าตนจะต้านพิษได้ ตนจะได้เสพแต่รสหวาน พิษนั้นไม่มีภัย รสหวานนั้นคุ้มค่ากับพิษ เป็นต้น
สุดท้ายเขาก็จะทำร้ายตัวเองด้วยความเห็นผิดเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้นการจะบอกว่ารักนั้นพาเจริญ ก็เป็นสภาพที่เหมือนฝันที่ไม่มีวันจะเป็นจริง
การเลิกกินเนื้อสัตว์แบบไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่ถูกตรง มีความเสื่อม ความแตกแยก และความทุกข์เป็นปลายทาง
การไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นความดีอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงทำได้ เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากมีทางที่ไม่เรียบ ก็จะมีทางที่เรียบอื่นที่จะหลีกเลี่ยงทางไม่เรียบนั้น เหมือนกับคนที่ไม่อยากพัวพันกับคนผิดศีล เขาเหล่านั้นก็ควรจะเดินในเส้นทางที่ไม่ผิดศีล ไม่ยินดีในการผิดศีล ไม่ส่งเสริมให้คนผิดศีล (สัลเลขสูตร เล่ม 12 ข้อ 106)
ทีนี้การไม่กินเนื้อสัตว์นี้ก็เป็นทั้งความดีแบบโลก ๆ ทั่วไปและความดีระดับเหนือโลกเช่นกัน(สำหรับผู้ที่ตั้งจิตไว้ถูก) เพราะมันเป็นพื้นฐานความดีทั่ว ๆ ไป
แต่คนที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จริงนั้น จะมีทางไป 2 ทาง คือทางโต่ง 2 ด้าน นั่นคือ กาม และ อัตตา
ทิศของกาม คือ การเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ ดังที่เราจะเห็นได้มากมาย กับคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเวียนกลับไปแตะเนื้อสัตว์ บ้างก็แตะ ๆ นิด ๆ หน่อย แล้วสำนึก บ้างก็ความเห็นผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลยก็มี เพราะทิศของกามมันจะมีแต่สุขลวง มีแต่สุขจากเสพ มันเป็นรสที่หลอกคนไว้ ผูกคนไว้ ทำให้คนเชื่อ หลงเสพ หลงว่าดี หลงว่าเป็นคุณค่า ในการเสพเนื้อสัตว์นั้น ๆ การเวียนกลับมาในทิศของกาม นั้นเหตุเพราะมันทนความอยากไม่ได้ มันไม่สามารถทนกับทุกข์ได้ เพราะไม่เข้าใจความจริงของความทุกข์นั้น ๆ ชีวิตเลยเบนเข็มกลับมาที่กาม ซึ่งเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในสังคม ก็คนที่กินเนื้อสัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่กับทางโต่งฝั่งกามนี้นี่เอง
ทิศของอัตตา คือ การทรมานตนเองด้วยความยึดดี ทิศนี้จะเป็นกลุ่มก้อนของคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ในหลาย ๆ เหตุผล แต่วิธีที่ใช้คือ อดทน ฝืนทน อดกลั้น จะมีความไม่โปร่ง ไม่โล่งภายในใจ ถ้าเป็นอัตตาที่ยังมีกามจัดอยู่ จะทนได้สักพัก แล้วจะดีดกลับไปฝั่งติดกาม กลับไปกินเนื้อสัตว์
แต่ถ้าเป็นอัตตาฝั่งยึดดีจัด ๆ จะเครียด จะเคร่ง กดดัน บีบคั้น จะมีตัวตนที่แรงกล้า จนคนอื่นรู้สึกลำบากใจ คือมันจะเป็นขีดโต่งไปทางยึดดี ถ้าสะสมกำลังมากขึ้น แม้จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ อาจจะไปเพิ่มอัตตา คือมีความอวดดี หลงดี ยกตนข่มท่าน นี่เป็นเหตุที่ทำให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ไปทะเลาะกับคนอื่นเขา เพราะมันมีดีให้ยึด ไปยกตนข่มคนที่เขาด้อยกว่าก็บาปแล้ว ถ้าสะสมอัตตามากขึ้น มันจะปีนเกลียว มันจะเริ่มไปสอย คนที่อยู่สูงกว่า เริ่มแน่ เริ่มเก่งเกินคนอื่น อันนี้จะมี 2 มิติ คือมิติที่หลงตัวเอง กับมิติที่สูงกว่าจริง ๆ ถ้าสูงกว่าจริงจะไม่ผิด แต่ที่ผิดเพราะหลงตัวเองว่าสูง ก็ไปตีตนเสมอหรือเพ่งโทษคนที่เขาปฏิบัติดีกว่า มีศีลสูงกว่า มีปัญญามากกว่า อันนี้ก็เรียกว่าขี้กลากกินหัวทันที เพราะวิบากกรรมจะสาหัสมาก ส่วนใหญ่ก็จะเพี้ยน โง่ หลง ป่วย ตาย ฯลฯ
จะเกิดเป็นความเศร้าหมอง หดหู่ ซึมเศร้า ไม่สดชื่น ชีวิตมันจะเหี่ยว ๆ ไปเรื่อย ๆ จนตายนั่นแหละ ถ้าไม่มีมิตรดีช่วยชี้แนะนี่จบเลย เรื่องโง่นี่มันรู้เองไม่ได้ง่าย ๆ นะ เพราะวิบากกรรมของฝั่งอัตตานี่มันแรง ฝั่งกามมันจะมีโทษประมาณหนึ่ง ถึงจะกินเนื้อสัตว์มันมีอกุศลวิบาก แต่มันจะมีขีดของโทษประมาณหนึ่ง ก็อย่างที่เห็น กินทั้งชีวิตบางคนก็ยังไม่ป่วยไม่ตาย แต่ถ้าโทษของฝั่งอัตตานี่เรียกว่าแรงกว่าป่วยกว่าตาย
ก็เป็นการทรมานตนเองด้วยความยึดดี หรือจะเรียกว่าทำร้ายตัวเองด้วยความโง่ ก็ใช่ สรุปคือ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจะมีทิศไปแค่ 2 ทิศนี้เท่านั้น ที่เหลือคือเวลาและกำลัง ว่าจะไปถึงความทุกข์เศร้าหมองนั้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ปฏิบัติกันไปเรื่อย ๆ จะรู้เอง ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองดี ๆ จะรู้ว่ามันทุกข์ มันไม่สดชื่น มันไม่เบิกบาน ต้องรีบปรับทิศ เพราะทางโต่ง 2 ด้าน ยิ่งเดินยิ่งหลง ยิ่งช้ายิ่งนาน
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?
ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม
ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ
1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต
เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ
2.รักแท้โลกียะ
รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน
รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน
3.รักแท้กัลยาณธรรม
ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน
ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง
ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป
4.รักแท้โลกุตระ
รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้”
รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร? มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)
ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้
พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง
ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา
สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน
26.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์