Tag: อวิชชา

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

November 13, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 973 views 0

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง

การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้

ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

13.8.2562

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,331 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สวยสมัยนิยม

November 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,042 views 0

สวยสมัยนิยม

สวยสมัยนิยม

…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน

ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก

เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย

นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค

ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย

ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้

หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม

…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น

กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร

ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้

ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ

เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น

เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง

เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,201 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์