Tag: สัมมาสมาธิ
อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด
อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด
สมัยที่ยังไม่เคยศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าความโสดไม่ดีมีแต่เหงา มีคู่สิดีมีอะไรมากมาย แม้จะเจ็บจากความรักเท่าใดก็ยังไม่ทิ้งความหวังที่จะมีความรักอีกครั้ง
จนกระทั่งได้มาศึกษาธรรมะ ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์และผู้รู้ที่นำมาขยายและอธิบายว่าการมีคู่ทำให้เกิดทุกข์อย่างไร เป็นโทษอย่างไร ความโสดมีคุณประโยชน์อย่างไร ทำให้ชีวิตเจริญอย่างไร
ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ความเจ็บช้ำมามากเท่าไหร่ เห็นรักของใครต่อใครพังมามากแค่ไหน ได้เรียนรู้ว่าโสดนั้นดีกว่ามีคู่อย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถทำใจให้โสดสนิทได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมโสด มันยังอยากมีคู่ เห็นคนอื่นควงกันมาแล้วก็ยังอิจฉา ดูละครเห็นพระเอกนางเอกจีบกันก็ยังสุขตาม บางทีก็ยังเฝ้าฝันถึงวันที่ได้มีคู่ ทำไมมันยังไม่ยอมโสดเสียทีทั้งที่มีความรู้ขนาดนี้แล้ว?
เรียนรู้ใช่ว่าจะรู้จริง
เราอาจจะเคยเจอกับสภาวะที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หรือ เข้าใจแต่ทำไม่ได้ การเรียนรู้โดยทั่วไปนั้นเป็นการนำความรู้นั้นเข้ามาใส่ความจำเท่านั้น ซึ่งในความจำนั้นก็ยังมีอีกมากมายหลายล้านเรื่องที่จำไว้ เช่นจำว่าเคยมีความสุขตอนมีคู่ จำได้ว่าตอนเสพมันเป็นสุข ซึ่งแม้จะจำได้ว่ามีคู่เป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบกับสิ่งที่ถูกใจเข้าจริงๆก็มักจะแกล้งลืมความจำบางอย่างไปเสียหมด
สิ่งที่ทำให้เราเลือกจำแต่เรื่องที่ไร้สาระและเลือกเสพในสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขแท้นั้นก็คือ “กิเลส” พลังของกิเลสจะทำหน้าที่บดบังความจริงตามความเป็นจริง สร้างความสุขลวงขึ้นมา ปั้นความลวงให้เป็นความจริง ถึงแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นกงจักรก็ยังเข้าใจไปว่าเป็นดอกบัว นี่คือพลังของกิเลสที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก ทำให้ความจริงนั้นผิดเพี้ยนไป ดังนั้นเมื่อเราได้เรียนรู้อะไรมาก็ตาม หากเรายังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ ความรู้เหล่านั้นจะถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งบันทึกสิ่งที่ผิดๆลงในความทรงจำ
ดังนั้นการเรียนมากก็ใช่ว่าพ้นทุกข์ได้ เพราะหากขยันเรียนแต่ยังมีกิเลสมากหรือความรู้ที่เรียนนั้นไม่ได้พาให้ลดกิเลส ความรู้นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย ยิ่งรู้มากยิ่งหลงผิดมาก เรียกว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ก็ว่าได้
โสดที่ยังมีกิเลส
เมื่อเราได้เรียนรู้ชีวิตและศึกษาธรรมะ เข้าใจเหตุแห่งความอยากในการมีคู่แล้วเห็นดีในความโสด ไม่ใช่การโสดเพราะอยากจะหนีหรือเพราะเจ็บปวดจากความรัก แต่เพราะเกิดปัญญาเห็นโทษภัยของการมีคู่และข้อดีของการโสด
แต่ถึงจะเห็นไปในทางที่ถูกเช่นนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถโสดโดยไม่มีสะดุด เพราะยังมีกิเลสคอยเป็นมารที่ขวางกั้นความสงบในชีวิต การเห็นว่าโสดนั้นดี คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกปรับเข้ามาในทิศทางที่ถูกแล้ว เหมือนเรือที่หันหางเสือไปยังทิศทางพ้นทุกข์ แต่ก็ยังไม่ออกเรือ เป็นเพียงการระบุทิศทางเท่านั้น
ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นที่สงสัยของหลายคนว่า ได้ศึกษาธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เข้าใจและเห็นด้วย แต่ทำไมเวลาไปเจอของจริงมันแพ้กิเลสทุกที นั่นเพราะเพียงแค่ความเข้าใจที่ถูกตรงแต่ยังมีกิเลสนั้นยังไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้
ความเข้าใจที่ถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเข้าใจผิดเห็นว่ามีคู่ดีกว่า หรือถ้าเจอคู่ดีก็ควรมี หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้ไปมีคู่ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเรือที่อยากจะเดินทางไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ตั้งหางเสือให้ไปในทิศทางของทุกข์อยากมีความสุขแต่กลับแสวงหาทุกข์ เพราะมีกิเลสมาบดบังปัญญาจึงทำให้หลงผิด
เมื่อมีความเข้าใจที่ถูก ก็จะต้องทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้องตามมา ในตอนแรกจะไม่สามารถมีความคิดไปตามหลักของพระพุทธเจ้าได้ กิเลสมันจะค้านแย้งตลอด แม้จะได้เรียนธรรมมามาก มีข้อธรรมเยอะ จำได้มาก แต่ก็มักจะต้องแพ้ให้กับกิเลสเสมอ เพราะพลังของอธรรมนั้นมีมากกว่าธรรม ตั้งใจพิจารณากิเลสแทบตาย ฟังธรรมปฏิบัติธรรมกันอยู่เป็นสัปดาห์ ออกไปใช้ชีวิตแล้วเจอคนที่ถูกใจพูดด้วยไม่กี่คำก็เพ้อฝันไปไกล
การจะคิดได้อย่างถูกตรงนั้นไม่ง่าย จึงต้องใช้พลังของการปฏิบัติอื่นๆร่วมด้วย คือการพูดสิ่งที่ถูกตรง คือพูดไปในทางไม่เสริมกิเลส ขัดกิเลส ทำกิจกรรมการงาน เลี้ยงชีพอย่างถูกตรง โดยเฉพาะความเพียรที่ถูกตรง
ความเพียรที่ถูกคืออะไร? ในกรณีของการจะไปสู่ความโสดอย่างเป็นสุขได้นั้นจะต้องเพียรชำระล้างกิเลส ไม่ใช่ขยันทำการงาน แต่เป็นขยันชำระกิเลสในใจตน ขยันพิจารณาประโยชน์ของความโสดและโทษของการมีคู่ เพื่อให้อาหารกับธรรมะและงดให้อาหารอธรรม เพื่อไม่ให้ความชั่วโตขึ้นและเสริมสร้างความดีให้แข็งแรง
จนกระทั่งมาถึงสติที่ถูกตรง เป็นสติที่สามารถจับและวิเคราะห์กิเลสได้ รู้ได้ชัดว่ากิเลสใดเกิดขึ้น เป็นกิเลสชนิดไหน โลภ โกรธ หลงในสิ่งใด เราอยากเสพอะไร เราหลงติดหลงยึดในอะไร แล้วจะใช้ธรรมะเข้าใดเข้ามาขัดเกลากิเลสนี้
เมื่อวิถีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ทั้งหมดถูกปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จึงเกิดเป็นสมาธิที่ถูกตรง เป็นลักษณะเฉพาะของผลการปฏิบัติในวิถีพุทธ นั่นคือเกิดสมาธิขึ้นเพราะความสงบจากกิเลส เป็นสมาธิที่ไม่ต้องนั่ง ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออก เป็นสภาพสามัญของ “สัมมาสมาธิ” ของผู้ที่ปฏิบัติ “สัมมาอริยมรรค” ๗ ข้ออย่างถูกตรงด้วยความตั้งมั่น ต่างจากวิธีปฏิบัติของลัทธิอื่นๆที่ต้องนั่งสมาธิหรือใช้อุบายให้จิตสงบเสียก่อนจึงเกิดจิตที่เป็นสมาธิได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงมิจฉาสมาธิเท่านั้น
โสดไม่มีกิเลส
เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงด้วยความเพียรอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ เป็นความรู้เดียวกับที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์สอน ไม่ว่าใครที่รู้แจ้งในกิเลสก็จะได้สัมผัสรสเดียวกัน รับรู้เช่นเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน คือมีสภาพปล่อยวางจากกิเลส ปล่อยให้กิเลสเดินออกจากจิตวิญญาณของเรา กิเลสไม่ใช่เราและเราไม่ใช่กิเลส ไม่จำเป็นต้องมีกันและกันอีกต่อไป
เมื่อเข้าใจดังนั้น ก็จะไม่ต้องพยายามโสด ไม่ต้องระวังว่าใครจะมาพรากความโสดได้ ต่อให้ยกบ้านยกเมืองให้ ให้เป็นเศรษฐีระดับโลก มีกินมีใช้ตลอดชีวิต มีคนที่พร้อมจะมาเป็นคู่ มีนิสัยดีแสนดี มีพร้อมทั้งความงามและปัญญามาแลกกับการสละความโสดก็ไม่เอา ดีแค่ไหนก็ไม่เอา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นแม้น้อย เพราะมีคำตอบเดียวคือ “โสด” ปิดประตูนรกของการมีคู่ไปได้เลย
ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆในคำสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์อีก เพราะรู้แน่ชัดในตนเองแล้วว่าสิ่งนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุดในโลก เป็นสภาวะที่ไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาเปรียบ ไม่มีอะไรที่จะเอามาแลกได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ยั่งยืน ถาวร ไม่เวียนกลับ คงอยู่ตลอดกาล ไม่แปรปรวนอีกต่อไป เกิดเป็นความรู้ในตน เป็นปัญญาของตน เป็นสมบัติของตนเอง ไม่ใช่ของที่หยิบยืมมาอ้างจากผู้อื่นอีกต่อไป กลายเป็นอริยทรัพย์เรื่องหนึ่งที่จะให้ผลต่อเนื่องไปตราบปรินิพพาน
– – – – – – – – – – – – – – –
26.6.2558
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ
วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที
สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น
และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔
๑). ทุกข์
เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา
๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย
การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้
๒).สมุทัย
การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้
๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ
๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?
ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น
๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย
๓).นิโรธ
นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง
๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร
๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ
๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ
๔). มรรค
มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ
๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม
วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ
๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้
แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร
สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต”
ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
6.3.2558
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ฤๅษีกึ่งพุทธกาล
ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย
แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้
แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก
การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา
วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน
นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา
ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม
คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง
การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร
การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล
เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?
วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา
ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ
แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี
ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น
ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ
แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง
โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น
อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
5.3.2558