Tag: สัตว์

ปลาข้างทาง

May 14, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,842 views 0

ปลาข้างทาง

ปลาข้างทาง

เช้าเมื่อวานฝนตกลงมาอย่างหนัก และค่อย ๆ ซาไปในตอนสาย ระหว่างที่ผมกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อที่จะไปขึ้นรถประจำทาง ก็พบกับปลาตัวหนึ่งนอนอยู่ข้างทาง

ปลาตัวนี้ตัวไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปลาจะมาอยู่บนถนนหลังฝนตก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เจอได้บ่อย ๆ ปลาจะมาตามท่อที่น้ำล้นและติดอยู่บนถนนเมื่อน้ำลด

ผมยืนดูปลาตัวนี้สักพัก ก็คิดว่าจะเอาอย่างไรกับมันดี มันก็อยู่ข้างทาง รถก็วิ่งผ่านมาใกล้ ๆ เห็นท่าจะรอดยาก ไม่ตายเพราะรถก็ตายเพราะมด แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าพกถุงพลาสติกไว้ใส่ของกันฝน ก็เลยเอาปลาใส่ถุงแบบรวมน้ำ ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเอาไปปล่อยที่บึงสาธารณะใกล้บ้าน แต่พอคิดไปคิดมาก็นึกขึ้นได้ว่า เหมือนบึงเขาจะไม่ให้ปล่อยสัตว์น้ำ สุดท้ายก็เลยปล่อยปลาลงท่อไป

จากเหตุการณ์นี้ก็นึกขึ้นได้ว่า หากจะปล่อยปลาให้ถูกธรรม ก็คงจะต้องปล่อยแบบนี้ คือมีปลามานอนพะงาบพะงาบต่อหน้าแล้วช่วยมัน ทำแบบนี้ไม่มีผลเสียกับใคร และไม่ผิดธรรมด้วย ส่วนที่ซื้อปลาไปปล่อยนั้น พวกเขาผิดตั้งแต่ซื้อขายชีวิตสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า อย่าทำการค้าที่ผิด มันจะไม่พ้นทุกข์ หนึ่งในนั้นคือค้าขายชีวิตสัตว์ (มิจฉาวณิชชา ๕) ดังนั้นเมื่อเราไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการขายชีวิตสัตว์ ไม่มีทางเลยที่เราจะได้มันมาอย่างถูกธรรม มันผิดแน่ ๆ และไม่ควรประเมินว่าผลสุดท้ายมันจะดีกว่า ในเมื่อกระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อ ๆ ไปมันก็ติดผิดไปเรื่อย จะดีกว่าไหมที่เราจะแก้ความเห็นผิดตั้งแต่แรก ให้มันไม่ต้องผิดซ้ำผิดซ้อนกันไปอีก

เพราะพุทธทุกวันนี้แทบจะไม่รู้ผิดรู้ถูกกันแล้ว เอาแต่ตามที่ใจเห็นว่าดี เอาแต่ตามที่ประเพณีเห็นว่าควร ส่วนจะถูกธรรม ถูกตามที่พระเถระ(เถรวาท) ได้รวบรวมไว้หรือไม่นั้นชาวพุทธส่วนมากไม่ได้สนใจแล้ว ซึ่งมันก็ไม่แปลกว่าทำไมบ้านเมืองมีแต่เรื่องน่าสลด นั่นเพราะกระดุมเม็ดแรกมันติดไว้ผิด เม็ดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ผิดหมดนั่นแหละ หากใครได้ศึกษาและตรวจสอบตามหลักฐานจนพบว่าสิ่งที่ตนเองมีความคิดเห็นหรือความเข้าใจที่ผิด ก็ให้รีบเร่งแก้ไขความเห็นผิดนั้น เพราะการแก้ตัวไม่ได้ช่วยให้ความเห็นผิดนั้นกลับเป็นถูกได้ แม้จะเถียงชนะโลก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะชนะมารและพ้นจากความเห็นผิดไปได้

6.5.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แมวเลี้ยงเดี่ยว

September 14, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,183 views 0

แมวเลี้ยงเดี่ยว

แมวเลี้ยงเดี่ยว

วันก่อนก็นึกย้อนไปสมัยเด็ก ๆ ที่ยังเลี้ยงแมวอยู่ แมวตัวแรกที่ผมเลี้ยงเป็นแมวตัวเมีย จริง ๆ ได้มาเป็นคู่ แต่ตัวผู้หนีไปไหนไม่รู้เหมือนกัน

ตลอดเวลาที่เลี้ยง แมวตัวนี้ก็เสน่ห์แรงมาก ๆ คลอดไม่นานก็ท้องใหม่ จนผมลืมไปแล้วว่ากี่คอก คลอดมันทุกที่ในบ้านตั้งแต่ใต้บันได ในกล่องหน้าทีวี หรือแม้กระทั่งในห้องนอนผม เรียกว่าสนิทกันมาก

ก็เพิ่งมานึกได้ว่า นี่เราไม่เคยเห็นแฟนหรือคู่ของมันเลยนะ อย่างเก่งก็เดา ๆ ได้จากสีลูก แล้วก็สังเกตุจากตัวผู้ที่มาป้วนเปี้ยนเอา

แมวนี่มันไม่เคยพาแฟนมาแนะนำตัวเลย มันมาคลอดอย่างเดียว มาเอาที่พึ่งพาอาศัย เอาที่อยู่ที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องกินตัวนี้มันเก่ง จับหนูกินเองได้ จับมาแยกร่างให้เก็บทิ้งประจำ

คลอดเสร็จแล้วมันก็เลี้ยงลูกของมันไปตามประสา ก็เป็นภาระของเราด้วยที่เราต้องรับเลี้ยงลูกมันอีกที กว่าจะหมดภาระก็เป็นสิบปีนั่นแหละ

ก็มานึกเทียบกับคน คนเรานี่มีความยึดมั่นถือมั่นที่เด่นชัดกว่าสัตว์มาก แมวมันมีลูกมันก็เลี้ยงของมันไป ไม่เห็นสนใจจะให้ตัวผู้มาช่วยเลี้ยง แต่คนนี่มีปัญหามาก มีเงื่อนไขมาก ตอนมีลูกแล้วจะเลิกกันมันไม่ง่าย ไม่เหมือนแมว

เพราะคนไปหลงยึดเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเป็นเพียงค่านิยม เป็นเพียงความเชื่อ เป็นความสะดวกสบาย เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีหรืออะไรก็ตาม เลยทำให้ชีวิตมันยุ่งยากวุ่นวาย

เพราะถ้าเอาเนื้อแท้ของการมีลูกจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ต่างกับสัตว์ผสมพันธุ์กันหรอก ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเปลือกสวย ๆ ที่คนทำไว้หลอกตัวเองว่าประเสริฐกว่าสัตว์เท่านั้นเอง

ดังนั้นคนที่จะดีกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ก็คือคนที่ไม่หลงไปกับการผสมพันธุ์ ถ้ายังหลงอยู่ก็ต้องรับภาระเลี้ยงลูก รวมทั้งรับทุกข์จากผลแห่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายที่ตนเองแบกไว้

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

October 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,619 views 0

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

คนลวงตน สับสน วิกลจริต

หลงความคิด ทุกชีวิต เป็นทาสฉัน

ทั้งกักขัง ทั้งเข่นฆ่า อย่างเมามัน

แล้วเหมาเอา นายทาสนั้น คือฉันเอย

 

แท้ที่จริง คนเป็นทาส วิปริต

ไม่ฉุกคิด ใครเป็นทาส นิ่งทำเฉย

ยังหลงเสพ หลงสุข กันตามเคย

แล้วอ้างเอ่ย มันเป็นทาส ประหลาดจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

ความหลงที่หลอกลวงคนได้ร้ายแรงที่สุดคือ หลงว่าตนนั้นเป็นผู้ประเสริฐ หลงว่าตนนั้นเป็นใหญ่กว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง หลงว่าตนนั้นเป็นเหมือนกับนายทาส ที่สามารถบงการทุกชีวิตให้เป็นไปดั่งใจได้ทั้งหมด

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้เกิดขึ้นมาสนองกามตัณหาของคนผู้หลงผิดโดยตรง หลงผิดในตนยังไม่พอ ยังหลงผิดบิดเบือนธรรมชาติเสียอีก สัตว์ก็อยู่ของมันดีๆ ไปจับมันมา เอามันมาขัง เอามันมาฆ่า ไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายกับชีวิตมัน ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้ยินยอม ไม่ได้ต้องการ อุปโลกน์กันเอาเองว่าฉันนี่แหละนายใหญ่ของโลกเป็นผู้บงการชีวิตของสัตว์ใหญ่น้อย

และหลงกันว่าสัตว์เหล่านั้นต้องเกิดขึ้นมาบำเรอตน “พวกเธอต้องตายเพื่อบำรุงบำเรอฉัน บำเรอร่างกายฉัน บำเรอกามฉัน บำเรออัตตาฉัน เพราะฉันประเสริฐที่สุด สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เธอถูกฆ่าเป็นกรรมของเธอ แต่ฉันกินเธอไม่เกี่ยวกัน เพราะฉันไม่ได้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังและเข่นฆ่านั้น ฉันเชื่อว่าฉันไม่มีกรรมใดๆเกี่ยวข้องเลย

ก็เป็นความหลงผิดของคนที่ไม่ได้ศึกษา ไปตัดตอนเอาแต่เฉพาะที่ตัวเองต้องการ ตอนเสพก็สุขหนักหนา แต่พอบอกว่ามีกรรมชั่วก็จะไม่รับ ทำเป็นไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ตีหน้าซื่อเสพกามอย่างผู้วิเศษ ก็หลงกันไป มอมเมากันไป เบียดเบียนกันไป กรรมมีผลก็เห็นว่าไม่มีผล นี้เป็นความเห็นผิดที่ฝังอยู่ในอัตตาของคน

ถ้าหากเราบอกว่าไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ก็ต้องไม่ไปเกี่ยวเลยทั้งกาย วาจา ใจ คือไม่ต้องไปเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นเข้ามาในชีวิตเลย มันถึงจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆ

บ้างก็อ้างว่าฉันไม่ได้ติด ฉันไม่ได้หลง ฉันกินเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็ไม่คิดจะหัดพรากหัดละเสียบ้าง ยังจมอยู่กับกาม ด้วยเหตุแห่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เลยมีสิ่งเหล่านั้นมาบำเรอตนทุกวันไม่ขาด มีเงินก็ซื้อ มีคนเอามาให้ก็รับ ไม่เคยคิดจะพราก หาสารพัดข้ออ้างในการไม่พรากเช่น เกรงใจเขา, ไม่อยากเรื่องมาก, มันก็แค่อาหาร เอ่ยอ้างสารพัดข้อแก้ตัวที่กิเลสสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างน่าฟัง

พอไม่หัดพราก ก็แยกไม่ออกแล้วอันไหนกาม อันไหนอัตตา อันไหนอุเบกขา สรุปว่าสุดท้ายกามก็ติด อัตตาก็จัด อุเบกขาก็คิดเอาเองว่าตนมี เช่นว่าปล่อยวางทุกอย่างแล้วก็กินเนื้อเหล่านั้นไปทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้ ไม่ก็หลงว่าอย่าไปมีตัวตน ถ้าเลือกกินจะมีตัวตน เป็นข้ออ้างของกิเลสผสมข้อธรรมะ ทำให้น่าเชื่อถือขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

แล้วก็หลงไปว่าฉันนี่แหละไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันนี่แหละหลุดพ้น แต่กับแค่เนื้อสัตว์ยังไม่ยอมพราก กอดไว้ หวงไว้ รักษาไว้ ฉันจะเสพ ฉันจะต้องมีมันในชีวิต ฉันต้องเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งนั้น ฉันเป็นนายมัน มันเป็นทาสของฉัน ก็ผูกพันกันไว้เช่นนั้น

แท้จริงแล้วการที่คนเราต้องกินเขาเพื่อเลี้ยงชีพนี่แหละคือความเป็นทาส ไม่มีเขาเราก็เป็นทุกข์ ไม่มีเขาเราก็ขาดใจตาย นี่คือความเป็นทาส คอยรับความสุขจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเขาฆ่ามา เสพสุขจากกองเลือดและกองกระดูก ให้สัตว์เหล่านั้นเย้ยหยันได้ว่า “โถ…มนุษย์หลงตนว่าเป็นผู้เจริญ แต่กลับต้องคอยเสพสุข ประทังชีวิตจากซากเนื้อที่ไร้วิญญาณของพวกเรา ช่างน่าสงสารยิ่งนัก

ความจริงนั้นปรากฏให้เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าใครกันที่เป็นใหญ่ ใครกันที่เป็นทาส ผู้ที่ถูกกิเลสหลอกให้หลงเสพหลงสุขจนโงหัวไม่ขึ้น ถึงขั้นยึดติดว่าเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ควรเสพ เป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่น่าได้น่ามีนั้นไม่มีทางพ้นจากความเป็นทาสไปได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,596 views 0

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)

เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ

เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น

การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท

การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก

1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้

แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้

ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป

2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ

3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง

4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น

5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน

6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์

7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ

8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น

เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ

– – – – – – – – – – – – – – –

10.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)