Tag: นายกิเลส

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

October 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,515 views 0

นายกิเลสและทาสผู้หลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์

คนลวงตน สับสน วิกลจริต

หลงความคิด ทุกชีวิต เป็นทาสฉัน

ทั้งกักขัง ทั้งเข่นฆ่า อย่างเมามัน

แล้วเหมาเอา นายทาสนั้น คือฉันเอย

 

แท้ที่จริง คนเป็นทาส วิปริต

ไม่ฉุกคิด ใครเป็นทาส นิ่งทำเฉย

ยังหลงเสพ หลงสุข กันตามเคย

แล้วอ้างเอ่ย มันเป็นทาส ประหลาดจริง

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

ความหลงที่หลอกลวงคนได้ร้ายแรงที่สุดคือ หลงว่าตนนั้นเป็นผู้ประเสริฐ หลงว่าตนนั้นเป็นใหญ่กว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง หลงว่าตนนั้นเป็นเหมือนกับนายทาส ที่สามารถบงการทุกชีวิตให้เป็นไปดั่งใจได้ทั้งหมด

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้เกิดขึ้นมาสนองกามตัณหาของคนผู้หลงผิดโดยตรง หลงผิดในตนยังไม่พอ ยังหลงผิดบิดเบือนธรรมชาติเสียอีก สัตว์ก็อยู่ของมันดีๆ ไปจับมันมา เอามันมาขัง เอามันมาฆ่า ไปยุ่งเกี่ยววุ่นวายกับชีวิตมัน ทั้งๆที่มันก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้ยินยอม ไม่ได้ต้องการ อุปโลกน์กันเอาเองว่าฉันนี่แหละนายใหญ่ของโลกเป็นผู้บงการชีวิตของสัตว์ใหญ่น้อย

และหลงกันว่าสัตว์เหล่านั้นต้องเกิดขึ้นมาบำเรอตน “พวกเธอต้องตายเพื่อบำรุงบำเรอฉัน บำเรอร่างกายฉัน บำเรอกามฉัน บำเรออัตตาฉัน เพราะฉันประเสริฐที่สุด สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เธอถูกฆ่าเป็นกรรมของเธอ แต่ฉันกินเธอไม่เกี่ยวกัน เพราะฉันไม่ได้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกักขังและเข่นฆ่านั้น ฉันเชื่อว่าฉันไม่มีกรรมใดๆเกี่ยวข้องเลย

ก็เป็นความหลงผิดของคนที่ไม่ได้ศึกษา ไปตัดตอนเอาแต่เฉพาะที่ตัวเองต้องการ ตอนเสพก็สุขหนักหนา แต่พอบอกว่ามีกรรมชั่วก็จะไม่รับ ทำเป็นไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ตีหน้าซื่อเสพกามอย่างผู้วิเศษ ก็หลงกันไป มอมเมากันไป เบียดเบียนกันไป กรรมมีผลก็เห็นว่าไม่มีผล นี้เป็นความเห็นผิดที่ฝังอยู่ในอัตตาของคน

ถ้าหากเราบอกว่าไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ก็ต้องไม่ไปเกี่ยวเลยทั้งกาย วาจา ใจ คือไม่ต้องไปเอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นเข้ามาในชีวิตเลย มันถึงจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆ

บ้างก็อ้างว่าฉันไม่ได้ติด ฉันไม่ได้หลง ฉันกินเพื่อเลี้ยงชีวิต แต่ก็ไม่คิดจะหัดพรากหัดละเสียบ้าง ยังจมอยู่กับกาม ด้วยเหตุแห่งการมีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เลยมีสิ่งเหล่านั้นมาบำเรอตนทุกวันไม่ขาด มีเงินก็ซื้อ มีคนเอามาให้ก็รับ ไม่เคยคิดจะพราก หาสารพัดข้ออ้างในการไม่พรากเช่น เกรงใจเขา, ไม่อยากเรื่องมาก, มันก็แค่อาหาร เอ่ยอ้างสารพัดข้อแก้ตัวที่กิเลสสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างน่าฟัง

พอไม่หัดพราก ก็แยกไม่ออกแล้วอันไหนกาม อันไหนอัตตา อันไหนอุเบกขา สรุปว่าสุดท้ายกามก็ติด อัตตาก็จัด อุเบกขาก็คิดเอาเองว่าตนมี เช่นว่าปล่อยวางทุกอย่างแล้วก็กินเนื้อเหล่านั้นไปทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้ ไม่ก็หลงว่าอย่าไปมีตัวตน ถ้าเลือกกินจะมีตัวตน เป็นข้ออ้างของกิเลสผสมข้อธรรมะ ทำให้น่าเชื่อถือขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

แล้วก็หลงไปว่าฉันนี่แหละไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันนี่แหละหลุดพ้น แต่กับแค่เนื้อสัตว์ยังไม่ยอมพราก กอดไว้ หวงไว้ รักษาไว้ ฉันจะเสพ ฉันจะต้องมีมันในชีวิต ฉันต้องเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งนั้น ฉันเป็นนายมัน มันเป็นทาสของฉัน ก็ผูกพันกันไว้เช่นนั้น

แท้จริงแล้วการที่คนเราต้องกินเขาเพื่อเลี้ยงชีพนี่แหละคือความเป็นทาส ไม่มีเขาเราก็เป็นทุกข์ ไม่มีเขาเราก็ขาดใจตาย นี่คือความเป็นทาส คอยรับความสุขจากเนื้อสัตว์ที่ถูกเขาฆ่ามา เสพสุขจากกองเลือดและกองกระดูก ให้สัตว์เหล่านั้นเย้ยหยันได้ว่า “โถ…มนุษย์หลงตนว่าเป็นผู้เจริญ แต่กลับต้องคอยเสพสุข ประทังชีวิตจากซากเนื้อที่ไร้วิญญาณของพวกเรา ช่างน่าสงสารยิ่งนัก

ความจริงนั้นปรากฏให้เห็นกันชัดเจนอยู่แล้วว่าใครกันที่เป็นใหญ่ ใครกันที่เป็นทาส ผู้ที่ถูกกิเลสหลอกให้หลงเสพหลงสุขจนโงหัวไม่ขึ้น ถึงขั้นยึดติดว่าเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่ควรเสพ เป็นคุณค่า เป็นสิ่งที่น่าได้น่ามีนั้นไม่มีทางพ้นจากความเป็นทาสไปได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

12.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)