Tag: ศีล

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,966 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมื้อเดียวแล้วหน้าเด็ก

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,569 views 0

ช่วงนี้มีกระแส “กินมื้อเดียวหน้าเด็ก” ที่แชร์กันมากมายสังคมออนไลน์นี้

ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่มีนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นทดลองแล้วเอามาบอกผลกัน ผมซื้อหนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” ของเขามาแล้วแต่ก็ยังไม่มีโอกาสหยิบมาอ่านสักที แต่จากที่่ดูคร่าวๆก็เป็นการทดลองที่มีิทฤษฏีอ้างอิงและการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์นะ

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า…

การกินมื้อเดียวในมุมของชาวพุทธเรานี่ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางโลก อะไรเลยนะ ไม่ได้กินเพราะต้องการจะได้อะไรเลย แต่ก็รู้ว่ากินแล้วมีประโยชน์

จริงๆแล้วการกินมื้อเดียวนี่แหละ คือความพอดีที่สุดในโลก เหมาะสมที่สุด ทำให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด แต่การเข้าถึงความพอดีนั้นก็ไม่ใช่ง่าย เพราะการกินมื้อเดียวถือเป็นศีลในระดับ “ยาก

คำว่ากินมื้อเดียวนี่ไม่ใช่กินแค่วันพระนะ แต่กินไปตลอดชีวิตนั่นแหละ โดยเป้าประสงค์คือกำจัดกิเลสในการอยากกินอาหารหลายมื้อให้หมดสิ้นไป ความอยากนี่มันสร้างทุกข์อย่างมากนะ มันจะหาเหตุผลให้กินหลายมื้อท่าเดียว แถมไปหลอกจิตให้สั่งกายให้หลั่งน้ำย่อย อาการปวดท้อง ทำให้อ่อนแรง โอย…วุ่นวาย

แล้วก็ไม่ใช่กินอย่างยึดมั่นถือมั่นนะ คือกินอย่างมีปัญญารู้ว่ากินมื้อเดียวดีอย่างไร แต่ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องกินได้มื้อเดียวแบบพอดีตลอดชีวิต เอาเป็นว่าค่ารวมๆจะได้มากกว่า 90% ซึ่งอาจจะพลาดตรงการประเมินอาหารที่ต่างไปจากปกติ ความเจ็บป่วย ภาระหน้าที่ที่สำคัญ ฯลฯ

คนกินมื้อเดียวได้ ก็จะเข้าใกล้ความไม่มีเข้าไปทุกที อย่างน้อยก็ไม่มีความอยากจะไปกินหลายมื้อ กินมื้อเดียวได้โดยไม่ต้องมีศีลหรือมีกฎใดๆมาคุม เพราะมีปัญญารู้ในตนแล้วว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเฟ้อ ทำให้ลำบากกาย และพาให้เจ็บป่วยอีก

สนใจแลกเปลี่ยนเรื่องกินมื้อเดียวก็ทักทายกันมาได้ครับ

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,702 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศีลและวินัย

June 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,167 views 0

เมื่อศึกษาไปจะค้นพบว่า ศีลคือสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเว้นขาดจากการเสพ ไปตั้งแต่กาย วาจา จนถึงใจ

แต่วินัยนั้นคือการห้าม การบัญญัติว่าอะไรห้าม อะไรอนุญาต

ดังนั้นการถือศีลจะไม่ใช่การห้ามตัวเองไม่ให้ทำสิ่งนั้นเพียงเพราะเป็นกฏ แต่เป็นการศึกษาให้เห็นโทษภัยของสิ่งนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเว้นขาด จากการทำผิดศีลได้

ยกตัวอย่างวินัยเช่น เราเป็นนักมังสวิรัติ ที่พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวจะผิดศีล นี้คือลักษณะถือเป็นวินัย เป็นกฏ เป็นข้อห้าม

ถ้าเป็นการศึกษาศีลจะเป็น เราเป็นนักมังสวิรัติ เราพยายามที่จะศึกษาว่าเหตุอันใดหนอ ที่ทำให้เราอยากเสพเนื้อสัตว์ เราหลงติดหลงยึดอะไรในสิ่งนั้น แล้วเราจะกำจัดเหตุนั้นอย่างไร ให้เราไม่ต้องกลับไปเสพเนื้อสัตว์นั้นอีก

จะสังเกตุว่า แม้ในข้อปฏิบัติเดียวกัน ยังมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งโดยหลักของวินัยนั้นจะเน้นควบคุม กาย วาจา แต่ศีลนั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบในการชำระกิเลส