Tag: ศีล

ความกล้า

September 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,280 views 1

ความกล้า

ความกล้า

ในโลกนี้มีความกล้าด้วยกันหลายแบบหลายมิติ บ้างก็กล้าทำชั่ว บ้างก็กล้าทำดี บ้างก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่รู้จะทำไปทำไม แม้แต่คนที่กล้าทำเรื่องที่ไร้สาระสุดๆ ก็ยังได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่วนอยู่ในวิถีของโลก ที่สุดแล้วความกล้าเหล่านั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับความกล้าที่จะหลุดพ้นจากโลก กล้าออกจากโลกียะไปสู่โลกุตระ

ความกล้าที่จะพาให้พ้นโลก คือ กล้าต่อต้านกิเลสไม่ยอมให้กับกิเลสเหมือนเคย มีอาการแข็งข้อ ไม่ทำตาม ไม่ส่งส่วย ไม่สนใจกิเลส

กล้าต่อสู้กับกิเลส หยิบอาวุธคือปัญญาขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส คิดหากลยุทธ์ในการทำลายกิเลสให้ราบคาบ หาทางเอาชนะมันอย่างไม่ลดละ

กล้าทำลายกิเลส ในที่สุดแล้วหากต้อนกิเลสจนมุมได้ ก็จะทำลายมันไม่ให้เหลือแม้แต่เศษเสี้ยว ไม่ให้เหลือแม้ผงธุลี แม้รอยอาลัยใดๆในจิตใจก็จะไม่ให้เหลือไว้ ถอนรากถอนโคนกันไปเลย

…เหตุที่เราไม่กล้าคิดจะต่อกรกับกิเลสเพราะกลัวเสียสุขที่เคยได้เสพไป

ทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่ากล้าสู้กับกิเลส ก็คือเริ่มจากศีล พื้นฐานก็คือศีล ๕ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ลดการเบียดเบียนลงไปเรื่อยๆ เมื่อถือศีลก็เหมือนกับเราเข้าสู่สนามรบ หากไม่มีศีลก็ไม่จำเป็นต้องอดทนอะไร อยากทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อมีศีลก็จะต้องต่อสู้กับความอยากที่จะทะลักออกมา พยายามจะทำลายศีลที่เราใช้อาศัยในการกำจัดกิเลส และนี่คือสนามรบของคนกล้า ที่กล้าจะเผชิญหน้าและกล้าทำลายผู้ร้ายที่ชั่วที่สุดในโลกที่มาฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของเรามานานแสนนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

4.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

August 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,240 views 0

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว

การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย

และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่

นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว

ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว

แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้

พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด

อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด

ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง

เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ช่วงนี้พิมพ์แต่เรื่องโสดๆ

August 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,056 views 0

ช่วงนี้พิมพ์แต่เรื่องโสดๆ อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ ผมก็ทำตามหลักปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ละนะ

คือ…

งดเว้นจากการมีคู่ ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากการมีคู่ด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการโสดด้วย

ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วๆไปคล้ายๆกับศีล ๕ เช่น งดเว้นจากปาณาติบาตด้วย ชักชวนผู้อื่นเพื่องดเว้นจากปาณาติบาตด้วย กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการงดเว้นปาณาติบาตด้วย

….ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ ชักชวนคนอื่นให้ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ และชมคนที่ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ ก็จะพ้นทุกข์ประมาณนึง

แต่ถ้าเป็นโสดก็จะพ้นทุกข์อีกประมาณนึง คือรวมๆกันแล้วก็มีเรื่องไม่ต้องทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง

ดีนะ

ที่นี้การจะตั้งใจอยู่เป็นโสดนี่ก็ว่ายากแล้ว ยังต้องชักชวนคนอื่นให้เป็นโสดนี่ยากขึ้นไปอีก แถมยังต้องพูดถึงข้อดีของความโสดอีกยากสุดๆ

นี่ถ้ายังมีความอยากในเรื่องคู่อยู่นี่มันชักชวนคนอื่นไม่ไหวนะ มันจะชวนเขาไปมีคู่ท่าเดียวเลย ยิ่งพูดข้อดีของความโสดนี่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ใจมันจะไม่เอาเลย มันจะไม่ยอมโสด หาไปเถอะข้อดีของความโสด หาไม่เจอหรอก กิเลสบังตาหมด

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

July 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,243 views 1

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร

ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ

ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)

หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา

ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ

ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ

ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้

การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง

ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด

เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา

ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร

สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร

ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ

ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย

ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น

ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง

การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ

ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)

การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

27.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)