Tag: วิบากกรรม
ประพฤติตนเป็นโสด ทั้งรูป ทั้งนาม
บทความก่อนมีคำว่าโสดทั้งรูปทั้งนาม ก็นึกถึงตัวเองสมัยศึกษาธรรมใหม่ ๆ บางทีก็งงศัพท์ ว่าไอ้คำที่ว่า มันหมายความว่ายังไง มันเป็นยังไง ก็เลยเอามาลองพิมพ์ให้อ่านกัน
โสดทั้งรูป
คืออยู่เป็นโสดนั่นแหละ ตั้งตนอยู่เป็นโสดให้ได้ ให้นิ่งเลยเลย ไม่แสดงท่าทีหวั่นไหว ไม่ไหวติง มีสาวมาอ่อย มีหนุ่มมาเกี้ยวก็ไม่ออกอาการหวั่นไหว อันนี้คือทำรูปให้เป็นโสดได้
ไม่ใช่ว่าเป็นโสดแล้วแส่หานะ ไปแจกขนมจีบเขาไปทั่วอันนี้ไม่ใช่ มันต้องนิ่งพอจะทน ถ้ามีหนุ่มสาวเขามาทักทาย มาหยอกล้อ ก็ไปเล่นกับเขา ไปยุ่งกับเขาแบบล้น ๆ เกิน ๆ คือมีอาการดีใจ เหมือนหมากระดิกหางเวลาเห็นคนให้อาหาร อันนี้ไม่ดี อาการเหล่านี้ต้องเก็บให้อยู่ ให้รูปสวยไว้ก่อน ถ้ายั่วขึ้นรูปไม่สวย ถ้ายั่วแล้วยังไม่ออกอาการเรียกว่ารูปสวย
ส่วนคนมีคู่นี่รูปเขาไม่สวยอยู่แล้ว เป็นวิบากกรรมของเขาที่ต้องแบก บางคนมีคู่มาก่อนเจอธรรมะ มันก็ช่วยไม่ได้ มันก็ต้องยอมรูปไม่สวย แต่สามารถทำนามให้สวยได้
โสดทั้งนาม
นาม คือ นามธรรม คือใจนั่นแหละ เอาใจให้เป็นโสดให้ได้ แม้โสดโดยรูปธรรมเราจะเก๊ก ๆ อยู่บ้าง แม้ไม่ออกอาการแต่ใจยังหวั่นไหว ก็ยังดี แต่จะดีกว่าถ้าใจไม่หวั่นไหว
การที่ใจไม่หวั่นไหว ในการไปชอบคนนู้น ไปรักคนนั้น มันก็ต้องล้างกิเลส อันคือความอยากในการมีคู่เสียให้หมด ถ้าล้างหมดมันจะไม่มีอาการอยากแล่บออกมา
ซึ่งอาการอยากนี่แหละที่ทำให้รูปไม่สวย ถึงแม้จะกดไว้ อดทนไว้ แต่กิเลสมันเต็มอก วันหนึ่งมันก็จะล้นทะลักออกมาเป็นอาการล้น ๆ เกิน ๆ ในการปฏฺิบัติต่อบุคคลที่ชอบอยู่ดี
การเป็นโสดโดยนามนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกฝนและศึกษากับผู้รู้จริง เพราะถึงขั้นล้างกิเลส มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำเก๊กกันได้ มันต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องขุดรากของความหลงออกมา ให้หมดแบบถอนรากของโคน มันถึงจะเป็นโสดได้อย่างผาสุก
โสดโดยนามธรรมนี่ ก็สามารถปฏิบัติได้ทั้งคนโสดและคนมีคู่ ก็ล้างกิเลสหมวดเดียวกันนั่นแหละ คือความอยากมีคู่ ความยินดีในการมีคู่ การเห็นความสำคัญในการมีคู่ การให้คุณค่าในการมีคู่จนสร้างตัวตน หรืออัตตาขึ้นมาว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้จริง สิ่งนี้สุข สื่งนี้เท่านั้นคือเป้าหมาย เราก็ต้องทำลายตัวนี้
ถ้าโสดโดยนามได้จริง คู่จะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป จิตมันจะไม่ให้ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นคุณค่า เป็นสิ่งดี แต่จะเป็นเพียงสมมุติโลก เป็นคนคนหนึ่ง ไม่พิเศษ คนโสดก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะโสดอยู่แล้วก็เบาสบายต่อไป ส่วนคนคู่ก็เลือกปฏิบัติเอาเท่าที่เป็นกุศล เพราะถ้าบาปไม่มีแล้ว ที่เหลือก็แต่ประมาณกุศลเท่านั้นว่า กุศลอันไหนดีกว่า
คือจะเลิกหรือไม่เลิกตอนไหนก็ได้ มีอิสระในการตัดสินใจ ให้เลิกเดี๋ยวนั้นก็เลิกได้เลย โดยเฉพาะอีกฝ่ายเปิดทางนี่จะไม่ขัดเลย จะยินดี ยอมเป็นหม้าย ยอมให้เขาทิ้ง ยอมให้มีคนอื่นมาพรากไปอย่างสบายใจ แม้จะยังอยู่ในสถานะคู่ ก็จะคิดอยู่นั่นแหละว่าจะทำยังไงหนอ ถึงจะพ้นสถานะนี้ได้อย่างไม่เป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นมาก จิตจะมีอิทธิบาทในการทบทวนเพิ่มปัญญาในการออกจากสถานะคู่ไปเรื่อย ๆ ไม่แช่อยู่ ไม่หยุดหรือจมอยู่ แต่จะพยายามออกเพราะรู้ว่าเป็นสถานะที่เป็นอกูศล เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี พอวิบากร้ายที่เคยทำมาหมด ปัญญาถึงรอบ ก็จะมีวิธีการพูด มีกุศโลบายที่จะอธิบายเขาให้เข้าใจ หรือ มีคนมาเจาะช่องให้ออกได้เอง ถึงตอนนั้นก็วิ่งออกอย่างเริงร่าเหมือนคนวิ่งเข้าเส้นชัยได้คนแรกได้เลย
สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนโสดอย่างผาสุกทั้งรูปทั้งนามได้ในที่สุด
น้ำหนักของความรู้สึกในการห่างไกลคนพาล
จากชิคุจฉสูตร จะมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเปรียบโทษของการเข้าไปคบหา เข้าไปชิดใกล้คนพาล มีความเน่าในตน ผิดศีล ฯลฯ ว่าเหมือนกับการเข้าไปใกล้งูที่อยู่ในบ่อขี้ แม้ไม่กัดแต่ถ้าไปใกล้ก็จะทำให้เหม็นได้
คนทั่วไปถ้าไม่ได้ศึกษาและปฏิบิติธรรม เขาจะไม่เข้าใจน้ำหนักที่ควรจะห่างไกลคนพาลเหล่านี้ เขาก็คิดว่าไม่เป็นโทษขนาดนั้นล่ะมั้ง ไม่อันตราย ไม่ถึงขนาดต้องห่างไกลหรอกน่า หรือไม่ก็ทำเป็นไม่รู้จัก ไม่สนใจความเป็นภัยของคนพาลไปเลย
การที่พระพุทธเจ้าจะยกอะไรขึ้นมาเปรียบเทียบนั้น ท่านก็มักจะยกสิ่งที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันเพื่อเปรียบเทียบให้รู้สึก ให้เข้าใจ ให้พอเห็นภาร่วมกันได้ง่ายขึ้น
คนพาลนั้นก็เหมือนกับงูในบ่อขี้ ทั้งอันตราย ทั้งเหม็น แม้ไม่กัดแต่มาเข้าใกล้ก็เหม็น มงคลสูตรที่ว่า ห่างไกลคนพาลนั้น คือต้องมีปัญญาเข้าถึงสภาวะว่าคนพาลเป็นโทษดังนี้ คือเหมือนความอันตรายของงู และเหม็นเหมือนขี้
รู้สึกอย่างไรกับงู ก็รู้สึกกับคนพาลนั้นใกล้เคียงกัน คืออันตราย เป็นภัย ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าเข้าไปยุ่งใด ๆ แม้มันจะมีหรือไม่มีพิษ หรือแม้จะกัดหรือไม่กัดก็ตาม คนทั่วไปเขาก็จะไม่อยากเข้าไปใกล้งู อันนี้คือสภาพจิตของคนที่คนใจภัยของคนพาล ก็จะห่างคนพาลไว้ เพราะพิษภัยอันตรายเหล่านั้น
ส่วนบ่อขี้ หรือขี้นี่ก็เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่รังเกียจอยู่แล้ว ยิ่งงูตกถังขี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะปกติขี้มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น จะเหม็นโชยขึ้นมาก็เพราะมีอะไรไปเขี่ยหรือทำให้ขยับ แต่ถ้ามีงูไปตกถังขี้แล้วเลื้อยมาทางเรา ก็คล้าย ๆ จะกลายเป็นขี้เดินได้ ทั้งอันตรายทั้งน่ารังเกียจ
ความเห็น ความเข้าใจและชื่อเสียงที่ไม่ดีของคนพาลเช่นกัน ก็เหมือนกับขี้นั่นแหละ คนทั่วไปรังเกียจอย่างไร กับความเน่าในของคนพาลก็มีน้ำหนักเท่านั้นเช่นกัน
ถ้าเห็นความพาลในคนพาล เห็นการโทษของการผิดศีลในคนผิดศีล เห็นความเน่าในตนของคนเสแสร้งได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริง ๆ จะเข้าใจน้ำหนัก ว่าควรจะรักษาระยะห่างในการคบหาเท่าไหร่จึงจะดี ควรจะห่างไปไกลเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย
มันก็เป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจได้ยากมากถึงยากที่สุด เพราะคนพาลนั้นรู้ไม่ได้ง่าย ๆ ส่วนมากก็จะเสแสร้งแกล้งทำตัวเป็นคนดี หลอกคน ถึงขนาดว่าขี้ที่เปื้อนก็ยังเป่ามนต์ให้หอมได้ เป็นของวิเศษได้ แบบนั้นก็มีเหมือนกัน
แต่บางคนเขามีวิบากกรรมที่ต้องหลง เพราะเคยไปส่งเสริมมามาก มีกรรมก็ต้องรับกรรม แต่เมื่อรู้แล้ว ชัดแล้ว เห็นความเป็นพาล เห็นความผิดศีลเน่าในแล้ว ก็ควรจะถอยห่างออกมา
วิธีรับมือคนมาจีบแบบบัณฑิต
พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตคือผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด แล้วจะทำอย่างไร? เมื่อเราตั้งใจอยู่เป็นโสด แล้วมีคนมาจีบ
คนที่เขามาจีบเราในตอนที่เราปฏิบัติธรรมอยู่ ก็ไม่ต้องไปชังเขานะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปชอบเขากลับ เราก็ทำหน้าที่ของเราคือตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควร คือตั้งใจเป็นโสดแม้เขาจะมาจีบ มาชอบ หรือกระทั่งมาอ่อยเหยื่อก็ตาม
ก็ให้ตั้งจิตเราให้ถูก ให้ตั้งใจไว้ว่าหน้าที่ของเราคือความเกื้อกูล ไม่ทำให้เขาเป็นทุกข์ ไม่พาให้เขาหลง เท่าที่ปัญญาของเราพอจะทำได้
ที่เขามาชอบเรา มันมีหลายเหตุ อันนี้ไม่ต้องไปเดาให้เมื่อยหัว เสียเวลาเปล่า ๆ เอาเป็นว่าที่เขามาชอบเนี่ย มันจะทำให้เขาเป็นทุกข์แน่ ๆ เพราะเขาจะไม่มีวันสมหวัง
เพราะเราจะไม่ทำอย่างคนอื่นเขา เราจะไม่ล่อลวง ไม่เกี้ยวพาราสี ไม่ทำทีเล่นทีจริง ทิศของเราชัดเจนคือเราจะพากันไปพ้นความหลง พ้นจากความทุกข์ เรารู้ดีอยู่ว่าการไปมีคู่คือทางไปทุกข์ ดังนั้นการไม่รับรักเขา นั่นคือความเกื้อกูลที่เราพึงกระทำได้
เวลาคนเขาตอบรับรักกัน ส่วนใหญ่เขาก็ดีใจกันมากมายนั่นแหละ เพราะเขาเห็นของไม่ดีเป็นของดี เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาก็เลยหลงดีใจกับสิ่งที่จะพาให้เป็นทุกข์
พอคบกันไปแล้วทุกข์มันจะเริ่มเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จากความคาดหวัง ความเอาแต่ใจ ความพร่องของเหตุการณ์ต่าง ๆ การอยู่เป็นคู่นั้นมีแต่ทุกข์ ทุกจังหวะชีวิต ไปไล่ตรวจสอบดูเถอะ ถ้าเหตุปัจจัยมันเปลี่ยนหรืออะไร ๆ ไม่ได้ดั่งใจ ความทุกข์จะเกิดขึ้นไหม แค่จินตนาการก็เห็นแต่ทุกข์ทั้งนั้น ของจริงก็ไม่เหลือหรอก เพราะทุกข์จริงและออกยากด้วย
ทีนี้เราเห็นทุกข์ขนาดนี้ เราก็จะไม่พาเขาไปทางนั้น เขาอาจจะผิดหวังที่เราไม่รับรัก แต่เขาจะไม่ทุกข์ไปมากกว่านั้น แล้ววันหนึ่งที่เขาสั่งสมประสบการณ์ของทุกข์จากความรักมากพอ เขาจะรู้ว่า การที่เราไม่ไปคบกับเขานั่นแหละ คือการเกื้อกูลกัน คือน้ำใจที่มีให้กัน คือการหวังให้เกิดแต่ประโยชน์ในชีวิตของกันและกัน
ก็อาจจะมีที่คนเขาคิดไปว่า ถ้าคบหากับคนดีที่ปฏิบัติธรรมก็คงจะดีสิ ไม่ทำร้ายเรา แต่ในความจริงมันจะทุกข์ไปอีกแบบ การคบหากันในโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในมิติของกาม แต่ถ้ามาคบหาคนที่ปฏิบัติธรรม จะต้องเผชิญกับมิติของอัตตา
ไม่ใช่แค่อัตตาของคู่หรอกนะ แต่เป็นอัตตาของเราด้วย เพราะบางทีฐานมันไม่เสมอกัน เช่น คู่เขาฐานศีล ๘ ขึ้นไปแล้ว เขาไม่สัมผัส ไม่มองตา ไม่คุยด้วย ไม่สมสู่ ไม่เหลืออะไรให้เสพแล้ว ทีนี้ถ้าเราฐานไม่ถึงมันจะทรมานจากความอยาก มันอยากได้ความรักแบบโลกีย์ แต่เขาไม่มีให้ มันจะทุกข์เพราะความอยากมันบีบคั้น มันก็จะทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
ทีนี้การจะช่วยเขาจากการหลงรักเรานี่เป็นความยากอีกระดับ เพราะมันจะมีองค์ประกอบที่มากั้นเยอะ 1.เขาหลงเรา 2.มีวิบากกรรมที่เคยทำชั่วมา 3.ปัญญาของเรา
1.ถ้าเขาหลงเรานี่มันจะพูดกันเข้าใจยาก เหมือนตัวเราอยู่ตรงนี้ แล้วเขาไปมองตรงอื่น ก็จะสื่อสารกันยาก เพราะสาระของเราคือธรรมะ ไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนั้นมันจะพาไปสู่ทิศทางที่ถูกได้ยาก
2.วิบากกรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและทำใจยอมรับ บางทีมันเกิดจากเราทำชั่วมามาก พอเวลาจะพูดดีทำดี มันจะไปไม่ออก ไม่เข้าท่าขึ้นมาเฉย ๆ หรือถ้าฝั่งเขา เขาก็อาจจะทำไม่ดีมามาก วิบากบาปมันเลยกั้นไว้
3.ปัญญาของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่พอจะพัฒนาได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะสมข้ามภพข้ามชาติ สุดท้ายก็ต้องใช้ตัวนี้แหละช่วยเขา เราต้องเก่งขึ้นเพื่อช่วยเขา แต่ก็ให้วางใจว่าขนาดพระพุทธเจ้าที่มีปัญญาสูงสุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้นางพิมพาบรรลุธรรมได้ทันที จะต้องหน่วงไปอีกสักพัก แม้นางพิมพาจะมีภูมิเก่าถึงขั้นอรหันต์ แต่มันจะฝ่าวิบากกรรมตามข้อ 2 ไม่ได้ง่าย ๆ ดังนั้นปัญญาตัวจบคือปัญญาปล่อยวาง คือช่วยเต็มที่แล้วปล่อยวางให้ได้ ให้รู้ว่าจังหวะไหนควรใช้ จังหวะไหนควรวาง
สรุป… การที่เราไปหลงตามเขาคืองานหลักของเรา ส่วนงานช่วยเขาเป็นงานรอง ถ้ามีกำลังถึงจะทำไปพร้อม ๆ กันก็ได้ แต่ถ้ากำลังจิตไม่ถึง มันหวั่นไหว ก็ให้เน้นไปที่งานตัวเองก่อนเป็นหลัก เพราะถ้าเราพ้นทุกข์ได้ เราจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าเรายังเป็นทุกข์ ยังหวั่นไหวกับเขาอยู่ เราจะช่วยเขาไม่ได้เลย ดีไม่ดีจะลากเขาลงนรกไปกับเราด้วยอีกต่างหาก
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน
ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว
ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก
การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง
การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้
ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
13.8.2562