Tag: พระพุทธเจ้า
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น
ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก
แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป
– – – – – – – – – – – – – – –
จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก
คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี
ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน
ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน
เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด
ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน
นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้
ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี
– – – – – – – – – – – – – – –
4.8.2558
คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน
“คนหากิน สัตว์หากิน เราไม่เบียดเบียนกันและกัน”
นอนๆอยู่ก็นึกถึงประโยคหนึ่งที่เคยได้ยิน เป็นประโยคที่ดีมาก เลยไปค้นว่ามาจากไหนก็ได้เจอเพลงนี้ เพิ่งจะเคยฟังเต็มๆ
แม้เพลงนี้จะกล่าวในขอบเขตของสัตว์ป่า แต่ประโยคนี้กลับขยายได้ไปถึงองค์รวมของการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ทำไมเราไม่หากินของเราไป และปล่อยให้สัตว์หากินของมันไป ไม่ต้องไปเบียดเบียนมัน เราจะเบียดเบียนกันและกันไปด้วยเหตุผลอะไรบ้าง ในเมื่อแท้จริงแล้วชีวิตที่ไม่เบียดเบียนกันก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข
“เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด” เป็นประโยคที่พระพุทธเจ้าผู้ไม่เบียดเบียน กล่าวกับ อหิงสกะ หรือองคุลีมาล จนเกิดดวงตาเห็นธรรม ตื่นจากความหลงผิด ความมัวเมาในคำลวงของผู้อื่น ที่ล่อหลอกให้ไปฆ่าคนมากมาย
ชื่อ อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ซึ่งแท้จริงแล้วท่านมีบารมีพร้อมจะเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงแค่แนะนำธรรมะที่มีพลังพอจะกระเทาะเปลือกแห่งโลกีย์ให้ จนเกิดปัญญารู้โทษชั่วของการเบียดเบียน บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
แม้ว่าในเมื่อวานเราจะยังหลงสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่อาจจะไม่ใช่วันนี้ก็ได้….
เพียงแค่เราปลดเปลื้องเปลือกที่เคยห่อหุ้มไว้ ละทิ้งความหลงสุขที่พาให้เบียดเบียน ปลุกจิตวิญญาณที่มีเมตตาของตนขึ้นมา จนแผ่ไพศาลไกลออกไปมากกว่าความสุขในตัวเอง แผ่ไปสู่ความสงบสุขในสัตว์ทั้งหลายด้วย
ความคาดหวังของพ่อแม่
ความคาดหวังของพ่อแม่
“เมื่อเป็นพ่อแม่เรามักอยู่กับความหลงผิด เพราะเราต่างสร้างอนาคตให้ลูก แต่หลายสิ่งเกิดขึ้นตามโชคชะตาของแต่ละคน”
บทละครที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระเจ้าสุทโธทนะ ในละครซีรี่พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ตอนที่ ๔๒ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่มีพลังมากกว่าความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลก
คนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรืออาจจะรวมไปถึง เจ้านาย คู่รัก เพื่อน ฯลฯ ก็ย่อมมีความหวังให้คนที่ตนรักและดูแลเป็นไปในทางที่ตนเข้าใจว่าดี ตามความยึดมั่นถือมั่นของตนเอง
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปตามนั้น เพราะผลของกรรมนั้นมีพลังมากกว่า หากเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดให้เป็นไปตามใจของเราแล้ว สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายลงด้วยพลังแห่งกรรมที่มีอำนาจเหนือใครในโลก
มนุษย์พยายามฝืนกรรมลิขิตได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะถึงแม้เราจะฝืน เราจะพยายามเท่าใด ทุกชีวิตก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมที่ทำมา อย่างเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านมีกรรมที่จะต้องเป็นพระพุทธเจ้า อะไรก็มาห้ามท่านไม่ได้ มันถูกกำหนดไว้เช่นนั้น เพราะท่านทำกรรมมาเช่นนั้น
ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจว่าดีนั้น คือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีไหวพริบ ขาดความแววไวต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะตนได้ยึดสิ่งที่ตนว่าดีไปแล้วจึงไม่เปิดใจยอมรับสิ่งอื่นๆ ทั้งที่จริงทุกสิ่งผันเปลี่ยนหมุนเวียนไปไม่หยุดตามวิบากกรรมที่ได้ทำมา
พ่อแม่ที่มองแค่เพียงว่าบุตรนี้คือของของตน ต้องเป็นไปตามแนวทางของตน ต้องเป็นไปตามที่ตนต้องการ คือผู้ที่สร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะความยึดมั่นถือมั่น นั่นเพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครมาเกิด เขามีกรรมของเขามาอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีเบื้องหลังเสมอ เขามีกรรมเป็นของเขา เรามีกรรมเป็นของเรา ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะมีความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันแต่แท้ที่จริงแล้ว เราแต่ละคนมีกรรมแยกกันไป
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราควรปล่อยปละละเลย เพราะการเลี้ยงดูบุตรก็เป็นกรรมดีของเราเช่นกัน การเลี้ยงดูบุตรเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ดังนั้นเราก็ควรจะสร้างกรรมดีของตน โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าผลนั้นจะเกิดดีหรือไม่ เพราะผลที่เกิดนั้นจะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากหลายเหตุปัจจัยและไม่ว่าผลที่เกิดจะเป็นเช่นไร กรรมดีของเรานั้นได้ทำไว้แล้ว สะสมไว้แล้ว เป็นประโยชน์แล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
28.7.2558
คู่บารมี
คู่บารมี
คนที่จะมาเป็นคู่บุญคู่บารมีจริงๆแล้วสังเกตได้ไม่ยาก เพียงแค่ถือศีลตั้งตบะ ปฏิบัติธรรมให้แกร่งกล้า ถ้าเขาคนนั้นเป็นของจริง เขาก็จะตามมาได้เอง
ในกรณีตัวอย่างของพระนางยโสธรา ซึ่งละทิ้งการประดับแต่งตัว เปลี่ยนมานอนพื้นที่แข็ง กินมื้อเดียว เป็นต้น ซึ่งเป็นบารมีเก่าที่ท่านสะสมมามาก
ส่วนใหญ่คนเรามักจะไม่อยากจะถือศีลปฏิบัติธรรมกัน มักจะพากันให้เสื่อมจากศีล พากันไปชั่ว จึงไม่สามารถวัดได้จริงว่าคนที่หมายปองนั้นเป็นคู่บุญคู่บารมีหรือไม่ เพราะโดยมากก็ลากกันลงนรก พากันมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เป็นคู่เวรคู่กรรมกันเสียมากกว่า
ถ้าอยากลองทดสอบกันจริงๆ ก็ให้ถือศีลให้มั่น ตั้งตบะให้สูงเท่าที่จะทำได้ เลิกกินเนื้อสัตว์ กินมื้อเดียว เว้นจากการสมสู่ ไม่รับบุตรและภรรยา(สามี) คือไม่คบหาเป็นแฟนหรือแต่งงานเลยก็ยิ่งดี เป็นศีลระดับสูงที่จะมาคัดว่าคนนั้นของจริงหรือไม่ ถ้าเป็นพวกคู่บาปคู่เวรนี่เจอศีลนิดหน่อยก็หนีแล้ว แต่ถ้าเป็นของจริงเราตั้งใจปฏิบัติธรรมขนาดไหนเขาจะไม่หนี เขาจะตาม เพราะเขาตามมาหลายชาติแล้ว ชาตินี้เขาก็เลยตามได้สบายๆ แถมเขาจะไม่ผูกมัดเราด้วยสิ่งต่างๆ ยอมปล่อยให้เราคงสถานะเช่นนั้น และยังเอื้อให้เราปฏิบัติได้สูงยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย แต่คู่เวรคู่กรรมนั้นจะตามไม่ไหว เพราะพลังดีจะกั้นคนชั่วให้ออกจากชีวิตหรือไม่ก็จะกลายเป็นมารที่พยายามผูกมัดเราด้วยสถานะของคนคู่ ยั่วยวนเราให้หลงเสพหลงสุข ให้เสื่อมจากศีล เพื่อให้เขาได้เสพสุขจากเรา
จะเห็นได้ว่าคู่บารมีคือผู้ที่เข้ามาทำให้เรามิทิศทางที่เจริญเติบโตขึ้นในทางธรรม ทำให้พ้นจากวิธีของโลกียะ ไปสู่โลกุตระ ในทางกลับกันคู่เวรคู่กรรมจะเข้ามาฉุดไม่ให้เราโตในทางธรรม ทำให้เราหลงวนอยู่กับโลกียะ มัวเมาอยู่กับอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ไม่ปล่อยให้เราพ้นจากความหลงเหล่านี้
คู่บารมีจะอยู่ในสภาพของเพื่อน แม้ต่างเพศก็จะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ถึงจะพลาดแต่งงานไปแล้วแต่สุดท้ายจะอยู่กันเหมือนเพื่อน เพราะเป็นสถานะที่ดีที่สุดที่จะพากันให้เจริญ
ในละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๑ ได้มีบทพูดว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ทนทุกข์เล่า” หมายถึงการไม่เห็นแก่ประโยชน์เพียงเล็กน้อย ยอมไม่ครองคู่เพื่อให้ประโยชน์ที่มากกว่ากับผู้อื่น แทนที่จะให้เวลากับคนแค่สองคน ก็เอาเวลาไปใส่ใจกับคนอีกมากจะดีกว่า เมื่อเห็นเช่นนี้ ศิษย์พระพุทธเจ้าทุกคนย่อมสละประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพื่อประโยชน์ที่มากกว่า
การไม่ครองคู่ และคงสถานะเป็นเพียงแค่เพื่อน เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน จึงเป็นความเจริญของผู้ที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นชั่วกาลนาน
– – – – – – – – – – – – – – –
25.7.2558