Tag: ผีเปรต
เห็บศาสนา เปรต เทวดา
ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก
จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์
นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง
โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ
ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ
คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม
ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน
ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ
มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน
ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที
และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ
พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ
หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ
เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล
เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล
ในปัจจุบันนี้การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะต่างๆไปว่าจะเป็นการซื้อทอง ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ที่หวังผลเก็งกำไรนั้น เป็นกิจกรรมที่เห็นและยอมรับได้โดยทั่วไปในสังคม
ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนอื่นๆในปัจจุบันนั้นจะเป็นลักษณะของการพนันแบบชัดเจน แต่ผู้ที่สนใจและหลงไปกับการลงทุนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเหตุผลมากมายมาค้านแย้งได้ว่าการเล่นหุ้นของตนไม่ใช่การพนัน ไม่ใช่อบายมุขมีอีกมากมายหลายล้านเหตุผลที่จะบอกว่าการเล่นหุ้นไม่ผิด สังคมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป
ในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ มาตรฐานของศีลธรรมก็มักจะตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เคยเป็นกงจักรก็กลายเป็นดอกบัว และในอนาคตกงจักรที่เราเห็นในปัจจุบันก็จะค่อยๆกลายเป็นดอกบัวเช่นกัน เหตุนั้นเพราะอะไร? นั่นเพราะความเสื่อมจากศีลธรรมของคน เมื่อคนเสื่อมก็ไม่มีความรู้มาแยกแยะดีชั่ว อันไหนบาปอันไหนบุญ แต่ความหลงผิด หลงติด หลงยึดในตัวตนนั่นเองที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ากงจักรเป็นดอกบัว เรามักจะถูกล่อด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเหมือนน้ำผึ้งที่เคลือบอยู่บนใบมีดโกน
ความฉลาดของกิเลส
กิเลสนี่มันร้ายสุดร้าย มันฉลาดกว่าเราเยอะ แม้เราจะ IQ180 ก็ตาม แต่กิเลสมักจะล้ำหน้าเราไปเสมอ เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นและการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันจะแสวงหาเหตุผลให้เราไปเล่นหุ้น ให้เราลงทุน มันจะมีเหตุผลอ้างอิงมากมายเพื่อใช้หักล้างศีลธรรม ทำลายศีลธรรมทิ้งเพื่อเสพกิเลส กิเลสนี่มันคือนักสร้างเหตุผลที่ทำให้เราหลงไปจมอยู่ในนรกได้อย่างรู้สึกเป็นสุข เราก็รู้สึกเป็นสุขจริงๆตามที่กิเลสนั้นส่งพลังให้นะ แต่เวลาทุกข์จากความเสียหายหรือเครียดจากการลงทุนนี่กิเลสมันไม่ทุกข์ด้วยนะ แต่มันก็จะเป่าหูให้เราลงทุนต่อ ศึกษาต่อ หลงวนเวียนต่อ เหล่านี้คือพลังของกิเลส จะเรียนรู้มาแค่ไหน เกียรตินิยม จบเมืองนอก ปริญญาเอก ศาสตราจารย์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน เถ้าแก่พันล้าน ฯลฯ ต่างก็แพ้ให้กิเลสทั้งนั้น
จริงๆจะว่าไปมันก็โลภตั้งแต่คิดจะเข้าไปลงทุนแล้ว ความโลภนี่แหละผลักดันให้เราสนใจ ให้เราขยับมือ ขยับขา ขยับปากเข้าไปสู่โลกแห่งการลงทุน กิเลสมันจูงเราเข้าไปตั้งแต่แรกแล้วเราก็ยังไม่รู้ตัว แล้วตอนที่หลงวนเวียนอยู่ในนรกแห่งการลงทุนจะไปเหลืออะไร มันก็มืดบอดเท่านั้นเอง มองกิเลสดีไปหมด มองการลงทุนดีไปหมด
แล้วยังมีการหลงไปด้วยนะว่าถ้ารวยแล้วจะเอาเงินมาทำกุศล นี่กิเลสมันหลอกซ้อนไว้แบบนี้ มันเอาความดีมาล่อให้ทำบาป ดูซิกิเลสมันแผนซ้อนแผนมันฉลาดขนาดไหน
เล่นหุ้นอย่างไม่โลภ
มีหลายความคิดเห็นได้เสนอว่าก็เล่นหุ้นอย่างไม่โลภสิ เล่นแบบเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องความโลภนี่มันไม่เข้าใครออกใคร บางคนก็ว่าโลภน้อยไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้วไม่โลภเลยมันจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจริงๆเราโลภมากโลภน้อย เพราะถ้าวัดจากสังคมส่วนใหญ่มันอาจจะผิดเพี้ยนไปก็ได้
ถ้าบอกว่าไม่โลภเลยนี่มันต้องลงทุนให้ได้กำไรเท่ากับศูนย์หรือติดลบนะ เพราะไม่มีความโลภจึงไม่มีความคิดจะเอาเลย มีแต่ใจที่อยากสนับสนุนกิจการ อยากสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันความเจริญ เอาแบบเท่าทุนกับขาดทุนเลยนะ อย่าไปเอากำไร เพราะถ้าคิดถึงกำไรแม้แต่สลึงเดียวนี่ใจมันก็โลภแล้ว พอโลภมันก็เป็นบาปแล้ว แถมกิจกรรมที่โลภนี่มันก็อบายมุข เงินมากเงินน้อยไม่สำคัญเท่ากับจิตที่โลภ
หรือแม้แต่การออมนี่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเก็บสะสมนะ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เดี๋ยวนี้เราหลงประเด็นกันไปว่าการออมต้องมีเงินงอกเงย จริงๆเก็บออมคือเก็บไว้ใช้เท่านั้น เรื่องการงอกเงยนี่มันคือกิเลสมันงอกออกมาทีหลัง บางธุรกิจบางองค์กรเขาก็เสนอมาว่า ถ้ามาฝากเงินกับเขา เขาก็จะให้ดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้แต่ละที่เขาก็ไม่ได้ให้เท่ากันเสมอไป เราก็จะเลือกที่ให้มากที่สุด นี่ความโลภมันเกิดแล้วเห็นไหม แล้วเงินที่เขาเอาจากเราไปเขาก็ไม่เอาไปเก็บไว้เฉยๆนะ เขาเอาไปปล่อยกู้ เอาไปขูดรีดเอากำไร เอาไปให้ธุรกิจต่างชาติกู้ยืมมาถล่มประเทศไทยอีกที หรือไม่ก็ให้ธุรกิจในไทยถล่มกันเองนี่แหละ ก็เบียดเบียนกันต่อไป นี่หรือคือการออม เขาเอาเงินน้อยๆมาล่อเราและเราก็เพิ่มกิเลส เพิ่มวิบากบาป มันเป็นการเก็บออมตรงไหน นี่มันการลงทุนในธุรกิจบาปแท้ๆเลย
พอไล่กันไปจนเริ่มจะจนมุมก็อาจจะยอมรับว่า “เออ!!..ฉันโลภ” จริงๆวิธีประชดประชันเหล่านี้มันก็มาจากเสียงของกิเลสเหมือนกัน ประมาณว่าปล่อยให้ฉันได้เสพกิเลสของฉันเถอะอย่าเอาศีลธรรมมาใกล้ฉันเลย ว่าแล้วก็เสพกิเลสต่อไป เห็นไหมว่าผีมันกลัวศีลจริงๆ ถ้าใช้ศีลนี่จะจับผีได้ ถ้าผีหนีไม่ได้ ผีจะทุกข์ร้อนทรมานเลยนะ ผีอะไร? ก็ผีขี้โลภนี้ยังไงละ
เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผี เป็นคนโลภ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนักเลย ทางข้างหน้าของผีขี้โลภ หรือที่เรียกกันตรงๆว่า “ผีเปรต” นี่มันมีแต่นรก นรกนี้คือความเดือดเนื้อร้อนใจ มันเป็นผีในจิตของคนและมันก็เกิดนรกในจิตของคนนี่แหละ มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ หุ้นขึ้นก็ทุกข์เพราะจิตโลภอยากให้ขึ้นเยอะๆ หุ้นตกก็ทุกข์เพราะเสียดายทรัพย์ หุ้นขึ้นหุ้นลงก็สะสมกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหายแน่แท้จริงเชียว
เล่นหุ้นให้เป็นกุศล
จริงๆแล้ววิธีเล่นหุ้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล ให้เกิดความดีงามในชีวิตมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มันไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหรอก ที่อยู่ในตลาดหุ้นนี่ก็นรกเป็นส่วนใหญ่ นรกมาก นรกน้อยก็แตกต่างกันไปตามมิจฉาอาชีวะและมิจฉาวณิชชาที่กระทำอยู่
หุ้นที่เป็นกุศลเป็นความดี ที่ให้กำไรในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย มีแต่การลงทุนที่ได้ผลกำไรอย่างแน่นอน เรื่องขาดทุนนี่ไม่มีเลย ไม่ใช่ zero-sum game อย่างทั่วๆไป ไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนขาดทุน มีแต่คนได้กำไร
การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นคือการลงทุนไปกับสิ่งที่ดีงาม คือลงทุนกับคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสังคม คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ทำกุศล เสียสละเพื่อคนเป็นอันมาก นี่แหละคนหรือกลุ่มคนที่ควรจะลงทุน เป็นเนื้อนาบุญที่หาได้ยาก
ถ้าเราไปลงทุนกับคนที่ถือศีล เป็นฤๅษีอยู่ป่า อยู่อย่างปลีกวิเวก เก็บตัวไม่อยู่กับโลก แม้จะเอาเงินหรือสิ่งของไปให้ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์มากมาย เมื่อไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ได้ผลแห่งการให้นั้นๆ ต้องแยกกันระหว่างบุญกับกุศล บุญคือจิตที่คิดสละ ในบทความนี้จะยกเรื่องบุญไว้ก่อน จะกล่าวกันแต่ในเรื่องของกุศลคือความดี และอานิสงส์คือประโยชน์ที่เกิด ดังเช่นที่ยกตัวอย่างมา เราไปทำกุศลกับคนที่ไม่ทำกุศล ประโยชน์ก็เกิดไม่มาก แม้ภาพจะสวย จะดูดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็เกิดกุศลน้อยอยู่ดี
ตัวอย่างถัดมา เป็นกรณีที่เราไปทำกุศลให้คนที่เราหลงคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ หลงว่าเป็นผู้บรรลุธรรม ตามที่เห็นได้ทั่วไปในข่าว อันนี้ไม่เป็นกุศล ถือว่าลงทุนผิด ไปลงทุนให้คนที่ปฏิบัติผิดทาง แล้วปัจจัยที่เราส่งเสริมไปเหล่านั้นก็ไปเสริมกิเลสเขา ให้เขาได้ทำชั่ว ได้เกิดความโลภ ใช้ปัจจัยเช่นเงินของเราไปบำรุงบำเรอกิเลสตน ซื้อของฟุ่มเฟือย สร้างของที่ไม่จำเป็น สร้างบริวาร หารายได้ บิดเบือนคำสอนของศาสนา เราต้องรับผลของการลงทุนที่ติดลบนี้ไปด้วย ในกรณีนี้จะขอยกไว้เป็นตัวอย่างในข้อยกเว้นสำหรับหัวข้อนี้
ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนให้กับคนที่ปฏิบัติตัวดีทั่วไป ก็คือการส่งเสริมคนดีนี่เอง เห็นว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ส่งเสริมอุดหนุนเขา ให้เขามีโอกาสที่ดี ให้เขามีหน้าที่การงานที่ดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย”
นี่คือลักษณะของการลงทุนให้เกิดสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินหรือปัจจัยใดๆเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำการสนับสนุนอุ้มชูคนดีเท่าที่ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ทรมานจนเกินไป เห็นคนทำดีที่ไหนเราก็ไปช่วยสนับสนุนเขา เป็นกำลังให้เขา ปกป้องเขา แค่นี้ก็เป็นการลงทุนที่ดีแล้ว
ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนไปกับคนที่ปฏิบัติดี คนที่เสียสละตัวเองช่วยเหลือสังคม พาให้สังคมทำดี เกิดการสำนึกดีขึ้นในหมู่คณะ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเสียสละตนเอง ทิ้งความสุข ความสงบ ความสบายของตัวเองเพื่อทำงานให้กับสังคม ให้กับชุมชน ให้กับโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง เป็นดังเนื้อนาบุญที่สามารถสร้างกุศลให้เติบใหญ่ไม่มากก็น้อย
การเติบโตของการลงทุนนี้เป็นอย่างไร? เมื่อเราสนับสนุนคนดีที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตน หวังแต่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ เขาเหล่านั้นจะใช้ปัจจัยที่เราให้ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือการสนับสนุนต่างๆให้เป็นไปเพื่อผู้อื่น เมื่อคนเราคิดถึงแต่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่ปัญญาของเขาจะสามารถสร้างได้ และการไม่เห็นแก่ตัวนั้นเองก็เป็นปัญญาที่มากมายอยู่แล้ว
การเสียสละเงินเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องง่าย การเสียสละแรงงานเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีก็ยากขึ้นมาหน่อย การเสียสละเวลาเพื่อช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามก็เป็นเรื่องยาก แต่การเสียสละชีวิตเพื่ออนุเคราะห์สังคมและโลกเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก
ดังนั้นหากเราคิดจะลงทุนให้เกิดกุศล เกิดความดี เกิดประโยชน์แท้แก่ชีวิตเรา ก็ให้เลือกลงทุนให้ดี สนับสนุนคนดีให้ทำดี แต่อย่าประมาทในกุศลแม้น้อย แม้ว่าการเสียสละเงินจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนที่เสียสละแรงงาน เราก็ควรจะสนับสนุนให้เขาทำดี แม้จะเป็นความดีที่ไม่มาก แต่ก็วันหนึ่งก็อาจจะเติบโตเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ในกุศล ไม่ควรหยุดทำความดี ไม่ควรหยุดลงทุนให้กับผู้ทำความดี เพราะสิ่งเหล่านี้เองเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กำไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” ,”ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”,”ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”,”ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ”,”นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”
แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เราจะได้รับผลของกรรมดีที่เราทำ เราคิดแต่จะให้ เราก็มีแต่จะได้รับ เป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ
เห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราสามารถลงทุนได้โดยใช้กำลังหลายๆอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะแรงกาย หรือใช้ปัญญาก็สามารถลงทุนในหุ้นชีวิตเหล่านี้ได้ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่บาป ไม่ใช่การพนัน เป็นกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
– – – – – – – – – – – – – – –
25.12.2557