Tag: ชำระกิเลส
ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !
ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !
ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม
ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา
แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น
สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา กับ การเจริญสติ ต่างกันอย่างไร
ภาวนา คือการทำให้เกิดผลเจริญ แล้วเจริญอย่างไร? แล้วอะไรเจริญ?อะไรคือตัววัดความเจริญ? ก็วนกลับมาที่หลักใหญ่ของพุทธนั่นคือการหลุดพ้นจากกิเลสคือความเจริญ
ภาวนานั้นคือการทำให้เกิดผลเจริญ แต่เราจะเจริญจากอะไร? ก็เริ่มจากทานและศีลนั่นเอง หมายถึงว่าทำทานและปฏิบัติศีลอย่างไรให้ลดกิเลสได้ ซึ่งจะไปตรงกับสัมมาทิฏฐิที่ยังมีกิเลสหมักหมมอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐) จะขอยกตัวอย่างมาในข้อ ๑ คือ ทานที่ให้แล้วมีผล (อัตถิ ทินนัง)
หมายถึงการทำทานนั้นมีผลให้ลดกิเลสได้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดๆที่ทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส เช่น ทำทานแล้วยังโลภ ขอนั่นขอนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำทานแล้วอยากให้คนมาชื่นชม ทำทานแล้วหวังสวรรค์ หรือหวังจะเป็นเทวดา พรหม ฯลฯ แบบนี้เรียกว่าทำทานแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีผลเจริญ ไม่มีการภาวนา
ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน การปฏิบัติศีลที่สามารถชำระกิเลสได้ คือถือศีลไปทั้งร่างกาย วาจา จนถึงใจ ทำลายกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ก็เรียกว่ามีผลเจริญ
ดังนั้นภาวนาคือสภาพของการปฏิบัติทานและศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนสามารถละกิเลสในสันดาน ทำให้ ความโลภ โกรธ หลง จางคลายและสลายหายไปอย่างถาวรโดยลำดับ
ซึ่งการที่ทานและศีลจะมีผลเจริญได้นั้นจะสามารถทำได้โดยสองวิธีนั่นคือสมถะและวิปัสสนา การทำสมถะคือใช้อุบายมาบริหารจิต กดข่ม อดทน ใช้การล่อหลอกจิตไม่ให้หลงตามกิเลสไป ส่วนวิปัสสนาคืออุบายให้เกิดปัญญา พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดควรละเว้น สิ่งใดควรเข้าถึง สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ ทำให้เจริญถึงขนาดที่ทำลายกิเลสที่คอยมาลวงว่าสิ่งชั่วที่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นสิ่งดี ให้แหลกสลายไปจนสามารถเกิดปัญญารู้ความจริงตามความเป็นจริงได้
การเจริญสติ คือการทำให้กำลังของสติเจริญขึ้น สามารถฝึกได้หลายวิธี หากมองโดยภาพรวมแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการทำสมถะ คือมีหลักอยู่ที่การสร้างอุบายขึ้นมาให้กลับมารู้สึกตัว ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะนั้นๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการฝึกสมถะ คือสร้างกำลังจิตให้สามารถกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่หลงตามกิเลสต่างๆที่มาล่อลวง
ผู้ที่เจริญสติมากเข้าก็จะสามารถเรียนรู้ค่ามาตรฐานของจิต คือรู้ว่าปกติเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อมีสิ่งกระทบเกิดขึ้นให้จิตใจแกว่งก็จะสามารถใช้อุบายต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาเช่นการกำหนดลมหายใจ การขยับร่างกาย การใช้ข้อธรรมต่างๆ เข้ามาเป็นอุบายล่อให้จิตนั้นกลับสู่ค่ามาตรฐาน กลับเป็นปกติได้
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กิเลสตายได้ เพราะเป็นการทำให้กิเลสที่กำเริบนั้นสงบลงไปเป็นครั้งคราว หากฝึกจนเก่งก็จะสามารถสงบกิเลสที่กำเริบโดยอัตโนมัติ บางทีก็หายไปโดยที่ไม่ทันรู้ตัว จนบางครั้งอาจทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติหลงไปได้ ซึ่งการแก้ปัญหาของจิตใจเช่นนี้ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืนได้ เพราะไม่ได้ดับเหตุที่เกิด
เหตุคือกิเลสมันกำเริบได้อย่างไร จริงอยู่ที่มันมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่ปัญหาคือทำไมมันจึงเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะดับเหตุที่เกิดนั้นได้อย่างไร แล้วเหตุที่เกิดนั้นคืออะไร ถ้าไม่ศึกษาอริยสัจ ๔ ให้ถ่องแท้ก็คงจะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
แต่กระนั้นการเจริญสติก็ยังมีผลดีในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยควบคุมใจไม่ให้สร้างปัญหาให้ตนเองและผู้อื่นได้ การฝึกสติ ทำสมาธิ ทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับจิต ให้จิตแข็งแกร่ง ทนทานต่อสิ่งเร้า ซึ่งจะเอื้อให้การวิปัสสนานั้นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นต่างจากสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจากมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การเจริญสติโดยมากมุ่งเน้นไปในทางสมถะ เป็นอุบายทางจิต สะสมกำลังของจิต แต่สติปัฏฐาน ๔ นั้นเป็นสติที่ระลึกรู้กิเลส ชำแหละกิเลส ให้รู้ว่ากิเลสใดที่มีในจิตใจ โดยเริ่มตั้งแต่เห็นกายของกิเลส โดยการรู้ความผิดปกติของกายนอกจนมาเห็นกายกิเลสข้างในที่เป็นต้นเหตุของปัญหา เห็นกิเลสในเวทนา เห็นกิเลสในจิต และไปจบที่เห็นว่าธรรมใดที่จะมากำจัดกิเลสนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของญาณปัญญา
ภาวนาและการเจริญสติต่างกันอย่างไร
สรุปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันที่ผล แต่หากผู้ที่ปฏิบัตินั้นไม่สามารถปฏิบัติจนถึงระดับชำระกิเลสได้ ก็จะมองเห็นว่าเหมือนกัน ไม่ต่างกัน ซึ่งแท้ที่จริงมันมีความต่างในขอบเขตของผลที่เจริญจากการปฏิบัติหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการเดินขึ้นเขาที่เต็มไปด้วยหมอก มองจากข้างล่างมันก็ดูเหมือนกัน มีเพียงวิธีเดียวที่จะรู้ว่ายอดเขาไหนสูงกว่าคือเดินให้สุด ให้พ้นม่านหมอกที่บังตาไว้ ก็จะเห็นได้เองว่าต่างกันเช่นไร
ซึ่งในปัจจุบันมีวิถีการปฏิบัติที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามทิฏฐิของแต่ละคน แต่หลักยึดเดียวที่จะบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกทางหรือผิดทางคือลดกิเลสได้จริงไหม? กิเลสจางคลายได้จริงไหม? กิเลสตายจริงไหม? แล้วจะตรวจสอบกันอย่างไร ก็ตรวจสอบกันจากทานและศีลนั่นแหละ
ว่าสามารถให้ทานจนกิเลสออกไปได้จนหมดตัวหมดตนไหม ที่มันให้ไม่ได้นั่นเพราะมีกิเลสมันขวางกั้น ถือศีลแล้วยังทุกข์ใจอยู่อีกไหม เพราะทุกข์ที่เกิดเมื่อถือศีลก็คือทุกข์จากกิเลส การเจริญสติทำให้รู้เท่าทันกิเลส และการทำให้เกิดผลเจริญหรือภาวนานั้นคือสภาพผลเจริญที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลอย่างสัมมาทิฏฐิจนมีผลชำระล้างกิเลสได้จริงจนมีสภาพสุดท้ายคือไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในจิตใจในเรื่องที่ได้ปฏิบัตินั้นอีกเลย
ตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้น
ยกตัวอย่างความโกรธแล้วกันนะ ภาวนามีผลเจริญถึงระดับที่ดับความโกรธได้สนิท เพราะเข้าไปดับที่เหตุ แต่ถ้าทำไม่ถึงก็คือไม่ถึงนะ ใช่ว่ามันจะทำได้ง่ายๆ มันมีผล ไม่ใช่ไม่มี แต่มันอยู่ที่ทำให้มีผลจนกิเลสตายได้รึเปล่า พอดับแล้วมันก็จะไม่เกิดอีก ไม่โกรธอีก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องๆหนึ่ง สำหรับคนๆหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ต้องทำได้ทุกเรื่อง
การ เจริญสติโดยมากจะสร้างตัวรู้ สร้างความระลึกรู้ ไปรู้ความโกรธ ไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจะทำอะไรต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะสอนกัน บ้างก็ข่มให้ดับ บ้างก็ดูจนความโกรธมันหายไปแบบนั้นแหละ บ้างก็ใช้ธรรมะตบทิ้ง เช่นทุกอย่างไม่มีตัวตน ความโกรธไม่ใช่ของเรา สุดท้ายไม่ว่าจะอะไรก็คือไม่เข้าไปโกรธตามถ้ามีสติมากพอ
ต่างกันตรงที่ภาวนาดับที่เหตุ(ของการเกิดความโกรธ) การเจริญสติโดยทั่วไปนั้นจะไปดับที่ผล(ความโกรธ)
การ จะทำให้เกิดผลเจริญคือทำลายกิเลสได้ต้องมีสติเป็นตัวตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่มีสติแล้วจะรู้ทุกอย่าง มันมีขั้นตอนต่อจากนั้นอีกมากกว่าจะถึงการทำลายกิเลสในเรื่องๆนั้น
– – – – – – – – – – – – – – –
27.7.2558
ความหมายของบุญ
บุญ
บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม
บุญ…คือการสละออก
ชำระกิเลสออกจากใจ
……………………………….
คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง
แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด
เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์
บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย
– – – – – – – – – – – – – – –
4.7.2558
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล
โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล”
ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล
ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ
สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ
สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ
ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส
ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร
เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร
รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว
ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ
คนไม่มีศีล(หมูดำ)
คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว
ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน
เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา
และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน
คนถือศีล (หมูขาว)
คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม
ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น
คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว
สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน
ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ
หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน
คนศึกษาศีล (หมูชมพู)
คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน
ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ
เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน
ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส
– – – – – – – – – – – – – – –
2.7.2558