Tag: คู่ครอง

เขามาชอบ บัณฑิตก็ยังเฉย ส่วนคนเขลา อยู่เฉย ๆ ก็ไปชอบเขา

May 30, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 640 views 0

การตรวจสอบความเจริญในการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง คือลดการเสพลงได้อย่างผาสุก เรื่องความรัก เรื่องคู่ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติได้เจริญ ความกระหายใคร่อยากในเรื่องเหล่านี้จะลดลง

แม้ในฐานศีล ๕ ที่กำลังพัฒนาตนเอง ก็จะไม่มีอาการอย่างคนทั่วไป คือจะไม่ไปไล่จีบเขา ไม่ไปหว่านเสน่ห์ ไม่ไปเกี้ยวพาราสี หรือไม่ไปพยายามล่อลวงใครมาให้เป็นคู่

เพราะจะมี “หิริ” อยู่ในใจ คือรู้สึกว่ามันเป็นบาป มันผิด มันไม่เจริญ แต่ใจจะยังอดไม่ได้ ยังอยากอยู่ข้างใน แต่จะพยายามควบคุมอาการไม่ให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นนัก

คนที่มีฐานศีล ๕ ที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเจริญ จะมีความละอายต่อการไปจีบหรือไปล่อลวงเขา การจะมีคู่ของคนที่อยู่ในสภาวะนี้คืออยู่ ๆ ก็ไปชอบเขาเอง แล้วก็ลงเอยกันไปแบบไม่หวือหวา

ส่วนคนที่ต่ำกว่าศีล ๕ หรือถือศีลแบบกระท่อนกระแท่น ถือศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ อาบน้ำกลัวเปียก ถือศีลแบบยึดเป็นวินัย ก็มักจะมีส่วนพร่องไปตามปัญญาที่ไม่เต็มรอบ

ดีไม่ดีก็ไปทำตามแบบปุถุชน หรือคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมหรือไม่ได้ตั้งใจลดกิเลสเลย คือแม้จะอ้างว่าถือศีล ๕ เป็นพระอริยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “จริง” ตามนั้น คำพูดนี่ใครก็พูดได้ เล่นคำ เล่นภาษากันไป แต่ถ้าในสภาวะจริง มันก็ต้องมี “ใจ” เป็นองค์ประกอบด้วย

เช่น ใจจะรู้สึกผิดบาปละอายต่อการไปจีบเขา ไปล่อลวงเขา อย่างพระโสดาบันนี่จะไม่โกหกแล้ว ไม่ไปบอกใครหรือล่อลวงใครว่า ” มีคู่สิไม่ทุกข์เท่าไหร่หรอก หรือถึงมีก็ยังสามารถทำใจให้ทุกข์น้อยได้ ” คำพูดล่อลวงพวกนี้จะไม่มีหลุดออกจากปากหรือจากใจเลย เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันทุกข์มาก แต่มันอดรนทนไม่ไหว มันอยากมี ถึงจะมีก็มีด้วยใจสังวร

เพราะรู้ว่าสิ่งที่เจริญกว่านี้ยังมี ผาสุกกว่านี้ยังมี เพราะมีสัตบุรุษที่ทำตนเป็นตัวอย่าง แสดงธรรมที่เลิศกว่า ประเสริฐกว่า พอรู้ว่ามีดีกว่า แต่ใจมันยังเอาไม่ไหว ถึงจะไปมีคู่ก็ใช่ว่าจะยินดีในการมีคู่เต็มร้อย ใจมันจะละอาย มีหิริอยู่ตลอด จะครองรักไปอย่างคนคุก สำรวม เจียมตัว เพราะรู้ว่าตนยังไม่เจริญ ตนยังทำไม่ได้ และรู้ว่าคนที่เจริญกว่าตนยังมี

คนที่ต่ำกว่าศีล ู๕ และไม่มีคุณวิเศษของสาวกที่ครบพร้อม จึงปฏิบัติตนเหมือนคนทั่วไป ไปรักเขา ชอบเขา จีบเขา ล่อลวงเขา ป้อล้ออยู่นั่น ไม่มีความละอายแก่ใจ เจอคนพวกนี้ให้ห่างไว้ แม้จะโฆษณาว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เจริญในธรรม หรือมั่นคงเพียงใด แต่ความจริงข้างในนั้นยังเน่าเหม็นมากอยู่

ส่วนบัณฑิตนี่ไม่ต้องเล่าให้ยุ่งยาก ไม่ไปจีบใครเขา และใครมาจีบ มาชอบ มาอ่อย ก็ไม่หวั่นไหวด้วย ใส่พานมาเสิร์ฟก็ไม่กิน เพราะมีสิ่งดีกว่าให้เสพ สุขสบาย ผาสุกกว่าเอาชีวิตไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องความรัก ก็คือไม่ต้องมีความรัก ไม่ต้องมีคู่ให้ปวดหัว

เป็นสภาพที่ไม่ต้องทน เพราะเข้าใจทุกอย่าง ทั้งเข้าใจตัวเองและเข้าใจโลก ที่สำคัญคือเข้าใจเรื่องกรรม ก็เราทำกรรมมา เราก็ต้องรับ สมัยก่อนเราก็ไปจีบเขา เราก็ต้องรับ แล้วสมัยก่อนนี่มันกี่ชาติต่อกี่ชาติก็ไม่รู้ ไปจีบ ไปล่อลวงเขามากี่ร้อยล้านคนแล้ว ชาตินี้จะต้องเจอคนมาจีบ มาวุ่นวาย ก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะเข้าใจความเป็นไปของกรรม

ใช้กรรมแล้วมันก็จบดับไป เราไม่ได้ก่อกรรมชั่วใหม่ ไม่เห็นจะต้องทุกข์ใจอะไร ก็มีแต่จะดี จะเจริญไปเรื่อย ๆ

ส่วนคนเขลานี่ไม่ต้องให้ใครมาจีบเขาหรอก อยู่เฉย ๆ เขาก็แส่หา ทำอาการระริกระรี้ เดี๋ยวไปจีบคนนั้นทีคนนี้ที ดีไม่ดีจีบหลาย ๆ คนพร้อมกันอีก

คนรู้ธรรม รู้กรรมจริงนี่ไม่ต้องไปจีบใครให้ปวดหัวหรอก ชั่วที่ทำสะสมไว้มันมีเยอะ เดี๋ยวตัวเวรตัวกรรมเขาก็จะมาทวงอยู่ดีนั่นแหละ ทั้งทัก ทั้งอ่อย ทั้งป้อยอ ฯลฯ ป้องกันให้ทันแล้วกัน อย่าไปตกเป็นเหยื่อของกิเลสมาร ที่มาล่อให้เราหลงว่าคู่ครอง คู่รักเป็นสิ่งที่น่าได้น่ามี

อาการดูดดึง (เรื่องความรัก)

March 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 954 views 0

ก็มีคนเขามาเล่าว่า เจอคนที่มีอาการดูดดึง แต่จากที่เล่า เขาก็ไม่ชัดในอาการของตนเองสักเท่าไหร่นัก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดได้กับผู้ประพฤติตนเป็นโสดมือใหม่ทุกคน

เมื่อเราตั้งใจแล้วว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนเริ่มเกมตำรวจจับผู้ร้าย ทีนี้เราก็ต้องจับโจรให้ได้ จะจับได้ก็ต้องใช้สติ เพราะโจรมันทั้งไว ทั้งพรางตัว ถ้าสติเราไม่แกร่ง ไม่แม่น เราจะจับโจรหรืออาการเหล่านั้นได้ไม่ชัด

จะย่อสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นเครื่องมือปฏฺิบัติในการตรวจจับกิเลสสั้น ๆ ให้พอเข้าใจกัน

กายในกาย – มีสติรู้อาการที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น หัวใจเต้นแรง , หันไปมองบ่อย , ประหม่า ฯลฯ

เวทนาในเวทนา – มีสติจับอาการสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มันจะมีไป 3 ทาง ถ้าเราเจอคนที่ชอบ มันก็จะสุข ก็ต้องจับทางให้ได้

จิตในจิต – มีสติจับตัวตนของกิเลส ว่าที่เกิดสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ๆ เกิดเพราะเรามีความเห็นอย่างไร เราเห็นผิดอย่างไร (มิจฉาทิฏฐิ) ประเด็นไหน มุมไหน

ธรรมในธรรม – มีสติรู้ว่าจะต้องใช้ธรรมหมวดไหน ข้อไหน ประโยคไหน มาแก้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น เมื่อเห็นว่าคนคนนั้นดี เป็นของน่าได้น่ามี เราก็ใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าว่า เป็นลาภเลว ไม่น่าได้ ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ประเสริฐ เป็นต้น

ธรรมในธรรมนี้จะเป็นลักษณะของการสอนใจ หรือการดัดจริต จากมิจฉา(ผิด) ให้เป็นสัมมา(ถูก) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีครูบาอาจารย์และมิตรดีสหายดีที่มีธรรมในเรื่องนั้น ๆ ช่วยเป็นมาตรฐาน หรือกรอบของความดีให้ปฏิบัติตามได้

… เมื่อเราจับอาการได้ บางครั้งเราอาจจะประมาณตัวเองไม่ถูก ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะแก้ไขเหตุการณ์ตรงหน้ายังไง ก็ให้ประเมินไว้ก่อนเลยว่า “สู้ไปก็แพ้แน่นอน” ดังนั้นการหนีจึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม

หนี แล้วห่างไว้ คือห่างจากสิ่งที่ทำให้ต้องกังวลและหวั่นไหว ในเมื่อเรายังไม่มีกำลังพอที่จะสู้กับโจทย์นั้น เราก็ควรจะเลี่ยงออกมาก่อน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมในเรื่องที่พอจะทำไหว สะสมกำลัง สะสมชัยชนะไปเรื่อย ๆ จะแกร่งขึ้น อินทรีย์พละจะสูงขึ้นจากการล้างกิเลสได้เป็นเรื่อง ๆ โดยลำดับ

ถ้ากำลังสติแกร่ง ๆ จะจับอาการได้ก่อนที่คอจะหันไปมอง ก่อนจะกลอกลูกตาไปดู จะจับความรู้สึกอยากจะเสพในใจได้ รู้ว่าอยากเป็นสุข ได้มองแล้วจะเป็นสุข เพราะหลงใน ? ของเขา แล้วใช้ธรรมมากำราบความกำเริบของกิเลสได้ทันที สู้วนไปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตัดกำลังกิเลสไปเรื่อย ๆ เท่าที่จะทำได้ ความเด็ดขาดจะขึ้นอยู่กับปัญญา (ความรู้จริงในโทษภัยของกิเลส) ไม่ใช่ความรู้ (ความจำตามที่เรียนมา) บางทีรู้มากแต่รู้ไม่ทันกิเลสก็มี ถึงเวลาที่กระทบควักความรู้ออกมาแทบไม่ทัน เผลอ ๆ เจอเขายิ้มให้ ความรู้หล่นกระจายหมด สติแตกกระเจิง แพ้ไปได้อีก

สภาวะดูดดึง รู้สึกแปลก รู้สึกพิเศษเหล่านี้ จริง ๆ มันก็ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก รู้แค่ว่าให้ระวังไว้ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “เจอปุ๊ปรักปั๊บนั่นแหละตัวเวร

คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ ไปล่อลวงใครมาก็หลายคนและซ้ำซากมาหลายต่อหลายชาติ ดังนั้น ถ้ามันจะมีสัญญาณว่า “เริ่มต้นยกที่ 1” มันก็ไม่แปลกอะไร อย่าไปให้ความสำคัญ มันเป็นเรื่องธรรมดา ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าไปติดในใจ อย่าไปยึดไว้ ปล่อยเขาไปตามเวรตามกรรมของเขา เหมือนที่โบราณเขาว่า ได้ยินเสียงเรียกอะไรกลางค่ำกลางคืน อยากไปทักกลับ อาการพวกนี้ก็เช่นกัน อย่าไปหาสาระอะไรกับมันมาก ไปสนใจ ไปใส่ใจ เดี๋ยวของจะเข้าตัว เดี๋ยวไปรับเขาเข้ามาในชีวิตแล้วมันจะยุ่ง

ถ้าเราไม่ชัดเจนว่าจะรับมือไหว ทำเฉย ๆ ห่าง ๆ ไว้จะดีกว่า ที่เหลือคือจะเผลอเอาตัวเองไปคลุกกับเขาเหมือนก่อนรึเปล่าเท่านั้นเอง ไปหลงงมงายอีกชาติรึเปล่า มันก็ต้องใช้ความอดทนเหมือนกัน เพราะบางคนเขาก็ตามจีบเป็นสิบ ๆ ปี การประพฤติตนเป็นโสดก็ยากตรงนี้แหละ ตรงที่เจ้ากรรมนายเวรเขาขยันมาคอยทวงหนี้บาปที่เราได้ก่อไว้

พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบ กามราคะเหมือนเป็นหนี้ ถ้าเรายังมีความอยากมีคู่ เราก็จะต้องจ่ายหนี้เรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น เพราะเราต้องเอาเขามาเป็นของเรา เอามาเสพ เป็นตัวเป็นตน เราก็ต้องจ่ายหนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกข์ไปเรื่อย ๆ เจ็บช้ำไปเรื่อย ๆ

ถ้าใครปลดหนี้ก้อน “คู่ครอง” ได้ ชีวิตก็สบายไปเยอะ จะเหลือหนี้ เหลือกามเรื่องอื่น ๆ มันจะเบาลงมา ก็ใช่ว่าไม่เป็นภัย เพียงแต่หนี้มันน้อยลง ก็จ่ายดอกเบาลง มันก็คล่องตัวขึ้น

ใครอยากมีชีวิตหนี้ จ่ายไม่จบไม่สิ้นก็ไม่ต้องปฏิบัติตนเป็นโสด ปล่อยไหลไปตามโลก ไปตามกิเลส เดี๋ยวก็มีเจ้าหนี้มาทวงในวันใดวันหนึ่งเอง แล้วเขาก็ไม่ได้ทวงอย่างสุภาพหรอกนะ เขาทวงกันอย่างมาเฟีย อย่างอันธพาล ไปดูเถอะ ความทุกข์ในชีวิตคู่หนักขนาดไหน เจ็บ แค้น อาฆาต ทำร้าย ฆ่ากันตาย ก็เริ่มต้นจากเหตุแห่งความหลงในรสรักทั้งสิ้น

กรณีศึกษา สารภาพบาป (เรื่องความรัก)

March 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 852 views 0

วันสองวันนี้ ก็มีคนที่เขามาสารภาพบาป 2 เคส ลักษณะคล้าย ๆ กัน ว่าเขาไปตกหลุมรัก ทั้ง ๆ ที่ในตอนแรกก็ดูเหมือนจะยินดีมาในทิศทางอยู่เป็นโสด

ก็เข้าใจเขาอยู่นะ เพราะจริง ๆ “มันยากมาก” สำหรับเรื่องคู่ ที่คนจะฝ่าไปได้ ถ้าไม่มีของเก่าสะสมมาก่อน คำว่าหืดขึ้นคอก็ดูจะเบาเกินไป

แต่ 2 เคสนี้เขาก็รอดกลับมาได้ แบบเหวอะหวะ ถ้าเป็นนักรบก็รอดกลับมาได้แบบเสียแขนเสียขาไปบ้าง คือ ตัดจบไม่สวยเท่าไหร่ แต่ก็ดีมากแล้วที่เอาตัวรอดมาได้ เคสหนึ่งมีกรรมเก่าตัดรอบช่วยเอาไว้ อีกเคสใช้สังฆานุสติ ระลึกถึงครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง กลับใจเอาตัวรอดมาได้

ซึ่งการที่เขาเอามาเล่านี่ เรียกว่าเขาก็มี “หิริ” (ความละอายต่อบาป) อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งผมก็เคยเจอเคสที่หายไปเลยก็มี คือพอเขาเจอที่ถูกใจ เจอคู่ปุ๊ป ก็เหมือนจะตัดเราออกจากชีวิตไปเลย มารู้ข่าวอีกทีก็ใกล้จะแต่งงานแล้ว เขาก็ปิดนั่นแหละ ปิดไม่ให้เรารู้ ไม่ให้เราไปเกี่ยวข้องกับเขา เขาก็หวังจะเสพได้โดยไม่มีใครขัดนั่นแหละ พวกนี้ก็มักจะหายแล้วหายลับ เพราะคงไม่กล้าแบกหน้ากลับมาเจอเราหรอก

ในกระบวนการกลุ่มของ แพทย์วิถีธรรม ก็มีการสารภาพบาปต่อหน้าหมู่กลุ่มเช่นกัน ว่าไปทำอะไรมา คิดยังไงถึงทำอย่างนั้น ผมเคยมีช่วงเวลาที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกวันกว่า 6 เดือน ซึ่งความต่อเนื่องนี้เอง เราจะได้เห็น “การเคลื่อนไหว” ของจิตที่เปลี่ยนไปของแต่ละคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่หาศึกษาได้ยาก หากไม่มีเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

การสารภาพบาป จะทำให้เกิดความเจริญ เพราะเป็นการทบทวนธรรมซ้ำในใจว่าทำไมถึงพลาด และยังเป็นการบอกกล่าวโดยนัยว่าจะไม่ทำอีก ซึ่งการตั้งจิตที่จะแก้ไขส่วนที่พลาดนี่แหละ คือความเจริญ เรียกว่าเจริญโดยลำดับแล้ว

แต่เป้าหมายของการหลุดพ้นจากเรื่องคู่ครองก็คือการอยู่เป็นโสดอย่างผาสุก ดังนั้น จึงยังไม่ควรหยุดที่จะพัฒนาตนเองหากยังไม่ถึงสภาพนั้น

การที่ยังไม่พลาดไปมีคู่ ก็หมายถึงยังมีโอกาสที่จะได้สู้อยู่ มันก็จะมีแพ้มีชนะไปโดยลำดับ แพ้ก็ไม่ใช่ปล่อยให้แพ้ร่วงยาวไปเลย ถ้าเผลอใจชอบเขา ก็อย่าเผลอไปตกลงคบหา ถ้าหลงตกลงคบหา ก็อย่ารีบหลงไปแต่งงาน ถ้าเผลอแต่งงานไปแล้ว ก็อย่าหลงไปมีลูก คนที่ 1 2 3 …

จริง ๆ ในเรื่องความรักนี่มันมีเวลามีโอกาสให้แก้ตัวเยอะ มีจุด check point เยอะ แต่ด้วยตัณหาคือความเร่ง ก็เหมือนคนเขาจะเดินทางจาก กรุงเทพไปถึงเชียงใหม่ด้วยความเร็วแสง อันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนไม่มีสติ

การตั้งศีลว่าจะประพฤติตนเป็นโสด จะสร้างโอกาสให้สติได้เตือนเป็นระยะ ที่เจอคนที่ถูกใจ ที่ได้มอง ที่ได้คุย… ถ้าไม่ตั้งใจว่าจะเป็นโสด ก็เหมือนไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไม่ได้เขียนโครงงาน ไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุก มันก็จะหลงหลับใหลยาวไปเลย

ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมเรื่องนี้นั่นแหละ เขาก็เคลื่อนไปตามแรงเหวี่ยงของโลก แรงของกิเลส คือเจอกัน ชอบกัน คบกัน แต่งงานกัน มีลูกกัน ฯลฯ

สรุป การสารภาพบาปนั้นเป็นการยอมรับว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็จะตั้งใจสู้ การไม่สารภาพบาปนั้น …เราก็ไม่รู้ใจเขาเหมือนกัน ส่วนการไม่ได้ตั้งจิตจะประพฤติตนเป็นโสดนั้น นอกจากจะไม่สู้แล้ว ยังไปเป็นทาสมารอีกต่างหาก

การยอมพรากจากคู่ คือที่สุดของทุกข์ในการมีคู่

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 695 views 0

พิมพ์เรื่องคนโสดมาก็มาก ตอนนี้พิมพ์ในมุมคนคู่บ้าง เชื่อไหมว่าสุดท้ายเมื่อคนมีคู่เข้าใจธรรมะ เขาก็จะหันมาเป็นโสดกันทั้งนั้น

มีหลักฐานมากมายจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งที่มีการสละภรรยาเป็นทาน ในชาดกบทนี้ เป็นชาดกที่ผมรับรู้มาว่าคนข้องใจกันมาก ไม่เข้าใจว่าการสละลูก เมียเป็นทานคือการบำเพ็ญบารมีตรงไหน ซึ่งจริง ๆ มันก็เข้าใจยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องเหนือโลก เหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปไปแล้ว

เชื่อไหมว่าถ้าเราบำเพ็ญไปเรื่อย ๆ คู่ครองของเราก็จะมีบารมีที่มากตามไปเรื่อย (เพื่อปราบเรานั่นแหละ) เขาจะมาแบบครบเลย หน้าตา ฐานะ การศึกษา นิสัย มารยาท ธรรมะ จะดีพร้อม งามพร้อม หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมีจุดเด่นพิเศษที่เราพ่ายแพ้ ไม่ยอมปล่อยเพราะยึดสิ่งนั้นไว้

การปฏิบัติธรรมในเรื่องคู่ในบทจบก็คือ “เขาดีขนาดนี้ ยอมสละเขาได้ไหมล่ะ” มันจะยากก็ตรงนี้นี่แหละ คนก็งง จะสละทำไม ก็เขาเป็นคนดี เขาก็ดีกับเราขนาดนี้

เจอคู่ชั่ว ๆ นี่มันทิ้งกันไม่ยากหรอก ดีไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แต่เจอคู่ดีนี่มันทิ้งยาก ติดสวรรค์ ติดสุข ติดความเป็นเทวดา(มีอำนาจ มีคนบำเรอ) หรือไม่ก็ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ

พอคนทำดี มันจะมีกุศลกรรมให้ได้รับ บางทีมันจะมาในรูปของคู่ครอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นลาภ แต่ก็เป็นลาภเลว ที่คนหลงดีใจได้ปลื้มกับมัน อยู่กับมัน แล้วก็แช่อยู่ในภพคู่ครองนั้น ๆ นานนนนนนนน…

ให้คิดก็คิดกันไม่ออกเลยนะ เจอคู่ดีสมบูรณ์ครบพร้อมจะออกยังไง จะถอนใจออกมายังไง ก็มีแต่จะเอาเขาเป็นที่พึ่งเท่านั้นแหละ ชีวิตติดเมถุน มันจะติดเสพความเป็นเทวดา ความเป็นคนพิเศษ ความมีอำนาจ มีการให้เกียรติ ให้ความรัก ความเอาใจ ความสำคัญ เป็นเครื่องร้อยรัดคนไว้กับทุกข์ เรียกว่าเมถุนสังโยค

แต่เชื่อไหม แม้จะดีแค่ไหน มันจะมีจุดพร่อง มีจุดพลาดเสมอ ทีนี้คนที่หลงจะมองข้ามจุดพร่องตรงนี้ไป แล้วไม่เอามาพิจารณาทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เห็นโทษภัยอื่น ๆ ที่ตามมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมันเป็นกิเลสฝั่งติดสุข มันจะแกะยาก ถอนยาก

ไม่ต้องไปคิดถึงระดับพระเวสสันดรหรอก อันนั้นมันไกลไป ไม่ใช่ฐานะที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ก็ใช้หมวดทานมาเป็นกรรมฐานได้

เช่น คนดีนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ใช่ไหม แล้วเราเอามาเก็บไว้คนเดียว คนอื่นเขาก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเราสละออกไป คนอื่นเขาก็ดีใจ เพราะเราปล่อยคนดีคนหนึ่งกลับไปให้โลก เขาก็ไม่ต้องมาแย่งเรา ไม่ต้องผิดศีล

ยิ่งถ้าเราปล่อยเขาไปแล้วเขาไม่มีคู่ใหม่ ยิ่งดีใหญ่เลย เขาก็จะได้ใช้ชีวิตเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องบำเรอเรา ไม่ต้องบำเรอใครอีกให้เสียเวลาชีวิต

ที่สำคัญเราจะช่วยเขาได้ เราจะพาเขาเจริญได้ เพราะการผูกกันไว้นี่มันเจริญได้ยาก มันติดเพดาน มันมีอกุศลวิบากต่อกันมาก แต่ถ้าเราปล่อยได้ เขาจะเห็นเราเป็นตัวอย่าง อาจจะขัดข้องขุ่นใจบ้าง แต่เขาจะจำว่ามันมีสิ่งดีกว่าการอยู่เป็นคู่กันอยู่ในโลก นั่นก็คือการไม่อยู่เป็นคู่กันนั่นเอง

ยกตัวอย่างมาแล้วก็รู้สึกว่ายากโคตร ๆ แต่จะเป็นโสดอย่างผาสุกได้ต้องพิจารณาธรรมหมวดนี้เหมือนกัน มันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็นโสดอย่างยั่งยืน มันต้องยินดีที่จะสละโควต้าของตัวเองที่จะมีคู่ไปให้คนอื่น

ไม่ต้องห่วงหรอก เราล่อลวงคนอื่นมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่วิบากกรรมเขาจะไม่มาเอาคืน ถึงจะตั้งจิตเป็นโสด แต่ก็จะมีผู้ท้าชิงอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าจะไม่มีคู่ หรือจะสละไปแล้ว แล้วเขาจะหายไป เขาไม่หายไปไหนหรอก เขาก็วนเวียนมาอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่ทำบาปด้วยกันไว้มาก และถ้าเป็นคนดีจะมีอีกแรงหนึ่งคือเป็นที่รักของเขา เขาก็ยึดไว้

แท้จริงแล้วคู่ครองเป็นสภาพสมมุติที่คนยึดไว้ ความเป็นพ่อแม่ลูกยังดูจริงยิ่งกว่า แต่คนกลับไม่ค่อยยึดอาศัย ไม่ค่อยเห็นจะมีใครตั้งตนเป็นโสดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าสักเท่าไหร่ จริง ๆ มันก็สมมุติเหมือนกันนั่นแหละ แต่ดันไปหลงสมมุติตัวที่มันตื้น มันเบียดเบียน มันเป็นบาป แล้วดันทิ้งสมมุติที่เป็นความเกื้อกูล เป็นกุศล

สรุปกันสั้น ๆ ว่า อาการทุกข์ที่เกิดเพราะไม่อยากพราก ไม่อยากสละจากคู่ นั่นแหละคือประตู ถ้ารู้แจ้งในทุกข์นี้ก็จบ จิตจะปล่อย จะยอมพราก สละได้ ทิ้งได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ยึดติดว่าคนคนนั้นเป็นคู่อีกต่อไป จะเข้าใจทั้งสัญญาแบบโลก ๆ กับการไม่ยึดสัญญาแบบโลก ๆ จะตัดสินใจตามกุศลเป็นหลัก

หัดพิมพ์มุมคนคู่ เอาไว้เท่านี้ก่อน ได้เหลี่ยมหนึ่งก็ยาวแล้ว ไว้วันหลังค่อยว่ากันใหม่