Tag: ความเห็นแก่ตัว

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

October 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,768 views 1

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ

เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?

บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ

หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ

ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ

สัมมาทิฏฐิ

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป

ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)

บุญกิริยาวัตถุ

หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น

ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)

แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส

ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น

บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร

ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ

เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น

กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้

แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้

ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้

ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ

ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ

ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…

– – – – – – – – – – – – – – –

15.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การทำดีที่ยังเห็นแก่ตัว

October 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,537 views 0

การทำดีที่ยังเห็นแก่ตัว

การทำดี เพื่อให้ผู้อื่นมารัก ชอบ หลง ฯลฯ คือความเห็นแก่ตัวที่ใช้ความดีมาบังหน้า เป็นเชื้อชั่วที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากคนดี

เมื่อรักนั้นคือความหลง ก็เหมือนคนติดยาเสพติด

April 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,863 views 0

เมื่อรักนั้นคือความหลง ก็เหมือนคนติดยาเสพติด

เมื่อรักนั้นคือความหลง

ก็เหมือนคนติดยาเสพติด

มีให้เสพก็มีความสุข

พอไม่ได้เสพก็ทุกข์ทรมาน

 

= = = = = = = = = = =

โดยทั่วไปแล้ว…

คงยากที่ใครจะยอมรับว่า..ตนเองนั้นหลง

แต่ความจริงก็จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริง

คู่รักที่ยังดูแลเอาใจใส่แก่กันและกัน

ก็จะดูเหมือนว่าพวกเขาจะยังมีความสุขดี

แต่พอคนใดคนหนึ่งลดการเอาใจใส่ ด้วยเหตุใดก็ตาม

อีกคนก็จะเกิดอาการทุกข์ในจิตใจขึ้นมาทันที

 

….

 

นี่คือความเสพติดความรักเพราะความหลง

พอได้เสพมันก็หลงว่าเป็นสุข

แล้วยึดสุขนั้นไว้ว่าต้องได้เสพตลอด

ไม่ยอมให้ใครหน้าไหนมาพรากความสุข

ใครที่นำความสุขนั้นออกไปจากชีวิตฉัน

ก็จะถือว่าเป็นศัตรูกับฉัน…

 

…โดยไม่สำคัญว่าคนนั้นจะเป็นใคร

เคยเป็นคนที่ฉันรักที่สุดหรือไม่

เคยเป็นคนที่ดูแลเอาใจใส่ฉัน

เคยเป็นคนที่ช่วยเหลือฉันเมื่อทุกข์ใจ

แต่ถ้าวันนี้เธอพรากความสุขของฉันไป

เราจะกลายเป็นศัตรูกัน!!

….และนี่เองคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คู่รักทะเลาะกัน

 

แท้จริงแล้วความหลงก็คือความเห็นแก่ตัวดีๆนี่เอง

มันมาในภาพที่สวยหรูที่เรียกว่าความรัก

สุดท้ายแล้วก็หวังจะให้คนอื่นมาบำเรอตนเท่านั้นเอง

 

– – – – – – – – – – – – – – –

16.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

January 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,181 views 0

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ... หรือฉันรักตัวเอง

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

…ความรักที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร?

ในบทความก่อนหน้านี้ได้ขยายเหตุว่าทำไมฉันจึงไปหลงรักเขาในมุมของกรรมกันมาแล้ว ในบทความนี้ก็จะมาขยายกันในมุมของกิเลสบ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพกิเลสได้ชัดเจนแค่ไหนก็ลองอ่านแล้วค่อยๆพิจารณาตามกันดู

ความรัก นั้นคือความอยาก แต่ในความอยากนั้นก็มีมิติที่ซับซ้อนทั้งดีและร้าย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นไปในทางร้าย คือมีกิเลสปนอยู่ในความอยากนั่นเอง กิเลสเป็นตัวที่ผลักดันให้เราหลง ทำให้เราให้โอกาสเขาเข้ามาในชีวิต ทำให้เราตัดสินใจรัก หากเรายังไม่สามารถ “เห็น” กิเลสในตัวเองอย่างชัดเจน จนมั่นใจว่าความรักของฉันครั้งนี้นี่มันเกิดจากกิเลสตัวนั้นตัวนี้ ก็ยากที่จะเข้าใจความรักที่แท้จริงได้ เพราะโดนกิเลสบังไว้จนกลายเป็น “ความรัก(จากกิเลส)ทำให้คนตาบอด

ในบทความนี้เราก็จะนำเสนอเรื่องกิเลสด้วยกันสี่หัวข้อคือ

  • 1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส : เริ่มต้นกันตั้งแต่เริ่มหาคู่กันเลย เป็นการเกิดขึ้นของกิเลส
  • 2). ทาสกิเลส : สภาพการตั้งอยู่ของความรักจากกิเลส
  • 3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร : สภาพการดับลงไปของความรักที่เต็มไปด้วยกิเลส
  • 4). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา : เป็น “ผล” ที่เกิดขึ้นจากความรักที่มีแต่บาปและอกุศล

หัวข้อทั้งหมดที่ได้เรียบเรียงมานั้นก็เพื่อจะนำเสนอให้เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินอยู่ จนกระทั่งการจบลงไป ซึ่งหากเราได้สำรวจและทบทวนดีๆก็จะเห็นได้ว่าในการคบหากันนั้นมีสภาพของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันตั้งอยู่นานเท่าไหร่ แล้วมันดับไปได้อย่างไร เราจะมาเรียนรู้กิเลสตามหัวข้อเหล่านี้กัน

1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส

การจะมีคู่ได้นั้น บางคนก็เป็นเรื่องยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร บางคนก็ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สังเคราะห์ขึ้นมาเช่น หน้าตาดี มีความมั่งคั่ง มีชื่อเสียง พูดจาดี อาจจะเป็นสิ่งที่ติดมาตั้งแต่เกิดหรือสิ่งที่ฝึกฝนหรือสร้างใหม่ขึ้นในชาตินี้ก็ได้

กลยุทธ์ในการมีคู่หรือหาคนมาบำเรอกิเลสนั้น จะอธิบายกันด้วยภาพกว้างๆ 3 ลักษณะ คือ รุก , รอสวนกลับ , รับ ซึ่งจะมีลีลาอาการที่แสดงออกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าต้องมีแผนเดียวเสมอไป สลับสับเปลี่ยนแผนได้ตามกำลังกิเลสที่มี

1.1). รุก (จีบ)

คนที่เป็นฝ่ายรุกนั้นจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นคนหน้าตาดีก็ได้ หน้าตาไม่ดีก็ได้ การรุกคือการเข้าไปจีบ การแสดงความอยากครอบครองโดยการสนองกิเลสต่างๆให้กับเป้าหมาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่หวัง โดยมากมักจะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เช่น คนสวย คนรวย คนมีชื่อเสียง แต่ถึงจะไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวกระตุ้น แค่ใช้แรงกระตุ้นจากธรรมชาติในแบบชายหญิงตามสัญชาติญาณของคนมีกิเลสทั่วๆไป ก็สามารถที่จะรุกได้เหมือนกัน หรือถ้าเขาหรือเธอสามารถกระตุ้นกิเลสเราได้มากพอที่เราจะอยากได้เขาจนตัวสั่นความอยากก็จะทำให้เรารุกเช่นกัน

คนที่ไม่มีวาสนาเก่ามาเช่น หน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย ก็อาจจะต้องเล่นเกมรุก เพราะคงจะหาคนมารุกตัวเองได้ยาก ตั้งรับไปก็ไม่มีใครมารุก แห้งเหี่ยวอยู่อย่างนั้น แต่กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราแห้งตายอยู่แบบนั้น แม้จะหน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย พูดไม่เก่ง แต่พลังกิเลสจะกระตุ้นให้เราพัฒนา ออกกำลังกาย แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดี ทำศัลยกรรม ขยันทำงาน เก็บเงิน สร้างภาพ หัดพูดกับคนเยอะๆ นี่คือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างพลังที่จะใช้ “รุก” ได้นั่นเอง

แม้คนที่มีหน้าตาดี บ้านรวย มีชื่อเสียง พูดจาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะชอบเล่นเกมรับเสมอไป เขาหรือเธออาจจะชอบเล่นเกมรุกด้วยปัจจัยที่มีมากกว่าคนอื่น จึงสามารถรุกไปจับจิตใจของใครหลายๆคนได้โดยง่าย จึงเกิดเป็นสภาพของ “คนเจ้าชู้” เพราะเขาเหล่านั้นต้องการเสพสิ่งที่มากกว่า สิ่งที่ดีกว่าอย่างไม่จบไม่สิ้น

การรุกนั้นมักจะถูกใช้เมื่อเราต้องการได้สิ่งนั้นมากๆ ความอยากเสพสุขจากกิเลสนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เสพไปก็อยากได้เพิ่ม อยากได้มากกว่าเดิม ดังนั้นการที่เรารุกเข้าไปในชีวิตใครก็สังเกตให้ดีว่าเรากำลังอยากได้ อยากมี อยากเสพอะไรในตัวเขากันแน่

1.2). รอสวนกลับ (รอจับ)

คนที่รอสวนกลับมักจะไม่รุกในทีแรก ทำเหมือนไม่สนใจใคร แต่จะเปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาได้บ้าง ไม่ปิดตัวเองเสียทีเดียว พอมีคนหลงเข้ามา หากถูกใจก็จะรุกในทันทีจนเหยื่อตั้งรับไม่ทัน เรียกว่า “โดนจับ” มีให้เห็นโดยมาก เป็นสภาพซ้อนของการรุกที่มีชั้นเชิงของกิเลสมากขึ้น

สาเหตุของการรอสวนกลับ นั่นเพราะเขามักจะมีโลกธรรมสูง เช่นขี้อาย กลัวคนนินทา กลัวทำตัวไม่ถูก จึงมีฟอร์ม มีการวางท่า มีความลึกลับซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จริงใจ ทีเล่นทีจริง อยากรุกแต่ก็รุกไม่เป็น กลัวว่าถ้ารุกไปแล้วจะพลาดพลั้งหรือเสียฟอร์มก็เลยวางเกมรับแล้วรอสวนกลับ

เรียกง่ายๆว่ารอคนอื่นเปิดเกมก่อนแล้วจะเล่นตาม ซึ่งกิเลสก็จะมาเสริมทัพในด้านการเพิ่มโอกาสให้มีคนเข้ามาหา เหมือนกับวิธีรุก คือทำตัวให้ดูดี น่าคบหา ยั่วกิเลสกันไป เหมือนกับดอกไม้กินแมลงที่พอเหยื่อหลงเข้ามาแล้วก็จะงับทันที

1.3). รับ (มีให้เลือก)

คนที่ใช้กลยุทธ์รับโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีพร้อมด้วยกามคุณและโลกธรรม เช่นมีรูปร่างที่สวย หน้าตาดี เสียงเพราะ ฐานะดี การงานดี มีชื่อเสียง เป็นต้น

ในสมัยนี้แค่หน้าตาดีก็รับกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว จะมีคนมาแจกขนมจีบจนแทบไม่ได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องมาคอยบริหารเสน่ห์ จัดการกับผู้ที่วนเวียนเข้ามาในชีวิต

ผู้รับมักจะเป็นผู้เลือก แต่ก็มักจะไม่เลือกในทันที เพราะมีให้เลือกมาก ทำเหมือนจะเลือกแต่ก็ไม่เลือก แทงกั๊กอยู่เสมอ เหมือนแมวที่เล่นเหยื่อแต่ไม่ยอมกินเหยื่อ จนกระทั่งมั่นใจว่าคนนั้นแหละคือคนที่จะมาบำเรอกิเลสของฉันได้ ก็จะจับเหยื่อในท้ายที่สุด

การรับนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อตัวเองเช่นกัน เพราะยิ่งมีเสน่ห์เท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างกระแสแห่งบาปมากเท่านั้น เพราะจะทำให้คนหลง คนมัวเมา ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงหน้าตาดี ถ้ายิ่งแต่งตัวโป๊คนก็จะยิ่งมอง และถ้ายิ่งมนุษย์สัมพันธ์ดีคุยกับเขาไปทั่วเขาก็จะหลงกันหมด ที่หลงนั่นคือหลงอยากเสพ จึงกลายเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น

การจะคงสภาพ “รับ“ ได้นั้นจำเป็นต้องบริหารเสน่ห์ตัวเองไปเรื่อยๆ ต้องแต่งหน้า แต่งตัว ทำผม สร้างภาพ สับราง บริหารเสน่ห์ โดยที่ต้องแข่งกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและแข่งขันกับคู่แข่งมากมายที่อาจจะมารุกใส่คนที่เราหมายตาอยู่ก็ได้

คนที่เอาแต่รับนั้นยากที่จะเปลี่ยนเป็นรุก เพราะมักจะสั่งสมกิเลสไว้มาก สร้างโลกธรรม สร้างอัตตามาครอบตัวเองไว้ ว่าฉันนี้ดีพร้อม คนอื่นต้องวิ่งเข้าหาฉัน ทำตัวเหมือนดอกไม้ที่รอแมลงเข้ามา ไม่สามารถขยับไปหาแมลงได้ กลายเป็นติดภพ จมอยู่ในภาพลักษณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

2). ทาสกิเลส

ไม่ว่าจะรุก รอสวนกลับ หรือตั้งรับ สุดท้ายเป้าหมายก็คือการได้มาซึ่งคู่ครองที่หมายตาไว้อยู่ดี ซึ่งอาจจะดีดังใจหวัง มากกว่าที่คาดหวัง หรือจะแย่กว่าที่หวังนั้นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือ “ฉันเลือกเขามาเพราะฉันคิดว่าเขาจะสามารถบำเรอกิเลสของฉันได้

นั่นคือเราจะเลือกคนที่เราคิดว่าในอนาคตเราจะได้เสพสิ่งที่หวังไว้ สิ่งที่หวังของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน หนาบางลึกตื้นไปตามกิเลส

…บางคนแค่อยากสมสู่ก็หาใครก็ได้ที่ใจง่ายๆมาคบกันเพราะรู้ว่าในที่สุดก็จะได้สมสู่ สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาสนองความใคร่

…บางคนแค่อยากมีเพื่อนร่วมเสพในกิจกรรมต่างๆ กินเที่ยวด้วยกันก็หาคนที่คิดเหมือนกัน สุดท้ายเราก็ได้คู่มาช่วยสนองกิเลสกันและกัน

…บางคนแค่อยากรวยก็หาใครก็ได้ที่มีเงิน ไม่จำเป็นว่าต้องหล่อหรือจิตใจดีขอแค่รวยก็พอ เพราะรู้ว่ายังไงเราก็จะได้เงินใช้สุดท้ายเราก็แค่อยากรวยโดยไม่ต้องลำบาก

…บางคนแค่อยากมีลูกก็เลยหาใครก็ได้มาเป็นพ่อแม่ของลูก เอาที่ดูดีหน่อย เชื้อจะได้ดีๆ สุดท้ายเราก็แค่อยากเสพอารมณ์ในการมีลูก

…บางคนแค่อยากมีชื่อเสียง ก็เลยหาคนที่มีชื่อเสียงในสังคมแล้วก็ใช้เขาเป็นตัวกระตุ้นชื่อเสียงตัวเอง สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาเสริมโลกธรรมของเรา เพิ่มสรรเสริญให้กับเรา

…บางคนแค่ขี้เกียจทำงานอยากมีคนดูแลก็เลยหาคนที่พอจะมีศักยภาพในการดูแลทั้งชีวิตนี้ได้และเกาะเขาไปเป็นที่พึ่ง สุดท้ายเราก็แค่อยากได้คนมาเลี้ยงดูชีวิต

…บางคนแค่หลงว่าเกิดมาแล้วต้องมีคู่จึงจะมีคุณค่า ก็เลยหาใครสักคนที่พอสมน้ำสมเนื้อมาควงคู่ไม่ให้ใครเขานินทาว่าอายุปูนนี้แล้วยังไม่มีใครเอา สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาปกป้องโลกธรรมของเรากลัวคนนินทา

…บางคนแค่หลงว่าชีวิตที่สมบูรณ์ต้องแต่งงานมีครอบครัว ก็เลยหาใครสักคนที่เหมาะจะมาเป็นสามีหรือภรรยา สุดท้ายเราก็แค่สนองความหลงของเรานั่นเอง

…บางคนแค่อยากหาเพื่อนร่วมชีวิต ที่จะดูแลกันไปจนแก่เฒ่า ก็เลยหาใครสักคนที่ดูมั่นคงและซื่อสัตย์และพร้อมจะดูแลเราเข้ามาในชีวิต สุดท้ายเราก็แค่กลัวลำบากไม่มีใครดูแล

…บางคนแค่หลงว่าเราสามารถมีคู่ใช้ชีวิตร่วมกันทำกุศล สร้างความดี ความเจริญร่วมกันได้ ก็เลยหาคนที่ดูมีบุญบารมีที่เหมาะควร สุดท้ายเราก็แค่หลงไปในกิเลส หาเรื่องครองคู่โดยใช้ข้ออ้างที่สวยหรูมาบังหน้าเพื่อเสพกามและอัตตา

…บางคนแค่เหงาก็เลยหาใครสักคนคนเข้ามาในชีวิตเพื่อเป็นเพื่อนคุย สุดท้ายพอหายเหงา หลุดจากสภาพที่ต้องทนเหงา หรือมีคนอื่นที่ดีกว่ามาแก้เหงา ใครคนนั้นก็หมดค่าเพราะไม่จำเป็นต้องใช้เขาสนองกิเลสอีกต่อไป

สรุปแล้วคนที่เราเลือกมาเป็นคู่นี่แหละคือคนที่ซวยสุดซวย เพราะต้องมารองรับกิเลสของเรา ต้องคอยสนองกิเลสของเรา เป็นทาสกิเลสของเรา ต้องบำเรอเรา เป็นสิ่งที่มาสนองกิเลสของเรา “ฉันเลือกเธอมาเพราะฉันคิดว่าเธอจะดูแล(กิเลส) ของฉันได้

หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ฉันก็รักเขา ฉันก็ดูแลเขา ฉันก็จริงใจกับเขานะ …ความรู้สึกนี้มันก็ใช่ แต่มันทำไปเพื่ออะไรล่ะ เรายอมสละ ยอดอดทน ยอมทุ่มเท แรงกาย แรงใจ พลีกายถวายชีวิต ทั้งหมดก็เพื่อเสพบางสิ่งจากคู่ครองใช่ไหม นั่นแหละคือสิ่งที่เราจ่ายไปเพื่อที่จะได้สิ่งที่เราคิดว่ามากกว่ามาเสพ “ที่ฉันทุ่มเทให้เธอเพราะฉันคิดว่าเธอจะสามารถบำเรอสุขให้ฉันได้มากกว่าที่ฉันทำไป

เมื่อใช้กิเลสเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการครองคู่กันสุดท้ายก็จะเกิดเป็นกรรมชั่วในที่สุด กลายเป็นคู่เวรคู่กรรม สะสมกรรมชั่วกันเพิ่มในชาตินี้ เช่น ไปกินของอร่อยบำเรอกิเลสด้วยกัน ไปท่องเที่ยวตามกิเลสด้วยกัน ไปร่ำรวยสนองกิเลสด้วยกัน ไปมีชื่อเสียงเติมกิเลสของกันและกัน

ในการครองคู่นั้นยากนักที่จะหลีกเลี่ยงการสนองกิเลสให้แก่กันและกัน แทบจะทุกเหตุการณ์ของชีวิตที่เป็นการเพิ่มกิเลส ได้เสพสมใจก็กิเลสเพิ่ม อยากเสพอีก ไม่ได้เสพก็ทุกข์ใจคับแค้นใจ โกรธจนสะสมกิเลสอีก ดังนั้นการครองคู่จึงสะสมเชื้อทุกข์ สะสมกิเลสพอกไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผลแห่งบาปไปเรื่อยๆ

3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร

ในตอนที่เราหลงติดหลงยึดจนอยากเสพ มันจะมีภาพฝันสวยๆของการครองคู่ เช่น เราจะรักกันไปจนแก่ เราจะมีลูกด้วยกัน มีบ้านน่ารักๆ ดูลูกหลานวิ่งเล่นพร้อมกับใช้ชีวิตรักอย่างเป็นสุข หรือถึงแม้เขาหรือเธอจะแก่ไปฉันก็จะรัก แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ป่วย พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ฉันก็จะดูแลเธอเอง

กิเลสก็จะพาให้ฝันหวานไปแบบนี้เอง เพราะจินตนาการมันถูกผลักดันด้วยกิเลส พอใจมันอยากเสพก็จะพิจารณาแต่ประโยชน์ คือจะมองเห็นแต่ข้อดีของการมีคู่ เห็นแต่สุข ไม่เห็นทุกข์เลย มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง ตามันมองเห็นแต่ก็มืดบอดมองความจริงไม่เห็น หลงอยู่ในสภาพสุขที่กิเลสหลอกไว้

แล้วก็ใช้เวลาครองคู่สนองกิเลสกันบ้าง ไม่สนองกันบ้าง เพราะความจริงแล้วคู่ที่เราเลือกมาเขาก็ใช้เราเป็นสิ่งสนองกิเลสของเขาเหมือนกัน เขาก็มีความอยากของเขา แรกๆมันก็จะยอมกันไปได้บ้าง พลัดกันเสพ ฉันยอมให้เธอ เธอยอมให้ฉัน เรารักกัน ให้อภัยกัน พลัดกันเสพสุขกันไป

แต่กิเลสมันไม่ได้หยุดแค่นั้น เมื่อชีวิตของการครองคู่คือการสนองกิเลสของกันและกัน ก็จะมีแต่การเพิ่มกิเลสกันไปกันมา สุดท้ายวันหนึ่งกิเลสก็จะก้อนใหญ่ขึ้น อยากเสพมากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพของการสนองกิเลสนั้นลดลง จึงนำมาซึ่งการผิดใจกัน ขัดใจกัน ไม่ยอมกัน

…ในตอนนี้เราจะเริ่มรู้ได้ชัดแล้วว่า ”เรารักใคร ” ในตอนที่กิเลสมันพุ่งพล่าน อยากได้อยากเสพ คิดว่าตัวเองถูกต้อง เอาแต่ใจนั่นแหละ เราจะเห็นว่าที่แท้จริงเรารักใคร

ที่เราโกรธ ไม่พอใจ ขัดใจ ขุ่นมัวในใจ เป็นเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในสิ่งที่คาดหวังไว้ นั่นเพราะเราไม่ได้รักเขาตั้งแต่แรก เรารักตัวเองแล้วเราเอาเขามาเป็นเครื่องสนองกิเลสตัวเอง พอเขาสนองไม่ได้เราก็จะมีอาการหงุดหงิดเหล่านี้เพราะมันไม่สมใจตัวเอง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในลักษณะเหล่านี้เองเป็นตัวสรุปว่าแท้จริงแล้ว “ฉันรักตัวเอง

5). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา

เพราะความ “รักตัวเอง” นี่เองเราจึงยินดีสร้างกรรมขึ้นมา คือยินดีที่จะไปหาใครสักคนมาสนองกิเลสของเรา มาเป็นคนบำรุงบำเรอกิเลสเรา โดยใช้ข้ออ้างว่ามันคือ “ความรัก” แน่นอนว่ามันคือความรัก แต่เป็นความรักตัวเองจนต้องหาผู้อื่นมาบำเรอตน นั่นหมายถึง “ความเห็นแก่ตัว” อย่างยิ่งยวด

ความเห็นแก่ตัวจะทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง มองแต่ตัวเอง คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง กลายเป็นให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุด เมื่อให้ความสำคัญกับตนเองมากที่สุด ก็หมายถึงมี “อัตตา” ที่มาก

นั่นจึงนำมาสู่การเบียดเบียนผู้อื่นโดยที่ไม่รู้สึกผิด ไม่รู้ว่าการไปกระตุ้นกิเลสหรือการไปยั่วกิเลสของคนอื่นเป็นบาปแค่ไหน เพราะตนนั้นหลงเสพสุขในอัตตาของตัวเอง เพื่อให้คนอื่นมาเติมเต็มความเป็นตัวของตัวเอง เช่นฉันเป็นคนแบบนี้, ต้องแต่งตัวแบบนี้, กินอาหารแบบนี้, เธอต้องปฏิบัติกับฉันแบบนี้, วันพิเศษต้องทำแบบนี้, เวลาฉันโกรธต้องง้อฉันก่อน ฯลฯ เหล่านี้คือสภาพของความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ซึ่งถูกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพสวยๆในอุดมคติของสิ่งที่เรียกว่าความรัก

ความฝันที่สวยงามในชีวิตคู่ คงไม่จริงเท่าความเห็นแก่ตัวที่เห็นกันอยู่ชัดๆ จนกระทั่งสามารถเอาชีวิตอื่นมาบำเรอกิเลสตนได้ นั่นจึงเป็นการสะสมบาปและอกุศลกรรมร่วมกัน สร้างทุกข์ โทษ ภัยสะสมไว้ส่งผลกับตัวเองทั้งในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติอื่นๆต่อไป

เป็นกรรมจากกิเลสที่ต้องรับในอนาคต เหมือนดังที่หลายคนได้เจอกับสภาพที่ต้องทุกข์เพราะความรัก ทุกข์เพราะคนรัก นั่นก็เพราะมันมีหนี้บาปกันมา เคยสนองกิเลสกันมา พอมาเจอกันในชาตินี้เชื้อชั่วในจิตใจก็จะดูดดึงกันเหมือนกับสภาพรักตั้งแต่แรกเจอ นั่นแหละ “ตัวเวรตัวกรรม” มันจะลากให้ไปทำชั่วกันต่อ ให้ไปสั่งสมกิเลสร่วมกันต่อ ให้วนเวียนอยู่ในโลกไปด้วยกันต่อ แล้วก็ต้องเจอทุกข์จากความรักวนเวียนไปไม่รู้จบ

เพราะยิ่งครองคู่ก็จะยิ่งสร้างกรรมชั่ว ไม่มีการครองคู่ใดเป็นไปในฝั่งกุศลฝ่ายเดียวอยู่แล้ว มันจะมีอกุศลหรือสิ่งชั่วปนไปด้วยเสมอ และโดยส่วนมากมันก็จะชั่วมากกว่าดี ดังนั้นยิ่งมีคู่มาก มีรักบ่อย เปลี่ยนคนรักบ่อยก็ยิ่งต้องรับผลชั่วที่ทำไว้มาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีคู่คนเดียวแล้วจะดีเสมอไป การมีคู่โผล่มาคนเดียวในชีวิต โดยความเข้าใจทั่วไปก็จะเหมือนคู่แท้ ที่ผูกกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ซื่อสัตย์จริงใจ ไม่เคยคบใครนอกจากคนนี้ แต่นั่นหมายถึงกรรมชั่วทุกอย่างมันก็จะมารวมที่คนนี้คนเดียวนั่นแหละ กรรมเขาก็จะจัดสรรเหตุการณ์ที่เจ็บปวด เผ็ด แสบร้อนให้ต้องทุกข์ในท้ายที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ดี

ดังนั้น การไม่มีคู่เสียเลยยังจะดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องลากใครเข้ามาเพิ่มในบ่วงกรรมของเรา ไม่ต้องให้เขาต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรา เราก็ไม่ต้องลำบากไปสนองกิเลสเขา เพราะเราไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว จึงยอมปล่อยให้เขาไปเผชิญกับชีวิตตามกรรมของเขา ความไม่เห็นแก่ตัวนี้เองคือความเมตตา คือความรักที่แท้จริง คือความรักที่มีต่อผู้อื่นอย่างแท้จริง เป็นความรักที่เต็มไปด้วยปัญญารู้แจ้งในกิเลสและกรรม เมื่อเข้าใจและปล่อยวางได้เช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่า “ฉันรักเธอ” ได้อย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

28.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)