Tag: ความเสื่อม

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,444 views 0

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

*ภาพประกอบจากซีรี่พระพุทธเจ้า ที่มีความเห็นว่าสุกรมัทวะ คือเห็ด

สุกรมัทวะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิง เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่

มีการตีความสิ่งนี้ไปโดยสองทิศทางใหญ่ๆ คือ เนื้อและไม่ใช่เนื้อ ส่วนที่เป็นเนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน

แต่ในความจริงแล้ว“สุกรมัทวะ”จะเป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครสามารถนำหลักฐานมาอ้างอิงได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สิ่งที่เคยเรียกว่าสุกรมัทวะในอดีตนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง เราไม่สามารถที่จะใช้สัญญาที่เรากำหนดหมายในตอนนี้ไปเทียบเคียงกับอดีตได้เสมอไป

ถ้ากล่าวกันถึงเห็ด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายที่ตายเพราะเห็ดพิษ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ เข้าใจว่าเห็ดกินได้ จึงนำมาประกอบอาหาร ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากมาย นี่คือข้อมูลในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีความรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดมีพิษ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถป้องกันความเข้าใจผิดของคนได้ 100 % นั่นหมายถึงไม่ต้องเดาเลยว่าเมื่อ 2500 ปีก่อนจะขนาดไหน….

ถ้าเทียบกับเนื้อหมู ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครตายทันทีเพราะกินเนื้อหมู นอกเสียจากว่าติดคอ อย่างช้าๆก็คงเจ็บป่วยเพราะพยาธิหรือเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นเนื้อหมูสุกๆดิบๆที่กินแล้วทำให้ตายได้นั้น ก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะท่านตรัสไว้ในจุลศีลว่าไม่รับเนื้อดิบ ส่วนเรื่องย่อยยากนั้นถ้าหากเคี้ยวให้ละเอียดก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่กินเนื้อหมูที่เน่าและเป็นโรค ก็คงจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ แล้วเนื้อหมูที่เน่าเสียนั้นสมควรประเคนให้พระพุทธเจ้าหรือไม่?

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความเสื่อมของพุทธไว้ว่าจะเหมือนเป็นกลองอานกะ แม้จะมีชื่อว่ากลองอานกะ แต่วัสดุของกลองดั้งเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม้ก็ถูกเปลี่ยน หนังก็ถูกเปลี่ยน เหมือนกับพุทธในวันนี้ แม้จะได้ชื่อว่าศาสนาพุทธที่พาคนพ้นทุกข์ แต่ไส้ในนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้มีชื่อว่าพุทธ แต่ไม่มีความเป็นพุทธเหลืออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับมรรคที่ปฏิบัติไปเพื่อลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในสมัยนี้มักจะไม่มีทิฏฐิเช่นนี้กันแล้ว ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็มักจะมองว่า “สุกรมัทวะ” นั้นเป็นเนื้อหมู ส่วนผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเห็ด ซึ่งเป็นไปตามทิฏฐิของตน

ถ้าถามว่าทิฏฐิเช่นไรจึงจะพาให้พ้นทุกข์ ก็ต้องชี้ชัดกันไปเลยว่า “เป็นผู้ไม่เบียดเบียน” หากความเห็นหรือกิจกรรมใดๆของเรานั้นมีส่วนให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน มีเราเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น เราย่อมระงับเหตุเหล่านั้นเสีย อย่าให้เราต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ประสบทุกข์เลย หรือหากมีข้อจำกัดก็จะเบียดเบียนให้น้อยที่สุด แต่ทำประโยชน์ให้โลกคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกว่าต้องประมาณให้อกุศลน้อยที่สุด ในขณะที่ทำกุศลให้มากที่สุด หรือจะเรียกว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

August 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,259 views 0

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

STRONGER TOGETHER เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน

ความรุนแรงและการก่อการร้ายนั้นได้ยกระดับและเข้าใกล้กับชีวิตคนเมืองกรุงมากขึ้นทุกขณะ คอยเตือนให้เราได้ระลึกว่าชีวิตนั้นไม่แน่นอนอย่างไร เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเพื่อที่จะก้าวผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้

เราอาจจะเคยได้ยินข่าวการก่อการร้าย การวางระเบิด ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายในภาคใต้ของไทย ซึ่งสำหรับคนกรุงเทพแล้ว ก็คงจะเป็นอะไรที่ไกลตัว แม้ได้ยินก็ยังไม่เข้าใจ แม้จะเห็นภาพก็ยังไม่ค่อยรู้สึก แต่ในตอนนี้ได้มีเหตุก่อการร้ายขึ้นที่กลางกรุง ในจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน เราได้เห็นภาพ ได้รู้สึก และได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าความรุนแรงของการก่อการร้ายนั้นส่งผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

การระเบิดนั้นไม่ได้สร้างแค่ความเสียหายต่อชีวิตและจิตใจของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่กระจายออกไปยังคนกรุงเทพ คนไทย และอีกอื่นๆอีกหลายคนบนโลก

ระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นได้ทำลายชีวิตและความปกติสุขในจิตวิญญาณของหลายๆคนไปในทันที หลายคนต้องพบกับความหวาดกลัวในการเดินทาง หลายคนต้องเสียเวลาไปกับข่าวสารที่มากมายมหาศาล โดยไม่รู้ว่าอันไหนจริงอันไหนหลอก หลายคนต้องเสียสติไปกับกระแสของความโลภ โกรธ หลง หรือกิเลส

ซึ่งกิเลสนี้เองคือสิ่งที่ทำให้เราหวาดกลัว ทำให้เราแสวงหาข้อมูลเกินความจำเป็น ทำให้เราเร่งเร้าอยากจะให้จับคนร้ายได้ไวๆทั้งที่หลักฐานและเหตุปัจจัยยังไม่เหมาะสม ทำให้เราโกรธคนร้าย โกรธคนนู้น โกรธคนนี้ โกรธใครก็ตามที่เราคิดว่าผิด ทำให้เราหลงมัวเมาว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สมควรในขณะนั้นก็ได้ ซึ่งกิเลสนี้เอง คือสิ่งที่ทำลายความสามัคคี ทำลายความแข็งแกร่งของจิตใจ ทำให้เราถดถอยและอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

การที่เราจะสามารถเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้ คือการร่วมสร้างสังคมที่มีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ไม่ตื่นตระหนกต่อสิ่งเร้า ไม่ไหลตามกระแสแห่งกิเลส แต่ก็ไม่ลอยเหนือปัญหาจนไม่เอาภาระบ้านเมือง

ซึ่งสิ่งแรกที่เราควรจะทำคือรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง เพียงแค่รับรู้ ยังไม่ต้องรีบวิเคราะห์ เพราะเพียงแค่เรารับรู้ข้อมูลต่างๆที่ประดังเข้ามา กิเลสก็จะสั่งให้เราคิด พูด และทำลงไปตามใจกิเลส เช่นเราเข้าใจว่าคนคนหนึ่งน่าจะเป็นคนสั่งการ เราจึงวิเคราะห์ตามข้อมูลที่เรามี และเผยแพร่ความคิดของเราออกไป นั่นหมายถึงเรากำลังเดาเอาล้วนๆ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงตามความเป็นจริง เพราะเราไม่ได้มีข้อมูลความจริงทั้งหมด เรารู้ความจริงบางส่วน แล้วเอามาผสมกับความจำของเรา ปรุงออกมาเป็นข้อมูลใหม่ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นจริง และสุดท้ายเราก็เชื่อมั่นว่ามันเป็นจริงเสียด้วย และนั่นคือการทำงานของกิเลสที่สัมฤทธิ์ผล

เชื้อของความอ่อนแอในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นจากระเบิด แต่เกิดขึ้นจากกิเลสในจิตใจของเรา หากว่าเราส่งเสริมกันด้วยถ้อยคำของกิเลส พยายามวิเคราะห์ ชี้นำ ชักนำให้เกลียดคนนั้นชอบคนนี้ พยายามหาคนผิดทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน พยายามเสนอความเห็นทั้งที่ไม่รู้จริง พยายามคาดเดาเหตุการณ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินกรรมคนอื่น เป็นผู้พิพากษาคนอื่น ซึ่งเกิดจากความหลงยึดดีในตนเอง อาการเหล่านี้เองที่จะทำลายสังคมได้รุนแรงกว่าระเบิดหลายเท่านัก

ระเบิดหนึ่งลูกอาจจะพรากชีวิตคนได้หลายสิบคน แต่การระเบิดของกิเลสในจิตใจของแต่ละคน ที่แพร่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ได้ทำลายจิตวิญญาณแห่งความผาสุก ทำลายสติ ทำลายปัญญา ทำลายความเมตตา ทำลายความดีงามทั้งหลายของตนเองและผู้อื่นได้อีกนับไม่ถ้วน

การเติบโตและความแข็งแกร่งที่แท้จริง คือการทนได้แม้อยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะทนไหว ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการกำเริบของกิเลสเช่นนี้ เราสามารถหาความเจริญได้ ใช้โอกาสนี้พัฒนาให้จิตใจของเราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการอดทน ข่มใจ ไม่ปล่อยตัวให้ไกลไปตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง ที่จะชักนำให้เราไหลลงสู่ความเสื่อมและความอ่อนแอทั้งหลาย

กิเลสนั้นนำมาซึ่งความชั่ว ความแตกแยก ความถดถอย ความอ่อนแอ ความทุกข์ โรคภัย ฯลฯ ดังนั้นเราจึงควรเว้นขาดจากการส่งเสริมกิเลสซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวถ้อยคำหรือแสดงความเห็นที่ทำให้กิเลสกำเริบ ทำให้เกิดความโกรธ อาฆาต ชิงชัง รังเกียจใครเลย

ซึ่งการไม่ไหลไปตามกิเลสนี้ไม่ได้หมายถึงการไม่เอาภาระ หรือไม่ทำหน้าที่พลเมืองดี เราปล่อยวางเฉพาะในเรื่องกิเลส เราไม่ไหลตามกระแสของความโลภ โกรธ หลง แต่เรายังจะทำหน้าที่ของคนที่อยู่ในสังคม ถ้ามีภัยเราก็ช่วยกันแก้ ช่วยกันป้องกัน แต่เราจะไม่ช่วยปลุกปั่น ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครเกลียดใคร เราสามารถรังเกียจกิเลสได้แต่อย่าเกลียดคนมีกิเลส

ดังนั้นการจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกันได้คงจะไม่มีทางอื่นนอกจากจะหยุดตัวเองจากการไหลตามกระแสของความมัวเมาในกิเลสทั้งหลาย เรียนรู้ที่จะพาตัวเองออกจากกระแสเหล่านั้นจนกระทั่งหลุดออกมาได้สำเร็จ แม้เข้าไปในกระแสแต่ก็ไม่ปนไม่เปื้อนและไม่หลงติดหลงยึด สามารถกลับเข้าไปและออกมาได้อย่างอิสระ สุดท้ายคือช่วยเหลือผู้อื่นให้หยุดชั่ว หยุดไหลไปตามกระแสกิเลส จนกระทั่งแนะนำวิธีให้ออกจากกระแสแห่งความเสื่อมเหล่านั้นได้และนี่คือที่สุดของความแข็งแกร่งในมหาจักรวาล

– – – – – – – – – – – – – – –

18.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

August 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,354 views 3

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการค้าขายที่ผิด ชาวพุทธไม่ควรทำไว้ด้วยกันห้าข้อในวณิชชสูตร และสองในห้าข้อนั้นก็เกี่ยวพันกับชีวิตของสัตว์โดยตรง

การค้าขายสัตว์ (สัตตวณิชชา) และการค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่าเป็นทางของพุทธ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของพุทธ นั่นหมายความว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิจกรรมนอกพุทธ ไม่เกี่ยวกับความเป็นพุทธ เป็นทางแห่งมิจฉา ทางแห่งบาป ทางแห่งความหลงผิด ไม่เป็นไปเพื่อกุศล ไม่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์

ชาวพุทธย่อมไม่ยินดีในการขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรฝืน ไม่ควรต้าน แต่ก็ไม่ควรเชื่อในทันที ควรใช้ปัญญาพิจารณาตามสิ่งที่ท่านตรัสว่าเป็นประโยชน์จริงไหม? แล้วสิ่งใดเป็นโทษ? ในเมื่อท่านตรัสหนทางสู่การพ้นทุกข์ เราจึงควรมีความเห็นไปตามท่านหรือขัดแย้งกับท่าน ดังนั้นการที่เราจะไปยินดี ไปสนับสนุนให้คนขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นหมายถึงเรายอมรับในสิ่งที่ไม่สมควรนั้น เช่นเดียวกับการ รับของโจรทั่งที่รู้ว่าเป็นของที่ถูกปล้นมาขโมยมา

ในปัจจุบันเรารู้ได้โดยทั่วไปว่าชีวิตสัตว์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขาย กลายเป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปควบคุมชีวิตผู้อื่น ทั้งๆที่จริงแล้วหนึ่งชีวิตตีค่าไม่ได้ เราไม่ควรมีสิทธิ์ในการควบคุมชีวิตสัตว์ใดเลย ดังนั้นการค้าขายชีวิตสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดูถูกคุณค่าของชีวิต การพยายามสร้างสิทธิ์อันชอบธรรม ทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์ใดๆเลยเหตุนั้นเพราะความหลงว่าตนเป็นผู้อยู่เหนือกว่า จึงมัวเมาในอำนาจลวงโลกที่ตนเองสร้างขึ้นมา สร้างความถูกต้องในการรังแกสัตว์อื่น ให้สามารถเบียดเบียนสัตว์อื่นได้อย่างไม่รู้สึกผิด

ชาวพุทธย่อมรังเกียจการเบียดเบียนและการฆ่าเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ที่ขายกันในตลาดทุกวันนี้ เป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยง ถูกจองจำ ถูกบังคับ และถูกฆ่ามา เราจึงไม่ควรยินดีในเนื้อสัตว์เหล่านั้น อีกทั้งการค้าขายเนื้อสัตว์นั้นยังเป็นการค้าที่ผิดชาวพุทธไม่ควรทำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีที่มาอย่างไรก็ไม่ควรซื้อขาย เพราะถึงจะไปเจอเนื้อสัตว์ที่มันตายเอง กินได้โดยไม่ผิดบาป แต่เมื่อนำมาขาย ให้ผู้คนหลงติดหลงยึดในรสชาติ แล้วคนขายเกิดจิตโลภอยากได้เงิน แต่สัตว์นั้นก็ไม่ได้ตายเองตามธรรมชาติทุกวัน จึงทำให้คนโลภเหล่านั้นทิ้งศีลเพื่อถือเงิน เอาเงินเป็นหลัก เอาศีลเป็นรอง ยอมฆ่าแต่ไม่ยอมจน ยอมบาปเพียงเพราะหวังเสพสุขลวงจากความร่ำรวยเติบโตจนเป็นอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อย่างในทุกวันนี้

ดังนั้นการที่เราจะไปซื้อสัตว์เป็น ซากสัตว์ตายหรือเนื้อสัตว์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเสียเลย เพราะจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อื่นหลงมัวเมาในบาปนั้น เป็นการสนับสนุนให้เขาฆ่าสัตว์ และที่แน่ๆ คือสนับสนุนให้ผู้อื่นประพฤติธรรมผิดทาง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเรามีความเห็นผิดด้วยเช่นกัน ผู้เห็นผิดก็ย่อมหลงผิดไปตามๆกันไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมของผู้เห็นผิดซึ่งจะต้องหลงผิดเป็นเรื่องธรรมดา

การค้าขายเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในตลาด แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ด้วย แม้จะขายเป็นเนื้อสดหรือเนื้อปรุงสุกก็อยู่ในขอบเขตของการค้าขายเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น ดังนั้นร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ในปัจจุบันจึงเป็นการค้าที่ผิด(มิจฉาวณิชชา) เป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ นั่นหมายถึงเนื้อสัตว์และเมนูเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ คือไม่มีความเป็นบุญและกุศลใดๆในวิสัยของพุทธ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของศาสนาพุทธ เป็นเนื้อนอกรีต เมื่อเนื้อนั้นเป็นเนื้อนอกพุทธ ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะซื้อมา หรือจะรับต่อจากเขามา มันก็เป็นเนื้อสัตว์ที่อยู่นอกพุทธอยู่ดี

ในบทที่ว่าด้วยความเสื่อมของชาวพุทธ(หานิยสูตร) มีข้อหนึ่งได้กล่าวไว้ถึง “การแสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนาพุทธคือความเสื่อมของชาวพุทธ” นั่นหมายถึง “คนที่เห็นผิดจะพยายามเอาสิ่งที่อยู่นอกพุทธ มาทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นบุญเป็นกุศล นั้นเป็นความเสื่อม” เช่นการเอาเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ซึ่งเป็นเนื้อนอกพุทธ ไปทำอาหารใส่บาตรพระ ผิดตั้งแต่คนฆ่า คนขาย คนซื้อ และเอาไปใส่บาตรพระ เป็นการทำบุญได้บาป เพราะเอาสิ่งที่ไม่ควร เอาเนื้อที่เขาฆ่ามา เนื้อที่ควรรังเกียจ ไปให้สาวกของพระพุทธเจ้าฉัน (ชีวกสูตร) แล้วหวังผลบุญกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเห็นที่ผิด เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ เป็นการทำบุญที่ผิดหลักพุทธ เป็นการทำบุญได้บาป ซึ่งเป็นความเสื่อมของชาวพุทธที่เห็นได้ในปัจจุบันนั่นเอง

เพียงแค่ข้อธรรมสองข้อจากวณิชชสูตร คือ การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธควรทำ ก็เพียงพอจะตัดเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันของชาวพุทธออกไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว เราซื้อสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ได้ ฆ่ากินเองก็ไม่ฆ่า ส่วนจะซื้อเนื้อสัตว์ก็ทำไม่ได้อีก ซื้ออาหารที่มุ่งเน้นการขายเนื้อสัตว์ก็ไม่ถูกธรรมอีก เพราะเราไปซื้อ เขาก็ขาย เมื่อมีการค้าขายก็เรียกได้ว่าผิดหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็คงยากจะหนีพ้น และมันก็สนับสนุนการกระทำที่ผิดไปจากหลักของพุทธอีก แล้วทีนี้จะหาเนื้อสัตว์มาจากไหน มันไม่มีให้กินหรอก ที่กินกันอยู่ทุกวันนี่มันเนื้อนอกพุทธทั้งนั้น เนื้อบาปทั้งนั้น เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ถึงจะหาเหตุผล หาข้ออ้าง พยายามบิดเบือนพระไตรปิฎก พยายามแปลความ ตีความเข้าข้างตน ให้ได้กินเนื้อสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันก็จะผิดไปจากธรรมะอยู่ดี

ดังนั้นผู้ที่พยายามกินเนื้อสัตว์ทั้งที่มีข้อธรรมะต่างๆ เป็นแนวสกัดขวางไม่ให้หาเนื้อสัตว์กินได้ง่ายๆ แต่ก็ยังจะกิน ยังหามากิน ยังเถียงเพื่อให้ได้กิน ยังหาเหตุผลมากิน ก็เป็นเพียงความหลงผิดที่ผลักดันให้ทำเช่นนั้น และเมื่อเป็นเช่นนั้น การที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกกล่าวหา ถูกข่มขี่ ถูกประณามว่าเป็นผู้เบียดเบียน ย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะพวกเขายังต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อบำเรอตน บำเรอสังขารตน หรือบำเรอกิเลสตนอยู่เป็นนิจ

ผู้ที่ปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ ย่อมไม่ยินดีในการผิดศีล ผิดธรรม ผิดวินัย ใช่ว่าจะมีคนที่ฆ่าสัตว์นั้นมาแล้ว มีคนที่เอาเนื้อสัตว์เหล่านั้นปรุงแต่งเป็นอาหารให้เรา แล้วเราจะต้องยินดีรับ เพราะเรารู้อยู่เต็มอกว่านี้คือเนื้อที่เขาฆ่ามา สัตว์ถูกพรากชีวิตมา เราย่อมรังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ดั้งนั้นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะจึงไม่สามารถรู้สึกยินดีกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้ หากจะมีผู้ที่ยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็คงจะไม่ใช่เรื่องของพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ

แนะนำบทความเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมที่ ” สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

8.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,850 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)