Tag: ความศรัทธา
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก
ความรักนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเป็นทุกข์ ร้อนรน กระวนกระวาย เมื่อคนเกิดความรัก ก็เหมือนเขาถูกมนต์สะกดของกามเทพ ให้หลงใหล มัวเมา ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องความรัก ความจริงแล้วสิ่งที่ลวงคนให้หลงไปกับความรักก็ไม่ใช่อะไรนอกจากกามราคะและอัตตาเท่านั้นเอง
ในมุมมองของธรรมะ ความรักไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทุ่มเทเพื่อให้ได้มา เป็นเพียงสิ่งที่ควรจะทุ่มทิ้งไป แต่ในมุมโลกียะความรักนั้นเหมือนกับเป้าหมายในชีวิตที่หลายคนเฝ้าฝันที่จะได้มาครอบครอง ทุ่มกายเทใจแลกมันมา ท้ายที่สุดก็จะได้มาแค่ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์เท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าสอนว่า ในความรักนั้น มีเพียงแค่ทุกข์ ไม่มีอะไรปนอยู่นอกจากทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีความดีงามอะไร มีแต่ความทุกข์ล้วน ๆ นี่คือมุมมอง ที่เห็นผ่านสายตาของผู้ที่หมดกิเลส จึงได้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่คนจะเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ในเมื่อความรักนั้นทำให้เขาเหล่านั้นตาบอดอยู่
เมื่อความรักเกิด ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นทันที ความอยากได้อยากครอบครองก็เกิดขึ้น ความอยากเติบโตขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น ความหวง ความโกรธ ก็จะแรงเป็นเงาตามตัว มีใครบ้างที่เกิดความรักแล้วไม่ทุกข์ ไม่มีหรอก เพียงแต่เขาจะรู้รึเปล่าว่านั่นคือ อาการของทุกข์ ความกระวนกระวายใจ ความคิดถึง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ที่รบกวนจิตใจ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากจะให้มีเสี้ยนตำฝังในเท้า เดินไปก็เจ็บไป ความรักก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความอยาก ความใคร่ ความกระสัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้จิตอยู่ไม่เป็นสุข วิ่งวนไปวนมาแต่เรื่องความรัก หาวิธีให้ได้มาเสพ ให้ได้สุขมากขึ้น หมกมุ่นอยู่กับความคันในใจเหล่านี้เรื่อยไป
แม้จะได้ความรักมาครอบครองแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป มันอาจจะโตขึ้นเพราะมีกามราคะและอัตตาเป็นอาหาร มันอาจจะรู้สึกสุขเพราะได้เสพสมอารมณ์กิเลสอยู่บ้าง แต่สุดท้ายมันจะหายไป ไม่ว่าความรักใด ก็ต้องเผชิญกับ “ความแก่” เป็นสภาพเสื่อมถอย เป็นขาลงของความรัก ความอ่อนแรง ไม่สดชื่น ความไม่ทันใจ ไม่ได้อย่างใจเหมือนก่อน ไม่เหมือนสมัยวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนทุกข์เพราะผิดหวัง เพราะมันไม่สุขสมใจเหมือนก่อน แม้จะพยายามแค่ไหน มันก็ไม่สุขเท่าตอนรักกันใหม่ ๆ นี้คือสภาพแก่ หรือความชราในความรัก นั่นเพราะกิเลสมันไม่ใช่สิ่งเที่ยง ไม่ใช่ว่าเสพรสเดิมแล้วมันจะสุขเท่าเดิมตลอด มันต้องหารสใหม่ ๆ มาเติมเรื่อย ๆ เป็นเหตุให้คู่รักต้องพยายามเติม พยายามบำเรอกันยิ่งขึ้น ๆ เพื่อที่จะหนีจากความแก่เหล่านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนก็ต้องแก่ ความรักก็ต้องเสื่อม มันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะพาให้คนผู้ยึดมั่นถือมั่นในความรักนั้นทุกข์และเศร้าหมองกันเลยทีเดียว
ก็อาจจะมีบ้างที่มีคนที่มีความสามารถในการบำเรอกิเลสอีกฝ่าย มีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุขบำเรอให้ แม้จะพยายามทำให้ความเสื่อมของความรักนั้นเกิดช้าที่สุด แต่ความรักก็ยังหนีความเจ็บป่วยไปไม่ได้ คนสองคนไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันไปได้ตลอด มันจะมีเรื่องที่ทำให้เกิดการกระทบของความเห็นที่แตกต่าง แรกรักก็อาจจะยอมกันไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่งยึดมั่นถือมั่นมาก ๆ ถึงกับไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้เกิดการทะเลาะกัน การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ขุ่นข้องหมองใจกัน อาการเหล่านี้คือสภาพเจ็บป่วยในความรัก เป็นแผลใจ เป็นรอยด่าง เป็นสภาพเสื่อมแบบสะสม เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ที่คนรักกันเลิกกันก็เพราะทะเลาะกันนี่แหละ ก็อาจจะมีบางคู่ที่จะเลิกกันไปเฉย ๆ เพราะไม่ได้ทะเลาะหรือผิดใจกัน แต่ที่เขาเลิกกันนั้น ก็เพราะว่าเขาเป็นทุกข์ เพราะทุกข์จากความรักมันมากกว่าการเลิกกัน เลิกกันมันเป็นสุขกว่า เขาก็เลิกกัน เพราะรักแล้วมันทุกข์ เขาเป็นทุกข์หนัก เขาก็ไม่อยากแบกมันไว้ เขาก็เลิก ส่วนที่ไม่เลิกก็ประคองกันไป เยียวยาแผลใจกันไป อยู่กันอย่างชิงชัง หวาดระแวง เป็นความอาฆาตแค้นสะสมไว้ในใจทีละน้อย ๆ จองเวรจองกรรมกันไปเรื่อย ๆ
สุดท้ายก็มาถึงความตายในความรัก มาถึงจุดที่มันต้องพราก เขาบังคับให้พราก ไม่จากเป็น ก็จากตาย ถ้าจากตายก็อาจจะทุกข์หนักมาก เพราะสูญเสียชัดเจน ก็น่าเห็นใจคนที่เข้าไปรัก รักใครแล้วเสียคนนั้นไป ก็เป็นทุกข์ รักมากทุกข์มาก ส่วนจากเป็นนี่ก็หลากหลายมิติ สารพัดบทละครที่วิบากกรรมจะสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เป็นทุกข์ จะเล่นเป็นบทไหน ก็ต้องเป็นทุกข์ จะจบแบบชัดเจนก็ทุกข์ จบแบบไม่ชัดเจนก็ทุกข์ เพราะเขาจะให้พรากจากสิ่งที่รัก สุดท้ายจะเล่นได้รางวัลตุ๊กตาทองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ยึดมาก จริงจังมาก ทุกข์มาก
ไล่มาตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในเรื่องความรัก ก็มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นที่เกิดขึ้น ทนทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วทุกข์ก็ดับไป ไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ไม่เห็นจะน่าได้น่ามีหรือน่าครอบครองตรงไหน มีทุกข์จะมีไปทำไม ก็เว้นเสียแต่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็กลับหัวกันกับเนื้อหาในบทความนี้แหละ อธิบายแบบกลับหัวได้เลย มันจะไปคนละทิศ ก็ไปทิศที่กิเลสชอบ ทิศที่กิเลสพอใจ แต่ไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องพบกับทุกข์ในความเกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่าคนที่ไม่มีรัก ก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ที่มีความสุข สรุปกันชัด ๆ “คนที่ไม่มีความรัก คือคนที่มีความสุข” เป็นสภาวะที่เข้าถึงได้ยาก แต่ก็เป็นความจริงที่ควรจะยึดอาศัยไว้เป็นเป้าหมาย ถ้าไม่พากเพียรปฏิบัติธรรมที่ถูกตรงอย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางเข้าถึงสภาพที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะของท่านนั้น เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต เดาเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต(สาวกที่ปฏิบัติถูกตรง)
ดังนั้นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างตั้งมั่น ก็จะเพียรพยายามศึกษาให้รู้จักทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของความรัก จนก้าวข้ามพ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในความรัก ตลอดจนเรื่องทุกข์ใจอื่น ๆ ได้โดยลำดับ
13.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
เมาบุญ
เมาบุญ
การที่เรามีศาสนาเป็นที่พึ่ง มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งเรามักจะวางตัวห่างไกลจากความพอดี บ้างก็เป็นศาสนานั้นแต่ในทะเบียนบ้าน บ้างก็นับถือศาสนานั้นอย่างมัวเมา หรือที่เรียกกันว่า “เมาบุญ”
ความหลงมัวเมาในบุญนี้ มักเกิดจากความศรัทธาที่ไม่มีปัญญา จึงมัวเมาลุ่มหลงอยู่ในสิ่งที่สังคมเขาเห็นว่าดี ดังจะเห็นได้จากการทำบุญทำทานอย่างเกินพอดีจนตนเองและครอบครัวลำบาก การใช้เวลาไปกับวัดและการบำรุงศาสนาจนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง การยึดดีถือดีติดดีจนทำให้คนรอบข้างเอือมระอา ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของการ “มัวเมา”
การทำบุญทานอย่างเมาบุญนั้น เบียดเบียนตนเองและคนอื่นอย่างไร?
การทำบุญทำทานที่ทำเพราะอยากได้บุญนั้น ไม่มีทางที่จะได้บุญเลย เพราะการทำทานที่ได้บุญคือการทำทานที่พาให้เราลดกิเลส แต่การทำเพราะอยากได้อยากมี คือการเพิ่มกิเลส ดังนั้นไม่มีทางได้บุญอยู่แล้วแต่อานิสงส์ก็ยังจะมีอยู่บ้าง ในส่วนของการเบียดเบียนคือการทำทานเกินความพอดี บางครั้งแทนที่จะได้ใช้ทรัพย์นั้นไปทำกุศลอย่างอื่นก็ไม่ได้ใช้ บางทีก็ต้องไปเรี่ยไรขอเงินจากคนอื่นเพื่อมาสมทบความอยากได้บุญในกองบุญของตนเองอีก ความไม่พอดีจึงกลายมาเป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
การใช้เวลาไปกับวัดบำรุงศาสนามาก ไม่ดีอย่างไร?
การใช้เวลากับการไปวัดและบำรุงศาสนามาก ถ้าเป็นนักบวชก็ถือว่าดี ยิ่งใช้เวลาศึกษาธรรม ก็จะยิ่งเป็นการบำรุงศาสนา คือการทำให้ตัวเองให้มีความเป็นพระยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันฆราวาสมักจะใช้เวลาที่มากไปกับการไปวัด ไปทำงานบำรุงศาสนา จนมักจะเห็นศาสนาดีกว่าทุกสิ่ง ทำให้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง เช่นแทนที่จะดูแลกิจกรรมการงาน กลับเอาเวลาไปวัด แทนที่จะดูแลคู่ครองครอบครัว กลับเอาเวลาไปวัด สุดท้ายงานและครอบครัวก็มีปัญหา เพราะตนทำหน้าที่บกพร่อง แต่ด้วยความติดดีจึงโยนความผิดไปให้คนอื่นและบอกว่าศาสนาของตนดีเลิศ การที่ตนให้เวลากับศาสนาเป็นสิ่งดี เป็นความเข้าใจที่มัวเมาหลงผิดซ้ำซ้อน เพราะแท้จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คนละทิ้งหน้าที่ แต่ให้ทำหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆกับการบำรุงศาสนาอย่างสอดคล้องในชีวิตประจำวันโดยไม่ให้บกพร่อง
การยึดดีถือดีติดดี เป็นอย่างไร?
ขึ้นชื่อว่าการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดดี ถือดี ติดดีเหล่านี้ ผู้ที่ติดมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดดี แม้ว่าจะมีคนมาทัก หรือแนะนำก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองติดดี และไม่ระวังตัว มักจะใช้ความดีที่ตนมีอยู่ เข้าไปทำหน้าที่ตัดสิน พิพากษาคนที่เขาพลาดทำชั่วอยู่เรื่อยไป โดยเฉพาะคนที่เมาบุญ พอเจอคนที่เขาไม่เอาดีในการทำบุญทำทานก็จะเริ่มเพ่งโทษเขา ตำหนิเขา มองว่าที่ตนทำนั้นดี แต่ที่เขาทำไม่ดี มองว่าตนดีเขาไม่ดี มองแบบนี้ก็ติดดีแล้ว เข้าใจแบบนี้ก็ยึดดีเข้าแล้ว
เมาบุญ เมาโลกธรรม
การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ
เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆกัน
เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า จึงมีการจองเป็นประธานงานกฐิน กันแบบข้ามปี บางวัดก็จองกันข้ามชาติคือชีวิตนี้ตัวเองคงไม่ทันแล้วเลยจองไว้เผื่อลูกหลาน อาจจะเพื่อให้ลูกหลานทำบุญให้ตัวเองด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ
เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ถ้าไม่ได้ทำบุญจะไม่สุข ชีวิตต้องทำบุญ ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก เช่น ทำทาน บำรุงวัด บริการพระ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง
…..เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข
เมาบุญในระดับอบายมุข
และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย
คนที่เมาบุญจนขาดสติมักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นพระ หรือเกจิอาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญ สิ่งนั้นคือกุศล สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่นกิจกรรมเหล่านี้คือ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ รดน้ำมนต์ ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมในมหาศีล)
เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมการงานพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย
ดังจะเห็นได้ว่า ความเมาบุญ นี้มีมิติที่หลากหลายลึกซึ้ง บ้างเมาน้อย บ้างเบามาก ไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนทำมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรง ทำดีมาก มีปัญญามาก ก็จะสามารถเห็นโทษภัยจากการเมาบุญในระดับต่างๆได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีกิเลสหนา มีวิบากบาป จะแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศล สิ่งไหนที่เป็นบุญหรือบาป วิธีออกจากความโง่เขลาเหล่านี้คือทำบุญทำทานให้มาก เสียสละให้มาก ช่วยเหลือผู้อื่นให้มาก ถือศีลให้เคร่งครัด แล้วก็จะออกจากนรกนี้ได้เอง
– – – – – – – – – – – – – – –
23.9.2557
เรากราบอะไร?
เรากราบอะไร?
อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” ให้ลึกซึ้งรู้จักแค่เพียงพุทธในภาพและรูปแบบที่บอกต่อกันมา…
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งคนทำงานและคนเกษียณ ต่างพากันหาที่พึ่งทางใจ เนื่องด้วยชีวิตที่ยิ่งนานวันไปทุกข์ก็ยิ่งมาก แม้จะมีการงานดี ฐานะมั่นคงดี ลูกหลานดี ญาติมิตรดี บริวารดี แต่ก็หนีไม่พ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ …วัดหรือพระชื่อดังที่เก่าแก่ก็เลยกลายเป็นที่พึ่งของผู้ศรัทธาเหล่านั้น
ผู้ศรัทธาเหล่านั้นต่างตระเวนไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนทุกวันนี้มีให้เห็นธรรมะทัวร์เป็นธรรมดา เราตระเวนไปกราบอะไร? เรากราบพระใช่ไหม? แล้วพระที่บ้านกับพระที่เราไปกราบต่างกันอย่างไร? ในเมื่อพระพุทธรูปนั้นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ? ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ควรจะอยู่ที่ไหน?
ความศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทิฏฐิของเรานั่นแหละ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเข้าใจผิด ต่อให้ไหว้ทุกวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ไหว้ทั้งชีวิตก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้หรอก เพราะการจะปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” นั้น จำเป็นต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์เป็นตัวตั้งเป็นเหมือนหางเสือควบคุมทิศทางเรือ ถ้าหันผิดทางก็คงจะไปนรกสถานเดียว เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ ) ” นั่นหมายถึงถ้าไม่เริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาอริยมรรคข้ออื่นๆก็คงจะผิดเพี้ยนกันไปหมด หลงทางไปหมด มัวเมาไปหมด พากันไปสู่ทางทุกข์กันหมด
ดังนั้นคนที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ว่าจะกราบพระพุทธรูปที่ไหนก็เหมือนกัน แม้จะไม่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้า แต่กราบด้วยจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นความศรัทธาด้วยเหตุแห่งปัญญา
เรากราบพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจถึงความรู้และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านที่บำเพ็ญเพียรมานานกว่าสี่อสงไขยกับอีกกว่าแสนมหากัป ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อที่จะเรียนรู้โลกจนแจ่มแจ้ง คือรู้ทั้งโลกียะและโลกุตระ เพื่อส่งต่อมาให้เราจนถึงปี พศ ๒๕๕๗ นี้
เรากราบพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่จะพาเราพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่เป็นจริงตลอดกาล ไม่มีใครหักล้างได้ พิสูจน์กันได้ ใครตั้งใจทำก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน
เรากราบพระสงฆ์ คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้เราปฏิบัติตาม ผู้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนความรู้แก่เรา ผู้ควรกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญที่ยังสืบเชื้อสายโลกุตระธรรมต่อจากพระพุทธเจ้า
เมื่อเข้าใจดังนี้เรา เราจะกราบพระที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะทิฏฐิเราตั้งไว้ตรงดีแล้ว กราบที่ไหนก็ได้กุศลสูงสุดเหมือนกัน ไม่มัวเมาไปตามสิ่งที่โลกเขาพาให้เราเข้าใจ พาให้เราหลงไป เพราะเราได้เข้าใจสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเนื้อหาสาระที่ควรเข้าถึง มิใช่ผู้ที่กราบไหว้พระพุทธรูปที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเพียงเรื่องราวและคำกล่าวอ้าง
เป็นความเข้าใจที่เป็นเหมือนคลื่นแม่เหล็กนำพา ดูดดึงเอาสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าถึงคุณค่าของการกราบพระ จนกระทั่งยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากนี้ เราก็จะไม่ไขว้เขว ไม่หลงทาง ทางที่เดินต่อไปก็จะเป็นทางที่มีแต่สิ่งที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เจริญขึ้นตามลำดับ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
6.9.2557