Tag: ความชอบ
ทางสายกลาง (มังสวิรัติ)
ทางสายกลางคือการปฏิบัติสู่ความเป็นกลางของจิต ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่าย คือไม่ชอบ และไม่ชัง ถ้าลงรายละเอียดในภาษา ก็คือไม่หลงในกาม และไม่ยึดมั่นในอัตตา
ความชอบความชัง หรือกามและอัตตานั้น เหมือนกับลูกตุ้มเหล็กที่เหวี่ยงไปแล้วแกว่งไปทางด้านหนึ่ง และแกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีแรงหลงเหลืออยู่
แรงที่แกว่งให้เกิดความชอบความชังเหล่านี้คือกิเลส ตราบใดที่กิเลสยังเหลือ ลูกตุ้มแห่งกามและอัตตาก็ยังแกว่งไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น
ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตสู่ทางสายกลาง คือต้องลดกิเลส หรือทำความชอบความชังให้เบาลง ในกรณีมังสวิรัติคือการทำความชอบในเนื้อสัตว์ให้เบาบางลง และทำความชังในเนื้อสัตว์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เบาบางลงเช่นกัน
ความชอบหรือกามในเนื้อสัตว์ คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีในเนื้อสัตว์นั้น ๆ เป็นเหตุให้คนเข้าไปเสพ แม้จะไม่ได้เข้าไปเสพเนื้อโดยตรง แต่ยังยินดีในการเสพเนื้อเสมือน เนื้อเทียม เนื้อปลอม ก็ยังเป็นลักษณะที่ยังบ่งบอกถึงความจัดในกามที่ยังคิดติดตรึงใจอยู่ การลดกามในเนื้อสัตว์นั้นก็ต้องลดทั้งกามคุณทั้ง ๕ อย่างนั้นลง ไม่ให้จัดจ้าน ไม่ให้เหลือรูปภายนอก สุดท้ายคือกำจัดรูปรอยของความอยากในใจให้ได้
ความชังหรืออัตตาที่มีต่อเนื้อสัตว์และผู้คนที่เห็นต่าง คือทางโต่งอีกด้านของลูกตุ้มกิเลส ที่แกว่งกลับมาด้านอัตตา จิตของคนที่อัตตาแรง แม้จะแรงแค่ไหนแต่จะมีสภาพที่จะยึดเป็นอย่าง ๆ ถ้าไปติดกามก็ติดแรง วนมาอัตตาก็จะชังแรง เป็นสภาพผลักดูดที่แรงเป็นของคู่กัน
ความชังนั้นจะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตนเองก็เศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ส่วนผู้อื่นก็จะรู้สึกกดดันบีบคัน อึดอัด ไม่สบายใจ เป็นลักษณะของความโต่งในการทรมานตนเองด้วยอัตตา แม้จะไม่ได้ไปนั่งบนเตียงตะปู ไม่ได้เดินเหยียบไฟ แต่การหลงในอัตตานั้นทรมานลึกร้ายกว่านั้น เพราะเป็นความทรมานในใจ ไม่มีรูปข้างนอก แต่มีความไม่สบายใจอยู่ข้างใน
อัตตา นั้นเกิดมาจากการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่นสำคัญตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นแล้วไปยกตนข่มเขา ดูถูกดูหมิ่น ดูแคลนเขา ดูเขาว่าด้อย แสดงความเหยียดเขา เป็นต้น
ในกรณีของผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีอัตตาตัวนี้แรง เพราะการจะออกจากกาม มันก็ต้องใช้อัตตา คือใช้ความยึดดีหรือยึดความดีเป็นกำลัง แต่ที่นี้มันจะมีจุดที่ยึดไปแล้วเลยเถิด คือมันเหมือนจะดี แต่มันทุกข์ทรมาน ลำบาก กดดัน บีบคั้น แสดงว่ามันโต่งไปแล้ว
จุดพอดี จุดโต่งในระหว่างการปฏิบัตินั้นไม่เที่ยง จะแปรเปลี่ยนไปตามอินทรีย์พละหรือความเจริญของจิต ในสมัยปฏิบัติแรก ๆ ความพอดีอาจจะเป็นไม่กินเนื้อสัตว์ จันทร์-ศุกร์ มากกว่านี้จะทรมานใจมาก ปฏิบัติต่อมาจิตเจริญขึ้น ความพอดีที่จะทำความเจริญอาจจะเปลี่ยนไปเป็นไม่กินเนื้อตลอดชีวิต แต่ยังอด นม เนย ไข่ น้ำผึ้งนาน ๆ ไม่ไหว จิตมันอยากจนดิ้นรนแสวงหา มันทนไม่ได้
ซึ่งความกลางในที่นี้ไม่ใช่ความกลางเป๊ะ ๆ แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง คือค่อย ๆ ลดกำลังของกิเลสที่คอยแกว่งลูกตุ้มแห่งกามและอัตตา ผลคือมันจะเบาแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรง มันจะแรงทั้งสองฝั่ง เวลาติดกามก็ติดแรง เวลาติดอัตตาก็ขมอย่างแรง แต่พอเวียนกลับไปกามก็จะติดกามที่แรงเหมือนเดิม กิเลสคือเครื่องพาวน วนเวียนไปในสองสภาพคือชอบและชัง
ความเป็นกลางนั้นมีจุดจบสมบูรณ์อยู่ที่ความหมดกามและอัตตาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกมาอธิบายแล้วเข้าใจกันเพียงแค่ภาษา เพราะคนที่แกว่งอยู่อย่างรุนแรงในการหมกมุ่นในกามและอัตตา ย่อมไม่เข้าใจความหยุดนิ่ง ดังนั้นคำว่าทางสายกลางแท้จริงแล้วคือทางปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง
จุดจบของทางสายกลางคือความไม่เป็นทุกข์แม้จะไม่ได้เสพ และไม่เป็นทุกข์แม้ทั้งโลกจะไม่ยินดีในธรรมที่เรามีเลย ความไม่ทุกข์คือสภาพสูงสุดที่คนจะเจริญไปได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนดี ทำดี ยึดดี อันนั้นเป็นวิถีโลกีย์ทั่วไปซึ่งยังปฏฺิบัติเพียงแค่ดีกับไม่ดี ซึ่งในทางของพุทธนั้นจะมีเพิ่มเติมจากทั่วไปคือกำจัดทุกข์ในดีและไม่ดีเหล่านั้นด้วย เป็นส่วนเสริมที่เหนือจากวิสัยของโลก หรือโลกุตระ แปลง่าย ๆ ว่าเหนือโลก
ดังนั้นการจะเอาทางสายกลางมาอธิบายกันในเชิงวัตถุย่อมจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะความเป็นกลางของพุทธคือกลางในใจที่ไม่แกว่งไปทั้งชอบและชัง คือกลางในความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สำคัญที่สุดคือไม่เป็นทุกข์ใจ
ศรัทธาของคนใกล้ตัว
ศรัทธาของคนใกล้ตัว
เราคงจะเคยสงสัยกันว่า ทำไมความรัก ความเคารพ ความเอื้ออาทรต่อกัน น้ำใจ สิ่งดีต่างๆ กลับมีให้กันน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อเริ่มแรกก็มักจะดึงดูดเข้ามาด้วยความชอบ ความรัก เราเข้าหาสิ่งของ สัตว์ และผู้คนด้วยความชอบ ไม่ว่าจะผู้หญิง ผู้ชาย พ่อแม่ พี่น้อง ต่างมีจุดเริ่มต้นกันด้วยความชอบหรือไม่ชอบทั้งนั้น
ความไม่ชอบนั้นทำให้เราผลักตัวเองออกจากสิ่งนั้นได้ง่าย ทำให้มันห่างหาย สลาย หรือตายจากออกจากชีวิตเราได้ง่าย นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะถ้าเราไม่ชอบ แล้วสิ่งนั้นไม่เกี่ยวกับเรามันก็จะหายไป แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าแม้เราจะไม่ชอบ แต่จะถูกความดี คุณค่าของสิ่งนั้น หรือกรรม ทำให้กลับกลายมาเป็นชอบ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ดังนั้นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่จะดำเนินต่อไปก็มักจะเป็นความชอบ แต่ความรู้สึกเหล่านี้ กลับเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในทิศทางที่เป็นบวกและเป็นลบ เราจะมากล่าวถึงในทางลบกันก่อน
ศรัทธาที่ลดน้อยลง….
เด็กน้อย… เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พ่อแม่ก็ให้ความรัก อุ้มชู เอาใจทุกอย่าง แต่พอโตมากลับเริ่มปล่อย เริ่มรู้สึกว่าไม่ศรัทธาลูกตัวเองเหมือนก่อน จากที่เคยเป็นเทวดาตัวน้อย กลับกลายเป็นภาระของชีวิต สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ นั่นเพราะอะไร? เพราะแรกรักนั้นมักเต็มไปด้วยความเสน่หา รักเพราะหลง แต่พอได้เจอกับนิสัยจริงของเขา ได้รับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ก็เริ่มจะหมดศรัทธาในตัวเขา นำมาซึ่งความไม่เชื่อใจกันในครอบครัว ตอนเขายังเป็นเด็กเรายังฟังเขา แต่พอเขาโตมาเราเริ่มไม่ฟังเขา นอกจากจะไม่ฟังเขาแล้วเรายังจะไปยัดเยียดความเป็นเราให้เขาอีก จนเกิดสภาพพูดกันยากในครอบครัว ดังจะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะไม่ปรึกษาปัญหาชีวิตกับพ่อแม่ แต่ไปปรึกษากับเพื่อนแทน เพราะอะไร เพราะเราศรัทธาเพื่อนมากกว่า ที่พ่อแม่ได้แสดงออกถึงความศรัทธาในกันและกันเหมือนเมื่อก่อน
คนในครอบครัว… เป็นภาพที่สะท้อนความเสื่อมศรัทธาภายในครอบครัวในปัจจุบันได้อย่างดี บางครั้งเราอาจจะนึกสงสัยว่าทำไม เพื่อน คนข้างนอก คนอื่นๆ กลับรู้จัก รู้ถึงคุณค่าของตัวเราได้มากกว่าครอบครัว บางครั้งเราไปสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ มีคนหลายคนรับรู้ แต่ครอบครัวกลับไม่รู้ บางทีก็ไม่ได้สนใจ นั่นก็เพราะความเคยชิน เราอยู่กันมา 20 ปี 40 ปี 60 ปี เราจึงเคยชินกับสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้จัก ทุกคนคิดว่าตนเองรู้จักคนอื่นในครอบครัวดี ทั้งๆที่ในความจริงแล้วแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา กิเลสของแต่ละคนทำให้เรามีเวลาร่วมกันน้อย คุยกันน้อย เข้าใจกันน้อย แต่ปัญหาคือเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าเรารู้จัก เพียงแค่เพราะเราเกิดมาในครอบครัวเดียวกัน ความคิดนี้เป็นความประมาท เพราะไม่มีสิ่งใดเที่ยง แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ความประมาทในความสัมพันธ์จึงนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อกันและกัน ส่วนครอบครัวที่ศรัทธากันและกันนั้นคงมี แต่คงจะมีอยู่ไม่มาก
เพื่อนสนิท… เมื่อแรกพบกัน เป็นเพื่อนกันด้วยกิจกรรมที่ชอบร่วมกัน ชอบในความสนุกเฮฮา มีน้ำใจ มีศรัทธาให้แก่กันเต็มเปี่ยม เชื่อใจกัน สามัคคีกัน แต่พออยู่ๆกันไป ทำกิจกรรมกันไป เริ่มจะมีปัญหา ต่างคนก็ต่างมีอัตตา เริ่มจะชิงดีชิงเด่น เอาตัวเองเป็นใหญ่ เริ่มจะไม่ยอมกัน ศรัทธาที่มีต่อกันก็เริ่มจะลด บางครั้งกลายเป็นแตกความสัมพันธ์ ทะเลาะกันจนถึงขั้นพยาบาทก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
คนรัก… เมื่อแรกรักกันก็หวานชื่น ชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ ยอมให้กัน ตามใจกัน เอาใจกันทุกอย่าง พอได้เสพสมใจกัน ได้คบหากันสักพัก หรือแต่งงานกัน ก็จะเริ่มพบกับความเสื่อมของความรัก เห็นความรักนั้นค่อยๆคลาย และค่อยๆพรากจากไป ศรัทธาที่เคยเกิดขึ้นเพราะหมอกแห่งความรักก็จะค่อยๆเริ่มจางหายไป เมื่อได้พบกับชีวิตจริง เมื่อคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ด้วยกัน มันไม่ง่ายเลยที่จะสามารถสนองกิเลสให้กันได้ตลอด เมื่อสนองไม่ได้ก็เริ่มจะหมดศรัทธาต่อกันและกัน นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายในความรัก อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง หรือหย่าร้างกันไป
คนที่เคารพ….หัวหน้าที่เคารพ ผู้นำที่เคารพ แรกๆมาเจอกันก็ยังรู้สึกศรัทธา รู้สึกว่าเก่ง แต่พออยู่กันไป ทำงานร่วมกันไปสักพัก กลับพบว่ามีเรื่องยุ่งวุ่นวายมากมาย เดี๋ยวคนนั้นก็จะเอาอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้ก็จะเอาอย่างนั้น จากเจ้านายที่เคยเคารพศรัทธา กลายเป็นคนที่น่าเอือมระอาได้ในที่สุด
….การที่ศรัทธานั้นลดลง เป็นเพราะเขาเหล่านั้นมีกิเลส เมื่อคบหากันแรกๆคนเราก็จะไม่เอากิเลสของตัวเองออกมาเปิดเผย แอบซ่อนไว้ ทำให้ดูดี ทำให้น่าเคารพ แต่พอคบกันนานวันไป มันก็กดข่มยาก มันก็ปิดไม่มิด มันก็เอาความอยากได้เอาแต่ใจ เอาอารมณ์ไปใส่กับคนอื่น
เช่นเดียวกันกับตัวเรา การที่เราศรัทธาคนอื่นลดลง หรือคนอื่นศรัทธาเราลดลง เพราะเรามีกิเลส บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าทำไมเราต้องรู้สึกไม่ดีกับคนนั้นคนนี้ ทั้งๆที่ตอนแรกก็รู้สึกหลงรักชอบพอใจกับเขา นั่นก็เพราะเราติดดี ยึดดี หวังให้เขาดีดังใจเราทุกอย่าง เราเจอเขาครั้งแรก เราก็เห็นว่าเขาดี เราก็เลยอยากให้เขาดีอย่างใจเราหมายตลอด โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่าความดีที่เห็นนั้นก็ไม่เที่ยงพอเขาคบกันไปก็เริ่มเห็นความไม่ดี เราก็ผิดหวัง เราทุกข์ บางทีคนเรายังไปคาดหวังให้คนอื่นดีขึ้นอีกด้วย การคงสภาพความดีว่ายากแล้ว การทำตัวให้ดีขึ้นนั้นยากยิ่งกว่า โอกาสในการผิดหวังก็จะยากขึ้นไปด้วย
และการที่คนอื่นศรัทธาตัวเราลดลงนั้น ก็เพราะเรามีกิเลสที่เผยออกมาโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเมื่อคนเราสนิทกันมากๆ ก็จะได้รับโอกาสในการเห็นธาตุแท้ของกันและกัน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะรู้ง่ายนัก ถ้าเพื่อนผู้คบหาคนนั้นไม่ได้บอกข้อเสียนั้นแก่เรา บางครั้งอาจจะบอกหรือเตือนกันสายเกินไป อาจจะทำให้ใครบางคนหายไปจากชีวิตเรา หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งเพราะความเอาแต่ใจของเรา
กัลยาณมิตร…
พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า การที่เราจะพัฒนาไปสู่ชีวิตที่ผาสุกอย่างยั่งยืนได้นั้น เราต้องมีมิตรดี คือกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้ที่เราไว้ใจ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา สามารถเห็นข้อผิดพลาดในตัวเรา วิเคราะห์แยกแยะ ช่วยแก้ปัญหา ชี้แจงได้ สามารถเตือนเราได้และ เราสามารถยอมรับคำเตือนของมิตรคนนี้ได้โดยไม่โกรธเคือง และยังต้องพากันไปทางเจริญ
ตัวเราก็เช่นกัน นอกจากเขาจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อเราแล้ว เราเองก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อเขา ความสัมพันธ์ขาเดียวไม่มีทางไปได้ไกล หากใครคนใดคนหนึ่งหวังแต่จะพึ่งพาคนอื่น อีกคนก็คงต้องเหนื่อยและจากไปในวันใดวันหนึ่ง แต่ถ้าหากเราเกื้อกูลกัน เป็นมิตรดีของกันและกัน รักกัน เคารพกัน ให้อภัยกัน พากันสู่ความเจริญ แน่นอนว่าปัญหาในชีวิตนั้นจะแก้ง่ายขึ้นอีกมาก
ศรัทธาที่เพิ่มมากขึ้น….
ศรัทธาที่จะเพิ่มมากขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้มาจากความหลง หรือความลำเอียงใดๆ เพราะความรู้สึก รัก ชัง หลง กลัว นั้นไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรเปลี่ยนผกผันได้ตลอดเวลา
การที่ศรัทธาจะเพิ่มได้นั้น เกิดจากการที่เราลดกิเลส เมื่อเราลดกิเลสด้วยการปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรม ขัดเกลาจิตใจตัวเองให้ดี ไม่ให้กิเลสนั้นได้กระจายออกมาทำความเดือดร้อนให้คนอื่น เมื่อเราทำกิจกรรมการงานในชีวิตโดยสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตัวเองไปกระทบใคร ก็จะทำให้บาป ความชั่ว รวมทั้งวิบากกรรมก็จะลดน้อยลง เพราะเราไม่ได้ทำชั่วแล้ว ในทางเดียวกัน การทำดีในแต่ละกิจกรรมก็จะยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเพราะไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง นั่นหมายถึงเราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ดี เข้าถึงบุญกุศลที่มากกว่าได้ หากเราลดกิเลส
คนรอบข้างที่เคยเสื่อมศรัทธาจากเราก็จะรู้สึกได้ถึงการพัฒนาของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปประกาศบอกใครว่าเราเป็นคนดี เป็นคนเก่งเพียงแค่เราลดกิเลสไปเรื่อยๆ ทำความดีไปเรื่อยๆ ความดีนั้นจะนำมาซึ่งศรัทธา เป็นศรัทธาที่แท้ และไม่เสื่อม เพราะเป็นศรัทธาที่เกิดจากปัญญา เห็นถึงคุณค่าที่มีในตัวเรา ไม่ใช่ศรัทธาด้วยความรัก ความชัง ความหลง ความกลัว ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะต้านทานความเสื่อมได้ คือการทำให้เกิดผลเจริญขึ้นในตัวเรา เป็นการเปลี่ยนแปลง เป็นความไม่เที่ยงที่เป็นไปในทางบวก ทางเจริญ ทางแห่งบุญ
– – – – – – – – – – – – – – –
23.9.2557