Tag: กิเลส
การมีความรัก เพื่อขัดเกลากิเลส
การมีความรัก
เพื่อขัดเกลากิเลส
ก็ตกอยู่ภายใต้กิเลส
…ตั้งแต่แรกแล้ว
= = = = = = = = = = =
การที่คนเราจะไปหลงสุขในการมีคู่ครองนั้นคงจะไม่แปลกอะไรสำหรับคนทั่วไป
แต่คนที่หันหน้ามาหาธรรม เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีทิศทางที่ไปสู่การมีคู่
โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ ให้การมีคู่มีน้ำหนัก มีคุณค่า มีเหตุมีผล น่าได้ น่ามี น่าเป็น
เป็นพลังของกิเลสที่พาให้หลงไป ให้หลงคิดว่าวิธีเรียนธรรมของตนนั้นดีเยี่ยม
เพราะได้ทั้งเสพสุขและปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นความโง่สุดโง่ที่หลงไปในกิเลส
โดนกิเลสจูงให้ไปเสพโดยที่คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีปัญญา สมดุลโลกและธรรม
กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชั่วแบบนี้ มันทำให้เราเป็นคนไร้เดียงสาที่คิดว่าตนฉลาดที่สุด
….ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการล่อลวงของกิเลส อยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส
ทำให้จมอยู่ในความหลงผิด เชื่อในทางที่ผิด และเห็นทางที่ผิดเหล่านั้นเป็นทางที่ถูก
แล้วมันจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ในเมื่อตนนั้นหลงอยู่ในกิเลส ขัดยังไงก็อยู่ในกิเลส
เหมือนคนที่คิดจะไปอาบน้ำขัดตัวโดยหวังความสะอาด แต่กลับลงไปขัดตัวในบ่อเก็บขี้
ขัดไปมันก็มีแต่เปื้อนขี้ปนเชื้อโรค แล้วมันจะสะอาดไหม? มันจะสุขไหม? มันจะดีไหม?
ท่านผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ก็ลองพิจารณากันดู ว่ามันจะคุ้มไหม?
มันจะได้มากกว่าเสียจริงไหม? ถ้าท่านเห็นว่าเป็นทางที่ไม่ควรก็พึงละเสีย พรากจากทางนั้นเสีย
อย่าได้เข้าใกล้ อย่าไปคลุกคลี อย่าปล่อยใจให้เผลอไปตามกลลวงของกิเลสที่คอยยั่วเย้า
แล้วเพียรพิจารณาให้เห็นโทษภัยตามความเป็นจริง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กันเถิด
– – – – – – – – – – – – – – –
2.5.2558
การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปขั้นตอนปฏิบัติธรรมแบบรวบรัด การออกจากกิเลส : กาม อัตตา อุเบกขา
สรุปหลักปฏิบัติที่เป็นขั้นตอนที่สั้นและรวบรัดนั่นคือการทำลายกามด้วยอัตตา และทำลายอัตตาด้วยอุเบกขาตามลำดับ ด้วยหลักใหญ่เพียงเท่านี้ก็สามารถทำลายกิเลสในเรื่องนั้นๆได้สิ้นเกลี้ยง
ในตอนแรกเราก็มักจะติดกามกันอยู่ คือการที่ยังไปเสพสุขลวงที่เกิดจากกิเลสยังเป็นความชั่วและเป็นบาปที่หยาบอยู่ และการจะออกจากสุขลวงเหล่านั้นจะต้องใช้อัตตาคือความยึดดีเข้ามาช่วยทำลายกาม เรียกว่าต้องเป็นคนดีก่อนแล้วจึงจะไม่ไปเสพสิ่งที่ชั่ว ต้องติดดีขนาดที่ว่าเว้นขาดจากการเสพกามทั้งทางกาย วาจา ใจ คือใช้อัตตาทำลายกามให้สิ้นเกลี้ยงไปก่อนเลย
ทีนี้พอออกจากกามได้ก็จะเหลืออัตตาไว้ กลายเป็นคนติดดี ยึดดี ถือดี คือชั่วไม่ทำแล้ว ทำแต่ดี แต่ก็ยังมีความยึดดีที่เคยใช้ออกจากชั่วนั้นเป็นสิ่งที่สร้างทุกข์ที่ทรมานตนและทำร้ายผู้อื่นอยู่ ดังนั้นเมื่อออกจากกามได้เด็ดขาดแล้ว จึงต้องใช้อุเบกขา หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ปล่อยวางตัวตนเสียก็จะสามารถทำลายอัตตาได้
เมื่อไม่มีทั้งกามและอัตตา ก็จะถือว่าจบกิจในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องๆไป เรื่องไหนทำได้ถึงที่สุดก็คือจบ เช่นกินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียวได้โดยไม่มีกามและอัตตาก็ถือว่าจบในเรื่องนั้นๆไป
นรกของกาม
กามนั้นเป็นสิ่งที่มีภัยมาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละกามเสียก่อน จนกระทั่งให้เว้นขาดจากกามไปเลย กามนั้นส่งผลทั้งกาย วาจา ใจ แม้ว่าเราจะหักห้ามร่างกายไม่ให้ไปเสพกามได้แล้ว แต่ถ้าความรู้สึกลึกๆมันยังสุขอยู่ ใจมันยังอยากเสพอยู่ ก็เรียกได้ว่ายังไม่พ้นจากพลังของกาม ซึ่งกามในระดับของใจนั้นฝังลึกติดแน่น สามารถวัดได้คร่าวๆ จากความรู้สึกยินดี เราเมื่อได้เสพหรือเห็นผู้อื่นเสพกามนั้นๆแล้วเกิดอาการอยากบ้าง เป็นสุขบ้าง อยากเสพอีกบ้าง
ความยากของอัตตา
กามนั้นเป็นเรื่องหยาบที่ยังเป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่นที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ จึงสามารถกำจัดได้ไม่ยากนัก แต่อัตตานั้นเป็นเรื่องยาก เห็นได้ยาก ล้างได้ยาก การจะล้างอัตตาโดยไม่ศึกษาธรรมะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงจะติดอัตตาอยู่ก็อาจจะจับอาการของตัวเองไม่ได้ง่ายๆ เพราะมันมีความลึก ความละเอียด ความซับซ้อนอยู่มาก นี้เองคือความยากของอัตตา
ความหลงผิดในอนัตตา
การลัดขั้นตอนไม่เป็นไปตามลำดับนั้น จะทำให้เกิดความหลงผิด และจมหนักยิ่งกว่าเดิม เช่นเรายังติดกามอยู่ แต่เราก็ดันไปพิจารณาอุเบกขา เจอของอร่อยก็พิจารณา “ไม่ใช่ตัวเราของเรา, อย่าไปยึดมั่นถือมั่น, อย่ามีตัวตน,ฯลฯ” ว่าแล้วก็ไปกินของอร่อยอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเสพกามอยู่นั่นเอง เป็นสภาพอนัตตาหลอกๆที่จิตปรุงขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพกามเท่านั้น กลายเป็นทิฏฐิเช่นว่า เสพสุขจากกามอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น …ซึ่งมันก็เหมือนคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย แถมยังมีกรรมอันเป็นมิจฉาทิฏฐิสะสมไว้เป็นทุนให้ต้องใช้วิบากในภายภาคหน้าอีก
อุเบกขาธรรมะ
การหลงผิดแบบแย่สุดแย่เข้าไปอีกคือการไม่ได้คิดจะปฏิบัติอะไรเลย กามก็ไม่ล้าง อัตตาก็ไม่ล้าง แต่ใช้การอุเบกขาให้ดูเหมือนเป็นผู้มีอนัตตาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง คือมองไปว่าการปฏิบัติธรรมก็มีตัวตน จึงทำตนให้ไม่ต้องมีตัวตนตั้งแต่แรก อุเบกขาการปฏิบัติธรรมทั้งหมดไปเลย ใช้ชีวิตไปตามปกติอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น(แบบคิดไปเอง) ทีนี้พอปล่อยวางธรรมะ ทั้งที่ยังมีกิเลสหนา มันก็ไปนรกอย่างเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆแล้วอุเบกขามันมีเอาไว้จบในตอนท้าย เป็นตัวจบของกิเลส ไม่ใช่ตัวเริ่ม ใครเอาอุเบกขามาทำตั้งแต่เริ่มจะไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นอนัตตาแบบคิดไปเอง เรียกว่าเป็นปัญญาแบบเฉโก คือมีความฉลาดที่พาไปในทางฉิบหาย
– – – – – – – – – – – – – – –
30.4.2558
การสะสม สร้างบาปเสียกุศล
การสะสม สร้างบาปเสียกุศล
การสะสมสิ่งที่ไร้สาระไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตนั้น เป็นเพราะกิเลสพาให้หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งลวง ให้จมอยู่กับสุขลวงและเหลือทิ้งไว้แต่ทุกข์แท้ๆ
เราสามารถสะสมอะไรได้หลายอย่างทั้งที่เห็นเป็นรูปและไม่มีรูป ที่เห็นเป็นรูปก็เช่น ของสะสมต่างๆ แสตมป์ ตุ๊กตา ซีดี ต้นไม้ เสื้อผ้า บ้าน รถ เงิน ฯลฯ และที่ไม่มีรูปเช่น การยอมรับ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรี ความสุข เป็นต้น
เมื่อเราหลงไปสะสมอะไรก็ตาม นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมกิเลสไปทีละน้อย การสะสมกิเลสหมายถึงการทำบาป สรุปแล้วผู้ที่หลงมัวเมาสะสมสิ่งใดๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคือผู้ที่สร้างบาปให้แก่ตนเอง
เพราะยิ่งสะสม ก็ยิ่งอยากได้ เมื่ออยากได้ก็จะเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็ต้องไปหามาเสพ เอามาสะสมให้สมใจ เมื่อได้เสพก็สุขอยู่ชั่วครู่แล้วก็จางหายไป แล้วก็จะอยากได้สิ่งใหม่อีก เป็นทาสกิเลสแบบนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น จึงกลายเป็นผู้ที่สร้างบาป เวร ภัย ให้กับตน เพราะเอาแต่สิ่งที่ไม่มีสาระมาเป็นแก่นสารสาระในชีวิต ดังนั้นจึงทำให้ชีวิตนั้นไร้สาระ
แม้ว่าสังคมจะให้การยอมรับผู้ที่สะสม ผู้ที่มีมาก แต่นั่นก็เป็นแค่เสียงสะท้อนจากสังคมอุดมกิเลส ผู้ที่หลงมัวเมามักจะชักชวนกันให้จมอยู่ในห้วงแห่งความหลงเสพหลงสุข พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครพรากความสุขไปง่ายๆ นั่นหมายถึงการไม่ยอมให้ใครได้หลุดออกจากนรกของการสะสมด้วย
สังคมที่พาให้สะสมกิเลสนั้นไม่ใช่สังคมของบัณฑิต แต่เป็นสังคมของคนพาล แม้ว่าผู้สะสมจะมีหน้าตาในสังคม มีฐานะดี มีการศึกษาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดีแท้ เพราะถ้าเขาเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสแล้วล่ะก็… สามารถและคุณสมบัติที่มีก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะสร้างนรกได้มากพอๆกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสะสมต้นไม้ ก็คงจะไม่มีใครให้ความสนใจต้นไม้นั้นมาก แต่ถ้ามีดาราหรือผู้ใหญ่ในสังคมสะสมต้นไม้แล้วล่ะก็ ผู้คนก็จะให้ความสนใจกับต้นไม้นั้นมากขึ้น สิ่งนี้เองคือการสร้างบาป สร้างนรกที่มากกว่า ในผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม
เมื่อเราให้เวลา ให้ทุน ให้ชีวิตไปกับการสะสม ไปสร้างบาป เวร ภัย ให้กับตัวเอง เราก็จะต้องเสียโอกาสในการทำกุศล แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปเรียนรู้สาระแท้ของชีวิต เอาไปทำประโยชน์ให้แก่ตนและผู้อื่น เอาเงินที่ใช้สะสมเหล่านั้นมาบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ใช้ชีวิตไปเพื่อตนและผู้อื่น ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อสนองกิเลสในตน หรือมีชีวิตเป็นเพียงแค่ทาสกิเลส
เมื่อเสียโอกาสสร้างกุศล และใช้เวลากับการสร้างบาปที่เกิดอกุศลในเวลาเดียวกัน ก็หมายถึงการสะสมสิ่งชั่วและละเว้นการทำดี ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราสร้างกรรมชั่วเพิ่มมากขึ้นและใช้กรรมดีเก่าที่ทำไว้เพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขด้วยการบำเรอกิเลส
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น ”
แต่การสะสมที่เป็นบุญและได้กุศลนั้นมีอยู่ นั่นคือการสะสมอริยทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์ทางนามธรรม ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดได้จาก “การไม่สะสม” การได้พบสัตบุรุษ การได้ฟังสัจธรรม การปฏิบัติสัมมาอริยมรรค และทรัพย์หรือคุณสมบัติที่จะติดตัวไปตลอดกาลนานทั้งหมดนั้นคือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ธนสูตร ข้อ ๖)
– – – – – – – – – – – – – – –
27.4.2558
คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?
คนรักในฝัน มีอยู่จริงหรือ?
ความรักในมุมของคู่ครองกับความฝันนั้นก็เป็นเหมือนกับเรื่องเดียวกัน หลายคนเฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะเจอกับคนในฝัน จินตนาการปั้นปรุงแต่งกันไปตามความอยากของแต่ละคน
ในทางโลกนั้นเขาก็ว่า ต้องเหมาะสมกันบ้าง ต้องพอดีกันบ้าง ต้องส่งเสริมกันบ้าง ต้องสร้างกุศลร่วมกันบ้าง ต้องพากันเจริญบ้าง หลายๆเหตุผลที่จะทำให้เราเฝ้าฝันถึงคู่ครองในอุดมคติ
แต่ในทางธรรมนั้นกลับบอกว่าการไม่มีคู่ครองนี่แหละดีที่สุด คนที่ปัญญายังไม่รอบ ไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ยังจะพยายามแสวงหาคู่ครอง ที่ว่าดี ที่ว่าเลิศ ตามหาในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ตั้งสเปค ตั้งภพว่าอย่างน้อยๆต้องแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ถึงจะยอมเป็นคู่ มีกำแพง มีกฎเกณฑ์ มีรูปแบบ หรือเรียกรวมๆว่ายังมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่
ถ้าจะให้ตรงๆเน้นๆ เลยก็คือ “การที่ยังคิดว่าคนในฝันยังมีอยู่จริง ก็คือยังโง่อยู่นั่นเอง” เพราะแท้จริงแล้วการที่เราไปแสวงหาคู่ครองในฝันนั้นก็เหมือนไปคว้าสิ่งที่ไม่มีตัวตนให้มาเป็นตัวตนของเราแม้แรกเจอจะดูดี หน้าตาดี ฐานะดี การงานดี บุคลิกดี นิสัยดี ธรรมะก็มี แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่ล่อให้เราเข้าไปติดกับดักของความหลง และคนที่ถูกใจเรานั่นแหละคือ “ตัวเวรตัวกรรม”
กิเลสของเราจะล่อเราให้ไปติดกับดักที่ตัวเองคาดฝันไว้ มีเหตุผลมากมายที่จะยอมสละโสดหรือพลีกายให้กับคนในฝัน สุดท้ายไม่ว่าจะได้คู่ที่แย่สุดแย่หรือดีปานเทวดามาเกิด มันก็อยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่ดี มันก็วนอยู่ในความหลงอยู่ดี ไม่มีหรอกที่ว่าคนมีปัญญาเต็ม สติเต็ม จะยังหลงอยู่ได้ มีแต่คนด้อยสติปัญญาเท่านั้นที่จะละเมอเพ้อพกไปกับสิ่งที่ไม่จริง
หลายคนมีข้ออ้างมากมายที่ดูเหมือน “ฉลาดฉิบหาย” เพียงเพื่อที่จะได้มีคู่ ข้ออ้างเหล่านั้นเองคือความร้ายกาจของกิเลสที่พาให้คนหลงว่าตนเองมีปัญญา ซึ่งแม้แต่นักปฏิบัติธรรมหรือนักบวชก็ต้องพลาดพลั้งเพราะพลังของกิเลสมานักต่อนักแล้ว
สุดท้ายพวกเขาก็ยอมโง่อย่างยินดีเพื่อแสวงหามาเสพให้สมกิเลส หลอกตัวเองและหลอกคนอื่นว่าคนในฝันยังมี รักที่ดีก็ยังมี หลงมัวเมาอยู่ในความลวง วนเวียนทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนไปเรื่อยๆจนกว่าจะเรียนรู้ได้เองว่า “ความเป็นโสดนี่แหละดีที่สุด”
– – – – – – – – – – – – – – –
25.4.2558