Tag: ลำเอียง

เลิกช่วยคนไม่ดีไม่ได้

July 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,139 views 0

คำถามจากบทความ “เลิกรับใช้คนชั่ว” ถามว่า “รู้ว่าเขาไม่ดีแต่เลิกช่วยไม่ได้ เพราะคิดว่าเราเคยทำมา คงต้องช่วยต่อๆไปจนกว่าจะหมดวิบากนี้ใช่มั้ยคะ”

ตอบ วิบากกรรมจะหมดก็ต่อเมื่อไม่สร้างกรรมเช่นนั้น ขึ้นมาใหม่

ทีนี้มาดูกรรมใหม่หรือกรรมที่ตัดสินใจทำในปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าเขาไม่ดี แต่เราเลิกช่วยไม่ได้ อันนี้ต้องมาตรวจอคติลำเอียงของเรา ว่าเรามีความ ชอบ โกรธ หลง กลัว อะไรรึเปล่า ถ้ามีอาการ 4 อย่างนี้ คืออาการของกิเลสปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับวิบากกรรมเก่าขนาดนั้นหรอก เกี่ยวกับใจที่หลงผิดในปัจจุบันนี่แหละ

คนที่พ้นอคติ 4 จะมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย อันนี้เอาภายในใจก่อน ภายในใจจะไม่แพ้เหตุผลข้างนอก ปรับไปปรับมาได้อย่างไม่มีอาลัยอาวร ไม่ช่วยคือไม่ช่วย ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ช่วยก็ช่วยต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้ยึดมั่นหรือชิงชังรังเกียจ

ขนาดสงฆ์ที่ว่าปฏิบัติตนเพื่อความเกื้อกูลผองชน ยังสามารถคว่ำบาตร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฆราวาสที่ประพฤติไม่ดีได้เลย นับประสาอะไรกับคนธรรมดา ที่มีอิสระ ไม่มีกฏ ไม่มีวินัยอะไรมาบังคับ ก็ตัดสินใจเองตามองค์ประกอบได้เลยว่าจะเลือกคบหรือไม่คบใคร

ถ้าเราไปช่วยโดยไม่พ้นอคติ 4 เราก็ไม่มีวันพ้นวิบากเหล่านี้ มันจะมัด จะพันไปเรื่อย ๆ หมดชาตินี้ ไปต่ออีกทีชาติหน้า มีมาให้รับอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะเราไม่กำจัดเหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ทำแล้วก็ต้องรอรับ ไม่ได้ทำก็ไม่ต้องรับ จะรับก็แค่ส่วนที่เคยทำมา

จะคิดว่าเราเคยทำมานั่นก็ใช่ แต่เราจะทำต่อไปไหม? นั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเราไม่ได้ถูกบังคับข่มขู่ให้ทำหรือถึงขั้นไม่ทำแล้วคอขาดบาดตายอะไรแบบนี้ ก็ให้ตั้งสติตรวจใจดี ๆ ให้มันชัดในใจถึงกิเลสที่พาให้เกิดความลำเอียงต่าง ๆ แล้วกำจัดไปโดยลำดับ

ส่วนวิบากกรรมนี่มันก็ไม่ได้หมดกันง่าย ๆ หรอก คนเราทำดีทำชั่วสะสมเหตุมาหลายชาติ ขนาดพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตั้งมากมาย วิบากกรรมสมัยที่ท่านเคยทำบาปก็ยังตามมาทวง ขนาดคนที่ดีที่สุดยังโดนกรรมตามมาทวง นับประสาอะไรกับคนทั่วไป

ดังนั้นจะไปตั้งจิตว่าทำให้มันหมด หรือรอให้มันหมด นี่มันจะทุกข์เสียเปล่า ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติล้างความหลงผิด ลำเอียง ยึดมั่นถือมั่น โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ไปดีกว่า เพราะไม่ว่ายังไงผลกรรมมันก็ต้องรับอยู่แล้ว ถึงเวลาเขามาให้รับก็รู้เอง หรือมันหมด มันพักไปก็รู้เองว่ามันหมด มันไม่หมดก็รู้ว่ามันไม่หมด ก็รู้ไว้แค่นี้แหละ

ถ้าปฏิบัติธรรมเจริญได้เป็นลำดับ จะเลิกรับใช้คนชั่ว เลิกส่งเสริมคนชั่วได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไกลคนชั่วไปเรื่อย ๆ คนชั่วจะเข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นผลของสัมมาอาชีวะ ที่เป็นกำลังเสริมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น คือ ไม่มอบตนในทางที่ผิด

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

April 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,408 views 0

สาย8 ในความทรงจำ...ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในทีนี้ก็คือรถเมล์ สาย 8 ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตอยู่ ณ จุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้บริการของรถเมล์สาย 8 เป็นประจำ

ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนโต สาย 8 ในความทรงจำของผมคือ “ความหวาดเสียว” เพราะด้วยลีลาการขับรถชองพวกเขานั้นมักจะทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวมีสติอยู่เสมอ และในบางครั้งที่ผมได้นั่งหลังคนขับ ก็มีบางคราวที่คนขับรถเมล์สาย 8 ไม่พอใจกับรถเมล์สายอื่นแล้วขับปาดกันไปกันมา ถึงกับช่วยให้ผมได้เจริญมรณสติกันเลยทีเดียว

สรุปว่าสาย 8 ในความทรงจำของผมมันก็ไปในทางลบนั่นแหละ แต่ก็ต้องใช้บริการกันไปด้วยความจำเป็น ถ้าไม่รีบก็จะไม่เลือก ซึ่งเรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ก็คือเรื่องในวันก่อนที่แม้ไม่รีบ แต่ก็ยังเลือก

…..ผมรอรถเมล์อยู่ตั้งแต่เช้า คิดว่าจะนั่งสาย 145 หรือ 96 ไปยังจุดหมายเพราะเดินต่อไม่ไกล แต่รอไปก็ไม่มีมาสักคัน สาย 8 ก็ผ่านมาแล้วคันสองคัน จนมาถึงสาย 8 คันที่ 3 คันนี้ไม่มีคนโบกหรอก คนลงก็ไม่มี แต่ก็มาจอดหน้าผม เขาก็ไม่ได้เรียกหรอกนะ แต่เห็นเขาจอดเราก็รู้สึก เออ…ขึ้นก็ได้ เพราะจริงๆ สาย 8 ก็ไปได้เหมือนกัน แค่เดินต่อไกลกว่าสายอื่นๆ นิดหน่อย

ขึ้นไปก็ไปนั่งเบาะเดี่ยวใกล้ๆ หลังรถ ในรถคนไม่เยอะมาก พนักงานเก็บเงินก็เดินมาเก็บเงินตามปกติ พอผมยื่นเงินออกไปเขาก็ยกมือไหว้ ซึ่งผมก็ตะลึงนิดๆ คิดว่า โอ้โห! สาย 8 พัฒนาบริการแบบใหม่หรือนี่ เราอาจจะเคยเห็นในห้างหรือที่ไหนๆจนชิน แต่ในสาย 8 นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ชินจริงๆ แต่พอดูไปดูมา เขาก็ไม่ได้ไหว้คนอื่นนี่ อาจจะเพราะเราแต่งตัวเหมือนหรือไปคล้ายๆ กับคนที่เขาเคารพก็ได้นะ เรื่องนี้ก็ยกไว้ เพราะไม่รู้เหตุ

นั่งต่อไปก็มีหญิงแก่คนหนึ่งขึ้นรถมา พนักงานเก็บเงินก็เข้าไปช่วยประคองขึ้นรถอย่างนุ่มนวลประดุจบริการญาติผู้ใหญ่ เป็นภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในขณะที่นั่งรถเมล์ สาย 8 เช่นกัน ต่อมาก็มีจังหวะที่คนขับรถ เข้าจอดป้ายแล้วเบรกแรง ทำให้เบาะยาวหลังรถที่ไม่มีคนนั่งพับลงมา ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่เห็น แต่เห็นเพราะพนักงานเก็บเงินนั้นเดินมาไหว้ผมอีกรอบ แล้วเดินเลยไปยกเบาะขึ้นแล้วก็เดินกลับไปหน้ารถพร้อมยกมือไหว้เชิงขอโทษผู้โดยสารแบบรวมๆ

ผมก็เห็นว่า พนักงานหนุ่มคนนี้แม้ดูภายนอกจะออกไปทางเกเรนิดๆ อาจจะด้วยภาพของสาย 8 ที่ผมเคยยึดไว้หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นนุ่มนวลกว่าที่เห็นภายนอกมากนัก ผมเริ่มทบทวนอคติลำเอียงที่ผมมีต่อสาย 8 ว่าผมเหมาเกินไปไหม ผมรีบตัดสินไปไหม ทั้งดีและไม่ดีนั้นจะอยู่ยั่งยืนอย่างนั้นจริงหรือ…

สักพักหนึ่งรถเมล์ก็เข้าโค้งอย่างแรง ซึ่งถ้าตามค่ามาตรฐานของสาย 8 การเค้าโค้งอย่างที่ผมว่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของเขา แต่ผมก็ยังนึกอยู่ในใจว่า เข้าโค้งแบบนี้มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยนะ แต่พอเขาขับไปอีกนิดหนึ่งในจังหวะที่รถจะต้องแทรกเข้าไปในทางหลัก แทนที่เขาจะขับพรวดพราดออกไป เขากลับรอที่จะออกช้าๆ ทั้งที่ผมก็มองแล้วว่ารถที่ขับมาทางหลักก็ไม่ได้เยอะมากมาย

ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนความเข้าใจของตนเองว่าผมกำลังเอาแต่ใจเกินไปรึเปล่า อยากให้มันดีอย่างใจ ให้มันปลอดภัยตามมาตรฐานของเรารึเปล่า เพราะจริงๆ เขาก็ขับอย่างปลอดภัยในมุมที่เขาคิดว่าปลอดภัย ซึ่งมันก็ปลอดภัยจริงๆ คือภัยมันยังไม่เกิด พอไม่เกิดเขาก็อาจจะยังไม่ได้เรียนรู้การปรับบางอย่างให้ละมุนละไมในบางมุม ซึ่งในวันหนึ่งเขาก็จะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ว่าอย่างไหนปลอดภัย อย่างไหนไม่ปลอดภัย เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากใช้ชีวิตบนความไม่ปลอดภัยหรอก ก็คงมีแต่เรานั่นแหละ ที่อยากให้ทุกอย่าง “ดี” ตามที่ใจเราหมาย อยากให้บางจังหวะมันปลอดภัยอย่างใจเรา และอยากให้บางจังหวะมันไวอย่างใจเรา มันก็อยากไปเรื่อยตามความเห็นที่เรายึดว่าดีเหมือนกัน

เมื่อถึงป้ายที่ต้องลง ผมลงรถพร้อมรอยยิ้มส่งจากพนักงานเก็บเงิน ซึ่งในขณะที่ผมเดินต่อไปยังที่หมาย ก็ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนตนเองซ้ำอีกทีว่า เราจะยึดติดกับภาพใหม่นี้รึเปล่า ภาพของวันนี้มันก็เป็นเพียงแค่ในวันนี้ มันก็ดีเท่านี้ ดีกว่านี้ยังไม่เกิด แย่กว่านี้ก็ยังไม่เกิด ดีเก่าก็ผ่านพ้นไป อะไรที่มันไม่ดีก็ผ่านพ้นไป

ผมกำลังต่อสู้กับ “ความยึดมั่นถือมั่น” ในความทรงจำหรือสัญญาที่ผมมี ในลำดับแรกนั้นต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นเดิมก่อน ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตามที่เรายึดไว้ คือ เราจะไม่เอนเอียงไปทางอคติจนมองข้ามความจริงตามความเป็นจริงว่าครั้งนี้เขาก็ดีตามที่เขาเป็นจริงๆ และหลังจากนั้นคือไม่สร้างความยึดใหม่ขึ้นมา คือ เราจะไม่ลำเอียง เพราะเห็นว่าครั้งนี้เขาดีอย่างใจเรา แล้วมันจะดีไปตลอด เพราะความเป็นจริงก็คือ เขาดีดังใจเราแค่ครั้งนี้เท่านั้น ครั้งหน้าอาจจะไม่มีก็ได้ ถ้าเราเกิดความลำเอียง ฝังไว้ในใจว่ามันต้องดีอย่างนี้ทุกครั้ง เราก็จะต้องทุกข์จากความผิดหวัง เพราะวางความคาดหวังให้เกิดดีแล้วไม่ดีดังใจหมายไม่ได้

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้เก็บเกี่ยวและสังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการศึกษาธรรมะ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,989 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินหมาผิดไหม?

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,110 views 0

กินหมาผิดไหม?

กินหมาผิดไหม?

ในช่วงเวลาหนึ่งของปี จะมีประเทศหนึ่งทำการฆ่าสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อนำมากิน การกระทำนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้คนหมู่มาก

ลองพิจารณากันอีกทีในบริบทเดิม หากในประเทศนั้นฆ่าสัตว์เพื่อนำมากินโดยไม่กำหนดช่วงเวลา ฆ่าทุกวัน กินทุกวัน ฆ่าทั้งวัน กินทั้งวัน ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ กินกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจกว่ากัน?

มาเข้าเรื่องกันเลย…เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานระหว่างคนรักสัตว์กับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มักหาข้อสรุปใจกันไม่ลงตัวเสียทีว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี… ถ้ากินหมาไม่ได้แล้วทำไมกินสัตว์ชนิดอื่นได้? เหมือนกับปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไปก็ไม่มีใครชนะ คนที่คิดจะกินเนื้อสัตว์ก็กินอยู่เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ยังขุ่นใจเหมือนเดิม

ความเป็นจริงก็คือคนมีกิเลสเขาก็กินทุกอย่างนั่นแหละ จะเป็นหมา แมว หมู วัว กระต่าย ปลา แม้แต่กินบ้านกินเมือง รวมไปถึงกินปัญญา (ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้) ก็กินกันได้

ไม่แปลกอะไรที่ใครจะกินหมา เพราะเขาติดรสในเนื้อสัตว์นั้น เหมือนกันกับที่คนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกินเนื้อสัตว์อะไรมันก็มีความอยากในการเสพรสเหมือนๆกัน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างในด้านกิเลส แต่จะต่างกันในด้านสัญญา คือประเพณีเพราะมีความเชื่อที่ต่างกันไป

ทำไมคนจึงออกมาต่อต้านการกินหมา?

เพราะหมานั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน จึงเกิดความรักจนกระทั่งหลงได้ง่าย เมื่อหลงก็เกิดความลำเอียง ทั้งลำเอียงเพราะรักและหลงนั่นแหละ ที่ลำเอียงเพราะรักนั้นเกิดจากเราได้เสพความน่ารักผูกพันอะไรกับมันสักอย่าง ในส่วนลำเอียงเพราะหลง เช่น หลงยึดว่าทุกคนต้องรักอย่างตน, หลงไปว่ามีสัตว์เลี้ยงสัตว์กิน, หลงเข้าใจไปว่าเป็นสามัญสำนึกว่าทุกคนต้องไม่กินหมา

พอลำเอียงปุ๊ป มันก็จะทนไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่ตนรักนั้นถูกทำร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่หมาที่ตนเลี้ยงก็ตาม แต่ความลำเอียงเพราะหลงนั้นจะทำให้รู้สึกเดือดร้อน บ้างก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาประณามหยามเหยียดคนที่คิดและเข้าใจไม่เหมือนตนเองหรือกลุ่มของตน

ทั้งที่จริงๆแล้ว สัตว์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปแบ่งว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแบ่งมันด้วยความเห็นผิดของเรา เช่นว่า สัตว์นั้นกินได้ สัตว์นี้กินไม่ได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราเองที่ไปเอามันมาเลี้ยง เราเองที่ไปเอามันมากิน เราตัดสินทุกอย่างเอง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่า ในนามของมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศข้าขอบัญญัติว่า สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเป็นทาสอารมณ์ของเรา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดเลยที่เราควรเบียดเบียน สัตว์มันก็อยู่ของมันดีๆ เราไปยุ่งกับมันเอง

จะดีไหมหากเราจะขยายขอบเขตความรักความเมตตาของเราไปให้กับสัตว์อื่นด้วย ค่อยๆกระจายออกไป เริ่มจากหมาที่เรารัก หมาของคนอื่น แมว วัว หมู ไก่ ปลา พัฒนาสร้างความรักให้เติบโตเรื่อยไปจนรักสัตว์ได้ทุกชนิดเลย มันจะสุขแค่ไหนที่ได้อยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่เรารักอย่างสบายใจ จะดีแค่ไหนหากเรากลายเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ใดเลย

คนรักหมาปะทะคนรักสัตว์

โดยมากแล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี และเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักหมาออกมาปกป้องสิ่งที่ตนรัก และกล่าวติ ข่ม ด่า ดูถูก ฯลฯ คนที่มาทำร้ายความเชื่อที่ตนมี แม้ว่าพวกเขาเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆเลย แต่การเห็นภาพความเชื่อที่ว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นเหมือนครอบครัวถูกทำลายนั้นเป็นภาพที่พวกเขารับไม่ได้

ถึงเขาจะดูเป็นคนดีที่มีเมตตาเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์จากบาป(กิเลส)เสมอไป เหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นได้ก็คือมีคำถามว่า “ทำไมหมากินไม่ได้ แล้วหมูกินได้?” แน่นอนว่าการถามแบบนี้จะกระตุกต่อมคนดีอย่างรุนแรง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับสิ่งดีได้ทุกอย่าง

เมื่อเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ก็มักจะเกิดอาการยึดดี ไม่ยอมชั่ว เมื่อไม่ยอมชั่วก็จะเกิดอาการบ่ายเบี่ยง ผลักภาระไปให้สัตว์ที่น่าสงสารเช่น หมูเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อถูกฆ่าอยู่แล้ว, หมาเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นานาความคิดที่แสดงออกมาเพื่อที่จะนำเสนอให้เห็นว่าการกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ เป็นความชอบธรรมที่ใครๆเขาก็ทำกันไม่ผิดอะไร

ซึ่งแท้จริงแล้วก็เหมือนกับคนที่เขากินหมานั่นแหละ เขาก็มีเหตุผลมากมายมาตอบว่าทำไมถึงกินหมา ซึ่งน่าเชื่อเสียด้วย หลักฐานคือเกิดเป็นเทศกาลกินหมาจริงๆ เพราะคนเขาเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่ก็เบียดเบียนมากเท่านั้น เขาก็กินเนื้อสัตว์มากเท่าที่เขาอยากกินนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมจึงยังกินเนื้อสัตว์ หรือไปดูถูกใครหากเขายังหลงติดหลงยึดในสุขจากการกินเนื้อสัตว์อยู่ เพราะถ้าเขาไม่หลงสุขในการกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ต้องฆ่าหมามากิน เขาก็ไม่ต้องกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ และเขาก็ไม่จำเป็นต้องลำบากคิดหาเหตุผลใดๆมาแสดงความชอบธรรมในการเบียดเบียนด้วย

คนมีกิเลสก็เหมือนคนมีแผลเหวอะหวะ จะจับหรือแค่สะกิดก็มักจะต้องเจ็บปวด ดังเช่นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่แต่ก็มีจิตใจเมตตาไม่เห็นด้วยกับการกินหมา แม้ว่าเขาจะมีจิตเมตตาเช่นนั้น แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เมื่อคนรักสัตว์เพียงแค่ถามหรือหยิบยกประเด็นลำเอียงมาสนทนา เขาก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานความเชื่อในส่วนที่ชั่วของเขานั่นเพราะโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาว่าหรอก ว่าสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่นั้นไม่ดี เบียดเบียน และยังชั่วอยู่

หากเขาไม่ยึดความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นสัตว์ที่ควรกิน วัวก็ควรถูกกิน ไก่ก็ควรถูกกิน ปลาก็ควรถูกกิน สัตว์หลายๆอย่างที่น่าอร่อยก็ควรถูกกิน หากเขาถูกลิดรอนความเชื่อเหล่านี้ เขาจะไม่มีความสุขในการกิน แม้จะได้กินเขาก็จะไม่รู้สึกเหมือนเดิมเพราะความติดดียึดดี ความอยากเป็นคนดีทำให้รู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์อื่นๆนอกจากหมา เขาจึงจำเป็นต้องปกป้องความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไว้ เหตุที่แท้จริงนั้นก็เพราะความหลงสุขในการเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะติดรส ติดว่าคนอื่นเขาก็กินกัน ติดความเชื่อว่ามันมีประโยชน์ บำรุงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อก็ตาม

ดังนั้นคนรักสัตว์ที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรปะทะคารมโดยตรง การกระตุ้นสามัญสำนึกใช่ว่าจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เราควรมีเมตตาในการประมาณฐานของกลุ่มคน เช่น เขายังไม่เก่ง ยังไม่เคยศึกษา เราก็ค่อยๆชวนเขาลดไปก่อน อย่าเพิ่งไปกระตุกต่อมคนดีของเขา เพราะถ้ามากจนไปกระทบอัตตาของเขา เขาก็อาจจะไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน

เมื่อเกิดการผิดใจกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ต้องมาขุ่นใจกับคนที่ไม่ยอมเอาสิ่งที่ดีเหมือนเดิม

ผู้มีปัญญาจะไม่หาข้อแม้ใดๆในการเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ ความเชื่อ หรือสิ่งใดๆรวมทั้งตนเองด้วย เพราะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีผลอะไรนอกจากการสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)