Tag: ลาภสักการะ

พระปลอม

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,288 views 0

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง นักบวชนอกพุทธค่อยๆเสื่อมจากลาภสักการะ จึงปลอมเข้ามาบวชในพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาลาภสักการะเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็โดนจับสึกไปในที่สุด

ในยุคนั้นยังดีที่ยังกำราบความชั่วไว้ได้ แต่ยุคนี้ดูเหมือนจะหนักหนา และยากต่อการกำจัดผู้ที่เข้ามาปลอมปนเพราะหวังจะได้ลาภสักการะเหล่านั้น

เป็นงานใหญ่ของผู้มีหน้าที่สานต่อศาสนาที่จะต้องชี้ผิดชี้ถูก แยกดีแยกชั่วให้ชัดเจน จำเป็นต้องเอาภาระทั้งนักบวชและผู้ครองเรือนผู้มีศรัทธาอันมั่นคงไม่หวั่นไหวในศาสนา

ญาณปัญญาหนึ่งของสาวกแท้ๆ ของพระพุทธเจ้าคือการเอาภาระของหมู่มิตรดีสหายดี จะไม่ปลีกตัว ขี้เกียจทำงาน ตัดขาดจากโลก เพื่อความสงบสุขของตนแต่ผู้เดียว

ความผิดเพี้ยนที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือเรื่องของลาภสักการะ ผู้ใดบวชเข้ามาปลอมปนเพื่อลาภสักการะเหล่านั้น ผู้มีปัญญาย่อมเห็นได้ชัดเจน ไม่สงสัยว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดปลอม

ส่วนความผิดเพี้ยนในทิฏฐิอื่นๆอีก ๖๒ ประการนั้นเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา

ศรัทธา

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,690 views 1

ศรัทธา

ศรัทธา

คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา

คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด

คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม

คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน

คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน

. . . . . . . . . . . . . . . . . .

คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ

คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน

คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น

คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ

คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)