Tag: ผลของกรรม

ผู้ให้บริการ – การเข้าคิว

June 29, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,063 views 0

เมื่อวานผมไปซื้อของที่ตลาดติดแอร์แห่งหนึ่ง ของที่ซื้อก็เป็นพวกผักที่ต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งผมก็เดินไปต่อคิวตามที่ควรจะเป็น

ลักษณะของพื้นที่นั้นเป็นหัวมุม ทุกคนสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการได้หลายทิศทาง ตอนที่ต่อคิวอยู่และกำลังจะถึงคิวชั่งน้ำหนักของผม คนที่มาต่อข้าง ๆ ก็ยื่นถุงนำหน้ามา

ในจังหวะที่ผู้ให้บริการ ชั่งน้ำหนักให้คนก่อนหน้าผมเสร็จ เขาก็หันมาดู ของที่ถูกยื่นนำหน้าผมมา และหันมามองของในมือผมที่กำลังจะยื่นให้

ผมไม่ได้ยื่นของแข่งกับเขา แม้ว่าเขาจะพยายามยื่นให้ใกล้เครื่องชั่งที่สุด ผมก็ยื่นให้เท่าที่ผมสบายนั่นแหละ เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็เป็นสิ่งจริงตามกรรมที่ควรจะเป็น ผู้ให้บริการจะเลือกของผมก็ได้ หรือจะเลือกของคนที่ยื่นมาจากข้าง ๆ ผมก็ได้ เพราะลักษณะมันเป็นหัวมุม ไม่ชัดเจนว่าแถวอยู่ตรงไหน

แว่บหนึ่งที่ผมรู้สึกถึงลักษณะที่บ่งบอกถึงความลังเลของผู้ให้บริการ แต่สุดท้ายแล้วผู้ให้บริการก็หยิบถุงผักในมือผมไป หลังจากนั้นผมจึงค่อย ๆ วางผักอื่น ๆ ลงบนโต๊ะตามลำดับ เพื่อให้การชั่งน้ำหนักรวดเร็วขึ้น เสร็จแล้วผมก็เดินออกมาโดยไม่ได้สนใจคนข้างหลัง ไม่ใช่เพราะว่าผมได้รับบริการก่อน แต่ผมเพราะผมไม่ได้สนใจแต่แรกอยู่แล้ว

 

….

มันก็เป็นเรื่องเล็กๆ แต่เชื่อไหมว่า คนเราโกรธกันทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องเล็กๆ แค่นี้แหละ ไม่ว่าจะแซงคิวกัน ขับรถปาดกัน สารพัดการเอาเปรียบกัน หลากหลายลีลาที่จะทำให้เราขุ่นเคืองใจ

หากเราหัดสังเกตุเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้ มันมีความจริงเกี่ยวกับผลของกรรมให้ศึกษาอยู่ นั่นคือกรรมที่เราทำมา เราต้องได้รับแน่นอน การที่ผมวางใจได้นั้น เพราะผมระลึกเสมอว่า ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหนผมก็จะทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่า สิ่งเหล่านั้นเราเคยทำมาทั้งหมด

ผมไม่ได้เอาความเหมาะสม, ความถูกต้อง, มารยาท หรืออะไรทั้งสิ้นมาเป็นที่ตั้ง แต่เอาผลของกรรมเป็นที่สุด หากเราไม่ปล่อยใจไปตามความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นก็เป็นสิ่งที่จริงที่สุด ที่สมควรจะเป็นแล้ว แม้ว่าผู้ให้บริการจะเลือกรับของจากคนข้างหลังผมก็ตามที

คิดบวก จนลวงความจริง

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,315 views 0

คิดบวก จนลวงความจริง

คิดบวก จนลวงความจริง

วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น

การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต

ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง

บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด

การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก

หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา

ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย

ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น

ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย

November 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,004 views 0

อจินไตย หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรคิด คิดไปก็ไม่สามารถเข้าใจได้โดยสามัญ คิดมากไปพาลจะเป็นบ้า

เราไม่สามารถคิดหรือเดาได้ว่า “ผลของกรรม” ของเราหรือใครจะออกมาเป็นแบบไหนอย่างไร ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะเจออะไร ต้องป้องกันแบบไหน ต้องแก้อย่างไร จึงจะหักลบกันได้พอดี

เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลของกรรมนั้นจะแสดงผลออกมาอย่างไร ตอนไหน ที่ใด แบบใด กับใคร ฯลฯ และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากรรมดีกรรมชั่วที่เคยทำมานั้นมีปริมาณสะสมไว้มากเท่าไหร่อย่างไร

ดังนั้นการที่จะพยายามเดาหรือคิดเอาว่า ผลของกรรมจะออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ ฉากนั้นเหตุการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องไร้สาระ

เรารู้ได้แค่เพียงว่าเมื่อทำดี ก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ดี และเมื่อทำชั่วก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ชั่ว อย่างยุติธรรม

ซึ่งเราจะรู้ได้เองว่าเราทำกรรมอะไรมาเมื่อได้รับผลของกรรมนั้นไปแล้ว เพราะสิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่สะท้อนความดีความชั่วที่เราทำมาในชาตินี้และชาติก่อนๆนั่นเอง

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,533 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)