Tag: ปัญญา

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,474 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

July 25, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,678 views 1

ข้อสอบคนโสด จะผ่านโจทย์นี้ได้อย่างไร?

การจะเป็นคนโสดที่มั่นคงกับความโสดได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้จะมีคนที่ถูกใจเข้ามาก็ยังยินดีในความเป็นโสดได้อย่างผาสุกนั้น เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักหากเรามีการศึกษาที่ถูกหลัก

ศาสนาพุทธกับการมีคู่

ศาสนาพุทธไม่ได้มีกฎห้ามฆราวาสมีคู่ การมีคู่ครองนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การเป็นโสดก็เป็นสิทธิที่พึงได้เช่นเดียวกัน

ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับความรักดังเช่นว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ การมีคู่นั้นเป็นดั่งบ่วงที่คล้องเราไว้กับความทุกข์ แต่ผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามนั้นมีอยู่ เช่น การมีคู่รักนั้นคือความสุขคือความสมบูรณ์ของชีวิต หรือเขาจะเข้าใจว่ารักนั้นมีทุกข์จริง แต่ก็มีสุขร่วมด้วย หรือการมีคู่ทำให้เราพัฒนาตนเองได้ โดยรวมๆ แล้วคือพยายามสรรหาข้อดีของการมีคู่ ซึ่งหมายความว่ามีทิศทางไปทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธสอนให้เราไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ผู้ที่หลงผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ก็จะไปในทิศทางที่เป็นทุกข์

ตามหาแนวทางปฏิบัติ

เมื่อเราต้องการจะพัฒนาตนเองไปสู่ความโสดที่ผาสุกและยั่งยืน ไม่ใช่โสดรอเสพ ไม่ใช่โสดเพราะหาไม่ได้ แต่เป็นความโสดที่มั่นใจแล้วว่านี่แหละคือทางแห่งการพ้นทุกข์ ทางอื่นไม่ใช่ แม้เรามีความเห็นที่ตรงไปสู่ทางพ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก ส่วนเป้าหมายจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไม่รู้ และการจะเดินไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ง่าย มารมักจะแปลงร่างมาลวงให้หลงได้เสมอ มาในคราบเทพบุตรบ้าง มาในคราบเทพธิดาบ้าง

เมื่อทางปฏิบัตินั้นดูไม่ชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับคุณค่าของความโสด ผู้ที่มีความเห็นว่าการอยู่เป็นโสดนี่แหละคือความผาสุกที่สุดแล้ว การมีคู่ครองนั้นเป็นทางแห่งทุกข์ รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ถึงสภาพที่ทุกข์ดับ และรู้วิธีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ ซึ่งเข้าใจภาวะนั้นจริงในตนเอง เป็นในตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท่องกันตามตำรา มีความเที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่เวียนกลับไปโสด หรือเหลาะแหละโลเล เป็นไม้ปักเลน

เมื่อได้เจอกับผู้รู้แล้วก็ศึกษาตามที่ท่านเหล่านั้นเป็น เพื่อที่เราจะได้มีหลักยึดในการปฏิบัติว่า มีผู้ปฏิบัติได้จริงเช่นนี้ ถ้าเราปฏิบัติตาม เราก็จะได้ผลเหล่านี้เช่นกัน

คัมภีร์คนโสด

คู่มือคนโสดที่ตกทอดกันมาหลายพันปีนั้น เป็นสมบัติที่ชาวพุทธรู้จักกันดี นั่นคือพระไตรปิฎก แม้ว่าพระไตรปิฎกจะมีเนื้อหาหลากหลาย แต่ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “โทษภัย” ของการมีคู่อยู่ไม่น้อย เช่นในอนุตตริยสูตรได้กล่าวไว้ว่า การได้ภรรยานั้นเป็นลาภก็จริง แต่ก็ถือเป็นลาภเลว หรือ “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด   เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต,   ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ยิ่งถ้าอ่านเกี่ยวกับพระวินัยของผู้บวชเพื่อการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างจริงจังแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีเลยว่า ศัตรูชีวิตก็คือสตรี…

หนีรอตาย หนีรอโต

โดยพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อเจอกับสิ่งที่ตนเองรู้สึกชอบใจ ก็ควรจะหลีกหนีหรือรักษาระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ใกล้ชิดจนเกินไป จนจิตไปสะสมความรักใคร่ที่มากขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปนั้นทำตรงกันข้าม คือมุ่งหน้าหาสิ่งที่ตนเองชอบใจ และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่มากขึ้น

การหนีห่างออกมานั้น แม้จะช่วยไม่ให้เกิดการปะทะที่มากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายว่าจะหนีได้ตลอดไป ผู้ที่เอาแต่หนี ไม่ยอมศึกษาเพื่อให้ความอยากมีคู่นั้นจางคลายลงไป ก็ทำได้เพียงแค่ “หนีรอตาย” เท่านั้น ไม่พลาดชาตินี้ ก็ไปพลาดชาติหน้า การหนีนั้นแท้จริงแล้ว ก็เพื่อใช้เวลาในช่วงที่ห่างออกมาเร่งศึกษาและปฏิบัติตนให้พ้นจากความอยากมีคู่ ให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นในความโสด ให้เกิดปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่นั้น การหนีนี้คือ หนีเพื่อรอการเติบโต หรือ “หนีรอโต

ศึกษาเพื่อก้าวข้ามความอยากมีคู่

การศึกษาของพุทธนั้น มีไว้เพื่อความเจริญโดยลำดับ มิใช่เพื่อดับสิ้นเกลี้ยงในทันที ซึ่งจะมีความเจริญพัฒนาไปตั้งแต่ คนโสดที่อยากมีคู่ (กามภพ) ไปเป็นคนโสดที่ยังอยากมีคู่แต่เห็นโทษก็เลยไม่มีคู่ (รูปภพ) ไปเป็นคนโสดที่ไม่ยินดีในการครองคู่แต่ลึกๆ แล้วยังคงเหลือความอยากมีคู่ ยังมีความขุ่นข้องหมองใจ ไม่ยินดีในความโสดอย่างเต็มที่ (อรูปภพ) ไปจนถึงขั้นดับความอยากมีคู่จนสิ้นเกลี้ยง

การที่เราจะศึกษาและปฏิบัติเพื่อข้ามความอยากมีคู่ได้นั้น จะต้องเริ่มจากศีล คือมีเจตนาละเว้นการครองคู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ เมื่อมีเป้าหมายที่จะขัดเกลากิเลสนั้นแล้ว ก็ให้พัฒนาจิตของตนด้วยสมถะ เช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม กำหนดลมหายใจ หรือจะเป็นสมถะในการงานต่างๆ เช่น ขุนดิน ตัดกระดาษ เย็บผ้า ออกกำลังกาย โยคะ ฯลฯ ฝึกจิตให้เกิดความสงบบ่อยๆ ก็จะสะสมเป็นกำลังของจิต ที่จะช่วยเพิ่มพลังไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อต้องเผชิญกับเนื้อคู่ ( ตัวเวรตัวกรรม )

ในส่วนของปัญญานั้น เกิดจากการรู้แจ้งโทษภัยของการมีคู่ได้ครบทุกเหลี่ยมทุกมุมตามที่ตนเองเคยหลงติดหลงยึด ซึ่งการจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องแก้ไขความเห็นผิดต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ด้วยประสบการณ์ของผู้รู้ และทำความรู้นั้นให้มีในตน

เดิมทีนั้นเรามีแต่อธรรม แม้จะอยากเป็นโสด แต่ก็ยังเป็นเพียงความใฝ่ดี ยังไม่เกิดผลดีนั้นจริง เราก็ต้องเอาธรรมที่ตรงกันมาล้างอธรรม เราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดเราก็เอาธรรมะนั้นมาล้าง กิเลสจะบอกแต่ประโยชน์ของการมีคู่ เราต้องใช้ปัญญาเอาโทษของการมีคู่นั้นมาหักล้าง ซึ่งในช่วงแรกของผู้ปฏิบัติใหม่นั้น กิเลสมักจะมีแรงมากกว่า เรียกว่าเถียงไม่ทันกิเลส แต่พอเรียนรู้ไป ขยันฝึกไป จะเริ่มรู้ทางกิเลสและเถียงกิเลสเก่งขึ้น อันนี้เรียกว่าปัญญาที่จะมาชำระกิเลส มีทั้งแบบจำมา และรู้จริงในตน แบบที่จำหรือเรียนรู้มาก็จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้ แบบที่รู้จริงในตนก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดขึ้นในตนเอง ถ้ามันไม่เกิด เอาแต่จำเขามา มันก็จะไม่ไปไหน เพราะยังไม่สามารถสร้างความเจริญขึ้นในตนได้ ยังไม่สามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งแห่งตนได้

ลงสนามสอบเมื่อจำเป็น

สำหรับเรื่องคู่นั้นเป็นเรื่องที่อันตราย พลาดแล้วพลาดเลย แก้ไขยาก เช่น คบหากันไปแล้ว แต่งงานกันไปแล้ว มีบุตรร่วมกันไปแล้ว พอเข้าไปแล้วมันไม่ได้ออกกันง่ายๆ ดังนั้นพื้นฐานของนักปฏิบัติธรรมก็คือหนีห่างไว้เป็นหลัก ปะทะเมื่อจำเป็น นั่นหมายถึงในเรื่องคู่ไม่ต้องขยันไปหาสนามสอบที่ไหน ไม่ต้องไปสมัครเพื่อทดสอบฝีมือตัวเอง เพราะถ้าหลงแล้วมันหลงเลย รู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีลูกไปแล้วก็ได้

เราไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้สอบ ฝึกปฏิบัติมาอย่างเต็มที่แล้วกลัวจะไม่เจอโจทย์ (ร้อนวิชา) เพราะหลายชาติที่ผ่านมาของเรา กว่าจะถึงวันที่อยากออกจากนรกคนคู่ ส่วนมากแล้วก็ต้องมีคู่มามากมายจนเห็นทุกข์โทษภัยกันมาแล้วทั้งนั้น นั่นหมายถึงเราเคยสร้างเวรสร้างกรรมกับใครต่อใครไว้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีโจทย์ เนื้อคู่(ตัวเวรตัวกรรม) ที่จะเข้ามาพิชิตใจเรานั้น มีอยู่ไม่ใช่น้อยอย่างแน่นอน

แต่เราก็จะไม่ประมาท ถึงแม้ว่าวันสอบยังไม่มาถึง เราก็ซ้อมทำโจทย์กันไปก่อน เห็นคนนั้นคนนี้เขารักกัน เราก็ตรวจใจเราไป ว่าเรายังอยากเป็นอย่างเขาอยู่ไหม เรายังมีจิตยินดีในแบบของเขาอยู่ไหม เรายินดีในการเป็นโสดของเราอยู่ไหม หรือมีอาการน้อยใจ หดหู่ใจ ขุ่นใจ แอบอิจฉาเขาอยู่ลึกๆ เราก็ขยันตรวจใจ หากิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ

โสดอย่างเป็นสุข

การผ่านโจทย์จากโสดรอเสพไปสู่โสดอย่างเป็นสุขนั้น ไม่ได้ทำได้ง่ายเพียงแค่ครั้งเดียวผ่าน เราอาจจะต้องลงสนามสอบหลายครั้ง สอบตกกันหลายครั้ง ต้องมาสอบซ่อมกันอีกหลายครั้ง ถึงแม้จิตใจเราจะหวั่นไหว รู้สึกอยากมีคู่ แต่ถ้าเราอดกลั้นฝืนทนข่มใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกิเลส แล้วกลับมาฝึกใจใส่ปัญญาใหม่ เราก็จะมีโอกาสได้สู้เรื่อยๆ และปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนี้ สู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชนะ เพราะชนะจริงๆ นั้นมีครั้งเดียว แต่ในระหว่างที่เราศึกษา เราก็เก็บปัญญาตามทางมาว่าเราแพ้เพราะอะไร พลาดไปโดนเหลี่ยมไหน มันมีรูรั่วตรงไหน เราก็กลับมาอุดรูรั่วนั้นแล้วค่อยไปสู้ใหม่

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องมีผัสสะเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงจะนั่งนึกคิดเอาเองไม่ได้ว่าเราหลุดพ้นจากความอยากมีคู่แล้ว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทบกับสิ่งที่เราเคยชอบใจ แล้วไม่มีอาการสั่นไหวใดในจิตใจเลย มีเพียงการรับรู้ตามจริง ไม่ดูดดึง ไม่ผลักไส คือไม่มีความรู้สึกลำเอียงใดๆ เกิดขึ้นกับสิ่งนั้น และไม่มีอคติใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน จึงเป็นสภาพไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด เป็นสภาพไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ใช่ว่ายังเห็นว่าการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสุขอยู่นะ ถ้าเห็นแบบนั้นยังไม่พ้น และที่สำคัญไม่ว่าจะต้องกระทบ เผชิญหน้า พูดคุย ทำอะไรต่อมิอะไร เขาทำสิ่งดีให้เรา เขาทำเป็นง้องอนเรา เขายั่วเรา เขาบอกรักเรา เขาอ้อนวอนขอให้เราเป็นคู่ เราก็จะไม่มีอาการหวั่นไหว จิตใจไม่เคลื่อนไปจากความเห็นที่ว่าความโสดคือความผาสุกในชีวิตเลย สุดท้ายไม่ว่าจะกระทบสักแค่ไหนในปัจจุบัน ตรวจใจไปถึงเหตุการณ์ในอดีต จินตนาการไปถึงอนาคต ก็ไม่มีเหตุการณ์ไหนที่จะทำให้เราหวั่นไหวเผลอตัวห่างจากความโสดได้เลย แล้วก็ตรวจใจซ้ำลงไปให้ละเอียดว่าแม้ธุลีของความลังเลแม้น้อยเดียวก็ไม่มีในจิต ก็จะเข้าถึงสภาวะของความโสดอย่างเป็นสุขได้นั่นเอง

….การอยู่เป็นโสดนั้นถือเป็นโจทย์ปราบเซียนโจทย์หนึ่ง เพราะไม่ง่ายที่คนทั่วไปจะทำได้ แม้ผู้มีศีล ๕ อย่างตั้งมั่นในจิตก็ยากจะต้านทานความอยากมีคู่ได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรประมาท ควรระลึกไว้เสมอว่าก่อนวันสอบจะมาถึง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านกำลังจิตและกำลังปัญญา เพื่อที่จะเอาตัวรอดจากโจทย์นรกคนคู่นี้ให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้สามารถคงสถานะโสดไว้ได้ แม้จิตใจจะยังหวั่นไหวก็ตามที

24.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,372 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

บทความมังสวิรัติต่อจากนี้

December 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,234 views 0

ก่อนหน้านี้ผมก็เขียนบทความชี้โทษของการกินเนื้อสัตว์และบอกประโยชน์ของการไม่กินเนื้อสัตว์ที่ประยุกต์เข้ากับคำสอนของศาสนาพุทธ มาจำนวนหนึ่งแล้วนะครับ

บทความก่อนๆหน้านี้ สำหรับผมเรียกว่าบทความเรียกน้ำย่อยแล้วกัน เพราะโดยมากจะใช้ภาษาที่ปรับให้เบา เกลาธรรมให้ง่าย สะกิดกิเลสกันพอประมาณ ไม่รุนแรงมาก

แต่หลังจากตอนนี้ผมคิดว่า จะเพิ่มน้ำหนักแล้วนะครับ เพราะกิเลสสมัยนี้มันหนา ถ้าผมไม่ลงแรงมากขึ้นก็จะขูดกันไม่ออกครับ

อย่างบทความล่าสุด “การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า” ก็เริ่มๆจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาแล้วครับ และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมจะประมาณดูอีกทีครับ

ในมุมของผู้ปฏิบัติธรรม ผมเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นการเบียดเบียนแบบที่เห็นกันชัดๆเลยนะ ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของสิ่งนี้ แล้วศีลในระดับที่ยากกว่าเช่น การกินมื้อเดียว, การประพฤติตนเป็นโสด, การพอเพียง นี่จะเข้าใจได้อย่างไร มันต้องใช้ปัญญามากกว่านั้นในการเข้าถึงคุณของสิ่งเหล่านั้นนะ

นี่แค่เรื่องตื้นๆยังไม่เห็นโทษกัน ไม่ต้องคุยกันเรื่องยากกว่านี้หรอก เพราะที่เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเบียดเบียนกันฆ่ากัน ยังไม่รุ้ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วที่ยากกว่านี้มันจะเข้าใจได้อย่างไร มันก็ถือปฏิบัติกันเอาเท่ๆ เท่านั้นแหละ

เรียกว่าปฏิบัติธรรมเท่ๆ ถือปฏิบัติให้มันดูเท่ๆ น่าเคารพ (สีลัพพตุปาทาน) แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษ

เพราะถ้ามีปัญญาจริงมันต้องเห็นโทษตั้งแต่เรื่องตื้นๆอย่างการไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว

พุทธในไทยไม่ค่อยมีลำดับ ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย อยู่ๆก็ไปอยู่กลางมหาสมุทรเลย แต่เรื่องตื้นๆกลับไม่รู้ …มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่นะ ลองตรวจสอบตัวเองกันให้ดี